Jun 9, 2007

Letter From Iwo Jima สงครามของผู้พ่ายแพ้



เรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นหลายท่านที่เป็นนักดูหนังหรือชอบดูหนังคงคุ้นชื่อกันอยู่บ้าง กับ Letter From Iwo Jima ผลงานกำกับลำดับที่30ของ Clint Eastwood โดยปกติแล้วเรื่องราวของสงครามมักจะถูกถ่ายทอดจากมุมมองของผู้ชนะจนแทบเรียกได้ว่ามันเป็นความภูมิใจของผู้มีชัย อย่างไรก็ดีผมว่าเรามักไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวของผู้พ่ายแพ้กันสักเท่าไร ยิ่งในโลกของภาพยนตร์ แล้ว สตูดิโอทั้งหลายในHollywood ล้วนพยายามสร้างหนังสงครามในมิติที่อเมริกามักเป็นพระเอก เสมอ ผมตั้งข้อสังเกตกับเรื่องนี้ว่า ความที่อเมริกันชนมีประวัติศาสตร์ที่สั่นจุ๊ดจู๋ ซึ่งถ้านับแล้วยังไม่ถึง 250 ปีด้วยซ้ำไป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความภูมิใจของชนชาติจำต้องสร้างขึ้นผ่านการหมิ่นเหยียบชาติที่ด้อยกว่าโดยพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าเพราะเหตุใดกูจึงต้องทำอย่างนี้ ทำไมจึงต้องร่วมสงครามหรือเพราะเหตุใดกูถึงต้องทำตัวเป็นตำรวจโลกที่คอยพิทักษ์ปกปักคุ้มครองความฉิบหายของมวลมนุษย์อยู่เสมอ

ยิ่งถ้าเราดูหนังพีเรียดที่มีฉากหลังเป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วส่วนใหญ่หนังอย่าง Saving Private Ryan (1998) , Schinder List (1993) ,ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดยพ่อมดแห่ง Hollywood อย่าง Spilberg, หรือย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 50 ถึง70 ที่หนังสงครามโลกครั้งที่สองถูกสร้างออกมาอย่างเกลื่อนกราด ไม่ว่าจะเป็น The Great Escape (1963) The Gun of Navarone (1961) The Longest Day (1962) Patton (1970) The Bridge on the River Kwai (1957) เป็นต้น หนังเหล่านี้ล้วนถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงเพื่อยกย่องเชิดชูวีรบุรุษสงครามซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นทหารอเมริกันโดยมีเยอรมัน ญี่ปุ่น หรืออิตาลีเป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ

สำหรับ Letter from Iwo Jima (2006) ของ Clint Eastwood เป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน แต่ผมจัดให้อยู่ในสกุลหนังที่มีเนื้อหาต่อต้านสงคราม เช่นเดียวกับ The Thin Red Line (1998) ของ Terrence Marick หรือ The Pianist (2002)ของอากู๋ Roman Polanski

Letter from Iwo Jima เล่าถึงช่วงเวลา 4-5 เดือนสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกเราว่าหมู่เกาะ Iwo Jima (อ่านว่า “ไอโวจิมา” นะครับ) เป็นเกาะหนึ่งในหมู่เกาะโบมินซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ภายในเกาะมีถ้ำอยู่หลายแห่งด้วยเหตุนี้เองทำให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถสร้างป้อมปราการไว้เป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เครื่องบินอเมริกาเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีเกาะญี่ปุ่นทั้งเกาะได้ พูดง่ายๆก็คือ Iwo Jima เปรียบเสมือนเกาะหน้าด่านที่อเมริกาต้องการเพื่อใช้เป็นฐานจอดเครื่องบินรบสำหรับโปรยระเบิดนาปาล์มทำลายญี่ปุ่น ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ต้องรักษาเกาะนี้ไว้สุดชีวิตเพราะหากเกาะนี้ถูกยึดเมื่อไรนั่นหมายถึงเค้าลางของความพ่ายแพ้ย่อมตามมา

แต่แล้ว เกาะ Iwo Jima ก็ถูกอเมริกาเปิดบริสุทธิ์ยึดเป็นฐานที่มั่นจนได้เมื่อเดือนมีนาคมปี 1945 และ 5 เดือนหลังจากนั้นญี่ปุ่นต้องยอมแพ้สงคราม เรื่องราวของสมรภูมิรบ Iwo Jima ที่ปู่ Clint แกบรรจงถ่ายทอดให้เราเห็นนั้น ทำให้เรานึกถึงความไร้สาระของการทำสงคราม เพราะสงครามคือการทำลายล้างอย่างแท้จริง นอกเหนือจากชีวิตทหารและพลเมืองผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปแล้ว สงครามยังพรากจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ออกไปด้วย หลายปีก่อนผมเคยชื่นชอบวีรบุรุษสงครามโดยเฉพาะพวกนายพลรวมทั้งผู้นำระดับโลกทั้งหลาย แต่เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์กลับทำให้ผมมองเห็นความโลภ ความตะกละในอำนาจของคนใหญ่คนโตเหล่านั้น ขณะเดียวกันผมกลับศรัทธาชีวิตเล็กๆของทหารที่ออกสู้รบกลางสมรภูมิทั้งที่ลึกๆแล้วก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน แต่การต่อสู้ของพวกเขาก็เพียงเพื่อทำหน้าที่โดยจิตสำนึกที่ดีของความเป็นผู้ปกป้องคนหนึ่งที่อาจจะคิดเพียงว่าสิ่งที่ทำไปก็เพื่อลูกเมียหรือเพื่อนฝูงแนวหลังเท่านั้นเอง มิใช่เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงหรือโหยหาคำว่า วีรบุรุษ วีรสตรี แต่อย่างใด ผมว่าไอ้คำเหล่านี้หรือเหรียญตรากล้าหาญมันเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์บางพวกสร้างขึ้นมา ซึ่ง Clint Eastwood แกมาเฉลยได้อย่างแนบเนียนในหนังที่แทบเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อของ Letter from IwoJima นั่นคือ Flag of our Father (2006)

หลายท่านคงเคยผ่านตากับภาพเหล่าทหารอเมริกัน4-5 คน ที่ช่วยกันแบกธงชาติของพวกเขาขึ้นปักบนยอดเขา Suribashi บนเกาะ Iwo Jima นั่นแหละครับ คือวันที่อเมริกาประกาศก้องว่า กูกำลังจะเป็นมหาอำนาจชาติใหม่บนโลกสีน้ำเงินใบนี้ กลับมาที่หนังต่อครับ Letter from Iwo Jima ทำให้เราเห็นภาพของหลายมนุษย์บนเกาะแห่งนี้ในห้วงเวลาของความพ่ายแพ้ ตั้งแต่นายพลไปยันพลทหาร สงครามในทัศนะของผู้ปราชัยย่อมสร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขาอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้เองทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ,ยกเว้นโกโบริในคู่กรรม, จึงยอมฆ่าตัวตาย

ผมเองเริ่มรู้สึกแล้วว่ายิ่งดูหนังสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ผมกลับยิ่งเห็นความตายเป็นเรื่องสวยงาม (Beautiful Death) สวยงามในที่นี้หมายถึง ในยามที่เรากำลังเผชิญเงื้อมมือของมัจจุราชนั้น เราจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไรในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เราจะกลัวลนลานหรือเปล่า? หรือว่าจะเข้าใจว่ามันก็เป็นแค่กฎหนึ่งของการดับสูญ คุณผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าถ้าเราเห็นเพื่อนทหารของเรากำลังดึงสลักระเบิดมาวางไว้ที่หัวใจ แล้วเพียงอึดใจเดียวร่างของเพื่อนก็มอดไหม้ไปต่อหน้า เราจะรู้สึกอย่างไร? เราจะเลือกตายอย่างนั้นหรือเปล่า? สิ่งเหล่านี้ล้วนมีรากมาจากความเป็นซามูไรของชาวญี่ปุ่น ผมว่าปรัชญาของซามูไรมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการสื่อสารให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าผมเป็นพวกนิยมการฆ่าตัวตาย นะครับ

สำหรับตัวละครสำคัญที่จะไม่เอ่ยไม่ได้เลย คือ นายพล Kuribayashi Tadamichi , นำแสดงโดย Ken Watanabe นายพลคนนี้เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ครับ (ดูภาพประกอบ) Kuribayashi มีโอกาสไปร่ำเรียนที่อเมริกา ทำให้เขาซึมซับบางอย่างของโลกตะวันตกเช่นความเชื่อในเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงไม่ลงโทษทหารแบบซี้ซั้ว ขณะเดียวกันเขาก็ยังชื่นชมกับความเป็นนิปปอนชนโดยเฉพาะปรัชญาการใช้ชีวิตของซามูไรที่ถึงที่สุดแล้วเกียรติยศ ประเทศชาติ และสมเด็จพระจักรพรรดิย่อมสำคัญกว่าชีวิตตนเอง Kuribayashi นับเป็นตัวละครสำคัญเพราะเขาเป็นผู้บันทึกทุกอย่างบนเกาะ Iwo Jima ผ่านจดหมายที่ตั้งใจส่งให้เมียและลูกๆที่บ้าน แต่จดหมายไม่เคยถูกส่งแต่อย่างใดและถูกฝังไว้ในถ้ำบัญชาการในวันที่ทหารอเมริกันยึดครองเกาะนี้ได้ หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี เราจึงได้รับรู้เรื่องราวของวาระสุดท้ายของทหารญี่ปุ่นบนเกาะแห่งนี้ สำหรับผมแล้ว , สงครามในทัศนะของผู้แพ้บางทีดูมันจะมีคุณค่ามากกว่าชัยชนะของมหาอำนาจอย่างอเมริกาเสียอีก
Hesse004

2 comments:

Tig said...

ผมชอบดูหนังสงคราม นอกจากฉากยิงกันสนั่นหวั่นไหวแล้ว(สนองอารมณ์ซาดิสม์ส่วนตัว)
ผมยังชอบฉากที่แสดงอารมณ์พื้นฐานของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น ความรัก(ตัวเอง-คนอื่น),ความกลัว, ความโกรธ เพราะในสถานการณ์ที่อยู่เบื้องหน้าระหว่างความเป็นกับความตายแล้ว ตัวละครมักจะเปลือยตัวตนที่แท้จริงออกมาให้คนดูได้เห็นเสมอ
ดูแล้วมักย้อนคิดว่าหากเป็นเรา เราจะทำอย่างไร? และรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ต้องเข้าร่วมในสงครามจริงๆ ..ดูหนังน่ะสนุก แต่ถ้าของจริงคงไม่สนุกแน่ๆ

Tuan said...

ขอบคุณครับ