Jan 31, 2008

“All the King’s Men” อำนาจทำให้คนเปลี่ยน





กระบวนหนังการเมืองที่ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจมีอย่างน้อย 3 เรื่อง ครับ เรื่องแรก คือ Wag the Dog (1997) ผลงานการกำกับของ แบรี่ เลวินสัน (Barry Levinson) หนังเล่าถึงการทำการตลาดทางการเมืองโดยอาศัยโปรดิวเซอร์กำกับหนังจาก Hollywood มาช่วยทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้มีมลทินเรื่องเพศสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัยหนึ่ง

หนังของนายเลวินสันนับเป็นหนังเสียดล้อนักการเมืองอเมริกันที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้

สำหรับเรื่องที่สองนั้น Man of the Year (2006) ของนายเลวินสันคนเดิมครับ หนังเรื่องนี้สื่อให้เห็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ในการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

จะเห็นได้ว่างานของเลวินสันทั้งสองชิ้นล้วนสะท้อนให้เห็นทัศนวิจารณ์ทางการเมืองของเขาได้อย่างดี

และดูเหมือนเลวินสันจะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้งเท่าไรนักดูจาก Wag the Dog ที่เขาพยายามชี้ให้เห็นการสร้างภาพของเหล่านักการเมืองทั้งหลายที่พยายาม “หลอกแดก” ผู้ลงคะแนนเสียงด้วยผลงานในช่วงสองอาทิตย์สุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน

ขณะที่ Man of the Year ที่เลวินสันให้นายทอม ดอบบ์ (Tom Dobbs) เป็นตัวแทนของความเบื่อหน่ายต่อระบบการเมืองแบบเก่าๆประเภท “นักการเมืองโดยอาชีพ” ที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้ดูดีในสายตาประชาชน โดยเลวินสันจงใจให้ดอบบ์ที่นำแสดงโดย “โรบิน วิลเลียม” นักแสดงตลกปัญญาชนอเมริกัน คือ ตัวแทนเสียดสีรูปแบบการเล่นการเมืองแบบ Democrat หรือ Republican

ทัศนวิจารณ์ของเลวินสันทั้งสองเรื่องนั้นยิ่งตอกย้ำถึง “การเมือง”กับ “ทุน”ในระบอบประชาธิปไตยว่ามีความซับซ้อนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง Political Marketing หรือ “การตลาดการเมือง” จึงมีความสำคัญอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกในการตัดสินใจเลือกผู้แทนและรัฐบาล

ผมไม่แน่ใจว่าเลวินสันได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเหล่านักคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ Public Choice หรือไม่ แต่ที่แน่ๆหนังของเขาได้สะท้อนให้เห็นความเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”ของเหล่านักการเมืองในแง่ที่ต้องพยายามแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ตนเองและประสานประโยชน์ให้กับพวกพ้องสูงสุด (Utility Maximiztion for me and Profit Maximization for party)

เจ้าสำนัก Public Choice อย่างเจมส์ บูคาแนน (James Buchanan) คนละคนกับอดีตประธานาธิบดีอเมริกานะครับ และ กอร์ดอน ทอลลอค (Gordon Tullock) ได้ช่วยกันพัฒนาแนวคิดของ Public Chioce จนกลายเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่านักการเมืองก็จัดอยู่ในจำพวก “สัตว์เศรษฐกิจ” จำพวกหนึ่งที่มุ่งแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองและกลุ่มผลประโยชน์หรือ Interested Group

นอกจากนี้งานของทอลลอคยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายเรื่องของ Economic Rent Seeking หรือ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ นั่นเองครับ

งานของทอลลอคได้รับการต่อยอดจากนักเศรษฐศาสตร์หญิงชื่อดังนามว่า “แอน ครูเกอร์” (Ann O. Kruger) ครูเกอร์อธิบายการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่างการจำกัดโควต้าสินค้านำเข้าในตุรกีเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว โดยเปเปอร์ของครูเกอร์นั้นได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของนักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้มีส่วนในอำนาจรัฐ จนองค์ความรู้ดังกล่าวพัฒนามาสู่เรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) ในที่สุด

จะเห็นได้ว่าทัศนวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์สาย Public Choice ที่มีต่อ “นักการเมือง” และรัฐนั้นดูจะไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจสักเท่าไรนะครับ ซึ่งก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำพูดของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เคยสรุปไว้ว่า

“สังคมไทยมีความคาดหวังจากอาชีพนักการเมืองสูงเกินกว่าระดับปุถุชน คนเป็นอันมากคาดหวังว่านักการเมืองจักต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ความคาดหวังในลักษณะดังกล่าวนี้บางครั้งมีมากจนถึงขั้นที่มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นนักการเมืองได้” (อ้างจากนพฤทธิ์ อนันอภิบุตร ,เจ้าบอมบ์เพื่อนผม, ใน การวิเคราะห์กระบวนการงบประมาณแผ่นดินในสภาผู้แทนราษฎรของไทย )

โอ้...ผมเตลิดไปไกลเชียว สำหรับหนังการเมืองเรื่องสุดท้ายที่ประทับใจนั้นเป็น หนังที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์เมื่อปี ค.ศ.1949 ครับ หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “All the King’s Men” ผลงานการกำกับของนายโรเบิร์ต รอสเซ่น (Robert Rossen)

All the King’s Men เล่าเรื่องราวของชายผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองคนหนึ่งนามว่า “นายวิลลี่ สตาร์ก” (Willie Stark) แม้ว่า “วิล” จะเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำแต่สิ่งที่ดีแต่เขาก็ยังไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในเมืองชนบทเล็กๆได้

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้บทบรรยายของ “แจ๊ค เบอร์เดน” (Jack Burden) นักข่าวหนุ่มที่เข้ามาทำข่าวเรื่อง “วิล” ตั้งแต่เป็นนักการเมืองกระจอกที่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “วิล” เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะ “ผู้ว่าการรัฐ”

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายชิ้นเยี่ยมที่การันตีด้วยรางวัลพูลิตเซอร์ของ นายโรเบิร์ต เพนน์ วอร์เรน (Robert Penn Warren) ครับ

สารที่ทั้งผู้เขียนและผู้กำกับต้องการจะสื่ออยู่ที่ “อำนาจทำให้คนเปลี่ยน” ใช่แล้วครับ อำนาจก็เหมือนแหวนในเรื่อง Lord of the Ring ซึ่งมนุษย์อย่างเราๆยังคงเฝ้าแสวงหาและอยากครอบครองมันให้นานที่สุด

ผมเชื่อว่านักการเมืองหลายคนเริ่มต้นเข้าสู่การเมืองแบบ “วิลลี่ สตาร์ก” ด้วยความตั้งใจดี ปรารถนาอันแรงกล้าด้วยอุดมคติ ด้วยอุดมการณ์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีอำนาจ เราก็พูดได้ครับว่าเราอยากจะทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ แต่พอมีอำนาจแล้วดูเหมือนมันจะมีทั้ง “มือและตีนที่มองไม่ค่อยเห็น” คอยมาดึงให้เราไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจ แต่ไอ้มือหรือตีนที่ว่ามันอาจจะไม่สำคัญเท่ากับ “ใจ” ที่เปลี่ยนไปของเราหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่าคนบางคนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตได้แต่อย่าเปลี่ยนแปลง “สาระ” ของชีวิตที่ตัวเองเป็นเลยครับ เพราะสาระของชีวิตมันย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “จุดยืน”ที่เราเคยคิดเคยเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันคือสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้วและที่สำคัญคือไม่เบียดเบียนส่วนรวม

All the King’s Men ยังสะท้อนให้เห็น “ราคาที่นักการเมือง” ต้องจ่ายหากคิดจะขึ้นเป็นใหญ่และราคาที่ว่านั้นดูเหมือนจะแพงเสียด้วยเพราะมันแลกมาด้วยการแตกสลายของครอบครัว

บางทีนักการเมืองอาจทำให้คนพันคน หมื่นคน หรือแม้แต่คนสิบล้านคนรักตัวเองได้แต่อาจจะไม่สามารถทำให้ภรรยาและลูกที่รักหันกลับมารักเราได้

บทสุดท้ายของ All the King’s Men ทำให้ผมคิดถึงฉากตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี พ.ศ.2544 ท่านผู้อ่านอยากรู้มั๊ยครับว่าฉากตอนนั้นคืออะไร? ลองกลับไปหาดูหนังเรื่องนี้สิครับ.... All the King’s Men

Hesse004

No comments: