Dec 2, 2007

“โรบินสัน ครูโซ” คำสารภาพของจักรวรรดินิยม





“โรบินสัน ครูโซ” (Robinson Crusoe)เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกของ “ดาเนียล เดโฟ” (Daniel Defoe) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ครับ กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้ถูกตีความได้หลายมิติทั้งในแง่ของความบันเทิง จิตวิทยา ตลอดจนปรัชญาการเมือง

ดาเนียล เดโฟ นั้นเป็นนักเขียนที่อยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งอังกฤษกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ด้วยแรงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นอกจากนี้ลัทธิการล่าอาณานิคมได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ที่ล้วนมุ่งขยายดินแดนโดยเที่ยวไปยึดแผ่นดินชาวบ้านเขา ซึ่งว่าไปแล้วนี่ก็คือคลื่น “โลกาภิวัตน์” ลูกแรกที่เชื่อมโลกหลายดินแดนเข้าด้วยกันผ่านการล่าอาณานิคม

ผมตั้งข้อสังเกตต่องานเขียนของนักประพันธ์สายสกุลบริติช ไว้ว่านักเขียนชื่อดังส่วนใหญ่พยายามสะท้อนสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลพวงสืบเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเองครับ

งานอย่าง “กัลลิเวอร์ ทราเวล” (Gulliver’s Travels) ของโจนาธาน สวีฟ (Jonathan Swift) ก็เป็นนิยายอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมในอีกรูปแบบหนึ่งหรือแม้แต่ “โอลิเวอร์ ทวิสต์” (Oliver Twist) ของคุณปู่ชาร์ล ดิคเก้น (Charles Dicken) ที่นำเสนอสภาพถูกเอารัดเอาเปรียบของ “เด็ก” ในโลกของทุนนิยมเมืองอย่างลอนดอน

งานเขียนเหล่านี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นในดินแดนต่างๆซึ่งท้ายที่สุดดูเหมือนว่าตัวเอกของเรื่องไม่ว่าจะเป็น “โรบินสัน ครูโซ” คุณหมอกัลลิเวอร์ หรือหนูน้อยโอลิเวอร์ ต่างต้องพยายามเอาตัวให้รอดในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่นั้น
สำหรับ Robinson Crusoe (1954)ในภาคของภาพยนตร์นั้น “หลุยส์ บูเยล” Luis Buñuel) ผู้กำกับชั้นครูชาวสเปนได้ทำให้นิยาย โรบินสัน ครูโซ ดูมีเสน่ห์ไม่น้อยเลยครับไม่ว่าจะเป็นฉากหรือ เนื้อหาที่นำเสนอ และด้วยความที่บูเยลนั้นเป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในเรื่องของ “Surrealism” หรือแนวเหนือจริงอยู่แล้ว ทำให้สารที่ถ่ายทอดออกมานั้นมี “มิติ” ที่มากกว่าภาพยนตร์ผจญภัยทั่วๆไป

อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้นแล้วว่า โรบินสัน ครูโซ นั้นสามารถตีความได้หลายเชิงซึ่งในแง่ของความบันเทิงนั้นแน่นอนว่าเราได้เห็นสภาพของนายโรบินสันต้องอยู่คนเดียวโดยไม่ได้พูดจากับใครกว่า 20 ปี สภาพติดเกาะคนเดียวและต้องเอาตัวรอดด้วยหนึ่งสมองสองมือจึงเป็นความทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย เหมือนที่แกพูดกับตัวเองว่าเกาะๆนี้มันก็ “คุก” ดีๆนี่เอง

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว โรบินสัน ครูโซ ได้ทำให้เราเห็นการปรับตัวของมนุษย์เมื่ออยู่คนเดียวในโลกของเขา

วันที่โรบินสันไม่มีโทรศัพท์มือถือสัญญาณแรง เขาไม่สามารถติดต่อกับใครได้นอกจากติดต่อกับจิตวิญญาณภายในของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าใจความหมายของมิตรภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมา แมว ที่รอดจากเรือล่มด้วยกัน รวมไปถึงความเข้าใจต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างมดแมลง เพราะทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่พอจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้บ้าง

ประเด็นนี้ดูจะต่างกับ Cast Away (2000) ของโรเบิร์ต เซเมคคิส (Robert Zemeckis) ที่ได้ดาราเจ้าบทบาทอย่าง ทอม แฮงก์ (Tom Hank) มาเล่นเป็นคนติดเกาะ ตัวละครอย่างChuck Noland นั้นต้องไปติดเกาะที่ไม่มีแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตจะพูดคุยด้วย นอกจากลูกวอลเลย์ที่ตะแกสมมติให้ชื่อวิลสัน (Wilson)

แม้ว่า Cast Away จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับ Robinson Crusoe แต่ประเด็นที่สื่อสารนั้นกลับแตกต่างกัน Cast Away ดูเหมือนจะนำเสนอภาพความเป็น “ปัจเจก”ของมนุษย์มากกว่า Robinson Crusoe อย่างไรก็ดีทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกัน คือ ความเงียบเหงาในโลกที่ไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ และสิ่งที่น่าแปลก คือ ทั้ง Noland และ Crusoe ไม่เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายเลยครับ

ประเด็นของ Robinson Crusoe มาถูกขยายไปในบริบททางการเมืองมากขึ้นเมื่อเดโฟเพิ่มตัวละครอย่าง “ฟรายเดย์” (Friday) ซึ่งเป็นคนป่าที่โรบินสันช่วยชีวิตไว้จากการถูกคนป่าอีกเผ่าหนึ่งตามฆ่า

ด้วยเหตุนี้เองฟรายเดย์จึงเปรียบเสมือน “ทาส” ของโรบินสัน ครูโซ ไปกลายๆ เพราะบนเกาะแห่งนี้นอกจากเขาแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” เพิ่มขึ้นมาอีก โชคดีที่ฟรายเดย์มิใช่ผู้หญิง มิฉะนั้นผมว่าเรื่องของเดโฟ คงมีลักษณะคล้ายกับ “บลู ลากูน” (Blue Lagoon) ไป

เมื่อครูโซได้ฟรายเดย์มาเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมเกาะ เขาได้สอนให้ฟรายเดย์พูดภาษาอังกฤษ สอนให้ฟรายเดย์ยิงปืน สอนให้ฟรายเดย์ได้คิดจนกระทั่งมานั่งถกเถียงปรัชญากัน พูดง่ายๆคือ ครูโซทำตัวเป็นครูหรือ Master ของฟรายเดย์

การที่ทั้งเดโฟและบูเยลได้เสนอภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนบนเกาะร้างแห่งหนึ่งในฐานะศิษย์กับอาจารย์นั้น เมื่อเรามองกว้างออกไปเราจะเห็นความสัมพันธ์ในรูปแบบตัวแทนของ “ประเทศจักรวรรดินิยม”ที่สื่อผ่านทางโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นชาวตะวันตก กับ “ประเทศอาณานิคม” ซึ่งแสดงโดยชาวป่าอย่าง “ฟรายเดย์”

ยิ่งไปกว่านั้นเจตนาที่ผู้ประพันธ์ต้องการถ่ายทอดยังชี้ให้เห็น “การครอบงำ”ของโลกจักรวรรดินิยมในด้านต่างๆตั้งแต่ สอนให้พูด สอนให้ทำ สอนให้คิด เหมือนกับที่ครูโซสอนฟรายเดย์ให้เป็นอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น

ในสายตาของชาวตะวันตกแล้วพวกเขามองว่าตัวเองนั้นศิวิไลซ์กว่าผู้อื่นเสมอ ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะฉีกแนวความคิดนี้ออกไป เช่น Dances with Wolves (1990) , Instinct (1999)และ The last samurai (2003) ที่แสดงภาพของคนตะวันตกที่หลุดเข้าไปอยู่ในดินแดนที่ดูจะด้อยศิวิไลซ์กว่าไม่ว่าจะเป็นเผ่าอินเดียแดง ญี่ปุ่นสมัยเมจิ หรือแม้กระทั่งในฝูงลิง ตัวละครเหล่านั้นกลับเลือกที่จะปรับตัวและเรียนรู้อารยธรรมใหม่มากกว่าที่จะไปครอบกลืนสังคมดั้งเดิมนั้น

ผมขอยกตัวอย่างโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่โมเดลหนึ่งที่ได้กล่าวถึง “ความด้อยพัฒนา” ไว้ว่า สาเหตุสำคัญของการไม่พัฒนานั้นมาจากการพึ่งพาโลกที่ศิวิไลซ์กว่าตัวเองโดยเฉพาะพึ่งพาทางการค้าการลงทุน จนถูกประเทศเหล่านี้ “กระทำชำเรา” ด้วยการขูดรีดทรัพยากรไปใช้ในราคาถูกๆและกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าออกราคาแพง เปรียบเสมือนเป็นเมืองขี้ข้าบริวารของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย

โมเดลนี้รู้จักกันในชื่อ The Neocolonial Dependence Model ครับ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เด่นๆของสำนักนี้ คือ “ธีโอโทนิโอ ดอส ซานโตส” (Theotonio Dos Santos) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบราซิล สาย Neo-Marxist สำนัก International Dependence

ดอส ซานโตส แกเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนานี้ไปได้ คือ ตัดความสัมพันธ์กับไอ้ประเทศที่ศิวิไลซ์เหล่านี้ซะ มันจะได้ไม่มาเอาเปรียบเราอีกต่อไป

ดูเหมือนแนวคิดนี้จะขัดกับน้ำมนต์ของ “เดวิด ริคาร์โด้” (David Ricardo) ที่อ้างเรื่อง “การค้าเสรี”เลยนะครับ เพราะริคาร์โด้แกเชื่อว่าการค้าเสรีทำให้โลกได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์

แม้ว่าโรบินสัน ครูโซ จะมีมุมมองในหลากหลายมิติโดยเฉพาะมิติการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ก็ดูเหมือนว่าภาพยนตร์ของบูเยลจะปิดท้ายเรื่องได้ดีว่าโรบิสัน ครูโซมอง “ฟรายเดย์” เป็นเหมือนเพื่อนเหมือนมิตรมากกว่าทาสรับใช้คนหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะเป็นเพียงคำสารภาพหรือข้ออ้างของลัทธิจักรวรรดินิยมที่มีต่อโลกอาณานิคมกันแน่ครับ

Hesse004

No comments: