Jan 10, 2008

"The Golden Door" เปิดประตูดูโลกใบใหม่




ผมเชื่อว่าการตัดสินใจที่จะ “อพยพ” (Immigration) น่าจะเป็นหนทางสุดท้ายที่มนุษย์เราจะเลือก ทั้งนี้คงเนื่องมาจากมนุษย์เราส่วนใหญ่นั้นคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จนไม่อยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร แม้จะเบื่อหน่ายบ้างเป็นบางทีแต่ความรักที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิดนั้นน่าจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่มนุษย์เรายังผูกพันกับถิ่นกำเนิด

The Golden Door (2006) เป็นหนังอิตาลีครับ หนังเรื่องนี้มีชื่ออิตาเลียนว่า Nuovomondo บนหน้าปกดีวีดีนั้นเขียนไว้ว่า “Martin Scorsese Presents” ครับ ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะที่ชื่อของยอดผู้กำกับอย่างสกอร์เซซี่เพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้กำกับโดย “เอ็มมานูเอล เครียเรซี่” (Emmanuele Crialese) ผู้กำกับหนุ่มชาวอิตาเลียน

กล่าวกันว่าหนังเรื่องนี้ได้รับการการันตีจากสกอร์เซซี่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก The Italian Connection หรือสายสัมพันธ์ของชาวเมืองมักกะโรนี นั่นเอง

สกอร์เซซี่นั้นชอบอยู่แล้วกับการทำหนังพันธุ์อิตาเลียนโดยเฉพาะหนังอย่าง Mean Street (1973) Italianamerican (1974) Good Fellas (1990) และ Casino (1995) ทั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่อิงอยู่กับชุมชนอิตาเลียนบนแผ่นดินอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง The Golden Door น่าจะโดนใจคุณป๋ามาร์ตี้เราอยู่ไม่น้อย

The Golden Door เล่าเรื่องการอพยพของครอบครัว “แมนคูโซ” (Mancuso)ซึ่งเป็นครอบครัวชาวนาจนๆบนเกาะซิซิลี่ ครับ ว่ากันว่าเกาะๆนี้คือแหล่งกำเนิดของเหล่ามาเฟียตัวเอ้ของอเมริกาเลยก็ว่าได้

หนังเรื่องนี้มีตัวละครนำเรื่องอย่าง “ซัลวาทอเร่ แมนคูโซ่” (Sanvatore Mancuso) ซึ่งเป็นชาวนาจนๆแถมยังเป็นพ่อหม้ายเรือพ่วงมีลูกติดอีก 2 คน ซัลวาทอเร่ตัดสินใจที่จะอพยพไปสู่ “โลกใหม่” ที่อเมริกา หลังจากที่เกิดความอัตคัดขัดสนบนแผ่นดินซิซิลี่ ดังนั้นภาพถ่ายหัวหอมอันใหญ่มหึมา ภาพแม่ไก่ตัวโต หรือ ภาพต้นไม้ที่เต็มไปด้วยเงินทองจึงเป็นแรงปรารถนาให้เขาตัดสินใจที่จะอพยพไปยัง “โลกใหม่” ที่มีอนาคตมากกว่า

อย่างที่ผมเรียนไปตอนต้นแล้วครับว่า “การอพยพ”ย้ายถิ่นฐานน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของมนุษย์ ซึ่งในหนังก็ได้สื่อให้เห็นความอาวรณ์ที่มีต่อแผ่นดินเกิดทั้งตัวลูกชายคนเล็กของซัลวาทอเร่เองหรือแม้กระทั่ง “แม่เฒ่า” ของเขา

วิชาเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานไว้อย่างนี้ครับว่า การที่แรงงานจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน เช่นจากพม่ามายังประเทศไทยนั้น ตัวแรงงานเองจะต้องคำนึงถึงค่าจ้างที่ตัวเองจะได้รับจากที่ทำกินใหม่ว่าอย่างน้อยมันจะต้องมากกว่าค่าจ้างเดิมรวมกับค่าอพยพเคลื่อนย้าย

จริงๆแล้วตรรกะนี้ดูจะเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะหากที่เดิมอยู่แล้วอดอยากปากแห้ง สู้ไปหาที่ใหม่ที่มีอนาคตรออยู่ดีกว่า

แต่การอพยพนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่ายๆ เพราะประเทศเจ้าของบ้าน (Host Country) มักตั้งข้อรังเกียจผู้อพยพเนื่องจากแรงงานต่างด้าวชอบเข้ามาแย่งงานแรงงานท้องถิ่น

แต่ในทางเศรษฐศาสตร์กลับมองว่าเป็นผลดีสำหรับผู้ประกอบการในประเทศนั้นครับเนื่องจากมีอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ต้องรอการเพิ่มประชากร ผลก็คือทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการจ้างแรงงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างที่ทฤษฎีพูดไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานต่างชาตินั้นค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะหากประเทศเจ้าบ้านเขาสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้กับคนท้องถิ่นแล้ว

กลับมาที่หนังต่อดีกว่าครับ , เครียเรซี่ ได้ทำให้เราเห็นบรรยากาศการนั่งเรืออพยพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค จากแผ่นดินยุโรปสู่แผ่นดินอเมริกา

“อเมริกา” ได้กลายเป็นโลกใบใหม่ของใครหลายคน เป็นดินแดนแห่งโอกาสอย่างแท้จริง หนังอย่าง Far and Away(1992) ของ รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) แสดงภาพชาวไอริชที่อพยพไปยังอเมริกาเพื่อแสวงหาที่ดินทำกินในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

สำหรับ The Golden Door นั้น หนังดำเนินเรื่องอยู่บนเรือลำใหญ่ที่บรรทุกชาวยุโรปพลัดถิ่นทั้งผู้ดีไปจนกระทั่งคนยากไร้ที่กำลังเดินทางไปยังโลกใบใหม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไปเพราะต้องเผชิญกับสภาพฟ้าฝนกลางทะเลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แต่ท้ายที่สุดครอบครัวแมนคูโซ่ ก็มาเหยียบแผ่นดินใหม่จนได้

การอพยพไปอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 นั้น ผู้อพยพต้องเดินทางไปพักที่เกาะเอลลิส ( Ellis island) เป็นด่านแรกก่อนครับ ตามภูมิศาสตร์นั้นเกาะๆนี้อยู่บริเวณปากทางของ New York Harbor

เกาะๆนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่ผู้อพยพจะต้องมาทำการตรวจตราเอกสาร ตรวจร่างกาย ไปจนกระทั่งวัดเชาว์ปัญญาก่อนเข้าเมืองอเมริกา ผมเองก็เพิ่งทราบจากในหนังเหมือนกันครับว่า มีการวัดเชาว์ปัญญาของผู้อพยพด้วย

กล่าวกันว่าในช่วงต้นศตวรรษ 20 นั้นมีชาวยุโรปอพยพหลายคนที่เข้ามาได้ดิบได้ดีในอเมริกา หนึ่งในนั้นก็คือ "ชาลี แชปลิน" (Charles Chaplin) ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึกจะมีหนังของแชปลินที่เกี่ยวกับการอพยพด้วยรู้สึกจะเป็นเรื่อง The Immigrant (1917) นะครับ

หนังเรื่องนี้ เครียเรซี่ ได้แฝงความเป็นแฟนตาซีเข้าไปบ้างคล้ายๆกับ The Big Lebowski (1998) ของพี่น้องโคเอน (Brothers Coen ) อย่างไรก็ดีเสน่ห์ของ The Golden Door น่าจะอยู่ที่บรรยากาศการอพยพทั้งที่ปรากฏบนเรือและบนเกาะเอลลิส ครับ

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ, ผมนึกถึงบรรพบุรุษของตัวเองที่โล้สำเภามาจากเมืองจีน อาม่าผมท่านเคยบอกว่าครอบครัวของเรามาจากเมือง “เหนกโอ๋ยเซี๊ย” ผมไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่าแต่ที่แน่ๆคือพวกเราเป็น “แต้จิ๋วชน” แน่นอนครับ

การอพยพครั้งใหญ่ของคนจีนโพ้นทะเล (Oversea Chinese) เกิดขึ้นราวๆปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงที่ราชวงศ์ชิงใกล้ล่มสลาย สำหรับเมืองไทยนั้นคนจีนเริ่มหลั่งไหลเข้ามามากในสมัยรัชกาลที่ 3 และมาลงหลักปักฐานกันในกรุงเทพแถบสำเพ็ง และ เยาวราช

นอกจากนี้กลุ่มชาว “จีนแคะ”ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่ม “กบฏไต้เผง” ที่ถูกปราบปรามก็ถอยร่นอพยพหนีลงมายังบริเวณแถบอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดผมคิดว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรานั้นส่วนหนึ่งมาจากการทำสงครามแก่งแย่งดินแดนกัน ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาแสวงหาสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าและอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการอพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งดูเหมือนมันจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนเราจะตัดสินใจ...ใช่หรือเปล่าครับ?

Hesse004

No comments: