Apr 7, 2008

สำรวจแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์จีน




ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์, ผมเองไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อเสียงของนักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันออกเท่าไรนัก ด้วยเหตุที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นล้วนมาจากนักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกแทบทั้งสิ้นครับ

ยิ่งหากเปิดเข้าไปดูหอเกียรติยศนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ปรากฏว่ามีชาวเอเชียเพียงคนเดียว คือ “อมาตยา เซน” (Amartya Sen ) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จากธนาคารกลางสวีเดน

ว่ากันว่าความยิ่งใหญ่ในโลกโนเบลไพรซ์ทางเศรษฐศาสตร์นั้นถูกผูกขาดอยู่กับนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน (เชื้อสายยิว) โดยเฉพาะจาก “สำนักชิคาโก” (Chicago school) ที่แทบจะครองความยิ่งใหญ่ในบรรณพิภพทางเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าปัจจุบันนี้นักเศรษฐศาสตร์จากจีนนั้นกำลังได้รับการจับตามองอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุที่จีนคือประเทศที่มีอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ดังนั้นการเข้าใจแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์จีนจึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกสนใจอย่างยิ่งครับ

เมื่อปี ค.ศ.2002 มีบทความชิ้นหนึ่งของนาย “ฉี หัง กวาน” (Chi Hung Kwan) ได้เขียนถึงแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์จีนร่วมสมัยในช่วงที่จีนกำลังเปิดประเทศเต็มตัว โดยบทความดังกล่าวมีชื่อว่า “Taxonomy of Chinese Economists Beyond the dichotomy between reformists and conservative” ซึ่งอาฉีได้จำแนกประเภทนักเศรษฐศาสตร์จีนจากแนวคิดทางเศรษฐกิจและแนวคิดทางการเมืองครับ

แนวคิดทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ อาฉี แกยึดจากความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้นควรจะยึดที่เป้าหมายใดระหว่างประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยกร (Efficiency) หรือความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร (Fairness)

แหม่! พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์เนี่ยมันวิชาการเกินเหตุนะครับ เพราะไอ้คำว่า Efficiency นั้นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่เชื่อว่า “กลไกตลาด”หรือ “มือที่มองไม่เห็น” นั้นเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงไม่ค่อยชอบให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์อีกสายหนึ่งโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายที่บูชาลัทธิมาร์กซ (Marxism) กลับเชื่อว่ารัฐต่างหากที่ควรมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยกรเพื่อเน้นความเป็นธรรมให้กับทุกคนในสังคม

จะว่าไปแล้วแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ต่างกันสุดขั้วนี้เองที่ทำให้เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนเกิดการแบ่งขั้วแยกค่ายกันชัดเจนระหว่าง “โลกทุนนิยม”และ “โลกสังคมนิยม”

ในส่วนของแนวคิดทางการเมืองนั้น อาฉี ได้จำแนกนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ออกเป็น 4 พวก ครับ คือ พวกที่ยังอนุรักษ์เชื่อในระบอบสังคมนิยมไม่เสื่อมคลาย (Conservative), พวกที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนจากนั้นก็ค่อยๆทำการปฏิรูปการเมืองต่อไปหรือ Pro Establishment พวกนี้เชื่อว่าหากปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยเร็วเกินไปจะมีปัญหาแน่นอน, พวกที่ต่อต้านปฏิรูปการเมืองหรือ Anti Establishment เพราะเชื่อว่าปฏิรูปไปยังไงก็มีปัญหาเหมือนเดิม เพราะพวกนี้ก็ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาลคอมมิวนิสต์เท่าใดนักเนื่องจากการบริหารงานที่ผ่านมาเต็มไปด้วยปัญหาโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นของคนในพรรคเอง สำหรับพวกสุดท้าย คือ พวกที่เชื่อว่าจีนต้องปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยทันทีหรือพวก Reformist ครับ

คราวนี้ลองมาไล่ดูว่านักเศรษฐศาสตร์จีนดังๆนั้นถูกจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง เริ่มจากกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเวลานี้ นั่นคือ กลุ่ม Pro-Establishment ครับ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ หวู จิงเหลียน (Wu Jing Lian) , หลิน อี้ฟู่ (Lin Yifu) และฟานกัง (Fan Gang) ครับ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านนี้ล้วนติดอันดับท๊อปเทนของนักเศรษฐศาสตร์จีนในปัจจุบัน


“หวู จิงเหลียน” นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก๋าที่มีแนวคิดเอนไปทางทุนนิยมตลาดแต่ไม่ถึงกับสุดโต่ง ทั้งนี้ แนวคิดของหวูมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจีนช่วงที่จีนกำลังเริ่มต้นเปิดประเทศเต็มตัวโดยเฉพาะการนำกลไกตลาดมาจัดสรรทรัพยากรในระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมจนสื่อของจีนเรียกระบบแบบนี้ว่า Wu Shichang หรือระบบตลาดแบบหวู (Market Wu) นั่นเองครับ

นอกจาก “หวู” แล้ว ว่ากันว่านักเศรษฐศาสตร์จีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้ คือ “หลิน อี้ฟู่” ครับ ด้วยเหตุที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลินได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Economist ของธนาคารโลกนับเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก หลิน อี้ฟู่นั้นจบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ครับ หลินนั้นเคยเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งและได้รับการทาบทามจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนให้เข้ามามีส่วนในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนช่วงสมัยรัฐบาลของนายจู หรงจี

สำหรับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในการปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมๆกับการปฏิรูปการเมืองนั้น ได้แก่ สตีเวน เจียง (Steven Cheung) และ หยาง เสี่ยวไข (Yang Xiaokai) ซึ่งแนวคิดของพวก ปฏิรูปหรือ Reformist นี้ต้องการเห็นจีนเป็นประเทศทุนนิยมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มตัวครับ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแนวคิดของพวกปฏิรูปนี้จะเป็นไปได้แค่แนวคิดปฏิรูปด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในส่วนของการปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยนั้นเห็นจะยากเต็มทีครับตราบใดที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ยังครองอำนาจในจีนอยู่

ทั้งนี้ลองดูภูมิหลังของนักเศรษฐศาสตร์จีนกลุ่มนี้ก็ไม่น่าแปลกนักที่ทำไมพวกเขาจึงเชื่อในการปฏิรูป เพราะ สตีเวน เจียง เป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งเป็นพวกเสรีนิยมเต็มตัว ส่วนโปรเฟสเซอร์หยางนั้นสอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโมแนชในออสเตรเลีย ครับ

คราวนี้ลองมาดูพวกสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ครับ กลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีเพียง “หู อันกัง” (Hu Angang) อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) เป็นหัวขบวน พวกนี้เชื่อว่ายังไงซะรัฐยังคงต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นธรรมของคนในสังคมอยู่ดี อย่างไรก็ตามโปรเฟสเซอร์หูนั้นถูกจัดว่าเป็น “พวกซ้ายใหม่” (New left) ครับ ซึ่งมีมุมมองคล้ายกับพวกสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรป (Social Democracy) พวกนี้ไม่ได้เคร่งตำรา Marx และ Lenin อีกต่อไปแล้ว หากแต่พยายามหาหนทางประนีประนอมกับโลกความจริงมากขึ้น

สำหรับพวกสุดท้ายที่ถูกเรียกว่า Anti- Establishment นั้น นักคิดคนสำคัญในกลุ่มนี้เป็นนักหนังสือพิมพ์หญิงนามว่า “เห ฉิ่งเหลียน” (He Quinglian) ถ้าอ่านผิดต้องขออภัยด้วยครับ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ไม่เชื่อน้ำยาการบริหารงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะค่อยๆปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ปัญหาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ฝากไว้อย่าง การคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปล่อยให้มีสินค้าผิดกฎหมายเกลื่อนเมือง ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดี นอกจากนี้แนวคิดของพวกนี้เชื่อว่ารัฐบาลที่ดีควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมจีนก่อนเพราะนับวันปัญหาดังกล่าวดูจะก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามครับหนังสือของ “เห ฉิ่งเหลียน” นั้นถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ถึงขนาดทำให้เจ้าตัวต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในอเมริกาเลยทีเดียว

ข้อสังเกตของผมจากการอ่านบทความนี้อยู่ที่เรื่องความพยายามที่จะหาจุดลงตัวของระบบทุนนิยมแบบจีนๆกับระบอบการปกครองสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

หากเรามองว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนพยายามบริโภคสินค้าสองชนิด คือ “สินค้าทุนนิยม” และ “สินค้าประชาธิปไตย” นั้นน่าคิดเหมือนกันนะครับว่าสินค้าทั้งสองประเภทนี้มันเป็นสินค้าประกอบกัน (Complementary goods) ตามหลักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า? เพราะเมื่อตั้งใจจะเสพระบอบทุนนิยมแล้ว มันแทบจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริโภคประชาธิปไตยเคียงเข้าไปด้วย

หรือจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้นมองว่า “ประชาธิปไตย” ยังคงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxurious good) สำหรับประชาชนอยู่ เพราะหากรายได้ต่อหัวของชาวจีนยังไม่สูงพอก็อย่าเพิ่งคิดบริโภคสินค้าประชาธิปไตยจะดีกว่า

ท้ายที่สุด ผมยังเชื่อในภูมิปัญญาและสติปัญญาของนักเศรษฐศาสตร์จีนอยู่ครับและเชื่อว่าพวกเขาคงพยายามหาจุดสมดุลระหว่างทุนนิยมแบบจีนๆกับประชาธิปไตยแบบจีนๆได้ในไม่ช้านี้ครับ

Hesse004

No comments: