Jul 20, 2007

เศรษฐศาสตร์ของชนชั้นกระฎุมพี



หลายวันมานี้ผมติดตามเรื่องราวการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ยิ่งกระแสของการปิดโรงงานถูกนำเสนอผ่านสื่อออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้หลายคนกำลังนึกถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจรอบใหม่อันเนื่องมาจากค่าเงินบาท (อีกแล้วครับท่าน)

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์, ผมเบื่อที่จะวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเนื่องจากเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่นั้นเก่งกาจกันอยู่แล้ว เพราะแต่ละท่านล้วนเป็นกูรูทางเศรษฐศาสตร์ในสยาม มิพักต้องเอ่ยอ้างถึงคนของธนาคารกลางที่มีมันสมองปราดเปรื่องระดับหัวกะทิชาวเกาะเต็มไปหมด

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ , ผมตั้งข้อสังเกตตามสติปัญญาทึ่มๆของตัวเองไว้ประการหนึ่งว่า ทำไมเหล่า Policymakers หรือ Technocrats ทั้งหลายนั้น ถึงไม่ค่อยกล่าวถึงการจัดการเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้น ทั้งๆที่ข้อมูลของแบงก์ชาติเองก็สรุปไว้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงปี 2005 – 2006 นั้น เป็นเงินที่มาลงทุนในหลักทรัพย์ถึง 36,681 ล้านเหรียญดอลลาร์ และเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 54.62 ของเงินทุนที่ไหลเข้ามาทั้งหมดหรือมากกว่าเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) และ การก่อหนี้ต่างประเทศรวมกัน

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อ่อนด้อยทางสติปัญญาอย่างผม , ผมเหลือบไปเห็นตัวเลขชุดเดิมและพบว่าเงินลงทุนที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยในช่วงสองปีที่ว่านี้เพิ่มจากเมื่อปี 2002 – 2004 เกือบ 7 เท่า ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมค่าเงินบาทของเราถึงแข็งขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเหล่ากูรูเศรษฐศาสตร์หลายๆสำนักที่มองว่าเศรษฐกิจเมืองลุงแซมกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ดังนั้น กองทัพนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่มาในรูปกองทุนจึงค่อยๆอพยพเงินดอลลาร์ออกมาหากินต่างแดน โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชีย

ย้อนกลับไปที่คำถามทึ่มๆของผมข้างต้น คือ ทำไมไม่มีใครสนใจจะจัดการไอ้เงินลงทุนในตลาดหุ้นเหล่านี้เลยหรือ ? อาทิ ออกมาตรการเก็บภาษีจากผลกำไรที่ได้จากการขายหุ้นแล้วเอารายได้ส่วนนี้ไปบริหารจัดการในกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน หรือ จริงๆแล้วกรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่สามารถกระทำการเช่นนี้ได้ เพราะขนาดเจ้าของสโมสร Man City คนปัจจุบันยังไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยเลย

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการกันสำรองเงินทุน 30%เมื่อปลายปีที่แล้วหรือมาตรการ 18 ธ.ค. 2549 ผลของมาตรการดังกล่าวมีกูรูตลาดทุนประมาณกันว่ามูลค่าของตลาดหุ้นหล่นหายไป 800,000 ล้านบาทและแน่นอนที่สุดแบงก์ชาติย่อมโดนด่าด้วยข้อหาฉกรรจ์ที่ว่า “ทำลายบรรยากาศการลงทุน” แต่ผมขอแถมไปด้วยว่า “ขัดขวางบรรยากาศการเก็งกำไร”

ผมเชื่อว่าสติปัญญาอย่างผมคงไม่สามารถเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนที่กูรูเศรษฐศาสตร์เสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1) ลงสัก 1-1.5 % เพราะเชื่อว่าเงินมันจะหยุดไหลเข้าทันที ขณะที่ท่านรัฐมนตรีคลังซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากสำนัก TDRI กลับเห็นว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยให้เงินมันหยุดไหลเข้าแต่อย่างใดหากแต่มันจะไหลย้อนแบบไม่ซึมเปื้อนกลับเข้ามาที่ตลาดหุ้นอยู่ดี

วิวาทะของเหล่านักเศรษฐศาสตร์แดนสยามทำให้ผมอดปลาบปลื้มใจมิได้ว่าประเทศเรานั้นจำเริญทัดเทียมอนารยะประเทศ เพราะสังคมไทยเริ่มเห็นคุณค่าของนักเศรษฐศาสตร์แล้วด้วยดัชนีชี้วัดจากความถี่ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏตัวอธิบายปรากฏการณ์ค่าเงินบาทผ่านจอแก้ว ซึ่งบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่แล้วก็มักมีสูตรสำเร็จคล้ายๆกัน คือ เชื่อในภูมิปัญญาของเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ทั้งๆที่เมื่อสิบปีที่แล้วโลกาภิวัตน์ทางการเงินได้สำแดงเดชให้เห็นปรากฏการณ์ของการปล่อยให้เงินไหลเข้าไหลออกอย่างเสรีภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จนต้องเอาเงินทุนสำรองไปป้องกันค่าเงินบาทและท้ายที่สุดก็ต้องประกาศเปลี่ยนเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ แต่พอมาวันนี้โลกาภิวัตน์ทางการเงินก็สำแดงให้เห็นอีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งตัว (อะจึ๋ย!) โดยไม่ต้องพึ่งไวอากร้านั้น มันได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างไรกับเหล่า Policymakers

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย, ผมเชื่อว่าพวกเขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว เพราะหากเราพิจารณาดูจากเป้าหมายที่แบงก์ชาติต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อหรือ Inflation Targeting เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากเงินเฟ้อย่อมกระทบกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเราๆมากที่สุด ในขณะที่เป้าหมายเรื่องค่าเงินบาทนั้น ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ (Managed Float) ทำให้แบงก์ชาติไม่ต้องกังวลกับการแทรกแซงมากนัก แม้ว่าระยะหลังจะแทรกแซงถี่ขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงเชื่อว่าแบงก์ชาติมิใช่เทวดาที่จะสามารถบันดาลให้เป้าหมายทั้งสองบรรลุตามความคาดหวังของการเมืองและกองเชียร์ (โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์)

จะว่าไปแล้วการบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาพ่อยกแม่ยกนั้นนับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก แม้กระทั่งตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่อย่าง Macroeconomics ของ David Colander ยังสรุปเรื่องดังกล่าวไว้บทสุดท้ายเลยว่าการบริหารเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องของ Art of Macroeconomic Policy แม้กระทั่งเจ้าของตำรา Macroeconomics ยอดฮิตอย่าง N.Gregory Mankiw ยังไม่ฟันธงเลยด้วยซ้ำว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของโลกยุคใหม่นั้นมันมีสูตรสำเร็จตายตัวหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเศรษฐกิจของมนุษยชาตินั้นมันมาแทบไม่ซ้ำหน้าเลย

ผมยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 ที่เมื่อเริ่มต้นศตวรรษ ก็เกิดปัญหา Hyperinflation หรือ เงินเฟ้อรุนแรงในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงไม่นาน ต่อมาก็มีปัญหาการว่างงานมโหฬารของอเมริกันชนในช่วง The Great Depression ประมาณต้นทศวรรษที่ 30 ถัดจากนั้นช่วงทศวรรษ 60 อเมริกาก็เจอปัญหาStagflationโดยเกิดการว่างงานสูงพร้อมๆกับปัญหาเงินเฟ้อ ก่อนคนทั้งโลกจะถูกซ้ำเติมจากปัญหา Oil Shock ในช่วงทศวรรษที่ 70 เมื่อเหล่าอาบังต่างรวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมัน ในฟากเอเชียก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น (Japanese asset price bubble) ช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ต่อ 90 แม้กระทั่งปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินเปโซในเม็กซิโกเมื่อต้นทศวรรษที่ 90 ก่อนจะลามมาถึงวิกฤตการณ์ค่าเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 เห็นมั๊ยครับว่าปัญหาเศรษฐกิจเชิงมหภาคมันเป็นปัญหาคู่โลกทุนนิยมมาตลอดศตวรรษที่20

ผมเริ่มสงสัยแล้วว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมกำลังเรียนอยู่นั้น มันจะแก้ปัญหาหรือตอบคำถามปรากฏการณ์เหล่านี้ได้หรือเปล่า? ไอ้โมเดลพิสดารหรือสมการที่ยุ่งเหยิงมันเพียงพอจริงเหรอ? หรือ เศรษฐศาสตร์เป็นเพียงแค่ วิชาของชนชั้นกระฎุมพีอย่างชนชั้นปกครองที่แฝงมาในคราบของนายทุนและปัจจุบันยังผนวกเอาชนชั้นกลางเป็นพวกอีก

คำถามที่ผมทิ้งไว้ว่าทำไมไม่มีใครสนใจทำอะไรกับเงินที่โฉบเข้ามาหากำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นในตลาดทุนเลย และเงินเหล่านี้เองที่เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา หรือเหตุที่ไม่มีใครอยากเข้าไปแตะตลาดหุ้น เพราะเวลาตลาดรุ่งๆ โวลุ่มการซื้อขายมากๆดัชนีดีดแรงๆ คนได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกระฎุมพีนั่นเอง

Hesse004

ปล. คำว่า กระฎุมพี เป็นคำบาลี หมายถึง ผู้มีทรัพย์หรือผู้มั่งมี อย่างไรก็ตามพอเอาคำว่าไพร่ไปเติมข้างหน้าเป็น ไพร่กระฎุมพี หรือ ไพร่กฎุมพี ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามซึ่งหมายถึง คนเคยรวย( แต่ตอนนี้จน)ครับ

3 comments:

Joanne said...

สนุกมากค่ะ เขียนต่อนะคะ พี่จะรออ่านค่ะ

Tuan said...

ขอบคุณครับพี่เก่ง

ต้วน

Yai said...

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าทิศทางการแก้ปัญหาค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรต่อไป .. เขียนสมกับเป็นศิษย์สำนักท่าพระจันทร์ และนักศึกษาปริญญาเอกจริงๆ Tuan :)

ปล. คำว่า กระฎุมพี เราแปลมาจากศัพท์ฝรั่งเศส bourgeosie ใช่รึเปล่า?

Yai