Jun 22, 2007

The Babarian Invasions ฝันสุดท้ายของชายชรา



ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยผ่านตากับหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพซึ่งจะว่าไปแล้วหนังสือเหล่านี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเพราะเป็นเครื่องถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตคนหนึ่งคนได้ดี หลายครั้งที่ผมแวะเวียนไปร้านหนังสือเก่า ผมมักเจอหนังสืองานศพอยู่เสมอ และบางทีออกจะเสียดายด้วยซ้ำไปเมื่อเห็นเจ้าของเดิมมองไม่เห็นคุณค่าของหนังสือเหล่านี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตหนังสืองานศพอาจเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นซีดีที่ระลึกงานฌาปนกิจศพแทนก็ได้นะครับ

สำหรับเรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นนั้นเป็นชื่อของหนังครับ The Barbarian Invasions (2003) เป็นหนังสัญชาติแคนาดาแต่พูดภาษาฝรั่งเศส งงมั๊ยครับ! หนังเรื่องนี้ได้รับเกียรติให้เข้าฉายที่เมืองคานส์ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลออสการ์สาขา The Best foriegn language film ในปี 2003 มาครองอีกด้วย

The Barbarian Invasions จัดว่าเป็นหนังที่ดูไม่ยากครับ พล็อตเรื่องไม่สลับซับซ้อนอะไรมากแต่ที่สำคัญคือแก่นสาระที่ Denys Arcand ผู้กำกับชาวแคนาเดียน ต้องการจะสื่อสารนั้นถือว่ามีเนื้อหาค่อนข้างเป็นสากลเลยทีเดียว กล่าวคือ เขาพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของความตายครับ กระบวนหนังที่ผมดูมาแล้วมีเรื่องราวผูกพันกับความตายนั้นหนังญี่ปุ่นอย่าง After Life (1998) ของ Hirokazu Koreeda , ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น , นับว่านำเสนอเรื่องราวของชีวิตหลังความตายได้น่าสนใจโดยตั้งคำถามไว้ว่า “What is the one memory you would take with you?” หรือเมื่อเราตายไปแล้ว เราจะเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตช่วงไหนเพื่อจะนำติดตัวไปเป็นความทรงจำในชาติภพต่อไป

แต่สำหรับ The Barbarian Invasions ของ Arcand นั้น กลับมองช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตก่อนตายว่าเป็นอย่างไร หนังเปิดฉากมาด้วยเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งใน Montreal แคนาดา เมื่อ Rémy ชายแก่คนหนึ่งที่กำลังนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่รู้ว่าตัวเองกำลังใกล้ตาย เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่ายโดยผู้กำกับตั้งใจสื่อให้เห็นชีวิตที่ผ่านมาของ Rémy ผ่านทางคนรอบข้างทั้งจากครอบครัว และเพื่อนฝูง

หลังจากดูมาได้สักพัก เราถึงรู้ว่าแม้สภาพภายนอกของแกจะดูไม่ป่วยไข้รุนแรงสักเท่าไร แต่ความเป็นจริงแล้วอาการของแกอยู่ในขั้นสุดท้ายของโรคร้ายนี้ อย่างไรก็ดียังมีเรื่องราวเฮฮาของ Rémy กับเพื่อนฝูงวัยดึกให้เห็นเป็นระยะๆ แต่ที่แน่ๆผมสรุปได้ว่า Rémy แกเป็นตาแก่ปัญญาชนที่เข้าข่ายปากจัดกัดเจ็บ รักสนุก ออกจะเจ้าชู้และมีความเป็นศิลปินแบบฝรั่งเศสชนทั้งหลาย นอกจากนี้เรายังได้เห็นวิถีคิดของพวกฮิปปี้หรือบุปผาชนในยุค 60 ที่สะท้อนอยู่ในตัวของ Rémy และผองเพื่อน

The Babarian Invasions ได้ผูกโยงเรื่องราวของคน(เคย)หนุ่มสาวเมื่อ 40 ปีก่อน และนำเสนอมันออกมาได้อย่างครื้นเครง ในรูปของคนแก่ที่โหยหาอดีต (Nostagia) คนดูเริ่มรู้จักตัวละครตัวอื่นที่เป็นองค์ประกอบในชีวิตของ Rémy ซึ่งจะว่าไปแล้วมิตรสหายส่วนใหญ่ของแกก็มักมีรสนิยมและบุคลิกคล้ายๆกัน เพียงแต่รูปแบบของการมีชีวิตอาจจะต่างกันไป Rémy ดำเนินชีวิตด้วยการเป็นProfessorในมหาวิทยาลัย เขากล่าวไว้ในหนังว่า เขาจัดเป็นพวกซ้ายหรือนักสังคมนิยม Socialist ตามสไตล์เฟรนช์แมน ขณะที่เหล่าเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นพวกนักคิด นักปฏิวัติ ปัญญาชน คนเหล่านี้น่าจะเป็นตัวแทนของบุปผาชนที่เชื่อในเสรีภาพทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เพศสภาพ แม้กระทั่งการเมือง มีอยู่ฉากหนึ่งที่ผมชอบและคิดว่าน่าจะเป็นฉากที่สรุปความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ดี เมื่อทั้งหมดมานั่งรวมกลุ่มคุยกันถึงวันคืนเก่าๆโดย บอกเล่าถึงหนังสือที่ตัวเองเคยอ่าน เช่นอ่านงานของซารต์ ดูหนังของโกดาร์ต ความประทับใจที่มีต่อช่วงชีวิตในวัยหนุ่มสาวทั้งเรื่องรักและเซ็กส์ และท้ายที่สุดมันสื่อให้เห็นอุดมคติของการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการเพียงแค่ความสงบร่มเย็นของสังคมเท่านั้นเอง

หนังเรื่องนี้มีกลิ่นของความเป็นยุโรปค่อนข้างมากครับ แต่เป็นยุโรปที่อยู่ในคราบของแคนาดา ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่าทำไมภาษาฝรั่งเศสจึงกลายเป็นภาษาทางราชการอีกภาษาหนึ่งของแคนาดา ด้วยความที่พวกเฟรนช์ชนนั้นไปลงหลักปักรากกันอยู่เต็มไปหมดบนแผ่นดินอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ประเด็นที่หนังสื่อสารให้เราเห็นอีกอย่าง คือ ความรักของพ่อกับลูกๆ อย่างที่ผมเล่าไปข้างต้นแล้วว่าด้วยความที่ตาแก่ Rémy แกเป็นพวกปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ปากจัด แถมเจ้าชู้ ดังนั้นแทบจะสรุปได้เลยว่าชีวิตครอบครัวของแกจัดว่าล้มเหลว เนื่องจากแกหย่าร้างกับเมียและอยู่ห่างจากลูกๆ แต่หนังไม่ได้บอกที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวมากนัก ดังนั้นเราจึงเห็นความไม่ลงรอยของแกกับ Sébastien ลูกชายปรากฏอยู่ในหนังเสมอ

ตัวละครอย่าง Sébastien , นำแสดงโดย Stéphane Rousseau, นับว่าเด่นมากในเรื่องนี้เนื่องจากเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเจริญก้าวหน้าในฐานะนักการเงินที่ลอนดอน ดังนั้นวิธีคิดของ Sébastien จึงต่างกับพ่ออย่างสิ้นเชิง แม้เขาจะขัดกับพ่ออยู่บ่อยครั้งแต่อย่างไรก็ตามหลายฉากทำให้เห็นภาพความกตัญญูของ Sébastien ที่มีต่อพ่อด้วยการจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพ่อ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล รวมถึงติดต่อเรียกเพื่อนฝูงเก่าๆของพ่อให้ช่วยมาเยี่ยมเยียนในวาระสุดท้าย

นอกจากนี้ฉากที่ประทับใจอีกฉาก คือ ตอนที่ชายชราบอกลาและขอบคุณกับมิตรภาพที่คนๆหนึ่งได้รับมาตลอดชีวิตจากครอบครัวลูกเมีย รวมไปถึงเพื่อนฝูง มันเป็นการบอกลาที่ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ทำ โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ Rémy พูดกับ Sébastien ว่า “I wish that one day you will have a son like you.” ผมว่านี่น่าจะเป็นคำบอกลาที่ไม่ต้องบรรยายอะไรกันมากมายแต่ฟังแล้วกินใจยิ่งนัก

เคยสงสัยบ้างมั๊ยครับว่าทำไมคนเราถึงได้พบกันรู้จักกัน เป็นพ่อแม่ เป็นลูกหลาน เป็นเพื่อน เป็นคู่รัก สามีภรรยา ทั้งๆที่ถ้าเทียบกับระยะเวลาของการกำเนิดโลกแล้วมันยาวนานเสียเหลือเกิน ผมว่าการเจอะเจอกันในภพชาตินี้คงไม่น่าจะใช่เป็นเรื่องของเหตุบังเอิญแต่อย่างใด เพราะพิจารณาจากความเหลื่อมของเวลาแต่ละยุคสมัยแล้วเรามีโอกาสน้อยมากที่จะพบกัน

ฉากสุดท้ายของเรื่อง,หนังค่อยๆปล่อยให้เราสัมผัสกับความตายของชายแก่และทำให้เห็นภาพฝันในห้วงสุดท้าย ซึ่งอาจจะเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดของแกที่จะนำติดตัวไปในภพต่อไป สำหรับความฝันอะไรนั้น ผมขออนุญาตไม่เล่าแล้วกันนะครับ และถ้าจะให้ดีผมว่าท่านผู้อ่านลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดูดีกว่าครับ

Hesse004

3 comments:

Unknown said...

น่าคิดจังเลยนะต้วนว่าถ้าต้องจากโลกนี้ไป พี่จะเอาความทรงจำแบบไหนติดตัว ติดหัวไปด้วยดี

มันมีอะไรดีๆให้จดจำมากมายเหลือเกินในแต่ละวันแต่ละเดือนที่เคลื่อนผ่านไป

แต่ถึงสุดท้ายแล้ว ไม่นึกอยากเอาอะไรไปด้วยเลย อยากทิ้งไว้ที่นี่ทั้งหมด ไปตัวเปล่าๆพร้อมกับหัวเปล่าๆนี่ล่ะ

ขอบคุณสำหรับงานเขียนละมุนละไมที่มีมาให้อ่านได้เรื่อยๆนะจ๊ะ

Tuan said...

ขอบคุณครับพี่อ้น

ต้วน

Yai said...

เรื่องนี้เราดูครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ประทับใจมาก นอกจากพูดถึงความตายของชายคนหนึ่ง หนังยังแฝงถึงความตกต่ำของอารยธรรมตะวันตกด้วย

หนังญี่ปุ่น After Life ดูแล้วชอบมาก อยากให้คนไทยทำหนังแบบนี้มั่ง