Aug 27, 2007

กบนอกตำรากับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยป่าชายเลน





รายการ “กบนอกกะลา” ของค่ายทีวีบูรพา นับว่าเป็นรายการที่สร้างสรรค์รายการหนึ่งในยามที่บ้านเราขาดแคลน “สาระ”บนหน้าจอทีวี

ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็เหมือน “กบ” ตัวหนึ่งแหละครับที่ส่วนใหญ่ยังหมกอยู่ในโลกของเราเองทั้งงานที่ทำหรือวิชาที่เรียน แม้ว่าบ่อยครั้งเราอยากจะออกจากกะลาใบนี้เสียเหลือเกินแต่ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่ทำให้เราไม่สามารถหนีจากโลกใบเดิมไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลเรื่อง “เวลา”

นับแต่สิงหาคมปีที่แล้ว จวบจนวันนี้ ผมเองก็ไม่ต่างอะไรจาก “กบ”(อาจเข้าขั้นอึ่งอ่างด้วยซ้ำ) ตัวหนึ่งที่กระโดดโหยงเหยงไปมาในโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรทางเศรษฐศาสตร์ จนแทบจะเรียกได้ว่าผมเหมือนกบตัวหนึ่งที่อยู่ในตำรา (เศรษฐศาสตร์) อย่างไรก็ตามผมยังมีความสุขดีกับกะลาอันนี้อยู่ครับ

กลับมาเรื่องที่จั่วหัวไว้ครับ , เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยือนเมืองสมุทรสงครามด้วยวัตถุประสงค์ไปดูพื้นที่ป่าชายเลน 5,000 กว่าไร่ที่ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง ผมขอสารภาพอย่างหนึ่งครับว่า ผมไม่ได้มีความสนใจในเรื่องป่าชายเลน(Mangrove forest) สักเท่าไรนัก เหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกินสำหรับนักเรียนเศรษฐศาสตร์เช่นผมครับ อย่างไรก็ตามประสบการณ์เมื่อวานนี้ทำให้ “กบในตำรา” อย่างผมเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

กล่าวกันว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการเลือกตัดสินใจที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากพูดกันตามนิยามก็ดูเหมือนง่ายดีนะครับ แต่พอลงมือปฏิบัติจริงกลับกลายเป็นว่า มนุษย์เนี่ยแหละครับที่ถลุงใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่บันยะบันยัง ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องกับเผชิญปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ทั้งๆที่เคยมีคนพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่มนุษย์อย่างเราๆก็ยังหูทวนลมกันอยู่ครับ

ผมนึกถึงหนังการ์ตูนAnimation ญี่ปุ่นของสตูดิโอGhibli เรื่อง Princess of Mononoke ผลงานของ Hayao Miyazaki การ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงป่าที่กำลังจะสูญหายไปด้วยน้ำมือของมนุษย์โดยสื่อผ่าน“วิญญาณแห่งป่า” (Spirit of forest) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากครับ ผมว่าวิธีการถ่ายทอดแบบนี้น่าจะทำให้เด็กๆเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ หรือ สัตว์ป่า เหมือนที่คนโบราณพูดถึงเรื่อง “เจ้าป่าเจ้าเขา” ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อให้มนุษย์พึงสังวรถึงความสำคัญของธรรมชาติ

ผมพาท่านผู้อ่านไปเสียไกลเลยครับ , วกรถกลับมาที่สมุทรสงครามกันต่อดีกว่า คณะผู้สังเกตการณ์ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการเดินออกจากตำราครั้งนี้ คือ ไปดูพื้นที่ป่าชายเลนนอกจากนี้พวกกระผมยังมีโอกาสได้นั่งเรือออกไปปลูกป่าโกงกาง ป่าแสม กันด้วย

ตำบล “คลองโคน” เป็นตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรสงครามครับ ใครจะไปรู้ว่าตำบลเล็กๆแห่งนี้มีโครงการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนมา 16 ปี แล้ว คณะของเรามีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ลุงผู้ใหญ่แกดูท่าทางใจดี และเป็นมิตรมากครับ แกเล่าให้พวกเราฟังว่าแต่เดิมนั้นบริเวณแห่งนี้มีการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยแครงกันตามธรรมชาติ ต่อมากระแสเลี้ยงกุ้งกุลาดำบูมประมาณปี 2528 – 2531 ชาวบ้านก็แห่มาเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพราะขายได้ราคาดี แต่ผลของการทำนากุ้งปรากฏว่ามีการใช้สารเคมีทำให้เกิดสารพิษตกค้างส่งผลต่อสภาพนิเวศน์ที่เคยมีอยู่เริ่มสูญเสียไป ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านก็เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีการหักร้างถางพงป่าชายเลนเพื่อแปลงมาเป็นนากุ้งกุลาดำ ท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างแย่ลง ฟองสบู่การทำนากุ้งกุลาดำแตก ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนที่หายไป พวกเขาจึงเริ่มต้นปลูกป่าชายเลนกันใหม่เมื่อปี 2533 ครับ

ในระหว่างที่ฟังผู้ใหญ่บ้านบรรยาย, ผมยืนจดข้อมูลและคิดไปถึงเรื่องที่อ่านในตำรา Narural Resource Economics (2005)ของ Professor Barry C. Field ซึ่งแกเขียนไว้ในเรื่อง Marine resource ว่าประเด็น Open access หรือ การที่ใครก็ได้สามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลมีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลถูกทำลาย โดยเฉพาะจำนวนปลาเริ่มลดน้อยถอยลง สำหรับที่ คลองโคนแล้วปัญหาที่ชาวบ้านพบ คือ ระบบนิเวศน์ของที่นี่ได้ถูกทำลายไปเนื่องจากชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งกุลาดำ แต่ก็น่าดีใจนะครับที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้และช่วยกันปลูกป่าชายเลนให้กลับมาใหม่อีกครั้ง แถมยังได้แรงเชียร์จากนักท่องเที่ยวตลอดจนคนรักธรรมชาติมาช่วยกันปลูกป่าให้ที่นี่จนวันนี้มีพื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่แล้ว

ผมว่าตราบใดที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ความร่มเย็นก็จะกลับคืนมา แต่หากวันใดที่ธรรมชาติเริ่มเกลียดชังมนุษย์แล้ว มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราคงอยู่บนโลกใบนี้ไม่ลำบากแน่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดหลังจากที่ผมมีโอกาสคุยกับท่านอาจารย์ที่พาเราไปดูงานครั้งนี้ คือ อาจารย์ท่านให้ข้อสังเกตว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นมันควรอยู่ในสัดส่วนหรือปริมาณเท่าไรจึงจะสมดุล พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คือ จุดไหนที่มันจะ Optimize ระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แม้ว่าป่าชายเลนจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลได้ดี และก่อประโยชน์มากมาย แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านก็ยังต้องทำมาหากินกับท้องทะเลอยู่

ก่อนหน้านี้วิชาเศรษฐศาสตร์สอนให้เราหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งผู้บริโภค กับ ผู้ผลิต หรือ รัฐ กับเอกชนแต่นัก เศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้เลยครับ เพราะมนุษย์นั้นไม่รู้หรอกครับว่าเราควรจะขอหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เพราะธรรมชาติไม่มีปากบอกเราว่า “เฮ้ยพอแล้ว พวกมึงเอาจากกูมากเกินไปแล้ว” บ่อยครั้งที่ความพิโรธของธรรมชาตินั่นแหละถึงจะทำให้มนุษย์เริ่มรู้แล้วว่าท่านไม่ยินดีที่จะให้เราเอาอะไรไปมากกว่านี้แล้ว

Hesse004

No comments: