Apr 26, 2008

ข้าชื่อ “จูล่ง”แห่งเสียงสัน




จะว่าไปแล้วฮ่องกงพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปได้ไกลไม่น้อยนะครับ ประกอบกับความรุ่งเรืองของจีนแผ่นดินใหญ่ในศตวรรษที่ 21 นั้น ก็มีส่วนทำให้หนังฮ่องกงสามารถหยิบวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ชนชาติจีนมาเล่นได้มากมาย

เฉพาะปีนี้วรรณกรรม “สามก๊ก” ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มอย่างน้อยสองเรื่อง คือ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon และ Red Cliff (2008) หรือ The battle of red cliff ของ “จอห์น วู” (John Woo) ที่หยิบเอายุทธการผาแดงในตอนที่โจโฉนำทัพเรือจำนวนมหาศาลมาตีกังตั๋งก่อนจะปราชัยไปอย่างหมดรูป

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon” (2008) นั้น เป็นผลงานการกำกับของ “แดเนียล ลี” (Daniel Lee) ผู้กำกับชาวฮ่องกงโดย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงวีรบุรุษในยุคสมัยสามก๊กท่านหนึ่งนามว่า “เตียวจูล่ง” ครับ

ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่ลงโรงฉาย ยอมรับว่าตั้งความหวังไว้สูงครับ โดยเฉพาะการที่จะได้เห็นบทบาทของ “หลิวเต๋อหัว” (Andy Lau) ในบทของ “จูล่ง”ขุนพลพยัคฆ์เดชของ “เล่าปี่”แห่งจ๊กก๊ก

อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ “สามก๊ก” ที่ผมเคยคุ้นเคยนั้นผิดแผกไปจากอรรถรสที่เคยได้อ่านหรือได้ดูมา โดยเฉพาะการเพิ่มตัวละครใหม่ๆเข้ามาอย่าง “หลอผิงอัน”ในฐานะที่เป็นพี่ร่วมสาบานของจูล่งที่มาจากเมืองเสียงสันด้วยกัน หรือเพิ่มชื่อของแม่นาง “โจอิม”จอมทัพหญิงแห่งแคว้นวุยแถมยังเป็นหลานสาวของโจโฉอีกด้วย

ผมเองตั้งตารอคอยหนังทั้งสองเรื่องนับตั้งแต่ได้ข่าวการสร้างเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่า Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon ของแดเนียล ลี จะไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจสักเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้ คือ “มนุษย์เราจะรบกันไปเพื่ออะไร” ครับ

“จูล่ง” นับเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่งครับโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมความซื่อสัตย์และจงรักภักดี

ตามประวัติแล้วขุนพลเตียวท่านนี้เป็นชาวเมืองเสียงสัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 700 ถึง พ.ศ.772 นับได้ว่าเป็นแม่ทัพที่มีอายุยืนท่านหนึ่งเลยทีเดียวแถมตอนตายยังได้ตายอย่างสงบบนเตียง ผิดกับขุนศึกหลายคนที่ตายกลางสนามรบบ้าง หรือ ถูกประหารชีวิตบ้าง

จูล่งเข้าสู่สมรภูมิรบด้วยการเป็นทหารชั้นผู้น้อย(ภาษาหนังสือสามก๊กเรียก “ทหารเลว”) ของกองทัพ “อ้วนเสี้ยว” ก่อนจะเลือกมาอยู่กับนายพล “กองซุนจ้าน” หลังจากที่กองซุนจ้านฆ่าตัวตายแล้ว จูล่งระหกระเหินไปเป็นหัวหน้าโจรป่าอยู่ที่ “เขาโงจิวสัน”พักหนึ่งก่อนจะมาเข้าร่วมเป็นกับกองทัพของเล่าปี่

วีรกรรมที่ทำให้จูล่งแจ้งเกิดในประวัติศาสตร์สมัยสามก๊ก คือ การฝ่ากองทัพนับหมื่นของโจโฉเพื่อไปช่วยทารกน้อย “อาเต๊า” รัชทายาทคนเดียวของพระเจ้าเล่าปี่

กล่าวกันว่าวีรกรรมที่ “ทุ่งเตียงปันโบ๋”ครั้งนั้นได้ทำให้ชื่อเสียงของจูล่งนั้นขจรไกลไปทั่วแผ่นดินจีน หลังจากนั้นจูล่งก็ได้รับตำแหน่งเป็นองครักษ์พิทักษ์เล่าปี่และครอบครัวตลอดมาโดยทำหน้าที่อารักขานายใหญ่ไปทุกหนแห่งตั้งแต่เล่าปี่เดินทางไปเข้าถ้ำเสือกังตั๋งในฐานะเขยแคว้นง่อของก๊กซุนกวน หรือ แม้แต่บุกช่วยอาเต๊าอีกครั้งตอนที่ซุนฮูหยินถูกลวงให้กลับไปยังกังตั๋ง

เกียรติประวัติสูงสุดของจูล่ง คือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าขุนพลพยัคฆ์ของพระเจ้าเล่าปี่ ร่วมกับขุนศึกแห่งยุคอย่าง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และฮองตง

สำหรับ “จูล่ง”ในสามก๊กฉบับของแดเนียล ลี นั้น มีบุคลิกของตัวละครไม่ต่างจากที่หนังสือบรรยายไว้ แม้ว่าบางฉากจะไม่เคยปรากฏในวรรณกรรมสามก๊กของหลอกว้านจง (Luo Guanzhong) เลยก็ตาม แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในตัว “จูล่ง” เวอร์ชั่นนี้คือเรื่องความคิดในเรื่องการ “ต่อต้านสงคราม” ครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่า “ศิลปะทุกแขนง” สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความน่าหดหู่ของสงครามได้ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออย่าง All Quiet on the Western Front (1929) ของ “อิริค มาเรีย เลอมาร์ค” (Erich Maria Remarque) ที่ว่าด้วยความรันทดของทหารแนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1

เช่นเดียวกับ “ภาพยนตร์สงคราม” แม้ว่าหนังส่วนใหญ่จะพยายามเสนอมิติทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการรบราฆ่าฟันของมนุษย์ หรือยกย่องเกีรติภูมิของชนชาติตน แต่ก็มีบางแง่ที่หนังได้สะท้อนให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงครามตั้งแต่ ความตาย ความพิกลพิการ การข่มขืนผู้หญิงและเด็กหรือแม้กระทั่งความอดอยาก

ผมชอบคำพูดช่วงท้ายที่ “จูล่ง”พูดกับ “หลอผิงอัน”ว่า “ข้าอยู่กองทัพนี้มาสามสิบสองปีแล้ว ก่อนเข้ากองทัพข้าคิดว่าอีกไม่กี่ปีแผ่นดินนี้ก็คงสงบสุข แล้วข้าก็จะได้กลับไปยังบ้านเล็กๆที่เสียงสันได้อยู่กับคนที่ข้ารัก แต่ทุกวันนี้ความทรงจำเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว ทุกวันนี้เรารบกันไปเพื่ออะไรล่ะท่าน”

น่าสนใจที่หลอผิงอันบอกกับจูล่งว่า “เราทุกคนล้วนรบกันเพื่อตัวเองทั้งนั้น”

แม้ว่าตลอดทั้งเรื่องผมจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับหนังเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่บทสนทนาตอนท้ายเรื่องกลับทำให้ผมเปลี่ยนความคิดนี้ไป

บางทีมันอาจจะเป็นความพยายามของ “แดเนียล ลี” ที่ต้องการตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยว่า “พวกคุณจะแสวงหาอำนาจไปเพื่ออะไร? พวกคุณทำสงครามกันไปทำไม? ใช่เพราะความต้องการจะเห็นราษฎรร่มเย็นแผ่นดินสงบสุขหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ความกระสันในอำนาจของพวกคุณเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง”

Hesse004

1 comment:

Chesterfield Cigarettes said...

Admiration and interest were my first feelings when I’ve entered your blog. It is indeed the most remarkable creation I’ve ever seen! Moreover, your manner of writing and the photos are absolutely fine and I think everyone would agree with my words. All this made me immediately add the blog to my links. Thank you very much for such a marvelous web page and I will surely enter it again!