Mar 1, 2008

"คอร์รัปชั่น" กับ การแก้ปัญหาแบบ "ปากว่าตาขยิบ"




ผมสนใจเรื่อง “คอร์รัปชั่น” ครับ แต่ไม่เคยคิดจะคอร์รัปชั่น (ฮา) คอร์รัปชั่นคืออะไรหรือครับ ผมคิดว่าคงไม่ต้องสาธยายกันมากมายแต่ที่แน่ๆ การคอร์รัปชั่นได้ทำลายสังคมโดยรวม

“คอร์รัปชั่น” ก็คือ การจี้ ปล้น ลัก ขโมย ดีๆนี่เองแหละครับเพียงแต่การคอร์รัปชั่นนั้นกระทำบนฐานของการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

สังคมไทยชาชินกับคอร์รัปชั่นมานานแสนนานจนเราแทบจะหมดหวังที่จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น ผมไม่แน่ใจว่าที่เราหมดหวังเพราะเราไม่พยายามที่จะแก้ไขกันหรือเราเลือกที่จะยอมรับกับประพฤติกรรมดังกล่าว

สังคมของเราเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์หรือ Patronage- Client ดังนั้นการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เป็นไปตามไอเดียของโลกตะวันตกจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่ความพึงพอใจของเสียงส่วนใหญ่หากแต่เป็นการเอาใจใส่ต่อเสียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถแสดงความเห็นและเสนอทางเลือกแบบที่เสียงส่วนใหญ่ทำได้

ด้วยเหตุนี้เองคำว่า “ประชาธิปไตย” จึงสมควรแยกออกจากคำว่า “การเมือง” ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่หย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเพื่อใช้สิทธิอย่างที่ปราชญ์รัฐศาสตร์หลายท่านเคยว่าไว้ หากแต่ประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมของพลเมืองแห่งรัฐในการช่วยกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คำๆนี้พูดให้โก้ๆได้นะครับ แต่เอาเข้าจริงเป็นเรื่องที่ยากอีกเหมือนกัน

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านในเบื้องต้นครับว่า ผมสนใจเรื่องคอร์รัปชั่น ความสนใจของผมอยู่ในมิติของวิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งถ้าจะพูดให้เก๋ๆหน่อยก็คือ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” หรือ Economic of Corruption ครับ

นักเศรษฐศาสตร์มอง “คอร์รัปชั่น” เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจแรงจูงใจดังกล่าวคล้ายกับ “กำไร” ที่ผู้ประกอบการต้องการ อย่างไรก็ตามคอร์รัปชั่นเป็นแรงจูงใจที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจครับ

นักเศรษฐศาสตร์หญิงนามว่า Ann O. Krueger เป็นคนแรกที่ออกมาอธิบายว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเปรียบเสมือน “การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ”หรือ Economic Rent Seeking ท่านผู้อ่านคิดดูนะครับว่า “ค่าเช่า” (Rent) นั้น คือ ผลตอบแทนที่เจ้าของที่ดิน เจ้าของเครื่องจักร เจ้าของสินทรัพย์ ได้ประโยชน์โดยที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร

เช่นเดียวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการคอร์รัปชั่นครับ เพราะ ผลประโยชน์ดังกล่าวอยู่ในรูปของ “ค่าเช่าประจำตำแหน่ง” หากเรามองตำแหน่งเป็นสินทรัพย์ที่มีไว้ให้เช่า คนที่อยู่ในตำแหน่งนั้นก็สามารถแสวงหาค่าเช่าประจำตำแหน่งได้นอกเหนือจาก “ค่าจ้าง” ที่ตัวเองได้รับ ด้วยเหตุนี้เองยิ่งตำแหน่งสูงๆ ค่าเช่าประจำตำแหน่งย่อมสูงตาม

ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้กลายเป็น “วาระแห่งโลก” ไปแล้วครับ เพราะองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรอย่าง World Bank, IMF, OECD รวมถึง ADB เริ่มหันมาศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการคอร์รัปชั่น

นักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏนามกันอยู่เป็นประจำทุกครั้งที่มีการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้ได้แก่ O.E. Johnson, Susan Rose Ackerman, Paolo Mauro ,Pranab Bardhan, Daniel Kaufmann, Vito Tanzi, Hamid Davoodi และ Shang Jin Wei เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากองค์กรโลกบาลสำคัญอย่าง World Bank และ IMF ครับ

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่แทบจะอุทิศตัวให้กับการศึกษาเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น ได้แก่ ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร , ท่านอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ และท่านอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ ซึ่งท่านทั้งสามนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีท่านอาจารย์เมธี ครองแก้ว อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์และ NIDA ปัจจุบันท่านเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านสนใจที่จะนำเอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น

ปัจจุบันนี้องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศหรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดไปยันน้อยที่สุด โดยใช้ดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชั่น หรือ Corruption Perception Index เป็นตัวชี้วัด

เกณฑ์การวัดนั้นให้เป็นคะแนนจากศูนย์ถึงสิบครับ ประเทศไหนได้คะแนนใกล้ๆศูนย์แสดงว่าประเทศนั้นเต็มไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการขี้ฉ้อ แต่หากประเทศไหนมีคะแนนใกล้สิบแสดงให้เห็นสังคมที่โปร่งใสสุจริต

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศเริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2538 ครับ ประเทศไทยของเราก็ถูกจัดอันดับไปกับเขาด้วย ท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าประเทศเราอยู่อันดับที่เท่าไร?และได้คะแนนเท่าไร?

ขอเฉลยเลยครับว่าในปี 2538 นั้นประเทศเราได้รับการจัดอันดับความโปร่งใสในลำดับที่ 34 สูงไหมครับ แต่เอ๊ะ! อย่าเพิ่งดีใจไปครับเพราะมีประเทศเข้าร่วมจัดอันดับเพียง 41 ประเทศ เท่านั้นยังไม่พอคะแนนค่าความโปร่งใสของบ้านเราอยู่ที่ 2.79 สูงพอที่จะบอกได้หรือเปล่าครับว่ารัฐบาลของเราเป็นรัฐบาลที่ปลอดการทุจริต

ผมเฝ้าติดตามดัชนีตัวนี้โดยดูที่พัฒนาการความโปร่งใสของประเทศไทยเป็นหลัก และสิ่งที่ผมค้นพบคือ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่องค์กรแห่งนี้จัดทำดัชนีชี้วัดความโปร่งใสขึ้นมานั้น ประเทศไทยของเรามีคะแนนเฉลี่ยอยู่เพียง 3.27

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่เหล่าฝรั่งอั้งม้อสรุปทึกทักเอาว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการขี้ฉ้อ ตลอดจนขาดความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ช้าก่อนครับท่านฝรั่งหัวแดงเหล่านี้เคยมาดูหรือเปล่าว่าบ้านเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการคอร์รัปชั่นมากน้อยแค่ไหน

ผมขออนุญาตสาธายายอย่างนี้ครับว่า กฎหมายการป้องปรามการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายฉบับครับ ฉบับแรกเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรปราบปรามการทุจริตโดยตรงคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตอนนี้ทาง ป.ป.ช. ได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังต้องดูแลเรื่องพฤติกรรมการ “ฮั้ว” ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เสนอขายสินค้าและบริการให้รัฐ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ยังไม่หมดนะครับ ประเทศไทยเรายังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 , พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และล่าสุด ป.ป.ช. กำลังรอลุ้น “กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร” หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากกฎหมายข้างต้นแล้ว ป.ป.ช. ยังต้องออกประกาศหยุบหยับเพื่อมาควบคุมประพฤติกรรมขี้ฉ้อของเหล่านักการเมืองและข้าราชการ

ขณะที่ ป.ป.ช. ดูแลเรื่องการป้องกันและปราบปราม มีองค์กรอิสระอีกหนึ่งองค์กรอย่าง สตง. ก็ดูแลเรื่องงานตรวจสอบเงินงบประมาณแผ่นดิน

กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ สตง.ยังประกาศใช้ ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ. 2544 เพื่อเอาผิดทางแพ่งกับข้าราชการที่ประมาทเลินเล่อไปจนกระทั่งจงใจทุจริตเงินของหลวง

กฎหมายที่มาส่งเสริมความโปร่งใสในการบริหารงานราชการแผ่นดินอย่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 นับเป็นกฎหมายอีกตัวที่ป้องปรามการทุจริตได้ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้กลายเป็นกฎหมายที่เอาไว้ยึดและอายัดทรัพย์ข้าราชการและนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย

สิ่งที่ผมสาธยายไปข้างต้นนั้น ผมไม่แน่ใจว่าองค์กร Transparency International เข้ามาพิจารณาจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยด้วยหรือเปล่าอีกทั้งรัฐบาลไทยทุกชุดที่เข้ามาบริหารประเทศก็ประกาศเป็นมั่นเหมาะว่าจะ “ขจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นแผ่นดินไทย”

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าดัชนีความโปร่งใสของไทยเมื่อปีที่แล้วนั้นจะอยู่ที่ 3.3 นะครับ ถึงตรงนี้ผมก็เริ่มปักใจเชื่อแล้วครับว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของบ้านเรานั้นเป็นการแก้ปัญหาแบบ “ปากว่าตาขยิบ”จริงๆ

Hesse004

No comments: