Jun 10, 2008

“The Pink Panther”กับ เจ้าเสือสีชมพู






ขึ้นชื่อว่า “เสือ” แล้วย่อมมีความน่ากลัวอยู่ในตัวนะครับ อย่างไรก็ตามมีเสืออยู่ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้เราหวาดกลัวแต่อย่างใด ใช่แล้วครับ! เสือที่ผมกำลังจะเล่าถึงคือ “เจ้าเสือสีชมพู” ไงครับ

พอเอ่ยถึงเจ้าเสือสีชมพู เรามักนึกถึงชื่อของ “พิงค์ แพนเธอร์” (Pink Panther) ครับ และพอเอ่ยถึงชื่อของพิงค์ แพนเธอร์ ท่านผู้อ่านที่มีอายุหน่อยก็จะนึกถึงชื่อของหนังตลกแนวสืบสวน ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่นึกถึงคือชื่อวงดนตรีสตริงที่ร้องเพลง “ถึงจะแสนไกล ไกลถึงใต้หล้า สุดขอบฟ้าแสนไกล” พร้อมเห็นภาพหน้านักร้องมาดนุ่มๆใส่แว่นสีชายืนร้องเพลงด้วยความละเมียดละไม

สำหรับเดอะพิงค์ แพนเธอร์ (The Pink Panther) ที่ผมอยากเล่าถึงนั้นเป็นภาพยนตร์ตลกแนวสืบสวนสอบสวนครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นซีรีส์คล้าย “เจมส์ บอนด์” ที่สตูดิโอในฮอลลีวู้ดนิยมสร้างกันในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา

เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ฉบับดั้งเดิม (Original version) นั้นถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1963 ครับ โดยได้เบลค เอ็ดเวิร์ด (Blake Edwards) เป็นผู้กำกับ และมีดาราชูโรงในยุคนั้นอย่างเดวิด นีเวน (David Niven) และปีเตอร์ เซลเลอร์ (Peter Sellers)

ศูนย์กลางของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ “พิงค์ แพนเธอร์” ซึ่งเป็นเพชรสีชมพูขององค์หญิงดาล่า ครับ ไม่ใช่เจ้าเสือสีชมพูอย่างที่เราหลงเข้าใจกันมานาน

หนังเรื่องนี้นับเป็นหนังตลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำในกรุงโรม อิตาลี หรือเรื่องราวบางตอนในกรุงปารีส

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า "เดอะพิงค์ แพนเธอร์" (1963) ซึ่งเป็นภาคแรกนั้นมีความคลาสสิค อยู่ไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะการคัดเลือกตัวแสดงอย่าง “เดวิด นีเวน” ซึ่งเป็นดาราชื่อดังชาวอังกฤษแห่งทศวรรษที่ 50-60 มารับบทเดอะแฟนธอม (The Phantom) วายร้ายผู้มุ่งหมายในเพชรพิงค์แพนเธอร์ และได้ “ปีเตอร์ เซลเลอร์” สตาร์ดังชาวอังกฤษอีกคนที่มารับบทสารวัตรคลูโซ่ (Jacques Clouseau) ยิ่งทำให้เดอะพิงค์แพนเธอร์ ภาคแรกกลายเป็นตำนานหนังตลกแนวสืบสวนไป

นอกจากนี้ผมยังแอบตั้งข้อสังเกตกับบุคลิกของสารวัตรคลูโซ่ที่แกดูจะเปิ่น ซุ่มซ่าม และไม่ทันเกมของเหล่าร้ายเอาเสียเลย แต่บุคลิกแบบนี้แหละครับที่ทำให้เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ได้รับการตอบรับจากคอหนังในยุคนั้นเป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่ว่าหนังในยุคนั้นพระเอกโดยเฉพาะเจมส์ บอนด์ ต้องดูดี เท่ห์ สมาร์ท และฉลาดกว่าตัวโกง แต่สำหรับเดอะพิงค์ แพนเธอร์แล้วตรงกันข้ามทุกอย่างครับ

นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านเคยดูหนังเรื่อง “จอหน์นี่ อิงลิช” (Johnny English) ที่นำแสดงโดย โรแวน แอตกินสัน (Rowan Atkinson) หรือ “มิสเตอร์บีน” เราจะพบว่าบุคลิกของจอหน์นี่ อิงลิช มีความละม้ายคล้ายคลึงกับบุคลิกของสารวัตรคลูโซ่มากๆครับ

จะว่าไปแล้วหนังแนวคอมเมดี้ (Comedy genre) ของฝั่งยุโรปนั้นดูจะมีอารมณ์ขันที่เจือไปด้วยการเสียดสีประชดประชันอยู่ไม่น้อยนะครับ เรียกได้ว่าดูจบกลับไปนั่งคิดอะไรต่อได้อีกประมาณว่า “ตลกร้าย” เช่นเดียวกับพิงค์แพนเธอร์ครับที่ตอนจบนับว่าเป็นตลกร้ายเลยทีเดียวลองไปหาชมแล้วกันนะครับ

นอกจากนี้เพลงประกอบหนังเดอะพิงค์แพนเธอร์ ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสงสัยใคร่รู้ซึ่งเพลงๆนี้มักถูกนำมาใช้ประกอบฉากหนังที่เกี่ยวกับการสืบสวนแบบขำๆประเภทชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน

เพลงประกอบหนังพิงค์แพนเธอร์มาจากผลงานการรังสรรค์ของ “เฮนรี่ มานชินี่” (Henri Mancini) ประพันธกรเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน (Music composer)ครับ มานชินี่ใช้ลูกเล่นของเสียงแซกโซโฟนในดนตรีแจ๊ซสร้างให้เพลงประกอบเดอะพิงค์ แพนเธอร์ กลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เอ๊! ที่ผมเล่ามาทั้งหมด ยังไม่เห็นมีเรื่องเจ้าเสือสีชมพูแต่อย่างใดเลยใช่มั๊ยครับ สำหรับเจ้าเสือ สีชมพูนั้นมีที่มาจากหนังแอนนิเมชั่นเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยบริษัท DePatie-Freleng Enterprises เป็นผู้สร้างสรรค์เจ้าเสือสีชมพูขึ้นมาครับ ว่ากันว่าบริษัทนี้รับผิดชอบผลงานแอนนิเมชั่นให้กับค่ายหนังอย่างวอร์เนอร์ บราเธอร์ มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 60 แล้วครับ บริษัทนี้ได้ผลิตผลงานแอนนิเมชั่นเด่นๆอย่างเช่น เดอะพิงค์แพนเธอร์ กับเจ้ากระต่ายน้อยจอมแสบอย่างลูนนี่ ทูน (Looney Tunes) นั่นเองครับ

เดอะ พิงค์แพนเธอร์ ยังคงเป็นตำนานภาพยนตร์แนวตลกสืบสวนที่ทุกวันนี้ออกจะหายากหน่อยนะครับ เพราะดูเหมือนไม่ค่อยมีใครอยากทำกันนัก จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพระเอกไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทุกอย่างเช่นสายลับ 007 หากแต่ทำให้พระเอกกลายเป็นตัวตลกที่เรียกเสียงฮาได้ทุกฉาก เดอะพิงค์แพนเธอร์จึงเป็นหนังประเภทต่อต้านวีรบุรุษหรือ Anti Hero นั่นเองครับ

นอกจากนี้เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ยังได้สร้างสัญลักษณ์ทั้งด้านภาพและเสียง ที่พอเอ่ยชื่อพิงค์แพนเธอร์ปุ๊ป เรามักนึกถึง เจ้าเสือสีชมพูกับดนตรีแนวสอดรู้สอดเห็น อ้อ! ชื่อแนวเนี่ยผมคิดขึ้นเองนะครับ ฮา ฮา

Hesse004

1 comment:

Tig said...

Hesse004 ที่รัก
ข้าพเจ้ามีความสงสัยในเรื่อง"ทฤษฎี 2สูง"ของเจ้าสัวธนินท์ เป็นอย่างยิ่ง ว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงแท้หรือไม่,ชาวบ้าน-คนเดินถนนได้รับประโยชน์จริงรึ? หรือมีวาระซ่อนเร้นในเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ -หากท่านจะเมตตา-และมีเวลาจากการศึกษาวิทยายุทธระดับ Doctor degree แล้ว ขอให้ช่วยชี้แจงอรรถาธิบายให้ด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง
รัก
Tigg