May 10, 2008

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ใน "เกมเศรษฐีโมโนโปลี"





ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่พ้นวัยเบญจเพสมาแล้วน่าจะคุ้นเคยกับเกมเด็กๆเกมหนึ่งที่ชื่อว่า “เกมเศรษฐีโมโนโปลี” (Monopoly Game) นะครับ

“เกมเศรษฐี”ที่ผมว่านี้ไม่ใช่ชื่อรายการเกมโชว์เกมหนึ่งที่เคยโด่งดังในอดีต หากแต่เป็นเกมกระดาน (Board) สำหรบเด็กที่บางครั้งผู้ใหญ่อย่างพวกผมก็ยังชอบเล่นกันอยู่

ผมว่าเกมเศรษฐีมันมี “ความคลาสสิค”อยู่ในตัวเองครับ ความคลาสสิคที่ว่านี้มันต่างจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการมานั่งล้อมวง ทอยลูกเต๋าแล้วเดินตัวผู้เล่นของเราไปตามช่องต่างๆบนกระดาน ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละช่องก็มักเป็นชื่อจังหวัด หรือ สถานที่สำคัญๆ

ย้อนกลับไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เกมเศรษฐีโมโนโปลีถูกคิดค้นโดยสุภาพสตรีท่านหนึ่งนามว่า “อลิซาเบธ (ลิซซี่) เจ. แมกกี้ ฟิลิปส์” (Elizabeth (Lizzie) J. Magie Phillips) ครับ ซึ่งเกมที่คุณป้าลิซซี่แกคิดค้นขึ้นมานั้นเรียกว่า “Landlord game”

เชื่อมั๊ยครับว่าเกมๆนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายทฤษฎี Single Tax on land ของเฮนรี่ จอร์จ (Henry George) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนดังชาวอเมริกัน

“เฮนรี่ จอร์จ” อธิบายถึง Single Tax on land ไว้ว่าค่าเช่าที่ได้จากที่ดินนั้นสมควรจะถูกแจกจ่ายกระจายออกมาให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมากกว่าที่จะไปตกอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น “ภาษี” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เจ้าของที่ดินทั้งหลายปล่อยที่ดินออกมาเพื่อให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์

กลับมาที่เกมเศรษฐีโมโนโปลีกันต่อครับ, ถ้าท่านผู้อ่านเคยเล่นเกมเศรษฐีดังกล่าวย่อมเข้าใจดีว่าการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก หรือ ถือโฉนดที่ดินมากๆนั้นมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้ไม่น้อย ครับ ด้วยเหตุนี้เองกฎข้อแรกของการเล่นเกมโมโนโปลี คือ การกว้านซื้อที่ดินมาอยู่ในมือให้มากที่สุดนั่นเองครับ

แม้ว่าเกมของคุณป้าลิซซี่ต้องการที่จะอธิบายทฤษฎีภาษีของนักเศรษฐศาสตร์แต่กลับกลายเป็นว่าเกมดังกล่าวถูก “พี่น้องตระกูลปาร์คเกอร์” (Parker Brothers) ได้พัฒนาเกมนี้จนมีชื่อเสียงโด่งดังและเปลี่ยนชื่อจาก Landlord game มาเป็น Monopoly game ครับ

ประวัติศาสตร์ของเกมเศรษฐีนั้นนับว่าน่าสนใจไม่น้อยนะครับ ทั้งนี้นับแต่คุณป้าลิซซี่คิดค้นเกมนี้ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางวิชาการแล้ว พี่น้องสกุลปาร์คเกอร์ได้ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายก่อนจะต้องมาแก่งแย่งเรื่องลิขสิทธิ์กันและท้ายที่สุดลิขสิทธิ์ของเกมนี้ก็ตกอยู่ในมือของ บริษัท Hasbro ซึ่งเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ในอเมริกา

สำหรับเกมเศรษฐีแบบไทยๆนั้น ผมไม่แน่ใจว่ามีพัฒนาการเป็นมาอย่างไร โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมจำลางๆว่าเล่นเกมนี้ครั้งแรกเมื่ออายุเก้าขวบครับ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดเกมที่เล่นน่าจะชื่อ “ซุปเปอร์เศรษฐี” ซึ่งคุณอาของผมท่านซื้อมาให้เล่น

คราวนี้ลองหวนรำลึกดูมั๊ยครับว่า เรายังจำกติกาการเล่นเกมเศรษฐีนี้กันได้บ้างหรือเปล่า? แรกสุดเลยต้องมีคนเล่นเป็น “ธนาคาร” ก่อนครับ จากนั้นธนาคารจะแจกโฉนดที่ดิน แจกแบงก์ตามกติกาที่กำหนดไว้ เสร็จแล้วเราก็เลือกตัวเดินว่าจะเป็นสีอะไร พอเริ่มเดินๆไปแล้วดันไปตกที่ดินใครก็ต้องจ่ายตังค์เขาตามค่าเช่าในโฉนด ซึ่งสมัยผมเล่นค่าเช่าที่ดินที่แพงที่สุดรู้สึกจะเป็น “สะพานหัน”หรือไม่ก็ “ถนนสุขุมวิท” นะครับ

หากโชคดีหน่อยอาจจะเดินไปเจอ “ช่องขุมทรัพย์มหาสมบัติ” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักมีแต่เรื่องดีๆ อย่างถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง หรือ มีลาภลอย ได้รับมรดก อะไรทำนองนั้น แต่หากบางทีซวยหน่อยดันไปตกช่องติดคุก ก็ต้องหยุดเดินไปหนึ่งตา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนซื้อบ้านสีเหลืองตามราคาโฉนด และหากอยากขยับขยายเราก็สามารถปลูกโรงแรมสีแดงได้กรณีที่เราปลูกบ้านครบสี่หลังแล้ว

เล่นไปเล่นมาสักพักก็จะเริ่มมีคน “ล้มละลาย”แล้วครับ แหม่! นี่มันสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยมแบบเจ้าที่ดินจริงๆเลย ท้ายที่สุดผู้ชนะ คือ ผู้ครอบครองที่ดินได้เกือบทั้งกระดานหรืออาจจะมีเงินสดมากกว่าเพื่อนร่วมวง

จะว่าไปแล้วเกมเศรษฐีโมโนโปลีแบบกระดานนั้น มันได้ซ่อนวิธีคิดบางอย่างของระบบทุนนิยมเสรีโดยเฉพาะการสะสมทุนที่มาจากที่ดิน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วที่ดินนับเป็นปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งครับ ซึ่งการสะสมที่ดินนั้นมีต้นทุนที่เรียกว่า “ค่าเสียโอกาส”หรือ Opportunity Cost ครับ แต่มีผลตอบแทนที่เรียกว่า “ค่าเช่า”หรือ Rent อย่างไรก็ตามเจ้าของที่ดินเลือกที่จะยอมมีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดโดยเขาจะปล่อยให้ผู้อื่นเช่าที่ดินของเขาในราคาที่เขาคิดว่าดีที่สุด วิธีคิดแบบนี้เป็นหลักคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักครับ

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยชอบระบบเจ้าที่ดินมากนัก เพราะพวกเขามองว่าเจ้าของที่ดินนั้นสามารถแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากผู้เช่าได้โดยที่ตัวเองลงทุนไม่ต้องมากนัก

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นในเป้าหมายการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพแล้ว, นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าการเก็บ “ภาษีที่ดิน” (Land Tax) จะสามารถทำให้เหล่าแลนด์ลอร์ดทั้งหลายคายที่ดินออกมาให้คนส่วนใหญ่ทำประโยชน์ได้

ผมเข้าใจว่าประเทศไทยเราพูดถึงเรื่องภาษีที่ดินรวมไปถึงภาษีมรดกมานานหลายทศวรรษแล้วนะครับ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าหาญชาญชัยพอที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวออกมา

หรือจะเป็นเพราะว่าท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่นั่งอยู่ในสภากำลังเล่นเกมเศรษฐีโมโนโปลีกันอย่างเมามันส์ เพราะดูเหมือนว่าที่ผ่านมาแต่ละท่านกำลังทอยเต๋าเดินหมากแสวงหาที่ดินบนกระดานประเทศไทยกันอย่างสนุกสนาน แต่เสียอย่างเดียวนะครับ ผมยังไม่เคยเห็นใครเดินไปตกช่องติดตารางสักรายเลยสิ พับผ่าเถอะ!

Hesse004

No comments: