Dec 17, 2007

The Good Shepherd “เด็กเลี้ยงแกะของเจ้าโลก”




ความหมายของคำว่า “เด็กเลี้ยงแกะ”นั้นดูจะมีความหมายไปในทางลบมากกว่าทางบวกนะครับ ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับนิทานโบราณเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ”ซึ่งให้คติสอนใจในเรื่องการพูดโกหกหรือพูดให้เป็นธรรมะหน่อยก็คือศีลข้อ “มุสา” นั่นเอง

สำหรับหัวเรื่องที่จั่วไว้นี้, เป็นชื่อหนังครับ “The Good Shepherd” โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ดูในปีนี้ครับ

หนังเรื่องนี้กำกับโดยยอดนักแสดงขวัญใจใครหลายคนอย่าง “โรเบิร์ต เดอ ไนโร” (Robert De Niro) แถมด้วยพลังดาราฮอลลีวู้ดอย่าง “แมตต์ เดมอน” (Matt Damon) แองเจลีน่า โจลี่ (Angelina Jolie) รวมถึงเดอไนโรเอง ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยแรงดึงดูดอยู่ไม่น้อยครับ

อย่างไรก็ตามผมคิดว่า “เนื้อหา”ที่สื่อสารผ่านหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้เราได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างกับสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์สากลร่วมสมัย”

ผมไม่แน่ใจนะครับว่า “ประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย”นั้นเริ่มต้นจากช่วงเวลาใด แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเมื่อปี ค.ศ.1945

อย่างที่รู้กันอยู่นะครับว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง “สหรัฐอเมริกา” ได้กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ 20 ผมตั้งข้อสังเกตว่าการธำรงอยู่ได้ของมหาอำนาจชาตินี้ขึ้นอยู่กับคาถาสามคำ คือ ประชาธิปไตย ทุนนิยม และ สงคราม ครับ

The Good Shepherd (2006) ของป๋าเดอไนโรนั้นได้พาให้เราไปรู้จักต้นกำเนิดขององค์กรหนึ่งที่โด่งดังที่สุดในโลกนั่นคือ CIA (The Central Intelligence Agency) ครับ ว่ากันว่าองค์นี้คือองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสอดแนมและเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งรู้จักกันในนามงานการข่าวหรือข่าวกรอง

เดอไนโร ได้สะท้อนให้เห็นภาพของความไม่มีเสถียรภาพในระดับการเมืองระหว่างประเทศนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กล่าวกันว่าสงครามที่สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างขึ้นมานั้นเป็นสงครามอุดมการณ์ทางการเมือง หรือ “สงครามเย็น” กับค่ายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามทางฝั่งโซเวียตก็ไม่น้อยหน้าเพราะพวกเขาก็มีองค์กรลับอย่าง “เคจีบี”ที่เป็นคอยหาข่าวกรองของโลกสังคมนิยมเช่นกัน

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบในแง่ของการแสวงหางานข่าวกรองและยังทำให้เราได้รู้จักหลักและทริคในการเป็น “เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง” ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับงาน “สายลับ” จะว่าไปแล้วงานข่าวกรองสมัยใหม่นั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากฝั่งยุโรปก่อนนะครับ อาทิในเยอรมันนั้นมีหน่วยงานตำรวจลับอย่าง “เก็ตตาโป” ส่วนพวกบริติชเนี่ยนับว่าเก่งกาจในเรื่อง “สายลับ” เลยทีเดียวสังเกตจากวรรณกรรมนักสืบอย่าง เชอร์ล๊อคโฮล์ม หรือ ตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ด

สงครามโลกครั้งที่สองนับเป็นตัวอย่างอันดีที่เราได้เรียนรู้การ “จารกรรม” ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ บางครั้งเหล่าจารชนสตรีอย่าง “มาตาฮารี” (Mata Hari) ก็สามารถทำงานข่าวกรองได้ดีไม่แพ้บุรุษเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งข้อมูลและความลับนั้นมันมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ครับรวมไปถึงมีต้นทุนที่ต้องเสียซึ่งบางทีถึงกับต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลย

โลกร่วมสมัยหลังสงครามนั้น “สหรัฐอเมริกา” พยายามสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและ ใส่ความคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพร้อมกับขยายแนวรบสงครามไปในดินแดนต่างๆ

หากมองในมิติเศรษฐศาสตร์นั้นสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาตนเองเป็นผู้ผลิต “บริการการพิทักษ์โลก”หรือ Save the world service จากภัยคุกคามต่างๆนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อาทิ ภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 50 ถึง 90 หรือ ภัยก่อการร้ายในศตวรรษที่ 21

“บริการการพิทักษ์โลก”ของสหรัฐนั้นเปรียบประดุจดั่งสินค้าสาธารณะของโลกหรือ Global public goods ทั้งนี้คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของสินค้าสาธารณะที่ทำให้ไม่มีใครอยากผลิต คือ คุณสมบัติเรื่อง Free riders หรือ พวกชอบตีตั๋วฟรีแต่ไม่ชอบออกสตางค์

คุณสมบัติดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลทำเนียบขาวนับตั้งแต่ยุคของ “แฮรี่ เอส ทรูแมน , ดไวท์ ไอเซนฮาว์, จอห์น เอฟ เคเนดี้ , ลินดอน บี จอหน์สัน, ริชาร์ด นิกสัน ,เจอร์รัลด์ ฟอร์ด , จิมมี่ คาร์เตอร์ , โรนัลด์ เรแกน ,จอร์จ บุชผู้พ่อ , บิล คลินตัน และจอร์จ บุชผู้ลูก” นั้นนิยมส่งกองทัพไปก่อสงครามยังดินแดนต่างๆพร้อมกับส่งจารชนการข่าวกรองไปประจำยังประเทศต่างๆที่อเมริกาเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

รัฐบาลทำเนียบขาวที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมองว่าประเทศต่างๆในโลกนี้ (ยกเว้นอเมริกาประเทศเดียว) ต้องการความสงบแต่ไม่มีใครคิดจะจ่ายเงินเพื่อพิทักษ์โลกกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าสินค้าสาธารณะชนิดนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกทางบวก (Positive Externality) ที่เรียกว่า “ความปลอดภัย” นั้นแต่ในมุมกลับกันมันได้สะท้อนให้เห็นภาพการ “ครอบงำ” ของรัฐบาลทำเนียบขาวที่เที่ยวเข้าไปจุ้นจ้าน ณ ดินแดนต่างๆโดยอาศัยพลังอำนาจทางการทหารและการเงิน

องค์กรอย่าง CIA จึงได้ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อสืบสอดการข่าวจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทุกวันนี้ข่าวกรองและความลับจึงกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูงลิ่วและยังเป็นเครื่องมือเอาไว้ต่อรองทางการเมืองอีกด้วย

The Good Shepherd ได้ทำให้เราเห็นถึงความแห้งแล้งของโลกร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกันของผู้คนดั่งคำพูดหนึ่งของฟิลิป อัลเลน ผู้อำนวยการซีไอเอคนแรก (ในเรื่อง)ที่บอกว่า “Friends can be enemies and enemies, friends” หรือ “จากมิตรกลายเป็นศัตรูและจากศัตรูกลับกลายเป็นมิตร”

The Good Shepherd ยังทำให้เราได้เห็น “ราคา”ของคนที่รักจะทำงานนี้ที่ต้องจ่ายทั้งในแง่ความรักที่ไม่สมหวัง มิตรภาพที่ต้องสูญหายและครอบครัวที่ล้มเหลว สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ "โลกของสายลับ" (ที่ยังไม่ไปจับบ้านเล็ก)ครับ

ผมชอบประโยคที่อดีตสายลับเคจีบีนามว่า “วาเลนติน มิโรนอฟ” (Valentin Mironov) พูดกับพวกซีไอเอในระหว่างโดนสอบสวนว่า
“Soviet power is a myth. Great show. There are no spare parts. Nothing is working, nothing, it's nothing but painted rust. But you, you need to keep the Russian myth alive to maintain your military industrial complex. Your system depends on Russian being perceived as a mortal threat. It's not a threat. It was never a threat. It will never be a threat. It's a rotted, bloated cow.”

ขออนุญาตแปลเป็นไทยแบบใส่อารมณ์นิดนึงนะครับว่า “โซเวียตของกูมันก็เป็นแค่ตำนาน เป็นแค่ปาหี่เท่านั้นเอง มันไม่มีห่าอะไรหรอก แต่พวกมึงก็พยายามเก็บไอ้ตำนานนี้ไว้เพื่อให้กองทัพของพวกมึงจะได้มีเหตุผลเอาไว้รบไงล่ะ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาวุธของพวกมึงจะได้ขายด้วยใช่มั๊ยล่ะ มึงสร้างภาพว่าพวกกูจะคุกคามมึง มันไม่ใช่อย่างที่มึงคิดหรอก เพราะโซเวียตมันก็แค่โครงผุๆเน่าๆโครงหนึ่งเท่านั้นเอง”

ท้ายที่สุดผมชักไม่แน่ใจแล้วว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำเนียบขาวผู้ผลิตบริการการพิทักษ์โลกนั้นได้ถูกเด็กเลี้ยงแกะที่ชื่อ CIA หลอกไปแล้วกี่ครั้ง หรือ ยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นหัวหน้าเด็กเลี้ยงแกะเสียเอง เพราะดูเหมือนทั้งอิรักและอัฟกานิสถานน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเรื่องนี้ใช่มั๊ยครับ?

Hesse004

No comments: