Jun 20, 2008

"มาร์โก้ แวน บาสเท่น"กับฟุตบอลยูโรปี 2008






นับตั้งแต่ฟุตบอลยูโรปี 2008 เปิดฉากมา, ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามฟุตบอลมาโดยตลอดน่าจะได้ยลแข้งของทีมชาติฮอลแลนด์ไปบ้างแล้วนะครับ โดยเฉพาะสองนัด “เจ็ดลูก”ที่อัดทีมแชมป์โลกอย่างอิตาลีและรองแชมป์อย่างฝรั่งเศสเสียไม่เป็นกระบวน

ตามพงศาวดารลูกหนังโลกแล้ว , “ทีมชาติฮอลแลนด์” เจ้าของฉายาอัศวินสีส้ม หรือ Oranje เริ่มสร้างชื่อในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ.1974 ครับ ฮอลแลนด์ในยุคนั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของท่าน นายพล “ไรนุส มิเชล” (Rinus Michels)

จริงๆแล้ว ไรนุส มิเชล แกไม่ใช่นายพลหรอกครับ เพียงแต่โหงวเฮ้งของแกคล้ายกับนายพล (The General ว่ากันว่าเหตุที่ไรนุส มิเชล ได้รับฉายานี้ก็เพราะอมตะวาจาของแกที่พูดว่า Professional football is something like war. แปลเป็นไทยก็คงทำนองว่าฟุตบอลมันก็เหมือนสงครามดีๆนั่นแหละ

ไรนุส มิเชล เป็นผู้ทำให้ฮอลแลนด์ยุคทศวรรษที่ 70 นั้นเล่นฟุตบอลภายใต้หลักการที่เรียกว่า “โททั่ลฟุตบอล” (Total Football) ครับ

โททั่ลฟุตบอลนั้นมีต้นกำเนิดมาจากทีมอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมส์ (Ajax Amsterdam) ครับ ซึ่งเราต้องย้อนอดีตไปไกลกันถึงปี ค.ศ.1910 เลยทีเดียว กุนซือทีมอาแจ๊กซ์นามว่า “แจ๊ค เรย์โนลด์” (Jack Reynolds) คือ เจ้าของความคิดหลักการโททั่ลฟุตบอล

เรย์โนลด์นับเป็นผู้จัดการทีมอาแจ๊กซ์ ที่น่าจะคุมทีมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเลยก็ว่าได้ครับ ด้วยเหตุนี้เองเรย์โนลด์จึงสามารถทดลองปรับแต่งรูปแบบ แผนการการเล่นตลอดจนพัฒนาหลักการทำทีมฟุตบอลได้หลากหลายก่อนจะมาลงตัวที่ “ระบบโททั่ลฟุตบอล”

อย่างไรก็ตามลูกศิษย์ก้นกุฎิของเรย์โนลด์อย่าง “ไรนุส มิเชล” กลับได้รับเครดิตในการทำให้ทีมชาติฮอลแลนด์เกรียงไกรภายใต้หลักการดังกล่าวครับ

ในช่วงทศวรรษที่ 70 ทั้งสโมสรอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมส์และทีมชาติฮอลแลนด์ล้วนประสบความสำเร็จในฟุตบอลรายการใหญ่ๆตั้งแต่ยูโรเปียนคัพ ไปจนถึงฟุตบอลโลก อาแจ๊กซ์สามารถสถาปนาความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรปด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพได้ติดต่อกันสามสมัยซ้อน (The Treble) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1971, 1972 และ 1973

มหัศจรรย์แห่งอาแจ๊กซ์ยังส่งต่อมายังขุนพลอัศวันสีส้มภายใต้การนำของจอมทัพนามว่า “โยฮัน ครัฟฟ์” (Johan Cruyff) อย่างไรก็ตามครัฟฟ์ไม่ได้โดดเด่นเพียงคนเดียวนะครับ หากไม่ได้เหล่าพลพรรคออเรนจ์แมนอีกสิบคนที่เหลือที่ช่วยบันดาลให้โททั่ลฟุตบอลบังเกิดขึ้น

หลักการข้อแรกของโททั่ลฟุตบอล คือ นักเตะในสนามต้องสามารถปรับตัวเล่นได้ทุกตำแหน่งครับ การทดแทนกันได้ในทุกตำแหน่งนั้นทำให้ผู้จัดการทีมไม่ต้องปวดหัวว่าจะเปลี่ยนใครลงไปแทนเพราะทุกคนมีความสามารถใกล้เคียงกันหมด

หลักการต่อมา คือ ความเข้าใจในเกมของผู้เล่น ว่ากันว่านักเตะดัตช์นั้นมีเซนส์บอลที่ไม่แพ้นักเตะบราซิลเลยทีเดียว หัวใจสำคัญของโททั่ลฟุตบอลอยู่ที่การหาพื้นที่ว่าง (Space) ให้กับเพื่อนที่ครองบอลอยู่ครับ อย่างที่กูรูฟุตบอลมักชอบพูดเสมอว่าผู้เล่นที่อันตรายที่สุด คือ ผู้เล่นที่ไม่มีบอล

เมื่อนักเตะสามารถหาที่ว่างได้แล้ว การให้แล้วไป (Give and Go) คือกลไกสำคัญที่ทำให้โททั่ลฟุตบอลมีความไหลลื่น ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วอาร์เซนอลยุคปัจจุบันของอาร์เซน เวงเกอร์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้เกมฟุตบอลมีความต่อเนื่องและไหลลื่น (Fluid)

นอกจากนักเตะแล้วโค้ชชาวดัตช์ก็น่าจะมีเซนส์บอลการทำทีมที่ดีเช่นกันนะครับ ลองไล่กันตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่างป๋า กุ๊ด ฮิดดิ้ง (Guss Hiddink), โค้ชทีมชาติรัสเซีย ผู้ถีบอังกฤษตกรอบคัดเลือกยูโรหนนี้, ดิค แอทโวคาท (Dick Advocaat) ,ผู้จัดการทีมสโมสรเซนิต เซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่เพิ่งได้แชมป์ยูฟ่าคัพปีล่าสุด, แฟรงก์ ไรจ์กาจ (Frank Rijkaard) ,อดีตกุนซือบาร์ซ่าที่เพิ่งจะตกงานมาหมาดๆ และคนล่าสุด คือ มาร์โก้ แวน บาสเทน (Marco Van Basten) โค้ชทีมชาติฮอลแลนด์ชุดลุยยูโร 2008

โททั่ลฟุตบอลจำเป็นต้องอาศัยนักเตะที่ฉลาด เข้าใจในแผนการเล่นของโค้ช รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี อย่างไรก็ตามข้อเสียของนักเตะฮอลแลนด์ทุกยุคทุกสมัยคือ มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ประเภทว่า “Selfจัด” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ฮอลแลนด์จึงกลายเป็นทีมที่มีปัญหาระหว่างนักเตะด้วยกันเองโดยเฉพาะเวลามาแข่งทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ เมื่อสปิริตในทีมหายไปส่งผลต่อผลงานของทีมที่มักไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน ตัวอย่างเช่นฟุตบอลโลกปี 2002 ภายใต้การคุมทีมของกุนซือสมองเพชรอย่าง หลุยส์ ฟานกัล (Louis Van Gaal) แต่อัศวินสีส้มชุดนี้กลับไม่ผ่านรอบคัดเลือกทั้งๆที่มีดาวดังอยู่เต็มทีม

อย่างไรก็ตามฟุตบอลยูโรปีนี้เท่าที่ผมติดตามฮอลแลนด์มาสามนัดแล้ว ต้องยอมรับว่าพวกเขาเล่นเกมเคาน์เตอร์แอทแทคได้ “โคตรดุ” เลยครับ แม้ว่าความเพลินตาที่เคยปรากฏในโททั่ลฟุตบอลจะไม่ค่อยมีเท่าไรนัก แต่ถ้าในเรื่องความเฉียบขาดและความแน่นอนแล้วดูเหมือนว่าฮอลแลนด์จะทำได้ดีกว่าทุกทีมครับ

เกมของฮอลแลนด์ในสองนัดที่พบคู่ปรับโคตรบอลอย่างอิตาลี กับฝรั่งเศสนั้นสะท้อนให้เห็นตัวตนของ “มาร์โก้ แวนบาสเทน” ได้ดีไม่น้อยเลยนะครับ กล่าวคือ สมัยที่เขาเป็นศูนย์หน้าเขาสามารถหาพื้นที่ในการเข้าทำประตูได้บ่อยครั้ง มีความเฉียบขาดในการยิงประตูจนเป็นเจ้าของสถิติ 90 ประตูจาก 147 นัดที่ลงเล่นให้กับเอซีมิลาน และ 24 ประตูจาก 58 นัดภายใต้เสื้อสีส้มของฟลายอิ้งดัตช์แมน
ความเฉียบขาดดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปเกมการเล่น ซึ่งถ้าดูจากทัพครั้งนี้ของแวนบาสเท่นแล้วจะพบว่าเขามีตัวเลือกประเภท “รุกพิฆาต” เกือบจะเต็มทีม ไล่ตั้งแต่ อาร์เยน ร๊อบเบน (Arjen Robben) และ เวสลีย์ ชไนเดอร์ (Wesley Sneijder)จากทีมราชันชุดขาวเรอัลมาดริด, โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ (Robin Van Persie)จากทีมปืนโต, เดิร์ต เคาท์ (Dirk Kyut)จากหงส์แดง , คลาส ยาน ฮุนเต่ล่าร์ (Klass Jan Huntelaar)จากอาแจ๊กซ์ รวมไปถึงศูนย์หน้าตัวเก๋าอย่าง “พี่ม้า” รุด ฟาน นิสเตอรอย (Ruud Van Nisterooy)

นอกจากจะ “ไม่ต้องห่วงหน้าแล้ว” ฮอลแลนด์ชุดนี้ดูจะ “ไม่ต้องพะวงหลัง” มากนัก เพราะได้ซูเปอร์หนึบอย่าง “น้าเอ๊ด” เอ็ดวิน ฟานเดอ ซาร์ (Edwin Van De Sar) รับบทนายทวารที่กำลังจะตามรอยตำนานผู้รักษาประตูอย่างปีเตอร์ ชไมเคิล ณ เดนมาร์ก หลายต่อหลายเกมน้าเอ๊ดสามารถเซฟลูกยากๆได้หลายครั้งจนทำให้กองหลังฮอลแลนด์มีความมั่นใจมากขึ้นทั้งที่มารอบนี้ฮอลแลนด์ไม่ได้พกกองหลังระดับดาวดังมากนักจะมีก็แต่เพียงอังเดร ออยเลอร์ (Andre Ooijer)ของแบล๊คเบิร์น รวมไปถึง คาลิด บูรารูซ (Khalid Boulahrouz)จากเชลซี นอกจากนี้ความเก๋าของจิโอวานี่ ฟานบรองฮอส (Giovanni van Bronckhorst) ก็นับว่ามีประโยชน์ต่อเกมรับของฮอลแลนด์อย่างมาก

แม้ว่าแวนบาสเท่นจะแขวนสตั๊ดเร็วเกินไปด้วยอาการบาดเจ็บเรื้อรัง แต่การเข้ามากุมบังเหียนทีมชาติต่อจากซี้เก่าอย่างแฟรงค์ ไรจ์การ์ดนั้น นับได้แวนบาสเท่นทำได้โดดเด่นไม่น้อยนะครับ

ยูโรหนนี้แวนบาสเท่นทำให้เกมรุกของฮอลแลนด์สุดแสนจะอันตราย โดยเฉพาะเกมโต้กลับที่เร่งจังหวะเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยตัวรุกที่เอ่ยนามมาแล้ว

สำหรับยูโรครั้งนี้, ผมเอาใจช่วยฮอลแลนด์ให้ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของทีมครับ การเก็บได้เก้าคะแนนเต็มใน “กรุ๊ปออฟเดธ” (Group Death) นั้นไม่ใช่มาจากความบังเอิญแน่นอน

อย่างไรก็ตามถ้าฮอลแลนด์ผ่าน “รัสเซีย” ในรอบสองไปได้ การเจอ “สเปน”หรือ “อิตาลี”อีกครั้งนับเป็นงานที่ไม่ง่ายอีกแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดแวนบาสเท่นจะทำให้ฟลายอิ้งดัตช์แมนทีมนี้บินไปได้ไกลแค่ไหนนั้นต้องคอยดูกันต่อไปครับ

Hesse004

No comments: