Dec 14, 2007

Mr.Bean ’s Holiday “สุขกันเถอะเรา!”




นับตั้งแต่ซีรีส์ตลกชุด “มิสเตอร์บีน” (Mr. Bean) เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น ชื่อ “บีน”ได้กลายเป็นชื่อเรียกของ “นายโรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) ยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษไปโดยปริยาย

ปัจจุบันนี้มิสเตอร์บีนของเรามีอายุ 52 ปีแล้ว ทั้งนี้พื้นเพของแกนั้นเป็นชาวเมืองนิวคาสเซิลครับ สำหรับประวัติการศึกษานั้นมิสเตอร์บีนเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University )และจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) นับว่าประวัติการศึกษาของพี่ท่านไม่ธรรมดาเลยนะครับ

“บีน” ก้าวเข้าสู่วงการแสดงโดยเริ่มต้นจากละครเวทีสมัยที่เรียนอ๊อกฟอร์ดและพัฒนาตัวเองกลายเป็นมือเขียนบทละครตลก

ที่อ๊อกฟอร์ดเขาได้พบกับคู่หูคอเดียวกันอย่าง “ริชาร์ด เคอร์ติส”(Richard Curtis)เจ้าพ่อมือเขียนบทหนังรักโรแมนติคคอมมาดี้ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันซึ่งทั้งบีนและเคอร์ติส ต่างเคยร่วมงานกันในภาพยนตร์จอใหญ่อย่างเรื่อง Four Weddings and a Funeral (1994) และ Love Actually (2003)

สำหรับ “บีน” แล้ว เขามีพรสวรรค์ทางการแสดงตลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษในอดีตอย่าง “เซอร์ชาร์ล แชปลิน” (Sir Chalres Chaplin)

ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “หนังตลก” จากเมืองผู้ดีหลายเรื่องว่างานส่วนใหญ่นั้นดูจะมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เรื่องราวมักเล่าถึงวิถีชีวิตทั่วไปของอิงลิชชน อย่าง The Full Monty (1997) ที่มีฉากพ่อพาลูกไปดูฟุตบอลในวันหยุดสุดสัปดาห์

กลับมาที่ “บีน” กันต่อครับ , ซีรีส์ชุด Mr. Bean นั้นเริ่มออกอากาศครั้งแรกทางโทรทัศน์ไอทีวีของอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี1990 โดยซีรีส์ชุดดังกล่าวออกอากาศติดต่อกันจนกระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม ปี1995 โดยจำนวนองก์ (Episode) ที่ออกอากาศนั้นมีทั้งสิ้น 14 องก์ ดูเหมือนลักษณะการนับนั้นจะคล้ายกับละครเวทีเลยนะครับ

ในซีรีส์ชุดบีนนั้นมีมือเขียนบท 3 คน ครับ คือ โรแวน แอตกินสัน , ริชาร์ด เคอร์ติส และ เบน เอลตัน ซึ่งแอตกินสันรับบทเป็น “มิสเตอร์บีน” เอง

มิสเตอร์บีนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของซีรีส์คอมเมดี้ในยุค 90 และส่งผลให้ชื่อของ “โรแวน แอตกินสัน” โดดเด่นขึ้นมาในฐานะยอดดาวตลกของโลกปัจจุบัน แอตกินสันนั้นจัดเป็นนักแสดงคุณภาพที่เล่นได้หลายบทบาทจริงๆ แต่ด้วยหน้าตาท่าทางของพี่แกแล้วดูยังไงก็ “ขำ” ครับ พูดง่ายๆ คือแกเป็น “ตลกโดยธรรมชาติ”

“บีน” ขยับขึ้นมาเป็นหนังใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ครับโดยใช้ชื่อตรงตัวว่า Bean ซึ่งภาพของแอตกินสันก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวละคร “มิสเตอร์บีน” สมัยที่อยู่ในจอโทรทัศน์

ต่อมาเมื่อแอตกินสันมารับเล่นเป็น Johny English ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเมื่อปี 2003 พี่แกได้สลัดภาพ “นายบีน” ให้หลุดไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะบทพูดหรือการแสดงที่ดูจะยียวนน่าหมั่นไส้แต่ก็ให้อารมณ์ขันไม่แพ้นายบีนเลยทีเดียว

และเมื่อแอตกินสันมารับบทเป็นพระนักเทศน์ใน Keeping Mom (2005) แกก็เล่นได้ดีตีบทแตกเสียกระจายซึ่งจะว่าไปแล้วมันน่าจะมาจากพื้นฐานการแสดงละครเวทีของเขาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาด้วย

สำหรับ Mr. Bean Holiday (2007) นั้นเป็นผลงานกำกับของนายสตีฟ เบนเดแลค ครับ (Steve Bendelack) หนังว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของนายบีนในดินแดนฝรั่งเศส ซึ่งเกี่ยวพันกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย

ดูเหมือนหนังเรื่องนี้ผู้กำกับเองเหมือนจะแฝงฉากประชดประชันถึงรสนิยมการดูหนังอาร์ตของเหล่าชาวคานส์อยู่เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้หนังที่ฉายเทศกาลนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังอาร์ตที่ดูยากจนแทบจะต้องปีนกระไดดูกัน

ทุกวันนี้ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่า “ความสุข”เป็นอารมณ์ที่เราควรพึงสงวนไว้ให้ดีที่สุดครับ ท่านพุทธทาสเคยเขียนไว้ว่า “ความสุขกับความเพลิน” มันเป็นอารมณ์ที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็ดูเหมือนจะมีระดับของความสุขที่แตกต่างกันไปและตรงนี้เองที่วิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคขอมีเอี่ยวอธิบายเรื่องนี้กับเขาด้วยในเรื่อง “อรรถประโยชน์” หรือ Utility

หลายปีมาแล้วที่ผมรู้สึกเครียดจนอยากหาหนังตลกของโจว ชิง สือ หรือเช่าวีดีโอตลกมาดูแต่อารมณ์ที่ได้รับกลับไม่มีความสุขอย่างที่คิดครับ ซึ่งมันเหมือนเราตั้งใจเกินไปหรือเปล่าที่อยากจะให้มีความสุขหรือสนุก และเมื่อไอ้ความตั้งใจนั้นมันไม่บรรลุผล อรรถประโยชน์จากการดูหนังตลกของผมก็เลยไม่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด

ในทางกลับกันมีบางสถานการณ์ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีความสุขอะไรเอาซะเลยแต่ก็กลับเกิดอารมณ์สุขสนุกขึ้นมากะทันหันได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่งผมใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้าขึ้นรถเมล์ ทันใดนั้นก็มีคนยื่นเงินค่าโดยสารให้ผมกันยกใหญ่เลย เพราะคิดว่าผมเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมเองอดอมยิ้มกับอารมณ์“เหวอ”ครั้งนั้นไม่ได้

หนังเรื่อง Mr. Bean Holiday หรือหนังสกุล “บีน” หลายๆเรื่องนั้นดูแล้วอาจไม่มีปรัชญาสาระอะไรมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เสมอ คือ “รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ” ครับ ท้ายที่สุดผมเชื่อว่าความสุขนอกจากจะอยู่ที่การมองเห็นแล้วยังอยู่ที่ใจคิดด้วยใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

No comments: