Jul 7, 2007

Who moved My Cheese? หนังสืออ่านนอกเวลาของผู้ใหญ่



สมัยเรียนมัธยมในแต่ละปีเรามักถูกบังคับให้อ่าน “หนังสืออ่านนอกเวลา”โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าผมจำไม่ผิดหนังสืออ่านนอกเวลาที่ถูกบังคับให้อ่านสมัยเรียน ม.3 คือ จดหมายจางวางหร่ำ ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าสนใจเลยทีเดียวเพราะเป็นเรื่องการสอนลูกของคนโบราณ (จางวางหร่ำเป็นขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6) พอขึ้น ม.ปลาย ก็ถูกบังคับ (อีกแล้ว) ให้อ่านหนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษอย่าง Shane เรื่องของคาวบอยพเนจรผู้ปราบเหล่าร้ายในแดนเถื่อน

การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนต้องอ่านหนังสืออ่านนอกเวลาน่าจะเป็นเครื่องสะท้อนอะไรบางอย่างของชาวสยามอย่างเราๆนะครับ ประการแรก คือ รัฐเห็นว่าเด็กสยามนั้นควรรู้เรื่องราวนอกเหนือจากตำราซึ่งอยู่ในคาบเรียน หรือ ประการถัดมารัฐเห็นว่าเด็กๆควรได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่าน วิธีคิดของรัฐเช่นนี้นับว่าเป็นบทบาทของคุณพ่อรู้ดีอย่างหนึ่งในการจัดการศึกษาไทย อย่างไรก็ดีผมว่าเด็กๆควรมีอิสระในการเลือกอ่านหนังสือมากกว่าถูกบังคับจากรัฐ โดยครูควรจะมีบทบาทสำคัญในการแนะนำประเภทหนังสือต่างๆให้เด็กได้เลือกอ่านตามความสนใจของพวกเขา

กลับมาเรื่องที่จั่วหัวไว้ดีกว่าครับ , ผมว่าหลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อหนังสือเรื่อง Who moved My Cheese? กันมาบ้าง เพราะหนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วในชื่อ “ใครเอาเนยแข็งฉันไป” ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดเล่มหนึ่งในยุคสหัสศวรรษนี้ สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ Dr. Spencer Johnson ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้โด่งดังในอเมริกา

หลายท่านที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้น่าจะติดใจกับสไตล์การเขียนที่เรียบง่ายสบายๆของคุณหมอคนนี้ เพราะ เรื่องที่แกเล่าใน Who moved My Cheese? นั้นคล้ายกับนิทานสมัยใหม่มากกว่าวรรณกรรมที่ลึกซึ้ง ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมมั๊ยครับว่าความเรียบง่ายบางครั้งมันก็มีปรัชญาอะไรบางอย่างแฝงอยู่ในตัวของมัน

สมัยเด็กๆ เรามักได้ยินเรื่องเล่าจากนิทานอีสป นิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน หรือ เรื่องเล่าจากสองพี่น้อง ตระกูลกริมม์ แม้แต่นิทานพื้นบ้านของไทยเองก็ตาม ทุกครั้งที่เราได้ฟัง เราจะพบว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่ที่เจ้าชาย เจ้าหญิง แม่มด ฤาษี ยักษ์ ฯลฯ อย่างไรก็ดีหากเรามองลึกลงไปที่สาระของเรื่องแล้วกลับพบว่า นิทานเหล่านี้ล้วนสอนให้มนุษย์เชื่อในคุณงามความดี และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ ความลึกซึ้งที่มาจากความเรียบง่ายได้ถูกส่งต่อมายังยุคสมัยปัจจุบันเพียงแต่รูปแบบของการเล่าเรื่องอาจจะต่างไป ขณะเดียวกันสาระที่นักเล่านิทานต้องการจะสื่อก็อาจจะปรับจูนให้เข้ากับปัญหาของยุคสมัยนั้น ซึ่ง Who moved My Cheese? นับเป็นตัวอย่างที่ดีของนิทานสมัยใหม่ที่เน้นไปในเรื่องการยอมรับในกฎของอนิจจัง

Dr. Johnson แกเขียนเรื่องนี้โดยเริ่มต้นด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์ของเพื่อนสมัยเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งแต่ละคนต่างเล่าถึงชีวิตหลังพ้นรั้วโรงเรียนไปแล้ว เช่น ชีวิตทำงาน ชีวิตครอบครัว และดูเหมือนแต่ละคนดูจะมีความทุกข์ มีเรื่องให้บ่นกันไปคนละแบบ แต่สำหรับ Michale แล้วเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้เพื่อนๆฟังนั่นคือ The Story of Who moved My Cheese ?

“ ณ ดินแดนอันไกลโพ้น มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ มนุษย์จิ๋วกับหนู เจ้ามนุษย์จิ่วนั้นมีนามว่า Haw กับ Hem ส่วนไอ้เจ้าหนูสองตัวมีชื่อว่า Sniff กับ Scurry ทั้งสี่ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขโดยทั้งหมดต่างคอยค้นหา เนยแข็ง (Cheese) เพื่อมาปรนเปรอความสำราญให้กับตัวเอง อย่างไรก็ดีเจ้ามนุษย์จิ๋วต่างเชื่อว่าการค้นพบเนยแข็งนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อ Haw กับ Hem พบว่าที่ Station C นั้นมีเนยแข็งมากพอแล้ว พวกเขาจึงเลือกที่จะปักหลักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ในทางกลับกันไอ้เจ้าหนูสองตัวกลับใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ (Instict) ในการเอาตัวรอดไปวันๆ ดังนั้นทั้ง Sniff และ Scurry จึงเที่ยวค้นหาเนยแข็งอยู่ตลอดเวลา หากที่เดิมหมดเมื่อไรก็เสาะแสวงหาที่ใหม่ต่อไป

แต่เด็กๆ จ๊ะ แล้ววันหนึ่งที่ Station C ก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อเจ้าเนยแข็งที่เคยมีอยู่มันหายไป เจ้าจิ๋ว Hem ร้องลั่นว่า What ! No Cheese ก่อนจะกรีดร้องอย่างเสียใจว่า It ‘s not fair!ขณะที่เจ้าจิ๋ว Haw ได้แต่ยืนอึ้งไปสักพัก ก่อนจะหาสาเหตุว่าไอ้เนยแข็งที่ว่านี้มันหายไปได้ยังไง แต่เด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าเจ้าจิ๋วทั้งสองไม่เคยสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของเนยแข็งที่กินไปว่ามันค่อยๆหร่อยหรอลงเรื่อยๆโดยยังคงเชื่อว่าที่ Station C นั้นจะมีเนยแข็งเพียงพอที่จะบำเรอความสุขของพวกเขาได้ตลอดไป

ขณะที่เจ้ามนุษย์จิ๋วต่างพร่ำรำพันฟูมฟายกับการหายไปของเนยแข็ง เจ้าหนูน้อยทั้งสองก็เริ่มออกค้นหาเนยแข็งต่อไปโดยไม่สนใจมานั่งวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมเนยแข็งมันหายไป เด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าเจ้าจิ๋ว Hem นั้นดูจะอาการหนักกว่าเพื่อนเพราะมัวแต่นั่งยึดติดกับความสุขเดิมๆจากเนยแข็งก้อนเก่าและรอให้เจ้าเนยแข็งนั้นมันกลับมาปรากฏอีกครั้งโดยไม่ไปไหน

ส่วนเจ้าจิ๋ว Haw เริ่มที่จะครุ่นคิดแล้วว่าจะเอายังไงต่อไปและท้ายที่สุด Haw ก็เลือกที่จะจากไปจาก Station C และชวน Hem ไปด้วยแต่เจ้าหมอนี่มันหัวรั้นยังดื้อด้านไม่ยอมออกจาก Station C เจ้าจิ่ว Haw เลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้าดีกว่ารอความหวังลมๆแล้งๆว่าเนยแข็งมันจะกลับมา แล้วเด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าตอนจบเป็นยังไง เจ้าจิ๋ว Haw ได้พบ Station ใหม่ที่มีเนยแข็งมากกว่าเดิมอร่อยกว่าเดิม ส่วนเจ้า Hem นั้นหนังสือทิ้งเป็นปริศนาไว้ว่า “Haw said a little prayer and hoped – as he had many times before – that maybe, at last , his friend was finally able to...the end ...or is it a new beginning?”


เรื่องเล่าแบบง่ายๆเช่นนี้แหละครับ มีปรัชญาแฝงให้คิดอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องของการยอมรับในกฎของความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง (อนิจจัง) ผมว่าที่เจ้า Hem มันทุกข์เพราะมันยึดติดในสิ่งที่มันเคยมี เคยเป็น แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อสิ่งนั้นมันหายไป Hem กลับเลือกที่จะฟูมฟายสิ้นหวังรวมถึงหวังลมๆแล้งๆว่าสิ่งที่จากไปจะกลับมา ส่วน Haw เลือกที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อแสวงหาเนยแข็งชิ้นใหม่ Haw ก็เหมือนมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆท่านๆแหละครับ นั่นคือ กลัวในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่สิ่งที่ Haw ค้นพบจากความกลัวนั้นคือ When you move beyond yor fear , you feel free.

ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีเนยแข็งของชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนกำลังแสวงหาเนยแข็งก้อนนั้นอย่างขมีขมัน บางคนเจอแล้วและกำลังลิ้มรสอย่างเอร็ดอร่อย แต่สิ่งที่ Who moved my cheese? ได้เตือนสติเราไว้ คือ จงเตรียมใจรอรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากเตรียมใจแล้วผมว่าควรเข้าใจในกฎของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะดำเนินไปอย่างเนิบช้าโดยกว่าเราจะรู้ตัวอีกทีเราอาจจะอุทานว่า “Who moved my power” หรือ Who moved my money? เหมือนที่ใครบางคนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ไงครับ

Hesse004

2 comments:

Suthep said...

First of all, thank you very much for your kindness and best wishes once again na krub P' Tuan. I really like this story krub. On the one hand, I wonder if I can ask you that can you give me your address via my e-mail? I would like to send you a book from UK krub. I think you may like it krub. Have a good time and take care krub. Looking forward to seeing your new blog very soon.

PS. Sorry for my bad english krub coz can not type in Thai today.

Thep
University of Reading, UK
Mae Fah Luang University, Thailand
e-mail: N_suthep@hotmail.com

Yai said...

ต้วน .. เล่มนี้มีโอกาสอ่านโดยบังเอิญ สมัยเรียนวิชา Strategic management ใน MBA อาจารย์ assign เล่มนี้ให้ไปอ่าน :)