Feb 16, 2008

“ราฟาเอล เบนิเตซ”เหยื่อของทุนนิยมฟุตบอล




ในฐานะที่ผมเป็นแฟนของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่พักหลังมักถูกค่อยขอดว่าเป็น “เป็ดแดง” บ้างล่ะ เป็น “นกกระเด้าลมแดง” บ้างล่ะ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็จริงอย่างที่ใครหลายคนพูดนะครับ

พลันที่ทีมรักพ่ายต่อทีมจากเดอะแชมป์เปี้ยนชิพ อย่าง “บาร์นสลี่ย์” ผมเชื่อว่าศรัทธาของแฟนบอลที่มีต่อลิเวอร์พูลดูจะค่อยๆจางจืดไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “เชียร์ไม่ขึ้น” นั่นเอง

ผมตั้งคำถามเล่นๆกับน้องชายที่เป็นเหล่า The Kop ด้วยกันว่า “ปีนี้เป็นปีชงของ เบนิเตซ หรือเปล่าวะ?” น้องชายผมหัวเราะแล้วตอบกลับมาว่าดูเหมือนมันจะชงมาหลายปีแล้วนะเฮีย

เกียรติยศของลิเวอร์พูลดูจะเกรียงไกรจนน่าหมั่นไส้ ด้วยความที่ชื่อของสโมสรแห่งนี้กวาดแชมป์ลีกสูงสุดในเกาะบริเตนถึง 18 สมัย กวาดแชมป์เอฟเอคัพมา 7 รอบ ชูถ้วยบอลลีกคัพหรือมิคกัเมาส์คัพอีก 7 ครั้ง แถมด้วยการครองเจ้ายุโรปอีก 5 สมัย แหม! ทำไปได้

อย่างไรก็ตามเกียรติยศเหล่านี้ดูจะกลายเป็น “อดีต” ไปเสียแล้วครับ เป็นอดีตที่ทำให้ทั้งผู้จัดการทีม นักฟุตบอลและแฟนบอลต่างคาดหวังการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนที่พวกเขาเคยทำได้เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่า “ฟุตบอล” จะกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งในระบบทุนวัฒนธรรมที่ทำให้องค์กรธุรกิจอย่าง “พรีเมียร์ชิพ” ซึ่งเปรียบเสมือนบรรษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเกาะอังกฤษนั้นสามารถส่งออกสินค้าตัวนี้ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยอาศัยการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม และได้รายได้หลักจาก “การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอด”

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจครับว่า ทุกวันนี้เราได้บริโภค “บริการฟุตบอลบันเทิง”กันทุกอาทิตย์แถมมีสินค้าให้เลือกหลากหลายทั้ง พรีเมียร์ชิพ ลาลีกา กัลโช่ซีรีส์อา ลีกเอิง เป็นต้น

ในฐานะผู้บริโภคเรามักจะต้องหาทีมเชียร์ให้กับตัวเอง เพื่อจะได้ดูบอลอย่างมีรสชาติไงครับ ในขณะเดียวกันการบริโภคฟุตบอลบันเทิงแบบ “ลงทุน” ก็อาจทำได้เพียงแค่ซื้อหนังสือพิมพ์กีฬา เปิดดูอัตราต่อรอง แล้วโทรไปแทงบอลกับ “โต๊ะ”

สำหรับประเทศที่มีชนชั้นปกครองประเภท “มือถือสากปากถือศีล” นั้น ผมยังเชื่อว่าธุรกิจการพนันฟุตบอลจะดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่มีเกมลูกหนังให้เราได้ดูกัน

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา “พรีเมียร์ชิพ” คือ หัวขบวนในการนำพาให้ฟุตบอลลีกเมืองผู้ดีกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้ “เกมลูกหนัง” จากเกาะบริเตนจะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของอิงลิชชน ที่ทุกวันเสาร์จะต้องหอบลูกจูงหลานไปดูฟุตบอลจนเป็นที่มาของคำว่า “When the saturaday comes”

“พรีเมียร์ชิพ” ค่อยๆขายสินค้าฟุตบอลบันเทิง แบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการสร้างกระแสโปรโมตทีมอย่างลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล ทำให้สามทีมนี้กลายเป็นทีมที่มีผู้ชมจากทั่วโลกติดตามผลงานมากที่สุด

อย่างไรก็ตามสินค้าฟุตบอลบันเทิงที่ “พรีเมียร์ชิพ” ผลิตขึ้นนี้ ไปเตะตาองค์กรโลกบาลทางฟุตบอลของยุโรปอย่าง “ยูฟ่า” จนทำให้ยูฟ่าตัดสินใจยกเลิกเกมยูโรเปี้ยนคัพเดิมและหันมาผลิตสินค้าฟุตบอลบันเทิงในชื่อ “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยน ลีก” ด้วยวัตถุประสงค์ทางรายได้และผลกำไรของทั้งผู้จัดรายการและสโมสรฟุตบอล

ด้วยเหตุนี้เอง ชื่อเสียงเรียงนามของทีมนอกเกาะอังกฤษอย่าง รีล มาดริด , เอซี มิลาน , บาร์เซโลน่า , ยูเวนตุส , เอฟซีปอร์โต้ มาจนกระทั่งทีมอย่าง มัคคาบี้ ไฮฟา จึงกลายเป็นทีมที่คุ้นหูคุ้นตามากกว่าสโมสรฟุตบอลในประเทศเราอย่าง ทหารอากาศ , ท่าเรือ, ราชประชา อ้อ !แม้กระทั่ง ทีมกุยบุรี ครับ

ฟุตบอลในทศวรรษที่ 90 ได้ขยายพรมแดนการชมจากสนามฟุตบอลมาสู่จอโทรทัศน์ ระบบลิขสิทธิ์การถ่ายสดจึงถูกนำมาใช้ พร้อมๆกับการขายสินค้าและบริการประเภทอื่นๆพ่วงเข้าไป ดูเหมือนเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอลได้กลายเป็น “อุตสาหกรรมบริการ”ที่ทำให้ธุรกิจอื่นๆเจริญเติบโตไปด้วย ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงโต๊ะแทงบอล

ขณะที่โลกของฟุตบอลได้ก้าวไปด้วยแรงส่งของระบบทุนนิยมนั้น นอกเหนือจากสโมสรฟุตบอลจะได้กำไรจากการขายบัตร ลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสดแล้ว ตัวนักฟุตบอลเองก็มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเตะในรุ่นคุณพ่อ หรือรุ่นคุณปู่

“นักฟุตบอล” กลายเป็น แรงงานที่มีทักษะ (Skill labor) ที่มีรายได้ไม่แพ้อาชีพอย่างหมอ วิศวกร หรือ ทนายความเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับ “ผู้จัดการทีม” ที่กลายเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้สำหรับกีฬาลูกหนังในยุคโลกาภิวัฒน์

สำหรับ “ลิเวอร์พูล” แล้วชื่อของ “บิล แชงคลีย์ , บ๊อบ เพรสลีย์ , โจ เฟแกน และ เคนนี่ ดัลกลิช” ดูจะเป็นที่จดจำมากที่สุด เพราะทั้งสี่คนนี้ได้สร้างให้ลิเวอร์พูลเกรียงไกรจนมีแฟนบอลยอมตะโกนแหกปากร้อง “You will never walk alone” กันทุกนัด

อย่างไรก็ตามชื่อของผู้จัดการทีมอย่าง “แกรม ซูเนสส์ , รอย อีแวนส์ และ เชราร์ อุลลิเยร์” ดูจะเป็นชื่อที่แฟนบอลไม่อยากจดจำมากที่สุด สาเหตุเพราะ พวกเขาไม่สามารถนำพา “หงส์แดง” ตัวนี้ขยับปีกขึ้นสูงกว่าสี่คนที่กล่าวมาข้างต้น

จริงๆแล้ว “ลิเวอร์พูล” เป็นสโมสรที่ปรับตัวไม่ทันกับสภาพของทุนนิยมฟุตบอลต่างหาก ที่ผมเชื่อเช่นนี้เพราะลิเวอร์พูลดูจะขยับตัวช้ากว่าคู่แข่งสำคัญๆอย่าง แมนยูไนเต็ด อาร์เซนอลหรือแม้แต่เชลซีเสมอ การขยับตัวช้าส่วนหนึ่งมาจากการหลงระเริงกับความสำเร็จเมื่อครั้งโบราณ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าตัวเอง คือ สโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในเกาะอังกฤษ

ดูเหมือนความเชื่อเหล่านี้พลอยจะฝังหัวไปในกลุ่มแฟนบอลที่จงรักภักดีต่อสโมสรมาตลอดซึ่งรวมทั้งผมด้วยครับ
แต่แท้จริงการบริหารสโมสร “ลิเวอร์พูล” ดูจะผิดพลาดหลายเรื่อง นับตั้งแต่พรีเมียร์ชิพเริ่มเปิดฉากเมื่อปี 1992

ความผิดพลาดดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การปล่อยให้ “ซูอี้” เข้ามาทำลายโครงสร้างทีมที่ดีที่สุดในยุคปลาย 80 ของลิเวอร์พูลที่”คิงเคนนี่” สร้างไว้ การผลักให้ “อีแวนส์” หนึ่งในสตาฟฟ์บูทรูมเข้ามารับผิดชอบภาระอันหนักหน่วงในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ทั้งๆที่เขาทำได้แค่เพียงสร้างทีมชุด “สไปซ์บอย” ขึ้นมา หรือ การปล่อยให้ “อุลลิเยร์” ใช้เงินซื้อนักเตะอย่างสุรุ่ยสุร่าย ประเภทชอบปั้นนักเตะ “นิว” ทั้งหลาย อย่าง บิสคาน (นิวโบบัน), เชรู (นิวซีดาน) หรือแม้แต่ ตราโอเล่ ยังเป็น (นิวตูราม) เลยครับ

ขณะที่การเข้ามาของ “ราฟาเอล เบนิเตซ” อดีตผู้จัดการทีมบาเลนเซีย ที่พกความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมด้วยระบบการเล่นที่เรียกว่า “โรเตชั่น” ได้ทำให้พลพรรค The Kop มีความหวัง โดยเฉพาะปีแรกของเขาที่ทำให้หงส์แดงตะแคงฟ้าด้วยการคว้าถ้วย “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก” ไปครองชนิด “ปาฏิหาริย์”

“เอลราฟา”เป็นกุนซือที่เชื่อในระบบการเล่นมากกว่าตัวผู้เล่นครับ ด้วยเหตุนี้ “ระบบโรเตชั่น”จึงถูกนำมาใช้ทุกนัดราวกับต้องการพิสูจน์ให้เห็น “มันสมอง” ชั้นเลิศของผู้จัดการทีมคนนี้

การได้แชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2005 ยิ่งทำให้ราฟามั่นใจในระบบโรเตชั่นของตัวเอง บวกกับการได้อันดับสี่ไปเล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่ของยุโรป ยิ่งทำให้เขาเชื่อใน “กึ๋น” ของตัวเองมากกว่าเชื่อในตัวผู้เล่น
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ลิเวอร์พูลของ “เอลราฟา” นั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วครับว่าไม่ดีพอกับการเป็นแชมป์ลีกสูงสุดภายในประเทศ

“โรเตชั่น” ถ้ามองในทัศนะทางเศรษฐศาสตร์แล้ว คือ การแก้ปัญหาผลิตภาพที่ลดลงของแรงงานโดยใช้ระบบคล้ายๆกับการ “เข้ากะ ออกกะ” ทั้งนี้เพราะเกมลูกหนังยุโรปในหนึ่งซีซั่นนั้นนักเตะต้องบรรเลงเพลงแข้งกันอย่างน้อยๆ 50 นัด ด้วยเหตุนี้เองการใช้ระบบ “เข้ากะ” หรือ “โรเตชั่น” ของเอลราฟา จึงช่วยให้ผลิตภาพของแรงงานฟุตบอลไม่ลดลงในนัดถัดๆไป

ผมว่า “เอลราฟา” มองโลกในแง่ดี เพราะสิ่งที่เขาทำคือการแก้ปัญหาผลิตภาพของนักบอลที่อาทิตย์หนึ่งอาจจะต้องเตะบอลอย่างน้อย 2-3 แมตช์ การแก้ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการจัดสรรทรัพยากรนักตะให้ลงตัวภายใต้จำนวนแมตช์ที่มากกว่า 50 นัด เพราะอย่าลืมว่านักบอลก็ “คน” ที่เหนื่อยเป็น เจ็บเป็นและ ที่สำคัญ คือ ฟอร์มตกเป็น

แต่ดูเหมือนว่า “โรเตชั่น” อาจจะไม่สำเร็จในฟุตบอลลีกอังกฤษ ด้วยเหตุที่พรีเมียร์ลีกต่างกับลาลีกา ทั้งจังหวะบอลที่ช้าเร็วต่างกันรวมไปถึงโปรแกรมการแข่งขันก็ต่างกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าฉงนอยู่ว่าตลอด 4 ปีที่ ราฟา กุมบังเหียน “ลิเวอร์พูล” นั้น เขาไม่สามารถหาทีมที่ดีที่สุดของตัวเองทั้ง 11 คนได้เลยหรือ ?

ด้วยเหตุนี้เอง “ราฟาเอล เบนิเตซ” จีงเปรียบเสมือน “เหยื่อ”ในโลกทุนนิยมฟุตบอลสมัยใหม่ที่พยายาม “ทดลอง” การสร้างทีมด้วยจำนวนเงินมหาศาลพร้อมๆกับการแบกความหวังของเหล่าแฟนบอลรวมไปถึงการสร้างผลกำไรให้กับทีมผ่านผลงานที่ต้องประสบความสำเร็จอย่างน้อย 1 รายการ แต่น่าเสียดายที่ “เอลราฟา” ไม่สามารถเอาชนะระบบทุนนิยมฟุตบอลสมัยใหม่นี้ได้อีกทั้งยังปล่อยให้เหล่า The Kop ต้องฝันค้างไปกับ “ระบบเข้ากะ”ของ “เอลราฟา” อย่าง “โรเตชั่น”

Hesse004

No comments: