Apr 15, 2008

ฟุตบอลละเมียดของ “อาร์แซน เวงเกอร์”




แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นสาวกเดอะกันเนอร์ (The Gunner) ที่ชื่นชอบทีมอาร์เซนอล (Arsenal) เป็นชีวิตจิตใจ แต่ผมเองกลับรู้สึกชอบฟุตบอลสไตล์เวงเกอร์ (Wengerian Style) ที่ทำให้ขุนพลหนุ่มอาร์เซนอลชุดนี้เล่นฟุตบอลได้เพลินตาจริงๆครับ

“อาร์แซน เวงเกอร์” (Arsène Wenger) หรือที่สื่อบางสำนักอ่านว่า “วองแจร์” นั้น นับเป็นยอดผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ชิพนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในบ้านเรานั้น “เวงเกอร์” ได้รับฉายาหลายอย่างครับโดยเฉพาะ “คุณป้า” “น้าแหวง” หรือแม้กระทั่ง “เหี่ยวฟ้า”ก็ยังเคยโดนเรียก… เอาเข้าไป…นั่น

ผมว่าสื่อกีฬาไทยเข้าใจตั้งฉายาผู้จัดการทีมดีนะครับ ผู้จัดการทีมอย่าง “ท่านเซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน” (Sir Alex Ferguson) นั้นนิคเนมที่อังกฤษเรียกแกว่า “เฟอร์กี้” ส่วนสื่อไทยเรียกแกว่า “ป๋า” บางทีก็แอบเติม “แพนด้า” เข้าไปด้วย

ส่วนกุนซือที่ดู “อาภัพ” มากที่สุดในการถูกตั้งชื่อเล่นดูเหมือนจะเป็น “สเวน โกรัน อิริคสัน” (Sven Goran Ericson) และ “เชราร์ อุลลิเยร์” (Gérard Houllier) ครับ ในรายแรกนั้นชื่อเล่นถูกเรียกตามความบางของเส้นผมบนกระหม่อมจึงมีชื่อเล่นเก๋ๆว่า “เถิก” ส่วนรายหลังนั้นนิคเนมถูกเรียกตามลักษณะของดวงตาว่า “โปน”ไงครับ

สำหรับเวงเกอร์แล้ว ฉายาคุณป้า หรือ หม่อมป้า นั้นน่าจะมาจากบุคลิกบางอย่างที่อาจถูกสื่อตีความว่าป้าแหวงของเรานั้นอาจจะเป็น “เกย์” จะว่าไปแล้วเรื่องรสนิยมทางเพศนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลยังไงขออนุญาตไม่ออกความเห็นแล้วกันนะครับ

ว่ากันว่า วันที่บอร์ดบริหารอาร์เซนอลภายใต้การนำของเดวิด ดีน (David Dein) ประกาศชื่อ “อาร์แซน แวงเกอร์” ในฐานะผู้จัดการทีมคนใหม่ต่อจาก “บรูซ ริอ๊อค” (Bruce Rioch)กุนซือคนเก่าที่ไขก๊อกลาไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล 1996 – 1997 นั้น แฟนบอลปืนโตหลายคนถึงกับอุทานเป็นภาษาปะกิตว่า “Who’s the hell Arsène Wenger” หรือประมาณว่า ไอ้หมอนี้มันเป็นใครกันวะ?

ใช่แล้วครับ “เวงเกอร์” เป็นใครมาจากไหน? มีเรื่องเล่ากันว่าฟุตบอลพรีเมียร์ชิพเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นนิยมพ่อค้าแข้งพันธุ์ฝรั่งเศสครับ เหล่าเฟรนช์แมนดังๆที่เข้ามาหากินบนเกาะอังกฤษช่วงนั้นก็เช่น “ดาวิด จิโนล่า” (David Ginola) พ่อรูปหล่อแห่งทีมสาลิกาดง แต่ที่เห็นจะเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคงนี้ไม่พ้น “อิริค เดอะเกรท คันโตน่า” (Eric Cantona) แห่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไงครับ

“คันโตน่า” ทำให้แมนยูยิ่งใหญ่คับเกาะอังกฤษในช่วงกลางทศวรรษที่เก้าสิบก่อนจะประกาศแขวนเกือกไปอย่างดื้อๆตามสไตล์ความเป็นศิลปินลูกหนัง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ “คันโตน่า” นะครับ แม้จะไม่ได้เชียร์ทีมผีแดงก็ตาม ผมว่าคันโตน่ามีความเป็น “ฟุตบอลเอนเตอร์เทนเนอร์”อยู่ในตัวนั่นทำให้เวลาที่บอลอยู่กับเท้าเขาทีไร คันโตน่ามักสร้างสรรค์ความงามให้กับเกมลูกหนังได้เสมอ

กลับมาที่เวงเกอร์ต่อครับ , อาร์แซน เวงเกอร์ นั้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากญี่ปุ่นเพื่อมารับงานต่อจาก “ริอ๊อค” ทั้งนี้เวงเกอร์ได้สร้างให้ “นาโกย่า แกรมปัส เอ๊ค” (Nagoya Grampus Eight) ทีมในเจลีกนั้นครองแชมป์เจลีก 1 ครั้ง แถมเบิ้ลด้วยถ้วย The Emperor Cup ในฤดูกาล 1995-1996 ซึ่งทำให้เวงเกอร์ได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมของเจลีกไปครอง

อย่างไรก็ตาม “เวงเกอร์”นั้นสร้างชื่อตัวเองมาตั้งแต่คุมทีม “เอเอส โมนาโก” (AS Monaco) แล้วครับ เขาจัดเป็นผู้จัดการทีมชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับ “เชราร์ อุลลิเยร์” โดยเวงเกอร์นั้นเคยได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1988 สมัยที่คุมโมนาโกอยู่

ความยอดเยี่ยมของฟุตบอลแบบเวงเกอร์ นั้นอยู่ที่การต่อบอลสั้นๆโดยอาศัยการชิ่งบอลกันน้อยจังหวะ ทำให้เกมมีความลื่นไหลเพลินตานอกจากนี้ยังผสมกลิ่นอายของโททั่ลฟุตบอล (Total Football) แบบดัตช์ปนอยู่ด้วย

ทั้งนี้เวงเกอร์พยายามพัฒนารูปแบบการเล่นฟุตบอลตามสไตล์ของเขาเองและดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาคิดค้นมาตลอดชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมนั้นจะมาประสบความสำเร็จมากที่สุดกับทีมปืนใหญ่อาร์เซนอลครับ

“เวงเกอร์” นับเป็นผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ชิพคนแรกที่ไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักร ครับทั้งนี้ฟุตบอลเมืองผู้ดีนั้นขึ้นชื่อในเรื่องอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วด้วยเหตุที่พวกเขาเชื่อว่าฟุตบอลของชาวอังกฤษนั้นดีที่สุดในโลก แต่หารู้ไม่ว่าฟุตบอลที่เขาเล่นกันนอกเกาะอังกฤษนั้นได้พัฒนาศาสตร์ลูกหนังกันไปไหนต่อไหนแล้ว

กล่าวกันว่า “ฝรั่งเศส” กลายมาเป็นชาติมหาอำนาจฟุตบอลช่วงปลายทศวรรษที่เก้าสิบต่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนั้นก็ด้วยผลงานการพัฒนาทีมเยาวชนของสโมสรฟุตบอลในลีกเอิง พร้อมๆกับการพัฒนาเทคนิคฟุตบอลสมัยใหม่

ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกความดีนี้ให้กับ “เชราร์ อุลลิเยร์” ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างทีมเยาวชนฝรั่งเศสให้แข็งแกร่ง นอกจากป๋าโปนแล้วยังมี “เอมเม่ ฌักเก่ต์” ผู้จัดการทีมคนแรกที่ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี ค.ศ.1998

ในฤดูกาลแรกบนเกาะอังกฤษนั้น เวงเกอร์ได้เซ็นสัญญาคว้าตัวหนุ่มน้อยนามว่า “พาทริก วิเอร่า” (Patrick Viera) หรือ “เดอะปั๊ต” ของสาวกปืนโต “วิเอร่า”นับเป็นตัวอย่างของการ “ปั้นเด็ก” ที่อาร์แซน เวงเกอร์ ทำได้ดีไม่แพ้เฟอร์กี้

ในฤดูกาลที่สองของเขา (1997-1998) เวงเกอร์ทำในสิ่งที่อาร์เซนอลไม่ได้ทำมานานแล้วนั่นคือคว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองทั้งพรีเมียร์ชิพและเอฟเอคัพ การคว้าดับเบิ้ลแชมป์ในปีนั้นนับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์สโมสร (ครั้งแรกทำได้ในสมัยปรมาจารย์ลูกหนังเฮอร์เบิร์ต แชปแมน) โดยทีมปืนใหญ่ได้ถีบ “แมนยู” กระเด็นจากการผูกขาดบัลลังก์แชมป์พรีเมียร์ชิพมายาวนาน

กล่าวกันว่าหัวใจแห่งความสำเร็จของอาร์เซนอลชุด 1997-1998 นั้นอยู่ที่แบ๊คโฟร์ซึ่งมีอายุรวมกันมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดากองหลังของทีมในพรีเมียร์ชิพด้วยกัน โดยปราการหลังทั้งสี่ของเวงเกอร์ประกอบไปด้วย “โทนี่ อดัมส์ (Tony Adam), สตีฟ โบว์ (Steve Bould), ไนเจล วินเทอร์เบิร์น (Nigel Winterburn)และ ลี ดิกซัน (Lee Dixon) ครับ และเมื่อภายหลังสตีฟ โบว์ปลดระวางไป เวงเกอร์ก็ได้ มาร์ติน คีโอว์น (Martin Keown) มายืนเซนเตอร์คู่กับอดัมส์

ความแกร่งของกองหลังอาร์เซนอลชุดนั้นเมื่อบวกกับความสดของกองกลางที่เวงเกอร์สร้างขึ้นมาโดยมี “เอ็มมานูเอล เปอตีต์” (Emmanuel Petit) ไอ้หนุ่มผมยาวเป็นมิดฟิลด์เกมรับที่ครองบอลได้เหนียวแน่นแถมได้ลูกหาบอย่าง “วิเอร่า” มาช่วยอีกยิ่งทำให้แดนกลางของทีมปืนโตนั้นมั่นคงไม่น้อย

ขณะที่เกมรุกเวงเกอร์ใช้ปีกตัวจิ๊ดอย่าง “มาร์ค โอเวอร์มาร์” (Marc Overmars) ประสานงานกับคู่หน้าอย่าง “ดิ ไอซ์เบิร์ก” เดนนิส เบิร์กแคมป์ (Dennis Bergkamp) และหัวหอกดาวรุ่งอย่าง “นิโคล่า อเนลกา” (Nicolas Anelka) เรียกได้ว่าอาร์เซนอลชุดนั้นได้สร้างปรากฎการณ์ความ “ละเมียด” ขึ้นในวงการฟุตบอลอังกฤษที่แต่เดิมมุ่งเน้นที่พละกำลัง หากแต่เด็กๆของเวงเกอร์ได้ทำให้ “บอริ่งอาร์เซนอล” ที่จอร์จ เกรแฮม (George Graham) เคยสร้างไว้เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียวครับ

แม้ว่าฤดูกาลที่สามของเวงเกอร์ (1998-1999) จะถูกกลบด้วยรัศมีความยิ่งใหญ่ของ “ผีแดง” ที่กระชากทริปเปิ้ลแชมป์แรกได้ แต่สิ่งที่เวงเกอร์ได้มานั้นกลับเป็นอนาคต “ตำนานเดอะกันเนอร์”นามว่า “เธียรี่ เดอะห้อย อองรี” (Thierry Henry) ครับ นอกจากอองรีแล้วอาร์เซนอลยังเสริมทัพด้วยผู้เล่นอย่าง “บิ๊กโซล” โซล แคมป์เบล (Sol Campbell) รวมไปถึงปีกจรวดตัวใหม่อย่าง “เฟรดริก ลุงเบิร์ก” (Fredrik Ljungberg) และ มิดฟิลด์หน้าหยกนามว่า “โรแบร์ ปิแรส” (Robert Pirès)

เวงเกอร์ค่อยๆสร้างทีมของเขาอย่างปราณีต โดยมองที่ระบบการเล่นเป็นสำคัญทั้งนี้การสร้างทีมของเขาไม่ได้เน้นที่การดึง “บิ๊กเนม”มาอย่างที่หลายทีมทำกัน เวงเกอร์ได้เปิดโอกาสให้นักเตะโนเนมอย่าง “เปอตีต์ , พาร์เลอร์, ลุงเบิร์ก, ปิแรส, จิลเบอร์โต, อเดบายอร์, ตูเร่, เอบูเอ้, ฟามินี่, ฟาเบรกัส” และอีกหลายต่อหลายคนได้แจ้งเกิดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

หากเราดูพัฒนาการฟุตบอลของอาร์เซนอลให้ดีจะพบว่า อาร์เซนอลนั้นสร้างทีมด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มๆที่เติบโตมาจากสถาบันอคาดามี (ที่ไม่ใช่แฟนตาเชีย) ฟุตบอลของพวกเขาทั่วทุกมุมโลกได้ลงเวทีใหญ่ในพรีเมียร์ชิพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเวงเกอร์จึงมีนักเตะพลังหนุ่มที่กระหายในความสำเร็จมาช่วยทีมอยู่เสมอ

กล่าวกันว่าความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลสไตล์เวงเกอร์ (Wengerian Style) นั้นอยู่ในฤดูกาล 2003-2004 ครับ เมื่ออาร์เซนอลชุดนั้นกลายเป็นทีม “ไร้พ่าย” ตลอดสามสิบแปดนัดในพรีเมียร์ชิพจนทำให้พวกเขาเถลิงบัลลังก์แชมป์ได้อีกสมัย

อาร์เซนอลชุดนั้นได้บันทึกความสุดยอดของ “มหัศจรรย์อองรี” และลูกเก๋าของน้าเบิร์กแคมป์ ขณะเดียวกัน “เดอะปั๊ต” ก็กลายเป็นมิดฟิลด์เกมรับที่เล่นบอลได้แน่นที่สุดคนหนึ่งไม่แพ้ “รอย คีน”เลยทีเดียว

ทุกวันนี้ “เวงเกอร์” ทำให้อาร์เซนอลกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กโฟร์ของฟุตบอลพรีเมียร์ชิพ เขาทำให้อาร์เซนอลกลายเป็นคู่ตุนาหงันท้าชิงบัลลังก์จ่าฝูงพรีเมียร์กับแมนยูมานานหลายปี นอกจากนี้ในเวทียุโรปทีมของเวงเกอร์ก็ทะลุไปไกลถึงรอบชิงฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีกเมื่อฤดูกาล 2005-2006 ก่อนจะพ่ายความเคี่ยวของ “บาร์เซโลน่า” ไปอย่างน่าเสียดาย

ผมชอบฟุตบอลและปรัชญาการทำทีมฟุตบอลของ “เวงเกอร์” ครับ ผมว่าเขาเป็นผู้จัดการทีมที่มีวิสัยทัศน์ไกลในการพัฒนากีฬาฟุตบอลทั้งรูปแบบและแทคติคการเล่น รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพนักฟุตบอลโดยเปิดโอกาสให้กับนักเตะเยาวชนใหม่ๆอยู่เสมอ

แต่น่าเสียดายที่ฤดูกาลนี้ของอาร์เซนอลน่าจะไม่มีความสำเร็จอะไรติดไม้ติดมือแต่สิ่งหนึ่งที่เวงเกอร์ได้สร้างไว้ให้กับอาร์เซนอลชุดนี้ คือ “อนาคต” ของทีมที่ยิ่งใหญ่ต่อไปไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: