May 30, 2007

อวสานของเจ้ยฉินอ๋อง เมื่อประวัติศาสตร์หมุนรอบตัวเอง



ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ครับ เพราะประวัติศาสตร์สามารถเติมจินตนาการในอดีตของมนุษย์ได้ดี ประวัติศาสตร์ยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของมนุษยชาติและที่ละเอียดอ่อนไปกว่านั้น คือ เราสามารถเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเรื่องราวในอดีตได้
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์จีน, ผมเชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงสามก๊กเป็นอันดับแรก จริงๆแล้วสามก๊กมีความเป็นพงศาวดารจีนอยู่ในตัวเนื่องจากมีข้อเท็จจริงอยู่บ้างแต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ตัวละครอย่างเล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย ตามหลักฐานโบราณเชื่อได้ว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงแต่อย่างไรก็ตามตัวละครอย่างนางเตียวเสี้ยน นักประวัติศาสตร์จีนบอกว่าไม่มีชื่อนี้อยู่ในโลกประวัติศาสตร์แต่อย่างใด สำหรับเรื่องที่ผมอยากจะเล่าในวันนี้ยังเป็นประวัติศาสตร์จีนอยู่เหมือนเดิมแหละครับแต่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยหลังจากสิ้นสุดยุคสามก๊กแล้ว
อัครเสนาบดีของวุยก๊กนามว่า สุมาเอี๋ยนสามารถรวบรวมก๊กทั้งสามให้เป็นประเทศจีนได้อีกครั้ง และสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นปกครองแผ่นดินจีน อย่างไรก็ดีราชวงศ์นี้มีอายุไม่ยืนครับ เนื่องจากเกิดความแตกแยกกันเองของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ประวัติศาสตร์จีนมักบอกเราเสมอว่าช่วงที่ฮ่องเต้เข้มแข็งบ้านเมืองก็จะสงบสุข แต่เมื่อใดที่ฮ่องเต้อ่อนแอ ความวุ่นวายย่อมตามมา ยุคที่ราชวงศ์จิ้นปกครองมีอยู่สองช่วงครับ พวกแต้จิ๋วชน จะเรียกว่าสมัยไซจิ้น (จิ้นตะวันตก)กับ ตั้งจิ้น (จิ้นตะวันออก) ด้วยเหตุที่แบ่งเช่นนี้เพราะเรียกตามเมืองหลวงของจีน ถ้าจำไม่ผิดช่วงนั้นจีนมีเมืองลั่วหยางหรือโล่หยางเป็นเมืองหลวงสมัยไซจิ้น หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นเมืองเกี้ยนฆัง (นานกิง)ในสมัยตั้งจิ้น
ผมเกริ่นมาเสียยืดยาว จริงๆแล้วผมอยากเขียนเรื่องของบุคคลผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คนๆนั้นคือ เจ้ยฉินอ๋อง ครับ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.894 หรือประมาณหนึ่งพันหกร้อยกว่าปีก่อน มีรัฐใหญ่รัฐหนึ่งในแผ่นดินจีนนั่นคือ รัฐเฉียนฉิน (เรียกสั้นๆว่าฉิน) รัฐนี้มีเมืองฉางอานเป็นเมืองหลวง มีเจ้านครรัฐนามว่า ฝูเจียน หรือที่ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า เจ้ยฉินอ๋อง อ๋องคนนี้นับว่ามีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเจ้านครทั้ง 16 รัฐ ยิ่งในช่วงที่แผ่นดินจีนขาดเสถียรภาพด้วยแล้ว ความเก่งกาจ เฉลียวฉลาดของเจ้ยฉินอ๋อง ทำให้เขามีอำนาจบารมีสร้างศรัทธาให้กับผู้คนได้อย่างมากมาย ประกอบกับการได้กุนซือคู่ใจอย่าง หวางเหมิ่ง ยิ่งทำให้อาณาจักรเฉียนฉินดูจะรุ่งเรืองเกรียงไกร จนเจ้ยฉินอ๋องเกือบจะรวมประเทศจีนได้สำเร็จ แต่....
ผมว่าการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดจำเป็นต้องอาศัยทั้งความสามารถและวาสนา ขณะที่วาสนาเนี่ยไม่รู้มันจะสามารถหาซื้อได้อย่าง "ปาติหาน" หรือเปล่า แต่ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการสะสมบุญบารมีของมนุษย์แต่ละคน บุญก็คือการสร้างความดีนั่นแหละครับ ส่วนความดีก็คือการสร้างสิ่งดีๆให้กับคนในสังคมส่วนใหญ่ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คงไม่ต้องขยายความกันต่อนะครับ
กลับมาที่เรื่องของเจ้ยฉินอ๋องกันต่อครับ , การที่เจ้ยฉินอ๋องได้หวางเหมิ่งมาเป็นกุนซือใหญ่ทำให้เขาสามารถขยายอาณาจักรเฉียนฉินออกไปได้ไกล ไกลจนกระทั่งข้ามไปตีเมืองโล่วหยางของราชวงศ์จิ้นได้ อาณาจักรฉินยังสามารถผนวกดินแดนอื่นๆให้เข้ามาเป็นประเทศราชของตนเองได้เช่น อาณาจักรเฉียนเยียนซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ อย่างไรก็ตามผู้นำทุกคนย่อมมีจุดอ่อนอยู่ในตัว แม้ว่าเจ้ยฉินอ๋องจะเป็นผู้นำที่เก่งกาจฉลาดปราดเปรื่อง แต่กลับขาดความเฉลียวครับ ด้วยความที่แกเป็นคนนับถือคนเก่งๆ แกเลยจับเอาคนเก่งจากประเทศที่ตีได้มาเป็นกุนซือบ้าง เป็นทหารเอกบ้าง เช่นเมื่อตีเฉียนเยียนได้แล้วแกก็จับเอา มอยองสุย ขุนทหารของดินแดนเฉียนเยียนเข้ามาเป็นทหารเอกทั้งๆที่หวางเหมิ่งแนะนำให้ฆ่าล้างโคตรคนสกุลมอยองไปตั้งแต่ยึดเมืองได้แล้ว เนื่องจากไม่ไว้ใจคนตระกูลนี้ผมมีเกร็ดนิดนึงครับว่า คนแซ่ มอยองหรือมู่หยงในแผ่นดินจีนนับเป็นขุนศึกที่ชำนาญการรบมาแต่โบราณแล้ว คนสกุลนี้ถูกกล่าวขานในแง่ของความกล้าหาญอยู่บ่อยครั้ง
แล้วดาววาสนาของเจ้ยฉินอ๋องก็เริ่มอับแสงลง เมื่ออุปราชคู่ใจหวางเหมิ่งได้ตายจากไป ทั้งสองนับเป็นคู่นายบ่าวที่รู้ใจกันดีที่สุดเหมือนที่เล่าปี่มีขงเบ้งในสมัยสามก๊ก ก่อนที่หวางเหมิ่งจะตาย เขาได้เขียนจดหมายสามฉบับฝากให้เจ้ยฉินอ๋อง สำหรับช่วงเวลาคับขัน โดยบอกถึงวิธีการเอาตัวรอดและกลยุทธ์สงครามที่สำคัญ โดยจดหมายฉบับสุดท้ายนั้นหวางเหมิ่งได้กำชับไม่ให้เจ้ยฉินอ๋องนำกำลังทหารไปโจมตีอาณาจักรจิ้นอีก เพราะเชื่อว่าไม่มีทางชนะได้รวมทั้งให้กำจัดเจ้ามอยองสุยตัวแสบเพราะอาจจะเป็นภัยต่อเจ้ยฉินอ๋องภายหลัง
เจ้ยฉินอ๋องแกเชื่อหวางเหมิ่ง แต่แกเชื่อไม่หมดครับ เพราะแกดันทุรังพากองทัพกว่า 80 หมื่นบุกเข้าสู่เมืองเกี้ยนฆังแถมยังไว้ใจให้มอยองสุยเป็น แม่ทัพร่วมศึกด้วยอีก การบุกแค้วนจิ้นด้วยหมายจะพิชิตเมืองเกี้ยนฆัง ทำให้เกิดยุทธการทางสงครามที่เรียกว่า ยุทธการเฝยสุ่ย ยุทธการนี้เรียกขานตามชื่อของแม่น้ำเฝยสุ่ย สาระสำคัญของการสัปประยุทธ์ครั้งนี้ คือ การที่กองกำลังน้อยกว่าของจิ้นสามารถเอาชนะกองกำลังที่มากกว่าของเจ้ยฉินอ๋องได้ คำว่าน้อยกว่าเนี่ยต้องนับกันเป็นเท่าเลยนะครับ เพราะจิ้นมีกองทหารน้อยกว่าฉินถึง 10 เท่า พูดง่ายๆคือ 8 หมื่น รับมือกับ 8 แสน การที่กองทัพเล็กกว่าสามารถชนะได้ก็เพราะพวกเขาเล่นตามกลยุทธ์ของตัวเอง และใช้ความได้เปรียบและความชำนาญในพื้นที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับกองทัพผู้มาเยือนทำให้การตั้งรับของจิ้นจึงประสบความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ของเจ้ยฉินอ๋องทำให้เขาสูญเสียทหารไปเกือบหมด ท้ายที่สุดเจ้ยฉินอ๋องต้องกลับฉางอานด้วยความบอบช้ำอย่างสาหัส หลังยุทธการเฝยสุ่ย เจ้ยฉินอ๋องถูกคนสนิทจับประหารชีวิต (ในหนังสือพงศาวดารจีนที่แปลจากภาษาแต้จิ๋ว กล่าวถึง จุดจบของเจ้ยฉินอ๋องไว้อย่างรันทดว่า แม้จะขอน้ำกินสักหยดเดียวก็ยังไม่ได้เลย ทำให้สุดท้ายแกเลือกจบชีวิตด้วยการเอาผ้าขาวผูกคอแล้ววิ่งเอาหัวชนกำแพงตาย ) นับเป็นการสิ้นสุดความยิ่งใหญ่ของอ๋องผู้เกือบจะรวมแผ่นดินจีนสำเร็จถ้าเขาเชื่อในคำของกุนซือหวางเหมิ่ง

ประวัติศาสตร์มักหมุนย้อนกลับมาอยู่เสมอครับ อีกทั้งเป็นวงจรที่ผู้เสพอำนาจหรือคิดจะมีอำนาจต้องสำเหนียกให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะกฎของอนิจจังหรือความไม่เที่ยงของอำนาจ จะอย่างไรก็ตาม, ผมกลับชอบเจ้ยฉินอ๋องตรงไหนรู้มั๊ยครับ ผมว่าแกเป็นคนที่หลงรักศัตรู หลงรักในที่นี้หมายถึงให้โอกาสกับคนเก่งได้แสดงความสามารถ แม้ว่าสุดท้ายจะโดนทรยศหักหลัง ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยล้วนมีคนอย่างเจ้ยฉินอ๋องปรากฏให้เห็นกันอยู่เสมอ สำหรับผมแล้ว, ผมเชื่อว่าเจ้ยฉินอ๋องมีบารมีมากพอที่จะเป็นอ๋องแต่ไม่มากพอที่จะเป็นฮ่องเต้ ได้ คิดเหมือนผมหรือเปล่าครับ

Hesse004

2 comments:

Unknown said...

ไม่เกี่ยวกับท่านอ๋องของต้วนนะ แต่เห็นว่าพาดพิงมาถึงสามก๊ก พอดิบพอดีกับที่มีเวลาช่วงว่างงานไปอ่าน "เปิดหน้าต่างขงเบ้ง" โดยนักเขียนนิรนามแต่วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ได้น่าสนใจ ประมาณว่าวรรณกรรมสามก๊กที่เชิดชูขงเบ้ง แท้จริงแล้วใครคือพระเอกตัวจริงกันแน่ เพราะขงเบ้งหรือเปล่าที่ทำให้เกิดเป็นสามก๊กขึ้นมาทั้งที่เดิมเขามีกันอยู่ก๊กเดียว เล่าปี่คือเชื้อสายเจ้าทางไหน ของจริงหรือปลายแถวที่พยายามชูหางตัวเองขึ้นมา และ...ขงเบ้งเก่งจริงหรือเปล่า หรือเพียงภาพพจน์ของปัญญาชน คนคงแก่เรียนก็สามารถทำให้ผู้คนเชื่อว่าเขาเป็นคนดีและคนเก่ง

สามก๊กที่แปลกันมา แปลจากบทที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อทำงิ้วไม่ใช่หรือ

ยังไม่เคยอ่านสามก๊กฉบับเต็มเลย แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ไปลองอ่านและลองคิด+จับผิดดู

นอกเรื่องไปหน่อยนะต้วน ไม่ได้กระทบใตรจริงๆให้ตายเถอะ :-)

Tuan said...

สวัสดีครับพี่อ้น

ขอบคุณครับที่ช่วยกันอ่าน จริงๆแล้วพงศาวดารเรื่องสามก๊กนั้นเป็นเรื่องที่อาลักษณ์ของแคว้นจ๊กเขียนขึ้นหลังจากจ๊กก๊กของเล่าปี่ล่มสลายในสมัยอาเต๊าหรือพะเจ้าเล่าเสี้ยน ผมไม่แน่ใจว่าอาลักษณ์คนนี้นามว่า หล่อกว้านจง หรือเปล่า แต่คนแต่งมีความผูกพันกับขงเบ้งมากย่อมชูขงเบ้งเป็นพระเอก สำหรับการเขียนประวัติศาสตรืสามก๊กเกิดขึ้นในสมัยของพระเจาสุมาเอี๋ยนผู้รวบรวมก๊กทั้งสามเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ครับ

ต้วน