Feb 6, 2008

ใครๆก็อยากเป็น “เสนาบดี” เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการซื้อขาย “สถานะ”





เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเรียนวิชา “เศรษฐศาสตร์” คือ การอธิบายเหตุผลบางเรื่องที่คนปกติธรรมดาเขาไม่ค่อยนึกถึงกันครับ และบางครั้งเจ้าคำอธิบายเหล่านี้มักมาพร้อมกับสมการคณิตศาสตร์ตลอดจนเส้นกราฟที่ยุ่งเหยิงดูอิรุงตุงนัง

อย่างไรก็ตาม “ตรรกะ” หรือ Logic ดูจะเป็นสิ่งที่อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์พร่ำย้ำให้เหล่านักเรียนเศรษฐศาสตร์นั้นพึงมีเสมอเวลาจะวิเคราะห์หรืออธิบายเหตุการณ์ต่างๆทางเศรษฐกิจครับ

แรกเริ่มเดิมที ผมเคยเข้าใจว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะต้องกล่าวถึงอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลอดจนตลาดสินค้าและบริการ (Market) ซึ่งเนื้อหาที่กล่าวมานี้ปรากฏในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคหรือ Microeconomics นั่นเองครับ

นอกจากนี้ผมยังเคยเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์จะต้องพูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล พูดถึง อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การว่างงาน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็อยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคหรือ Macroeconomics

แต่แท้จริงแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์ดูจะมีมากกว่าที่ผมกล่าวถึงครับ สิ่งที่เรียนท่านผู้อ่านไปข้างต้นปรากฏอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค แต่สำหรับชีวิตจริงแล้วดูเหมือนเราจะสัมพันธ์กับวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

หลายต่อหลายคนดูจะกระแนะกระแหนความเป็นวิชาการ (เสียเหลือเกิน)ของ นักเศรษฐศาสตร์จนหลายครั้งดูเหมือนจะพูดจากับชาวบ้านอย่างเราๆไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้ว่านี่จะเป็นอีกเหตุหนึ่งของรัฐบาลใหม่หรือเปล่าที่ตัดสินใจเลือก “อดีตคุณหมอ” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลือก“อดีตพยาบาล” มาเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง คงเพราะเห็นนักเศรษฐศาสตร์พูดไม่รู้เรื่องหรืออาจจะมองว่าทำงานไม่เป็นก็เลยเอาหมอกับพยาบาลมาดูแลเศรษฐกิจเลยดีกว่า เห็นมั๊ยครับว่า ใครๆก็ทำงานด้านเศรษฐกิจได้แต่อาจจะยกเว้นตัวนักเศรษฐศาสตร์เอง

ผมนอกเรื่องนอกราวไปไกลเสียแล้ว จริงๆแล้วเอนทรี่นี้อยากเล่าเรื่องงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1984 ครับ งานชิ้นนี้เป็นผลผลิตของนักเศรษฐศาสตร์นามว่า “โรเบิร์ต แฟรงค์” (Robert H. Frank) ครับ

“แฟรงค์” เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) ชื่อชั้นของแฟรงค์จัดเป็น “ป๊อปอีโคโนมิสต์”คนหนึ่ง ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ New York Times โดยคอลัมน์ที่อาจารย์แฟรงค์เขียนนั้นใช้ชื่อว่า “Economic Scene” ครับ

แฟรงค์เองพยายามอธิบายเรื่องราวใกล้ตัวในมุมมองเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะการหยิบเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาย่อยสลายให้ผู้อ่านอย่างเราๆได้เข้าใจใน “ตรรกะ”และวิธีคิดของมนุษย์ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

ผลงานทางวิชาการของแฟรงค์ที่ดูจะโด่งดังในโลกวิชาการ คือ การจับคู่กับนายเบน เบอนานกี้ (Ben Bernanke) เจ้าของเก้าอี้ประธาน FED คนปัจจุบัน โดยทั้งคู่ร่วมกันแต่งตำรา Principles of Economics (2001) ซึ่งตำราเล่มนี้มีการแปลเป็นภาษาจีนด้วยเมื่อปี ค.ศ. 2005 ครับ

สำหรับเปเปอร์ของแฟรงค์ที่ผมอยากเล่าถึงนี้มีชื่อว่า “Are Workers Paid Their Marginal Products?” งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน American Economic Review วารสารวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าจริงหรือเปล่าที่คนงานได้รับค่าแรงตามผลิตภาพที่ตัวเองมี ไอ้คำว่า “ผลิตภาพ” เนี่ยอธิบายเป็ยภาษาเราๆยากเหมือนกันนะครับ เอาเป็นว่าหากนาย ก. เป็นคนงานในโรงงานรองเท้า เฉพาะ ก. คนเดียวสามารถผลิตรองเท้าได้ 50 คู่ ใน 1 วัน เทียบกับ ข. ผลิตได้ 100 คู่ นั่นก็แสดงว่า ข. ต้องเก่งกว่า ก. แน่ เพราะพี่แกผลิตได้เยอะกว่าภายใต้ข้อสมมติที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบใช้ว่ารองเท้าที่ผลิตเป็นรองเท้าชนิดเดียวกัน

ดังนั้นตามหลักแล้ว ข. ควรได้ค่าจ้างมากกว่า ก. ครับ การอธิบายแบบกำปั้นทุบดินเช่นนี้ทำให้ตลาดแรงงานเกิดขึ้น นายจ้างจะจ่ายค่าแรงให้ ข. มากกว่า ก. เพราะในสายตานายจ้าง ข. ทำงานได้ดีกว่า ก.

แต่อย่างไรก็ตาม “แฟรงค์” แกสังเกตว่าทำไมบางคนที่มีผลิตภาพสูงกว่าจึงทนยอมรับเงินค่าจ้างที่ต่ำกว่าผลิตภาพที่สะท้อนความสามารถของตัวเอง แฟรงก์แกอธิบายเรื่องนี้โดยใช้คำว่า Status หรือ “สถานะ” เป็นเครื่องอธิบายครับ

“แฟรงค์” บอกว่า สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่การงานของ ข. นั้น คือ เหตุผลที่ทำให้ ข. เลือกทนรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าผลิตภาพตัวเอง นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมยังมีคนยังอยากรับราชการอยู่ทั้งๆที่เงินเดือนก็ไม่มากมายนัก เท่านั้นยังไม่พอครับแฟรงค์ยังบอกว่าที่ ข. ทนอยู่ได้เพราะ ข. มีความต้องการที่จะซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สถานะ” จาก ก. โดย ก. เป็นผู้ผลิตสินค้าสถานะให้กับ ข. ในสถานะที่ ก. ยอมรับว่า ข. อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าสูงกว่า นั่นอาจหมายถึงนายจ้างอาจมอบหมายให้ ข. เป็นหัวหน้า ก. เพราะเห็นว่า ข. เก่งกว่า

แฟรงค์มองสถานะในลักษณะ “สินค้า” ประเภทหนึ่งที่มีดีมานด์และซัพพลายจนก่อให้เกิดตลาดในที่สุดครับ วิธีการอธิบายของแฟรงค์ทำให้เราสามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไม “ผู้ว่ากรุงเทพมหานาคร”จึงยอมมารับเงินเดือนหกเจ็ดหมื่นทั้งๆที่ถ้าอยู่ภาคเอกชนเขาอาจได้เงินเดือนตามผลิตภาพที่สูงของเขาหรือทั้งๆที่ก่อนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นอาจจะลงทุนหาเสียงไปเยอะแล้วทำไมจึงต้องมานั่งรับเงินไม่กี่หมื่น เหตุผลที่ว่าคือ เขายินดีที่จะบริโภคสินค้าสถานะในตำแหน่งผู้ว่า กทม.นั่นเอง

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่แฟรงค์อธิบายว่าทำไมปัจจุบันองค์กรธุรกิจจึงเต็มไปด้วยตำแหน่ง Vice President เยอะเหลือเกิน ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าคนเหล่านี้พึงพอใจที่จะบริโภคสินค้าสถานะ “Vice President” ที่ธุรกิจนั้นมอบให้

บางทีการซื้อตัวหรือชิงตัวคนเก่งๆนั้น อาจจะไม่ได้แค่เอาเงินเดือนสูงๆมาล่อหลอกกันอย่างเดียวแต่อาจมีการขายสินค้าสถานะเช่นให้ตำแหน่งที่สูงขึ้นกับองค์กรใหม่ที่จะไปสังกัด อย่างในอดีตที่ “สตีฟ แมคคลาเรน” ยอมจากเดอะโบโร่มาคุมทีมชาติอังกฤษก็เพราะสมาคมฟุตบอลอังกฤษขายสินค้าสถานะที่ชื่อว่า “ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ” ให้แมคคลาเรน

ด้วยเหตุนี้เองพลันที่ผมเห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีเสนาบดีชุดใหม่ ผมจึงถึงบางอ้อว่าผู้จัดการรัฐบาลสยามได้ขายสินค้าสถานะ “ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง” ให้ท่านเหล่านั้นที่สู้อุตส่าห์เสียสละความสุขส่วนตัวมารับเงินเดือนแสนกว่าบาททั้งๆที่ท่านเหล่านั้นอาจจะหาเงินได้มากกว่าเงินเดือนตำแหน่งเสนาบดีเสียอีก

แต่ เอ! ผมไม่แน่ใจว่าผลิตภาพของท่านเสนาบดีชุดใหม่นี้จะสูงกว่าเงินเดือนที่ท่านจะมารับตำแหน่งหรือเปล่าครับ? สงสัยต้องถามท่านอาจารย์แฟรงค์เสียแล้ว

Hesse004

2 comments:

Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.
i'm lee+. said...

นั่นสิ คงจะจริง ใครๆก็ทำงานด้านเศรษฐกิจได้ ยกเว้น นักเศรษฐศาสตร์เอง เฮ้อ วิชาเศรษฐศาสตร์ มีไว้เพื่ออะไร??????