Dec 24, 2007

“Warlords”เบื้องหลังชัยชนะมักมีซากศพกองทับถมอยู่




นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมากระแส “จีนนิยม” ได้ทำให้ภาพยนตร์จีนตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง การไปปรากฏโฉมของ Crouching Tiger , Hidden Dragon (2000) ของ อั้ง ลี่ (Ang Lee) ในเวทีออสการ์นั้น ได้กรุยทางให้หนังจีนกำลังภายในเรื่องต่อๆมาอย่าง Hero (2002)และCurse of the Golden flower (2006) ซึ่งเป็นผลผลิตของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่นั้นสามารถออกไปโกยเงินต่างประเทศตลอดจนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหนังดังจากแดนมังกรผ่านผลงานการกำกับของนักทำหนังชาวจีนอย่าง อั้ง ลี่ และจางอี้โหม่ว (Yimou Zhang)เป็นต้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่าหนังจีนที่ส่งออกขายต่างประเทศส่วนใหญ่นั้นมีเนื้อเรื่องหนักไปทางหนังย้อนยุค (Period film) ครับ ตัวอย่างเช่น Hero (2002) ของจางอี้โหม่ว ที่เล่าเรื่องการลอบสังหารจักรพรรดิจิ๋นซี ขณะที่ Curse of the Golden flower (2006)ของจางอี้โหม่วอีกเช่นกัน พี่ท่านก็ย้อนอดีตไปในสมัยราชวงศ์ถังที่ว่าด้วยเรื่องราวของการฆ่าฟันกันในราชสำนัก

อย่างไรก็ดีมิใช่ อั้งลี่ หรือจางอี้โหมว่ เท่านั้นที่จะเหมาสัมปทานทำหนังจีนย้อนยุคนะครับ เพราะช่วงปีนี้มีภาพยนตร์จีนพีเรียดอย่างน้อย 3 เรื่องที่กำกับโดยฝีมือผู้กำกับชาวจีน เริ่มจากงานของ แดเนียล ลี (Daniel Lee) กับ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (2008) หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “จูล่ง”ขุนพลเอกแห่งแคว้น “จ๊กก๊ก” ในยุคตอนปลายของสามก๊ก ขณะที่ จอหน์ วู (John Woo) ก็หยิบ “ยุทธการผาแดง” (The battle of red cliff) ในสามก๊กอีกเช่นกันมาสร้างใหม่ให้อลังการเพื่ออวดโฉมหน้าของหนังจีนในปี ค.ศ.2008 ที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

สำหรับเรื่องที่สามซึ่งเป็นเรื่องที่ผมอยากหยิบมาเล่านั้น คือ เรื่อง Warlords (2007) ของ ปีเตอร์ ชาน (Peter Chan) ครับ ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้มีพลังดึงดูดอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เนื้อหาอันเข้มข้นที่กล่าวถึงการเข่นฆ่ากันของสามพี่น้องร่วมสาบาน นอกจากนี้พลังดึงดูดจากดาราใหญ่ของเอเชียอย่าง เจ๊ท ลี หรือ หลี่ เหลียน เจี๋ย(Li Lian Jie) , หลิว เต๋อ หัว (Andy Lau) และ ทาเคชิ คาเนชิโร่ (Takeshi Kaneshiro)เพียงเท่านี้ Warlords ก็กลายเป็นหนังที่น่าดูไปในทันใดครับ

ตามธรรมเนียมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่องเหมือนเดิมเพราะเกรงจะเสียอรรถรสในการชม โดยส่วนตัวแล้วผมชอบหนังเรื่องนี้มากครับและตั้งใจจะกลับไปดูซ้ำอีกรอบ

Warlords ของ ชาน นั้น กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์ชิง (แมนจู) ขณะที่พระนางซูสีไทเฮากำลังเรืองอำนาจอยู่ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์นี้ใกล้สิ้นบุญแล้ว ทั้งนี้ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินทำให้ราษฎรจีนเดือดร้อนกันทุกข์หย่อมหญ้าจนเป็นที่มาของ “กบฎไต้ผิง” (Taiping Rebellion) นั่นเองครับ

กบฎไต้ผิง กินระยะเวลานานถึง 21 ปี (1850 - 1871) กล่าวคือ กลุ่มผู้ก่อกบฏเริ่มขัดขืนอำนาจของราชสำนักตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 กบฎได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ของมวลชนชาวจีนที่ต้องอดอยากปากแห้งจนทำให้เกิดการปล้นสะดมไปทุกหย่อมหญ้า มีการตั้งชุมนุม “โจร” เพื่อปล้นสะดมอาหารจากคนรวยหรือแม้กระทั่งจากกองทัพรัฐบาลเอง

กลุ่มกบฏสามารถยึดดินแดนทางตอนใต้ของจีนได้จนสามารถใช้เมือง “นานกิง” ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าเป็นฐานบัญชาการ ด้วยเหตุนี้เองกองทัพรัฐบาลต้องหาทางปราบกลุ่มกบฏเหล่านี้ให้ได้เพราะมิเช่นนั้นแล้วแผ่นดินจีนอาจถูกแบ่งด้วยน้ำมือของกบฏ

หนังเปิดมาด้วยภาพคนตายเป็น “เบือ” ครับ คำว่า “เบือ” เนี่ยน่าจะเห็นภาพว่าตายกันมากขนาดไหน ปีเตอร์ ชาน พยายามสื่อให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงคราม การที่เราต้องเห็นภาพสยดสยองในฉากหนังนั้นทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าสงครามเป็นประดิษฐ์กรรมที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

ประเด็นหลักที่ดูจะขับเน้นในหนังเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มิตรภาพของคนแปลกหน้าอย่าง “ผางชิงหยุน”ที่แสดงโดย หลี่ เหลียน เจี๋ย และชาวโจรคุณธรรมอย่าง “เฉาอี้หู” ซึ่งแสดงโดยพี่หลิวนั่นเองและ “จางเหวินเฉียง” ที่รับบทโดยทาเคชิ คาเนชิโร่ แม้ว่ามิตรภาพดังกล่าวได้พัฒนาจนถึงขั้นสาบานเป็นพี่น้องกันที่พร้อมจะตายและล้างแค้นให้กันแต่เรื่องราวทั้งหมดกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทั้งสามคาดคิดไว้ครับ

“ผาง ชิง หยุน” เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่ทะเยอทะยานและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้นได้โดยไม่สนใจวิธีการว่ามันจะถูกหรือผิด ตัวละครอย่างนายพลหม่านั้นเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอุดมคติกับการกระทำซึ่ง หลี่ เหลียน เจี๋ย เล่นบทนี้ได้สุดยอดครับ ทั้งสีหน้าแววตาและอารมณ์ที่แสดงออกมา

“เฉา อี้ หู” คือ ตัวแทนของชาวบ้านซื่อๆธรรมดาที่ต้องการรบเพื่อความอยู่รอดเท่านั้นเพราะเขาโดนอำนาจรัฐรังแกมาโดยตลอดจนต้องแปลงสภาพไปเป็นขุนโจร แม้ว่าการเข้าสู่กองทัพปราบกบฏไต้ผิงของอาเฉานั้นจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์อะไรมากมายแต่กลับกลายเป็นเรื่องของปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีตัวละครตัวนี้กลับมีพัฒนาการในเรื่องอุดมคติและมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นหลังจากที่เขาต้องตรากตรำในสมรภูมิรบเป็นเวลานาน

“จางเหวินเฉียง” แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคำสาบานของ “พี่น้อง”แม้ว่าท้ายที่สุดเขาจะได้เรียนรู้ “ราคาของความไร้เดียงสา”จากผลพวงของคำว่า “อำนาจ” และสัจธรรมที่ว่า “เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน”

เหตุการณ์ใน Warlords เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วครับ การแก้ปัญหาของมนุษย์ยังคงเน้นไปที่สงครามการและการต่อสู้อยู่ ผู้แข็งแรงกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า มีกลยุทธ์มากกว่า คนเหล่านี้มักได้รับชัยชนะครับ อย่างไรก็ตามชัยชนะแต่ละครั้งนั้นมักมีกองซากศพของเพื่อนฝูงเรา พี่น้องเราแม้กระทั่งคนที่เรารักนั้นกองทับถมอยู่ ขณะที่ “ตีน”ของเรากำลังเหยียบคนเหล่านั้นขึ้นไปเสวยสุขจากลาภยศ สรรเสริญหรือแม้แต่มีชื่อแปะไว้ในบรรทัดประวัติศาสตร์

มาถึงวันนี้สงครามการแย่งชิงอำนาจได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วครับจาก “สนามรบ”สู่ “สนามเลือกตั้ง” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะเป็นเพียง “เบี้ยหมาก”ตัวหนึ่งในกระดานของขุนศึกนักเลือกตั้งทั้งหลายที่พอสงครามเลือกตั้งจบลงไปเมื่อไหร่ ประชาชนเช่นเราๆก็ไม่ต่างอะไรกับกองศพที่นักเลือกตั้งเหล่านั้นเหยียบขึ้นไปเถลิงอำนาจได้ในที่สุดและก็ดูเหมือนว่าเราเองก็ไม่ได้อะไรเลยกับชัยชนะเหล่านั้น...ใช่มั๊ยครับ

Hesse004

No comments: