Oct 24, 2007

“I wish I had a wife” โถ! ลูกผู้ชาย ...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย




เรื่องที่จั่วหัวไว้ข้างต้นออกจะดูขำๆหน่อยนะครับ เหตุที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะหลังจากที่ผมดูหนังเกาหลีเรื่อง I wish I had a wife (2000) จบเป็นรอบที่สองนั้น อารมณ์บางอย่างทำให้ผมนึกถึงเนื้อร้องวรรคหนึ่งในเพลง “วิมานดิน” ของคาราบาว ที่ร้องว่า “โถ! ลูกผู้ชาย...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย”

I wish I had a wife (2000) เป็นผลงานการกำกับของปาร์ค ยัง ซิก (Park Heung Sik) ครับ หนังว่าด้วยเรื่องราวของ คิม บอง ซู หนุ่มโสดวัยสามสิบกว่าปีที่อยากใช้ชีวิตคู่ อยากแต่งงาน หรือ พูดให้ชาวบ้านหน่อย ก็คือ อยากมีเมียนั่นเองครับ แต่จนแล้วจนรอดนายคิมคนนี้ก็ยังไม่พบสาวเจ้าที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้เองเรื่องครื้นเครงจึงเกิดขึ้นให้เราได้เห็นในหนัง

ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้แล้วกันนะครับ ทั้งนี้ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมมีต่อหนังรักเกาหลี คือ หนังส่วนใหญ่มีความเรียบง่ายแต่มีความพิถีพิถันในการนำเสนอเรื่อง “รัก” ได้อย่างสวยงาม นับตั้งแต่ Christmas in August (1998) และ One fine spring day (2001) ของ เฮอ จิน โฮ หรือแม้แต่งานอย่าง My sassy girl (2001) และ Il Mare (2000) ก็ได้ซ่อนประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับสารของความรักได้อย่างน่าดูชม

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับตัว ปาร์ค ยัง ซิก คือ เขาเคยเป็นผู้ช่วยของเฮอ จิน โฮ เมื่อครั้งที่กำกับเรื่อง Christmas in August ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้วหนังเรื่องนี้คือ หนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ แม้ว่า Chirstmas in August จะจบลงด้วยความเศร้าแต่มันกลับเป็นความเศร้าที่อยู่บนฐานของความอิ่มเอมใจ

อย่างไรก็ตามหนังของปาร์คกลับทำให้ I wish I had a wife กลายเป็นเรื่องสุขและก็จบลงด้วยความ “อิ่ม” อีกเหมือนกัน

ท่านผู้อ่านที่เป็นชายโสดและมีวัยใกล้เคียงกับ คิม บอง ซู ตัวเอกในเรื่องนี้อาจจะรู้สึก “อิน” กับอารมณ์ของนายคิมได้ไม่ยาก ทั้งนี้วัฒนธรรมของชนเกาหลีกับของบ้านเรานั้นดูไม่แตกต่างกันมาก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องราวของหนุ่มโสดในเมืองกรุงที่ชีวิตผูกโยงกับงานออฟฟิศด้วยแล้วยิ่งทำให้หลายคนอดอมยิ้มไม่ได้กับบางฉากที่ดูจะตรงกับชีวิตเราเสียเหลือเกิน

ผมคิดว่าทัศนคติในเรื่อง “การแต่งงานและการมีครอบครัว” ของหนุ่มสาวชาวกรุงสมัยใหม่นั้นมีความคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะในกรุงเทพหรือในกรุงโซล

สังคมเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมได้ทำให้วิธีคิดและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปซึ่งต่างจากสังคมโบราณรุ่นปู่ย่าตาทวด ทั้งนี้การแต่งงานและการมีครอบครัวของคนสมัยก่อนที่อิงอยู่กับภาคเกษตรกรรมนั้น มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การเพิ่มจำนวนแรงงานภายในครอบครัวซึ่งมาจากการ “มีลูก” ไงครับ จะว่าไปแล้วเหตุผลนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์การมีลูกเยอะของคนโบราณได้ทั้งในสังคมตะวันตกและสังคมตะวันออก

อย่างไรก็ตามหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความจำเป็นเรื่องของการใช้แรงงานในภาคเกษตรค่อยๆลดน้อยถอยลงไป และยิ่งในสังคมทุนนิยมเมืองใหญ่ด้วยแล้วการมีลูกจำนวนมากอาจจะกลายเป็น “ภาระ” และก่อปัญหาเศรษฐกิจกับครอบครัวในที่สุด

นับแต่ทศวรรษ 70 เป็นต้นมานั้น ประเด็นเรื่องการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่และการสร้างครอบครัวจึงเป็น Topic ใหม่ให้นักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษากันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของสองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอย่าง Gary Becker และ Jacob Mincer

สำหรับ Becker นั้น , ผลงานคลาสสิคอย่าง The Economic Approach to Family Behavior (1976) ได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องของเศรษฐศาสตร์กับการแต่งงาน เศรษฐศาสตร์กับการหย่าร้าง แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “ทำลูก” ครับ

มิติการแต่งงานของนักเศรษฐศาสตร์ได้กลายเป็น “ธุรกรรม” (Transaction) อย่างหนึ่งที่มีดีมานด์และซัพพลายของทั้งชายหญิง รวมไปถึงการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันหรือยุติชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง (Divorce) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานของต้นทุนและผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมนั้น มิพักต้องเอ่ยถึงการให้กำเนิดบุตรที่ต้องมองว่าควรจะมีสักกี่คนถึงจะทำให้เกิดความเหมาะสมกับฐานะของครอบครัว พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์หน่อย คือ การหา Optimization level ของการ “ทำลูก” นั่นเองครับ

ที่ผมกล่าวมาข้างต้นดูจะทำให้เรื่อง “รัก” หมดความโรแมนติคไปเลยนะครับ เพราะดูเหมือนมนุษย์เราไม่น่าจะต้องมานั่งคิดอะไรให้มากมายกันขนาดนี้ แต่ในโลกของความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า “ความรัก” คือเงื่อนไขจำเป็น (Necessary condition) สำหรับการแต่งงาน แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ (Not sufficient condition) สำหรับการสร้างครอบครัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งผมก็ยังเชื่อในอานุภาพของความรักอยู่ดี

สำหรับ I wish I had a wife แบบไทยๆนั้นปรากฏให้เห็นในเพลงเพื่อชีวิตของ “บาว” หลายต่อหลายเพลงตั้งแต่ รักทรหด (1) , หัวใจบ้าบิ่น , หนุ่มสุพรรณ มาจนกระทั่ง วิมานดิน เพลงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงที่สังคมไทยกำลังก้าวกระโดดจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการหลั่งไหลของคนหนุ่มสาวจากภาคชนบทเข้าสู่เมือง

ด้วยเหตุนี้เองเนื้อร้องที่ปรากฏในเพลง “รักทรหด (1)” อย่าง “รักจนหลังอาน ดอกเบี้ยบานเบอะ ผ่อนทั้งบ้านทั้งรถยนต์ กว่าจะได้แต่งงาน เหนียงแทบยาน เนื้อแทบย่น เธอจึงเห็นใจ รักบริสุทธิ์ ให้บวชก่อนแล้วค่อยเบียด” ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามดิ้นรนของ “ไอ้หนุ่มคนหนึ่ง” ที่กว่าจะได้ทำธุรกรรมการแต่งงานนั้นต้องเหนื่อยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดูเหมือน “น้าแอ๊ด” แกจะมาบ่นเรื่องนี้อีกครั้งผ่านเพลง “วิมานดิน”ที่ว่า “โถ! ลูกผู้ชาย....ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย” ถูกใจคนยังไม่มีเมียดีครับ (ฮา)

Hesse004

1 comment:

chai said...

ไม่จริ๊ง ไม่จริง มำไมไม่คิดว่าหลายคนยังไม่อยากมีพันธะกับใคร หรือดึงคนนั้นมาร่วมสร้างกรรมกับเราบ้างละ กั้งนั้นการเกิดเป้นลูกผู้ชายไม่จำเป้นต้องมีเมียหรอก แต่ขอให้มีรสชาตในชิวิตก้พอ