Jan 27, 2008

“ละครการเมืองไทยกับประชาธิปไตยของหัวคะแนน”




หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว ผมเริ่มกลับมาติดตามซีรีส์ละครไทยเรื่องหนึ่งที่ว่ากันว่าสนุกไม่แพ้ซีรีส์ละครหนังเกาหลีเลยทีเดียวครับ

หลังจากที่ซีรีส์ละครเรื่องนี้ถูกเซนเซอร์มาปีกว่าๆ ด้วยทางกองเซนเซอร์หรือ “กองแบน”มองว่าละครเรื่องนี้กำลังจะนำเสนอภาพการฉ้อฉลของเหล่าตัวละครดารานำทั้งหลายและอาจทำให้ตีม (Theme) ของเรื่องผิดเพี้ยนไป

“กองแบน”ของเราจึงต้องออกมาเซนเซอร์ละครเรื่องนี้พร้อมทั้งเรียกหลายฝ่ายมาช่วยกันปรับปรุงบทละครกันใหม่แถมยังโละดาราหน้าเก่าๆออกจากเวทีแห่งนี้ไปสักพักหนึ่ง

อย่างไรก็ตามพอละครเรื่องนี้เริ่มออกอากาศใหม่อีกครั้ง ผมกลับพบว่าซีรีส์ชุดนี้ยังคงความ “น้ำเน่า” อยู่เช่นเดิมครับ แม้ดาราเจ้าบทบาทหลายคนจะหายหน้าหายตาไปแล้วก็ตามแต่ก็มีบางคนแอบบอกบทให้ดาราใหม่ๆอยู่ ซึ่งคนชอบดูหนังดูละครอย่างผมก็จับได้ว่าดาราหน้าใหม่เหล่านั้นยังทำได้ไม่ “เนียน” พอ

ละครเรื่องที่ผมกล่าวมาข้างต้นนั้น น่าจะเป็นละครซีรีส์ที่มีอายุยาวนานมากที่สุดก็ว่าได้นะครับ ยาวกว่า “สามหนุ่มสามมุม” ของคณะละครเอ็กแซกท์ เสียอีก

อย่างไรก็ตามบทที่วางไว้นั้นถูกปรับปรุงหรือถูก “ฉีก” อยู่นับสิบครั้งและล่าสุด “กองแบน”ก็ได้ให้มือเขียนบทละครเรื่องนี้ปรับปรุงบทกันใหม่แถมยังใจดีเอาบทมาให้คนดูช่วยกัน “โหวต” ว่าชอบหรือไม่ชอบอีกด้วย

ซีรีส์ที่ผมกล่าวถึงนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ครับ นานโขเลยทีเดียว คณะละครชุดแรกที่ได้ริเริ่มสร้างและเขียนบทละครเรื่องนี้ขึ้นมามีชื่อว่า “คณะราษฎร” ครับ

จุดมุ่งหมายของผู้สร้างละครชุดนี้ คือ ต้องการเห็นชนชาวสยามของเรามีประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่ไอ้คำว่า “เดโมเครซี่” (Democracy) ที่คณะละครชุดนี้ต้องการเผยแพร่นั้นมีความซับซ้อนมากกว่า “การหย่อนบัตรลงคะแนน”

ถ้าผมจำไม่ผิดซีรีส์ละครตอนแรกนี่น่าจะมีชื่อว่า “กำเนิดประชาธิปไตยในสยาม” ฟังดูเข้าท่าดีนะครับ แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนตีมของละครที่ต้องการสื่อนั้นดูจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงเอาเสียเลย เพราะผู้ชมชาวสยามสมัยนั้นไม่สนใจละครเรื่องนี้ ก็เลยเป็นเหล่านักแสดงละครเล่นกันเองดูกันเอง บ่อยครั้งที่พบว่าแย่งบทบาทกันเองเสียด้วย

ท้ายที่สุดละครตอนที่หนึ่งจบลงอย่างไม่เป็นท่าครับ เพราะมีการฉีกบทและเริ่มเล่นกันใหม่โดยตอนที่สองที่นั้นมีชื่อเก๋ๆว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ละครตอนนี้ออกอากาศอยู่นานหลายปีครับจนในที่สุดคนดูก็พบว่า “เชื่อผู้นำ เรามีภัย” ก็เพราะภัยจากสงครามโลกครั้งที่สองไงครับที่ทำให้ผู้ชมบางกลุ่มชักเริ่มสงสัยในตีมของซีรีส์เรื่องนี้เสียแล้ว

หลังจาก ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าดาราเจ้าบทบาทจะไปตกอยู่กับบุคคลในเครื่องแบบ การแย่งชิงบทดารานำของเหล่า “ขุนทหาร” ทำให้ตีมของซีรีส์ละครชุดนี้ดูผิดเพี้ยนไปทุกวันครับ

คนดูเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับละครชุดนี้เพราะถูก “บังคับ” ให้ดูแถมถูก “บังคับ”ให้ต้องสนุกด้วย ว่ากันว่าบทที่ขุนทหารเขียนขึ้นนั้นจืดชืดไร้รสชาติสิ้นดี จนคนดูรุ่นคุณปู่ของผมท่านเรียกซีรีส์ละครตอนนี้ว่า “เผด็จการ” ครับ

แต่ในที่สุดเมื่อเหล่าคนดูกลุ่มหนึ่งเริ่มทนไม่ไหวกับทละครที่จืดชืดอืดอาด เหล่าคนดูเลยลุกขึ้นมาปฏิวัติบทละครกันเสียใหม่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ครับ

กล่าวกันว่าในวันนั้นผู้ชมละครเรือนแสนได้ออกมาต่อต้านคณะผู้จัดละคร ผู้กำกับ เหล่าดารานักแสดง จนทำให้คนเหล่านี้ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านบางคนต้องหลีกลี้หนีหน้าไปต่างประเทศเลยทีเดียว

ดูเหมือนผู้ชมที่คิดก่อการในช่วงนั้นจะเรียกตัวเองว่า “คณะละครเดือนตุลา” นะครับ เพราะทุกวันนี้คณะละครชุดนี้ยังมีบทบาทอยู่ในฐานะมือเขียนบท มือกำกับหรือแม้แต่ดาราเจ้าบทบาท

แม้ว่าซีรีส์ตอนใหม่ที่ชื่อ “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยความหวังอันเรืองรองของคณะละครเดือนตุลา แต่แล้วในที่สุดละครชุดนี้ก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปครับ ด้วยเหตุผลมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันในโรงละครเวทีแถวๆท่าพระจันทร์ สนามหลวงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หลังจากนั้นผู้จัดละครได้ปล่อยซีรีส์ละครตอนที่ห้าซึ่งเริ่มต้นออกอากาศหลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น และว่ากันว่าเป็นซีรีส์ที่สุดแสนจะน่าเบื่อเพราะตัวละครส่วนใหญ่มีทักษะการแสดงที่ค่อนข้างแข็งทื่อแถมยังไม่จัดเจนในการแสดงละครชุดนี้ นักวิชาการการละครเรียกซีรีส์ชุดนี้ว่า “อำมาตยาธิปไตย”ครับ

อย่างไรก็ตามซีรีส์ละครที่ผมดูอยู่นั้นมักถูกเซนเซอร์บ่อยครั้งโดยเฉพาะนักเซนเซอร์บทละครประชาธิปไตยชั้นดีที่มีรถถังอยู่ในมือ จะด้วยเจตนาอะไรก็แล้วแต่นักเซนเซอร์เหล่านี้มักถูกตราหน้าว่ามีความคิดล้าหลัง คับแคบ และไม่เป็นมืออาชีพ

หลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ผมเริ่มรู้สึกถึงความสนุกของซีรีส์ละครชุดนี้อย่างไรก็ตามซีรีส์ตอน “บุฟเฟต์คาบิเนต” ทำให้ผมรู้ซึ้งถึง “สันดาน” นักแสดงละครที่มักตะกละตะกราม ฉ้อฉลและลุแก่อำนาจ จนเป็นข้ออ้างให้นักเซนเซอร์เข้ามาเซนเซอร์บทละครอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

แต่แล้วนักเซนเซอร์กลับอยากจะลองมาเป็นดาราเสียเองจนทำให้เหล่าคนดูโห่ไล่โดยเฉพาะคนดูที่ชอบเรียกตัวเองว่า “ชนชั้นกลาง” ท้ายที่สุดละครตอนนี้ก็จบด้วยการนองเลือด (อีกแล้ว) เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2535

เหล่าผู้สร้าง นักจัดละคร ผู้กำกับและนักแสดงเริ่มเข้าใจในตีมของเรื่องที่คณะราษฎรต้องการสื่อมากขึ้น พวกเขาเริ่มมาวางรากฐานเขียนบทกันใหม่และประกาศก้องกับชนชาวสยามหัวดำๆว่าซีรีส์ตอนใหม่ที่จะสร้างต่อไปนี้จะมอบสาระประโยชน์ต่อชาวสยามทุกคน

เหล่าคนดูเบิกบานแต่ท้ายที่สุดการณ์กลับเป็นว่าตัวละครกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า “นักธุรกิจการเมือง” และ “นักการเมืองโดยอาชีพ” ได้ทำให้บทละครบทนี้ดู “น้ำเน่า” ไปในที่สุดครับ

หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2540 คณะละครกลุ่มใหม่นามว่า “คณะไทยฮักไทย” (ออกเสียงแบบจาวเหนือครับ) ได้ทำให้ซีรีส์ละครเรื่องนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง การผสมพันธุ์ระหว่างนักธุรกิจการเมืองและนักการเมืองโดยอาชีพทำให้คณะละครชุดนี้สามารถครองใจผู้ชมได้มากมายถล่มทลายหลังเปิดการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2544

อย่างไรก็ตามมีคนแอบกระซิบข้างหูผมว่าละครตอนนี้มีชื่อสั้นๆว่า “ประชาธิปไตยของนายทุน” ดูเหมือนชื่อไม่ค่อยน่ายินดีเท่าไรเพราะตีมของละครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นั้นจงใจจะให้ชื่อละครชุดนี้ว่า “ประชาธิปไตยของปวงชนชาวสยาม”

ในละครตอนนี้มีองก์หรือตอนย่อยๆของละครอยู่หลายตอน อาทิ องก์ “ประชานิยม” ที่เล่าเรื่องคณะละครไทยฮักไทยสามารถครองใจผู้ชมกลุ่มใหญ่ได้จากการเอาทรัพยากรรัฐมากระจายให้เหล่าคนดูอย่างทั่วถึง เหมือนเข้าโรงละครแล้วแจกน้ำอัดลม ยาดม ยาหม่อง “ฟรี”

จริงๆแล้วซีรีส์ตอน “ประชาธิปไตยของนายทุน” นั้นดูจะคล้ายคลึงกันกับละครฝรั่ง ละครญี่ปุ่น ละครเกาหลี เพราะ “นายทุน” คือ ผู้ที่พยายามเข้าไปเกาะกุมอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านอำนาจทางการเมืองโดยใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกการแสวงหาอำนาจ

ขึ้นชื่อว่า “นายทุน”หรือ “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur) แล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงผู้ที่รวบรวมปัจจัยการผลิตอย่างที่ดิน แรงงาน เครื่องจักร ตลอดจนทุนทางการเงินเพื่อผลิตสินค้าและบริการให้เกิดผลกำไรก่อนนำกำไรที่ได้มาลงทุนต่อ

แต่สำหรับ “นายทุนหรือผู้ประกอบการทางการเมือง” คือ กลุ่มทุนที่แสวงหาอำนาจรัฐผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยใช้ทักษะพิเศษรวบรวมเสียงหรือมุ้งต่างๆของเหล่านักเลือกตั้ง เพื่อสถาปนาอำนาจให้กับตนเองโดยมุ่งแสวงหากำไรให้พรรคและพวกพ้อง

อย่างไรก็ตามดูเหมือนคณะละครไทยฮักไทยจะไปไม่ได้ไกลนัก เพราะถูกนักเซนเซอร์เข้ามาตัดบทอีกรอบโทษฐานกำลังสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็กและเยาวชนชาวสยามโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของเหล่าดารานักแสดงนำ

คณะละครไทยฮักไทยปิดตัวลงอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก เหล่าดาราเจ้าบทบาทต่างระหกระเหินกระจัดกระจาย อย่างไรก็ตามอิทธิฤทธิ์ของเงินตราย่อมทำให้คณะละครชุดนี้กลับเข้ามาใหม่ในนาม “คณะละครพลังของประชาชน”

หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว ผมเริ่มกลับมาติดตามละครชุดนี้อีกครั้งด้วยใจหวังอยากเห็นบทบาทใหม่ที่สร้างสรรค์และพัฒนาไปกว่าเดิม

แต่แล้วความหวังและความสนุกของผมก็ต้องมลายหายมอดไป เพราะ ดูเหมือนผู้ชมส่วนใหญ่ยังอยากเห็น “น้ำเน่า” ของซีรีส์ชุดนี้อยู่ น้ำเน่าที่ว่านั้นเต็มไปด้วยการปลิ้นปล้อน มดเท็จตอแหลของตัวละครตั้งแต่ระดับผู้เฒ่าลงไปกระทั่งตัวละครหน้าใหม่

หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว เพื่อนผมบางคนแอบมากระซิบข้างหูว่าซีรีส์ละครที่มึงกับกูดูชุดนี้ดูเหมือนจะเป็นตอน “ประชาธิปไตยของหัวคะแนน”ว่ะ

ผมสวนกลับไปว่าหรือจะเป็น “ประชาธิปไตยของนอมินี” วะ

แต่ถึงที่สุดแล้วเราต่างต้องดูซีรีส์ละครเรื่องนี้ไปอย่างจำใจ แถมจะย้ายช่องเปลี่ยนไปดูเรื่องใหม่ก็ไม่ได้เพราะดูเหมือนทุกช่องจะพร้อมใจกันฉายละครเรื่องนี้ให้เราได้ชมอยู่ทุกวันใช่มั๊ยครับ

Hesse004

No comments: