Jan 6, 2008

“เขื่อนปากมูล” บางเรื่องที่ชนชั้นกลางไทยไม่เคยได้รู้




นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนมกราคม ปี 2551 ได้ตีพิมพ์คำปาฐกถาพิเศษของท่านอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองไทย”โดยมุ่งประเด็นไปที่ “คนชั้นกลางกับวัฒนธรรมการเมืองไทย” หลังจากที่ผมอ่านบทความชิ้นนี้จบทำให้ผมนึกไปถึงเรื่อง “เขื่อนปากมูล” ที่เมื่อปีกลายมีโอกาสได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียมเขียนโครงร่างงานวิจัยครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่างานในระยะหลังๆของท่านอาจารย์นิธิ มักเน้นไปที่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรภายในชุมชนมากขึ้น บางทีเมื่อท้องถิ่นสามารถจัดการดูแลทรัพยากรของพวกเขาได้ดีพอแล้วอำนาจรัฐที่ต้องมาจากเหล่านักเลือกตั้งหรือรัฐราชการอาจจะด้อยความสำคัญลงไป

“เขื่อนปากมูล” นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในหลายประเด็นครับ ประเด็นแรกนั้นเขื่อนปากมูลสะท้อนให้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่มีการพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์”หรือ Dualism

ก่อนจะกล่าวถึงคำว่า Dualism นั้น ท่านผู้อ่านเคยสงสัยมั๊ยครับว่าทำไมช่วงหยุดปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดยาวๆ จึงเกิด “ปรากฏการณ์รถโล่งในเมืองกรุง” นอกเหนือจากเหตุผลที่คนกรุงออกไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง คือ คนชนบทกลุ่มใหญ่เดินทางกลับบ้านด้วยครับ

ดังนั้นภาพชินตาพวกเราทุกๆปีในทุกๆเทศกาล คือ ภาพคนแย่งกันขึ้นรถทัวร์ รถไฟ เครื่องบินรวมไปถึงท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถราในช่วงเวลาใกล้สิ้นปี ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีสาเหตุจากการพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์” ครับ

การพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์” มีฉันทคติอยู่ตรงที่ภาคเศรษฐกิจหนึ่งจำที่จะต้องเป็น “เบี้ยล่าง” ให้กับอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่ง อย่าง “ภาคเกษตร”จำเป็นต้องเป็นเบี้ยล่างของ “ภาคอุตสาหกรรม” หรือ “ภาคชนบท” จำต้องเป็นเบี้ยล่างให้กับ “ภาคเมือง”

ความหมายของเบี้ยล่างนั้นกินความตั้งแต่เป็นแหล่งแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกที่พร้อมจะถูกป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของ ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเมือง และท้ายที่สุดเบี้ยล่างอีกนัยยะหนึ่งก็กลายเป็นแหล่งระบายสินค้าออกของภาคเมืองอีกทีหนึ่ง

ฉันทคติดังกล่าวเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ (อีกแล้วครับท่าน) โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งกรณีของบ้านเรานั้น “พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแบบทวิลักษณ์ระหว่างภาคเมืองกับภาคชนบท ภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม

ผลพวงของการพัฒนาแบบทวิลักษณ์นั้นแม้จะทำให้อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจดูสูงจนน่าปลื้มใจแต่กลับกลายเป็นว่าการกระจายรายได้หรือความเท่าเทียมกันของคนในสังคมกลับแย่ลง ตรงนี้มันก็มาจากฉันทคติของนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกอีกเหมือนกันครับที่มองว่าหากผลผลิตมวลรวมมันเพิ่มขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็จะกระจายไปยังผู้คนต่างๆในประเทศนั้นเองเหมือนเวลาเราใช้สปริงเกิ้ลรดน้ำต้นไม้ น้ำจะกระจายไปยังต้นไม้ต่างๆ แนวคิดเช่นนี้เรียกว่า Trickle down effect ครับ

อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวดูจะใช้การไม่ได้กับ"ประเทศกำลังพัฒนา"ที่ธนาคารโลกเป็นคนแบ่งอีกเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเชิงสถาบันบางอย่างที่ทำให้แนวคิดดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล ปัจจัยเชิงสถาบันที่ว่านี้มีตั้งแต่โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนวัฒนธรรมชุมชนของท้องถิ่นนั้นๆ

กรณีของเขื่อนปากมูลก็เป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจผิดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ไร้เดียงสาที่ “ลืม” นึกไปถึงต้นทุนที่สูญเสียนอกเหนือจาก ค่าก่อสร้างเขื่อน หรือต้นทุนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ต้นทุนที่ว่าเป็นต้นทุนของชุมชนที่ต้องพลัดพรากแตกแยกเมื่อมีเขื่อนมาลง ต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างชุมชนหาปลาริมแม่น้ำมูนที่โดนผลกระทบกันเต็มๆ ต้นทุนที่ว่ายังรวมไปถึงความสูญเสียความสมดุลของทรัพยากรประมงน้ำจืดบริเวณแม่น้ำมูน

เมื่อ 8 ปี ที่แล้วมีงานวิจัยของ World Commission on Dams ที่ออกมาตบหน้าผู้เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลทั้ง EGAT และ World Bank โดยงานดังกล่าวตั้งข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าของโครงการเขื่อนปากมูนซึ่งดูเหมือนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ดูจะไม่คุ้มกับต้นทุนหลายต่อหลายอย่างที่เสียไปท้ายที่สุดดูเหมือนว่า “เขื่อน” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่เข้ามาปล้นชิงทรัพยากรท้องถิ่นไปแล้ว ไม่เฉพาะเมืองไทยประเทศเดียว เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอย่าง บราซิลกรณีเขื่อน Sobradinho

ในฐานะที่เป็นคนเมือง, ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าการเปิดปิดประตูเขื่อนนั้นมีความสำคัญมากเพราะส่งผลต่อวิถีการทำประมงของชาวบ้านริมมูนเนื่องจากเกี่ยวกับการเข้ามาหากินของปลาจากลุ่มน้ำโขง

แม้ว่าเมื่อปี 2545 จะมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เสนอให้ EGAT ควรเปิดประตูเขื่อนตลอดทั้งปีเป็นเวลา 5 ปีนั้น แต่รัฐบาลยุคนั้นเลือกที่จะให้เปิดเพียงแค่ 4 เดือนปิด 8 เดือน และล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีมติให้ปิดประตูเขื่อนถาวรตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

พลันที่รัฐบาลมีมติออกมาเช่นนี้ทัพของชาวบ้านแม่มูนก็เคลื่อนมายังเมืองกรุงเพื่อเรียกร้องให้รัฐทบทวนมติดังกล่าว
ในฐานะคนเมือง (อีกครั้ง), ผมก็เพิ่งรู้อีกเช่นกันว่า “สมัชชาคนจน” ก็มีจุดเริ่มต้นจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูนยังเป็นกรณีศึกษาการต่อสู้ของชาวบ้านกับอำนาจรัฐ ถ้าเป็นสมัยโบราณคนที่ขัดขืนอำนาจรัฐมักจะถูกตราหน้าว่าเป็น “กบฏ” และการปราบปรามผู้ขัดขืนในอดีตมีตั้งแต่”ถีบลงเขาเผาถังแดง” มาจนกระทั่งอุ้มฆ่า

แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้บนท้องถนนหน้าทำเนียบเพื่อร้องคืน “ทรัพยากรท้องถิ่น”ที่พวกเขาเคยมีแต่กลับถูก “อำนาจรัฐ” ปล้นชิงไป โดยอาจจะต้องเผชิญกับการปราบปรามรูปแบบใหม่ อาทิ ใช้เทศกิจเมืองกรุงเข้าขับไล่ หรือแม้กระทั่งปล่อยหมาตำรวจไปกัดชาวบ้าน โทษฐานที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชาวเมืองหลวง

ท้ายที่สุดผมขอทิ้งคำถามให้ท่านผู้อ่านลองกลับไปคิดเล่นๆดูครับว่า“การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีนั้นมันควรจะเป็นอย่างไร?” มันใช่เรื่องของการปั่นอัตราการจำเริญเติบโตให้สูงๆไว้เพื่ออวดชาวบ้านหรือเปล่า? หรือ มันคือการส่งเสริมให้ตลาดหุ้นไทยมีโวลุ่มซื้อขายในแต่ละวันสูงๆ หรือ มันคือการพูดถึงค่าเงินบาทที่ต้องอ่อนแข็งให้ได้ตามระดับที่ผู้ส่งออกไทยพึงพอใจ หรือ มันจะเป็นแค่ให้คนไทยทั้งในเมืองและนอกเมืองหลวงมีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ก็อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นแหละครับว่ารัฐไทยเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ทวิลักษณ์” มาเกือบ 50 ปีแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าไอ้การพัฒนาที่เรานิยามกันตามคุณค่าของฝรั่งนั้นมันจะใช้ได้จริงหรือเปล่าโดยเฉพาะกับชาวบ้านแถวๆเขื่อนปากมูล...สวัสดีปีใหม่ครับ

Hesse004

ปล.ผมขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของ “คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตต่อสู้ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก “เขื่อนปากมูล” ครับ

1 comment:

chaiza said...

เฮ้ย ทำวิจัยเรื่องนี้เลยหรือ ใหญ่นะ ยากด้วย จริงๆแล้วเขื่อนปากมูลอยู่ในความรับผิดชอบของก.พลังงาน ซึ่งปัญหาก็รู้กันอยู่ดังที่ต้วนเขียนนั่นแหละ จะว่าไปแล้วคนก็พูดถึงแต่ปัญหาการปิดเปิดเขื่อน4 เดือนบ้าง 8เดือนบ้าง ซึ่งพูดทั้งปีก็เถียงกันไม่จบ ตราบใดถ้าไม่เสนอทาง
เลือกซักอย่างให้ชาวบ้านเขารู้สึกว่าเขาดำรงชีพได้อยู่
สวัสดีปีใหม่ 2008 สำหรับ ว่าที่ DrTuan