Jun 15, 2007

“ทวิภพ” ประวัติศาสตร์ในหนังพีเรียด



ผมชอบดูหนังประวัติศาสตร์ครับ เพราะหนังเหล่านี้ช่วยเติมจินตภาพเรื่องราวในอดีตได้อย่างมีอรรถรส ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา , ถ้าเราย้อนดูหนังประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ นางนาก (2542) , บางระจัน (2542) , สุริโยทัย (2543) , โหมโรง (2547) , ทวิภพ (2547)และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร (2549 และ 2550) ในกระบวนหนังทั้งหกเรื่องนี้ ผมประทับใจทวิภพมากที่สุดครับ ด้วยเหตุผลที่ว่าทวิภพฉบับปี 2547 ภายใต้การตีความของผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า นั้น มีความลงตัวระหว่างศิลปะและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ทวิภพฉบับนี้มีชื่อภาษาอังกฤษห้อยท้ายว่า Siam Renesiance อันหมายถึงยุคแผ่นดินรัตนโกสินทร์กำลังจะก้าวสู่ความเป็นสยามใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็จริงนะครับ เพราะหนังได้สื่อสารให้เราเห็นการวางตัวของสยามเมื่อปี พ.ศ. 2398 ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไรเพื่อให้พ้นปากเหยี่ยวปากกาจากมหาอำนาจ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองประเทศเลือกที่จะใช้สยามเป็นรัฐกันชน (Buffer State) มากกว่าจะมาแย่งกันเอง ประกอบกับนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยามสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เลือกที่ปรับตัวมากกว่าดึงดันอย่างแตกหัก

คุณสุรพงษ์ พินิจค้า ได้หยิบทวิภพบทประพันธ์เดิมของคุณทมยันตีมาตีความใหม่ท่ามกลางบริบทของกระแสโลกาภิวัฒน์ ในหนังเราจะเห็นได้ว่าการครอบงำของฝรั่งนั้นมิได้ทำผ่านกลอุบายเรือปืนเพียงอย่างเดียวครับ หากแต่การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาก็นับเป็นหนทางหนึ่งที่ชนตะวันตกอยากให้ชาวตะวันออกได้คิดและเชื่อเหมือนที่พวกเขาเชื่อ ตัวอย่างที่พบในหนังคือ การเข้ามาของมิชชันนารีสอนศาสนาอย่างหมอบรัดเลย์ (Dan B. Bradley)

สยามในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมีความเปราะทางการเมืองภายในพระนครค่อนข้างมาก เพราะหากเราทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่าช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 3 กับ รัชกาลที่ 4 นั้น การผลัดแผ่นดินจำเป็นต้องอาศัยฐานกำลังของขุนนางสายสกุลบุนนาคโดยเฉพาะขุนนางหนุ่มอย่าง เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาท่านผู้นี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในการนำพารัฐนาวาสยามให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก

หนังพาเราย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2398 โดยมี มณีจันทร์หรือ แมนี่ เป็นนางเอกเดินเรื่อง กลวิธีการเล่าเรื่องสลับไปสลับมาผ่านเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วทำให้คนดูฉงนตามไปด้วยว่าว่าตกลงแล้วกูกำลังฝันไปหรืออยู่ในโลกของความจริงกันแน่ การเลือกใช้เพลงนับเป็นเทคนิคที่น่าสนใจในการเล่นกับหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ภาพฉากกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังช่วยทำให้จินตนาการการเรียนประวัติศาสตร์ของผมกระจ่างชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งบทหนังทำให้เราเห็นสภาพการเมืองระหว่างประเทศโดยมีสยามกับชาติมหาอำนาจที่กำลังคัดง้างดูท่าทีกันอยู่ และเมื่ออังกฤษภายใต้การเข้ามาของ Sir John Bowring ซึ่งมาพร้อมกับสนธิสัญญาที่อ้างเรื่องการค้าเสรี (คุ้นๆมั๊ยครับ) ว่าจะขอเข้ามาทำการค้าขายกับสยามโดยตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ของความยุติธรรม ผมขอวงเล็บว่าสำหรับพวกฝรั่ง ผมขอเสริมนิดหนึ่งว่า Sir John Bowring นั้นจัดเป็นราชทูตตัวแสบสำหรับโลกตะวันออกเลยทีเดียว คุณผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าอีตา John คนนี้แกเป็นผู้ว่าเกาะฮ่องกงคนแรกหลังจากที่จีนต้องยอมเสียฮ่องกงให้กับอังกฤษ นักประวัติศาสตร์จีนมองว่า Sir John Bowring คนนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษแย่ลง จนถึงกับทำให้ชาวจีนลอบวางยาพิษใส่ขนมปังฆ่ายกครัวของแกเลยทีเดียว

กลับมาที่เรื่องของเราต่อครับ ,รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้เสนาบดี 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสกุลบุนนาคโดยมีเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินการเจรจาความเมืองและผลลัพธ์ก็เหมือนที่เราเรียนจากวิชาประวัติศาสตร์ คือ สนธิสัญญาบาวริ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศสยามโดยแท้จริง แม้ว่าฝ่ายเราจะเสียเปรียบก็ตาม จะว่าไปแล้วการมองเห็นภาพอดีตผ่านสื่อภาพยนตร์นั้นมันทำให้เรามองเห็นความรู้สึกของคนโบราณว่า เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไรในช่วงเวลาคับขันเช่นนั้น หนังยังสื่อสารให้เราเห็นว่า หากเราเลือกที่จะสู้เราก็คงรบแพ้เหมือนอย่างที่พม่าและญวนแพ้ ไม่แน่ว่าทุกวันนี้พวกเราอาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสเป็นภาษาประจำชาติก็ได้ ผมว่าบรรพบุรุษของเราเลือกแก้ปัญหาได้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ และอย่างน้อยเขาก็รักษาให้แผ่นดินนี้ไม่ต้องตกเป็นของใคร

ประเด็นที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการดูหนังเรื่องนี้ คือ ความใฝ่รู้ของคนสมัยก่อน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าคนโบราณนั้นมีความใฝ่รู้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น รัชกาลที่ 4 ทรงจ้างแหม่มแอนนา เตียวโลเว่นส์ เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับพระองค์และพระโอรสพระธิดาถึงในพระบรมมหาราชวัง จนนางแหม่มคนนี้กลับไปเขียนหนังสือเป็นตุเป็นตะในชื่อ Anna and The King of Siam ภาพของการไขว่คว้าหาความรู้อีกภาพหนึ่งที่ผมพบในหนังทวิภพ คือ ภาพที่เจ้าพระยากลาโหมหรือท่านช่วงกำลังนั่งอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอย่างสบายอารมณ์แถมยังพูดเหน็บแนมไอ้กงสุลฝรั่งเศสอย่างคล่องปร๋อ หันกลับมาดูตอนนี้สิครับ ! น่าตกใจไม่น้อยที่ตัวเลขการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของคนไทยมีแค่ 6 บรรทัด ต่อปี ขอย้ำนะครับว่า 6 บรรทัด สำหรับผมแล้ว, ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ค่อยดูดำดีดีกับระบบการศึกษามากนัก แม้จะชูธงปฏิรูปการศึกษากันหลายครั้ง ขณะที่การจัดการศึกษามิเพียงแต่ให้คนอ่านออกเขียนได้เท่านั้น อย่างน้อยควรทำให้พลเมืองของประเทศได้รู้จักคิดเป็น นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังให้คุณค่ากับทุนทางปัญญาน้อยมาก เมื่อเทียบกับทุนทางวัตถุที่ใช้ปรนเปรอความสำราญทางร่างกายเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายผมอยากแนะนำให้ใครหลายคนที่กำลังสมอ้างว่ารักชาติรักแผ่นดินเกิดจนออกมาปั่นป่วนวุ่นวายกันมาตลอดปีสองปีนี้ อยากให้ลองไปดูทวิภพฉบับปี 2547 แล้วพิจารณาดูเสียว่ากว่าบรรพบุรุษเขาจะนำพารัฐสยามให้อยู่รอดปลอดภัยได้นั้น เขาใช้สติปัญญาต่อสู้มากน้อยแค่ไหนและที่สำคัญที่สุด คือ เขาไม่ต้องมานั่งบอกกันว่าเราต้องสามัคคีกันสู้นะ เพราะเขาได้ทำให้เราเห็นแล้ว

Hesse004

2 comments:

Unknown said...

ผมชอบอ่านงานเขียนของคุณครับ เพราะผมก็ชอบประวัติศาสตร์เหมือนกันครับ

Tuan said...

ขอบคุณครับ

ต้วน