Jun 30, 2007

15 ปี “ทะเลใจ”กับ กลไกการค้นหาตัวตน



ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับเพลง “ทะเลใจ” ของคาราบาว โดยส่วนตัวแล้ว, ผมคิดว่าทั้งเนื้อร้องและทำนองของเพลงนี้ขึ้นชั้นอมตะทางดนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ปีนี้คาราบาวครบรอบ 25 ปีอย่างไรก็ดีก็ถือว่าครบรอบ 15 ปี ของเพลงทะเลใจ ด้วย เพลงนี้แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ผมจำได้ว่าฟังเพลงนี้ครั้งแรกสมัยเรียน ม.5 ด้วยติดใจในท่วงทำนองมากกว่าเนื้อหาของเพลง

อาจกล่าวได้ว่าทะเลใจเป็นเพลงที่มาพร้อมกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพราะหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 น้าแอ๊ดแกก็ออกอัลบั้มที่ชื่อ พฤษภา เพลงของคาราบาวในทุกยุคทุกสมัยจึงสะท้อนอะไรบางอย่างภายในสังคมของเรา ลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ชุดวณิพก ผมเริ่มฟังเพลงคาราบาวครั้งแรกเมื่อปี 2527 ในชุด Made in Thailand และทุกครั้งที่ผมฟังเพลงคาราบาวผมมักนึกถึงใครคนหนึ่งที่ได้จากผมไปแล้ว

ตลอดระยะเวลาสิบห้าปี เพลงทะเลใจยังถูกนำมาร้องใหม่อยู่เสมอ เช่น งานของนรีกระจ่าง (2536) หรือ งานของป๊อด โมเดอร์นด๊อก (2550) ผมคิดว่า “ทะเลใจ” น่าจะเป็นตัวแทนของชีวิตช่วงหนึ่งที่กำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง

ผมว่ามนต์เพลงคาราบาวมีเสน่ห์แบบบ้านๆ ดีครับ ด้วยท่วงทำนองที่ขึงขังแต่ละมุนละไมในบางครั้ง หรือ เนื้อหาที่ดุดันแต่แฝงไปด้วยสารบางอย่างที่ต้องการจะสื่อ ทำให้เพลง “บาว” คล้ายบทสวดมนต์ของนักแสวงหาไปโดยปริยาย และด้วยวัยที่โตขึ้น ผมค่อยๆศึกษาถ้อยคำบางคำที่ปรากฏในเนื้อเพลงทะเลใจ และสิ่งหนึ่งที่ผมพบ คือ ถ้อยคำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกลไกการค้นหาตัวตนและเป้าหมายบางอย่างของมนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราๆ

ใช่แล้วครับ ! ชีวิตเล็กๆของมนุษย์แต่มักคิดเรื่องราวใหญ่โตอยู่เสมอ และแทบจะเป็นสูตรสำเร็จเลยก็ว่าได้ที่เรามักผิดหวังหรือพ่ายแพ้ทางความรู้สึก ย้อนมองจากประวัติศาสตร์อันใกล้โดยมี “คนเดือนตุลา” เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องของ “เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน” หรือแม้กระทั่งย้อนไปไกลเมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ภายใต้กลุ่มคนหนุ่มที่ขนานนามตัวเองว่า “คณะราษฎร” ก็ถือเป็นกรณีคลาสสิคของมนุษย์เล็กๆที่คิดการใหญ่โดยจะอยากเปลี่ยนแปลงสังคม อยากสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับแผ่นดินเกิด แต่ท้ายที่สุดคนหนุ่มเหล่านี้ล้วนต้องมาฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” เพียงอย่างเดียว ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เรารู้ว่ามนุษย์มักพ่ายแพ้ต่ออำนาจ เงินตรา กิเลสตัณหา หรือแม้กระทั่งความรัก แต่ที่สำคัญคือ แพ้ใจของตนเอง ครับ และนี่เองที่น้าแอ๊ดแกสรุปได้ดีว่า “ฉันเรียนรู้เพื่ออยู่ เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกัน”

เนื้อหาใน “ทะเลใจ” กล่าวถึง การปรับสมดุลในการใช้ชีวิตด้วยการประนีประนอมอารมณ์ของโลกแห่งความฝันให้เข้ากับสภาพของความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ สังเกตได้จากท่อนที่ว่าว่า “คืนนั้นคืนไหน ใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสี ศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น คืนนั้นคืนไหนใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอยแรงลมโบก พออับโชค ตกลงกลางทะเลใจ” ผมเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือของอาจารย์เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ตั้งแต่ ฤดูกาล , ดอกไผ่ , มหาวิทยาลัยชีวิต , เดินป่าเสาะหาความจริง,เร่ร่อนหาปลา , เพลงเอกภพ มาจนกระทั่ง วันที่ถอดหมวก มีบางอย่างที่ผมสังเกตเห็นคือ เมื่อครั้งวัยหนุ่มสาว ,ความตั้งใจของมนุษย์มักต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ให้เข้าสู่สังคมอุดมคติแต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นความตั้งใจเหล่านั้นกลับค่อยๆหดหายลดทอนไปพร้อมๆกับกำลังวังชาตามวัย หากแต่สิ่งที่ได้มาจากบาดแผลที่เจ็บปวด คือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ โดยเฉพาะเป็นมิตรกับตัวเองและรื่นรมย์ไปกับโลกที่แท้จริง

ผมนึกถึงอีกท่อนหนึ่งที่ว่า “ทุกชีวิตดิ้นรน ค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำเพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข” เนื้อหาท่อนนี้มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องของ “เซน”

ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราทุกคนล้วนมีคำถามอยู่ในใจว่า เราเกิดมาทำไม? คำถามแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของศาสนา ซึ่งปรัชญาตะวันตกอย่างกรีกได้ตั้งคำถามเรื่องของการมีอยู่ของชีวิตโดย อธิบายถึงเรื่อง “แบบ” ของสิ่งต่างๆ ดังนั้นปรัชญาตะวันตกจึงเชื่อในความสมบูรณ์ของ “แบบ” ขณะที่ปรัชญาตะวันออกกลับกล่าวถึงการละวางตัวตน โดยเน้นไปที่การทำลายอัตตาด้วยวิถีที่ต่างกัน ทั้งนี้การปล่อยวางของโลกตะวันออกนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน” ด้วยเหตุนี้เองที่วิธีคิดแบบสองโลกนี้จึงส่งผลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแต่ละซีกโลกไม่ว่าจะเรื่องการสร้างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี ขนบจารีตและความเชื่อที่แตกต่างกัน

คราวนี้ลองกลับมาย้อนดูที่ตัวเราเองบ้างสิครับ เราจะพบว่ายิ่งเติบใหญ่ ยิ่งพอกพูนอัตตาที่มากหลาย ด้วยเหตุนี้เองโลกตะวันออกจึงเชื่อว่าการสละอัตตาให้หลุดเหลือน้อยที่สุดนั้นเป็นมรรคาของการหลุดพ้นจากความทุกข์ของชีวิต หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของ “มิยาโมโต้ มูซาชิ” จอมดาบไร้สำนักผู้มีตัวตนอยู่จริงในญี่ปุ่นสมัยโชกุนโตกุงาว่า (ประมาณศตวรรษที่ 17) ซึ่ง โยชิคาวา เอญิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นได้จับเรื่องราวของเขามาเรียงร้อยใหม่ในรูปแบบนิยายอิงชีวประวัติ ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อคนญี่ปุ่นอย่างมากในการหันกลับมาสร้างชาติอีกครั้งหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ (หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย)สังคมตะวันออกให้ความสำคัญกับปล่อยวางและทำลายอัตตามากกว่าสังคมตะวันตกที่มุ่งหน้าสะสมอัตตา (Ego Accumulation) จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกของทุนนิยมจะกลืนกินทุกอย่างแม้กระทั่งตัวและหัวใจของมนุษย์

ทุกครั้งเมื่อรู้สึกพ่ายแพ้ เหนื่อยหน่าย หรือท้อแท้กับการใช้ชีวิต ลองนึกถึงเนื้อร้องที่ว่า “ฉันเรียนรู้เพื่ออยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีตลอดกาล” ดูสิครับ ผมว่ามันน่าจะเป็นคาถาชั้นดีที่ทำให้เรารู้สึกปล่อยวางและมีความสุขกับชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

Hesse004

4 comments:

Suthep said...

ขอบคุณมากนะครับคุณต้วน ที่ได้เขียนสิ่งดีๆ ให้ได้ติดตามอ่านมาโดยตลอด และต้องขอขอบคุณมากๆนะครับที่ได้ส่งเมลล์ให้ทราบว่าได้มีการอัพเดทตลอดครับ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาเขียนคำติชมนะครับ แต่ก็ได้ติดตามผลงานมาตลอดครับ สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะให้หลายๆคนได้อ่านนะครับ เพราะผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถกระตุ้นจิตสำนึกของคนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าได้เป็นอย่างดีครับที่ จะ"เป็นมิตรแท้ที่ดี ต่อกัน" ผมขออนุญาตเอาผลงานของคุณให้นักศึกษาได้อ่านและเข้ามาเยี่ยมชมนะครับ ขอบคุณมากๆอีกครั้งครับสำหรับสิ่งดีๆ ที่ได้มอบให้โดยเสมอมา ขอให้คุณมีความสุขและก็อย่าลืมรักษาสุขภาพนะครับ - เทพn_suthep@hotmail.com

Tuan said...

ขอบคุณครับ
ต้วน

Unknown said...

แล้วต้วนไปดูคอนเสิร์ตคาราบาวเมื่อวันเสาร์มาหรือเปล่า

พี่ซึ้งกับเพลงคาราบาวไม่กี่เพลง เพลงบัลลาดบางเพลงอาจจะพอ"อิน" ด้วยได้

ตอนนี้กำลัง "อิน" กับเพลงของเฉลียงหลังจากที่ไปดูคอนเสิร์ตที่เมืองทองมา ห่างหายกับเฉลียงไปหลายปี แล้วก็กลับชอบคำง่ายๆ ที่ประกอบมาเป็นทำนองเพลง ฮัมเพลงไปก็รู้สึกสบายใจไป

พอเริ่มมีอายุ ก็เริ่มชอบฟังเพลงที่ไม่ต้องตีความมากล่ะมั้ง ^_^

Yai said...

"ทุกชีวิตดิ้นรน ค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำเพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข”"

ฟังแล้วคิดถึงสมัยเรียนมัธยมอ่ะ