Oct 2, 2007

“บัญญัติสิบประการ” คำประกาศอิสรภาพของ “ยิว” ยุคใหม่





ท่านผู้อ่านที่เป็นคอหนังเก่าและชื่นชอบภาพยนตร์อภิมหากาพย์หรือ Epic film นั้น ผมเชื่อว่า The Ten Commandments (1956) ของ Cecil B. Demille น่าจะเป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่ง ไม่แพ้หนังอย่าง Ben-Hur (1959) ของ William Wyler หรือ Spartacus (1960) ของ Stanley Kubrick

มนต์เสน่ห์ของมหากาพย์ภาพยนตร์ที่สตูดิโอ Hollywood ทุ่มทุนสร้างนั้นอยู่ที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่าง เช่นเรื่องของ Julius Ceasar แห่งโรม เรื่องสงครามกรุง Troy ในยุคกรีกโบราณ นอกจากนี้ฉากที่อลังการและจำนวนนักแสดงที่มากมายรวมถึงเครื่องแต่งกายที่โดดเด่น สิ่งต่างๆที่ว่ามานี้ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้ดูหนังอีพิค

สำหรับ The Ten Commandments หรือ “บัญญัติสิบประการ” ที่ผมหยิบมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการครับ

ประการแรก หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในยุคที่สตูดิโอ Hollywood นิยมทำหนังย้อนยุค ลองไล่เรียงกันตั้งแต่ Ben-Hur (1959) , Spartacus (1960), Cleopatra (1963) , Jason and Argonauts (1963 ) หรือแม้แต่ Helen of Troy (1956) ภาพยนตร์เหล่านี้ถูกยกระดับให้เป็นหนังคลาสสิคไปแล้ว ประเด็นก็คือว่าสื่อภาพยนตร์นี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างมุมมองประวัติศาสตร์จากตำนานให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้สมจริงเสริมจินตนาการ

ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าหากเราอ่านเรื่อง Jason and Argonauts หรือ “อภินิหารขนแกะทองคำ” ฉากที่เจสันร่องเรือผ่านช่องแคบเล็กๆโดยมีเจ้าสมุทรโพไซดอน (ที่ไม่ใช่อาบอบนวดนะครับ) มาช่วยดันภูเขาไม่ให้ถล่มลงมานั้น มันช่างอลังการแค่ไหน เฉพาะฉากนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้เทคนิคพิเศษหรือ Special effect ที่ทำให้คนดูหนังนั้นติดตาตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง

ความน่าสนใจประการถัดมา ผมว่าหนังเรื่องนี้ได้ฉายให้เห็นภาพของคนโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วโดยเฉพาะเรื่องราวของอารยธรรมอิยิปต์หรือเรียกอีกชื่อว่า “ไอยคุปต์” ผมรู้จักอารยธรรมนี้จากหนังสือต่วยตูนครับ เรื่องราวของ “ฟาโรห์” เรื่องราวของ “พิระมิด” เรื่องราวของ “มัมมี่” ยังมีมนต์ขลังให้คนรักประวัติศาสตร์ได้ตามอ่านกันต่อไป

นอกเหนือจากที่เราได้เห็นวัฒนธรรมของชนชาวอิยิปต์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางโลกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เราก็ได้เห็นอารยธรรมของชาวยิวซึ่งในหนังของ Cecil B. Demille นั้นเรียกว่า “อิสราเอล” ด้วยความที่ชนชาวยิวตกเป็นทาสมาชั่วนาตาปี ทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะมี “ผู้มาปลดปล่อย” ซึ่งคนๆนั้นก็คือ “โมเสส” นั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกับชื่อของ “โมเสส” และเมื่อเราพูดถึงโมเสสอย่างแรกที่เราจะนึกถึง คือ “บัญญัติสิบประการ” ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้ทำให้เราได้เห็นที่มาที่ไปของ “โมเสส” จากเจ้าชายอิยิปต์ผู้เก่งกาจกลับกลายเป็นผู้ปลดปล่อยชนชาวยิวจากการกดขี่ของอาณาจักรไอยคุปต์

ประเด็นที่ผู้กำกับชั้นบรมครูอย่าง Cecil B. Demille พยายามสื่อผ่านอภิมหากาพย์บนแผ่นฟิล์มนั้นอยู่ที่เรื่องของ “เสรีภาพความเป็นมนุษย์” ที่พระเจ้าเป็นคนประทานมาให้ครับ เหมือนที่ฉากแรกที่ Demille ออกมาตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์เราเป็นเพียงสมบัติของรัฐ (Property of state) หรือเป็นมนุษย์ที่ได้รับเสรีภาพจากพระเจ้า

The Ten Commandments นับเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Cecil B. Demille ทั้งนี้เขาเคยสร้างหนังเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อปี 1923 โดยสมัยนั้น The Ten Commandments เป็นหนังเงียบ ผมว่าเหตุผลหนึ่งที่ Cecil B. Demille เลือกกลับมาทำใหม่ให้มันอลังการกว่าเดิมน่าจะมาจาก “บารมี”ของเขานั่นเองนอกจากนี้ Cecil B. Demille ยังมีเชื้อสายยิวจากทางแม่ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำหนังขึ้นเพื่อคารวะบรรพชนชาวยิว

The Ten Commandments ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความยากลำบากของการเป็นทาสที่ชนชาวยิวเมื่อครั้งโบราณกาลต้องเผชิญ เหมือนที่ Stanley Kubrick ได้แสดงให้เห็นความเป็นทาสของ Spartacus ที่ถูกชาวโรมันข่มเหง เหมือนที่ Steven Spielberg ตั้งคำถามถึงความคิดของอเมริกันชนในอดีตเกี่ยวกับทาสแอฟริกันที่มาพร้อมกับเรือ Amistad

ผมตั้งข้อสังเกตในระหว่างที่ดูหนังมหากาพย์หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่พบ คือ รูปแบบในการดำเนินเรื่องนั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีบทโหมโรง (Overture) ช่วงพักกลางเรื่อง (Intermission) และบทส่งท้าย ด้วยเหตุนี้เองดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนังอิพิค

กลับมาที่ความน่าสนใจใน The Ten Commandments กันต่อครับ , Cecil B. Demille เองได้ทำให้ภาพของ “โมเสส” มีชีวิตขึ้นจริงโดยมี Charlton Heston รับบทเป็นโมเสส นอกจากนี้การฉายให้เห็นที่มาของแผ่นหินที่จารึกบัญญัติสิบประการนั้นก็ทำได้น่าดูชมโดยผ่านเสียงของ “พระเจ้าของชาวฮิบรู” ซึ่งเมื่อดูข้อบัญญัติทั้งสิบข้อแล้ว ปรากฏว่ามีหลายข้อที่คล้ายกับศีล 5 ของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็น “จงอย่าฆ่าคน” จงอย่าประพฤติผิดลูกเมีย” “จงอย่าลักขโมย” “จงอย่าใส่ความนินทาว่าร้ายผู้อื่น” หรือ “จงอย่ามีความมักได้ในทรัพย์ผู้อื่น”

เราจะเห็นได้ว่าทั้ง “บัญญัติสิบประการ”และ “เบญจศีล” มีความคล้ายคลึงกันมากและสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การยึดหลักธรรมคำสอนมากกว่ารูปปั้นวัตถุบูชา เหมือนที่พุทธองค์ทรงดำรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” เหมือนที่โมเสสบอกกับชาวยิวทั้งปวงว่า “จงยึดมั่นปฏิบัติตามบัญญัติสิบประการของพระเจ้าโดยไม่ต้องมีรูปเคารพบูชา”

ความลึกซึ้งที่ปรากฏในหนัง The Ten Commandments นั้นน่าจะเป็นอนุสติเตือนใจพวกเราชาวพุทธได้เหมือนกันนะครับว่าแท้จริงแล้ว “สาระนั้นสำคัญกว่ารูปแบบ” สาระที่บัญญัติในพระอภิธรรมคำสอนมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากกว่าการบูชาวัตถุมงคลโดยมุ่งเพียงร้องขอความสุขความเจริญให้กับตนเองเพียงอย่างเดียว

ความน่าสนใจประการสุดท้ายในหนังของ Cecil B. Demille นั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็น “คำประกาศอิสรภาพของชาวยิวในศตวรรษที่ 20” ครับ หลังจากชาวยิวที่ต้องระหกระเหินมานานแสนนาน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่านายทุนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้น่าจะมีชาวยิวอย่างน้อยหนึ่งคนบ้างล่ะ ทั้งนี้ต้องยอมรับนะครับว่าชาวยิวเป็นชาติที่น่าเห็นใจชาติหนึ่งเนื่องจากเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรปและอาหรับมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถึงขนาดเคยโดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(Holocaust)ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม “ความฉลาดและความเคี่ยว”ของยิวนั้นก็คงไม่เบาเหมือนกัน มิฉะนั้นพวกเขาคงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์จนก่อร่างสร้างชาติ “อิสราเอล” ให้เข้มแข็งมาจนทุกวันนี้ได้

The Ten Commandments น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ดึงคนยิวกลับดินแดนพันธะสัญญา” ซึ่งปัจจุบันก็ยังพิพาทกันอยู่กับ “ปาเลสไตน์” เจ้าของดินแดนเดิม ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ของชาวยิวยุคใหม่นั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1948 นี้เองครับ

“อิสราเอล” กลายเป็นรัฐใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก แต่สำหรับพวกอาหรับแล้วยิวคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขา

แนวคิดการสร้างชาติของอิสราเอลนั้นมีมานานแล้วนะครับโดยเฉพาะการก่อตั้ง “ขบวนการไซออน”ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงคนหนุ่มสาวชาวยิวมาช่วยกันสร้างชาติ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จในสมัยของ นาย David Ben- Gurion ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

ว่ากันว่าในตอนนั้นชาวยิวอยากให้ “Albert Einstein” ไปเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพวกเขา แต่ Einstien แกปฏิเสธครับ ดังนั้นตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประมุขของประเทศจึงตกเป็นของ Dr.Chaim Weizmann ยอดนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวอีกคนหนึ่ง

ทุกวันนี้ “ยิว” คงไม่ต้องเร่ร่อนระหกระเหินเหมือนบรรพชนในอดีตอีกแล้ว หนำซ้ำชาว ยิวกลับกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในหลายต่อหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงการเงินนาย George Soros ก็เป็นยิว ในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีใครไม่รู้จัก Albert Einstein ในวงการเศรษฐศาสตร์เรายังมียิวอัจฉริยะอย่าง Milton Friedman ในวงการภาพยนตร์ก็ยังมี Steven Spielberg ไงครับ

แต่เอ๊! วงการฟุตบอลที่ผมชอบล่ะ อ้อนึกออกแล้วครับ มีหนึ่งคนเป็นนักบอลนามว่า Yossie Benayoun แห่งทีมหงส์แดง ส่วนอีกคนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลนามว่า Avram Grant ซึ่งเก่งหรือเปล่า ? นั้นลองถามแฟนทีมเชลซีได้นะครับ (ฮา)

Hesse004

No comments: