May 18, 2007

ตำราเศรษฐศาสตร์ของนาย Mas-Colell และคณะ

คุณผู้อ่านเคยรู้สึกปวดเศียรเวียนกบาลกับการอ่านหนังสือกันบ้างหรือเปล่าครับ ? ผมว่าอารมณ์แบบนี้คงบังเกิดขึ้นกับทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านตำราเรียน ส่วนตัวผมเองประสบการณ์เลวร้ายที่สุดของการอ่านหนังสือหนักๆ คือ ไข้ขึ้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า นอกจากหนังสือจะมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจแล้วยังส่งผลต่อสภาพร่างกายคนเราด้วย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมนั่งอ่านตำราเศรษฐศาสตร์เพื่อเตรียมสอบปลายภาค ตำราที่ว่าคือ Microeconomic Theory ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1995 มีผู้แต่งร่วมกัน 3 คน คือ นาย Andreu Mas-Colell , นาย Michale Whinston และ นาย Jerry Green ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้ถูกใช้เป็น Required text book สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์(แบบทุนนิยม)ทั่วโลก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ตำราหนาเกือบพันหน้าเล่มนี้จะกลายเป็นสุดยอดคัมภีร์ของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคในโลกปัจจุบัน
Microeconomic Theory นับเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ชั้นสูงที่ดี กล่าวคือ มีสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เต็มไปหมด มีกราฟประหลาดพิสดารที่เราไม่ใคร่จะพบเจอนักใน หนังสือระดับ Basic หรือ Intermediate และที่สำคัญคือมีแบบฝึกหัดท้ายบทที่โคตรยากเลยครับ แน่นอนว่าผู้เขียนหนังสือทั้งสามท่านย่อมเป็นปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคชนิดที่เรียกว่ามองทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้เป็นเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง ขอย้ำนะครับว่าชั้นสูง ผมเคยสงสัยว่าลุง Mas-Colell สแปนนิชชนคนนี้เวลาแกไปสั่งอาหารสเปน แทนที่แกจะคำนวณอาหารออกมาเป็น Callories แกอาจจะคำนวณมันออกมาเป็น Utility แทน
จะว่าไปแล้วไอ้ความหงุดหงิดจากการอ่าหนังสือยากๆเนี่ยมันก็สร้างความลำบากใจให้กับคนเขียนเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเขียนที่ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนั้นให้มันเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ผมเองเชื่อว่าตำรา Microeconomic Theory ของผู้เขียนทั้งสามท่านจะ ยืนยงคงกระพันไปอีกหลายสิบปี เพราะยากนักที่จะหาคนเขียนตำราระดับนี้ออกมาสู้ได้ แค่ดูท้ายบทที่ท่านทั้งสามหยิบมาอ้างอิงก็หนาวแล้วครับ นักเรียนเศรษฐศาสตร์ควรจะภูมิใจในความเป็นสากล ความสมเหตุสมผล ความมีตรรกะและอธิบายได้อย่างมีหลักการของศาสตร์นี้
เศรษฐศาสตร์นับเป็นสังคมศาสตร์แขนงเดียวที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลระดับโลกอย่างรางวัลโนเบล โดยธนาคารกลางของสวีเดนจะเป็นผู้ดำเนินการมอบรางวัลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีผลงานทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างล่าสุดเมื่อปี 2006 ศาสตราจารย์ Edmund Phelp อมริกันชนก็คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปครองจากผลงานวิชาการมากมายทาง Macroeconomic หรือเมื่อปีก่อนหน้าโน้น 2005 ศาสตราจารย์ Robert Aumann จากมหาวิทยาลัยฮิบรูในเยรูซาเล็ม ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานการพัฒนาทฤษฎีเกม (Game Theory)
ผลพวงของการได้รับการยอมรับจากสถาบันอย่างโนเบลทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์พยายามถีบตัวให้เข้าถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงเสียที ทั้งนี้การสร้าง Pure Theory ของวิชาวิทยาศาสตร์มีความแตกต่างจากวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะบางครั้งนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ห้องทดลองเป็นสนามจำลองการสร้างทฤษฎีซึ่งเป็นข้อจำกัดที่วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทำได้
ในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกมีนักวิทยาศาสตร์เด่นๆอย่าง Sir Isac Newton , Albert Eistein หรือ Stephen Hawking แต่สำหรับวงการเศรษฐศาสตร์เรามีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ อย่าง Adam Smith , Karl Marx ,Alfred Marshall , John Maynard Keynes เรื่อยมาจนกระทั่ง Paul Samuelson และ Milton Friedman ท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสร้างชื่อให้กับเศรษฐศาสตร์จนสามารถปักหลักแขนงวิชาในสรรพวิชาทั้งหลายบนโลกนี้ได้
ด้วยความที่เศรษฐศาสตร์เติบโตมาจากปรัชญาความคิดการจัดการเศรษฐกิจ ทำให้ความพยายามที่จะพิสูจน์ปรัชญาเหล่านี้จำเป็นต้องนำคณิตศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของวิชานี้ และด้วยเหตุนี้เองภาพชินตาของนักเศรษฐศาสตร์คือ ตัวเลข กราฟ สมการ ทำให้การอธิบายเรื่องง่ายๆ ประเภทใช้สามัญสำนึกอธิบายก็น่าจะเข้าใจ แต่นักเศรษฐศาสตร์ต้องพยายามพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ด้วยคณิตศาสตร์ให้ได้ เช่น การอธิบายการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของหน่วยผลิตโดยใช้หลัก Marginal ซึ่งก็มาจากการDifferential ในแคลคูลัส ไอเดียดังกล่าวได้แนวคิด มาจากวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกวิธีการแบบนี้ว่า Newtonian อันหมายถึง วิธีคิดแบบ Sir Isac Newton ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาความคิดทางวิทยาศาสตร์ให้กับโลก
ที่กล่าวมาข้างต้น ว่าด้วยเรื่องตำราเศรษฐศาสตร์ของนาย Mas-Collel และคณะนั้น ผมเพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของโลกวิชาการในปัจจุบันว่า นักคิด นักทฤษฎีทั้งหลายต่างพยายามเหลือเกินที่จะลดช่องว่างระหว่างโลกทฤษฎีกับโลกความเป็นจริง ให้โลกทั้งสองโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารมันจะยากก็ตาม(ผมพูดบ่อยครั้งว่ามันเกินกว่ามนุษย์อย่างเราๆท่านจะเข้าใจ) แต่ถึงที่สุดแล้วที่เราพัฒนามาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความพยายามที่จะทำเรื่องยากที่สุดในทางทฤษฎีให้เอามาใช้ได้ในทางปฏิบัติมิใช่หรือ สำหรับประโยชน์อื่นๆของตำราเล่มหนาๆเล่มนี้ยังทำให้ผมมีที่หนุนหัวยามที่คิดอะไรไม่ออกและอยากจะนอนเสียเหลือเกิน....
Hesse004

No comments: