Aug 21, 2007

“พระเจ้าปราสาททอง กับ ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่”



ไม่กี่วันมานี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือในเครือของศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ เรื่อง การเมือง “อุบายมารยา”แบบ Machiavelli ของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งระหว่างที่อ่านนั้นผมรู้สึกเพลิดเพลินไปกับอรรถรสทางวิชาการที่อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์เขียนไว้โดยท่านอาจารย์ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2519 จะว่าไปแล้วท่านอาจารย์สมบัตินับเป็นผู้หนึ่งที่สนใจและเชี่ยวชาญกับความคิดของ Machiavelli เลยทีเดียว

Niccolo Machiavelli นับเป็นนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่คนสำคัญที่เหล่านักเรียนรัฐศาสตร์ทั้งหลายต้องคุ้นชื่อกับหนังสือเล่มดังของเขาอย่าง The prince สำหรับหนังสือเล่มนี้นั้นผมซื้อมานานแล้วครับแต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านอย่างเป็นจริงเป็นจังสักที กล่าวกันว่า The prince ของ Machiavelli นั้นจัดอยู่ในคู่มือของผู้ปกครองที่รักอยากจะเป็นทรราชย์ (Tyrant)

ผมตั้งข้อสังเกตเป็นการส่วนตัวว่าบรรดาเหล่าคู่มือของนักปกครองตามวิธีคิดของโลกตะวันออกดูจะปลูกคุณธรรมได้ดีกว่าโลกตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องธรรมราชาและทศพิศราชธรรม หรือแม้กระทั่งปรัชญาขงจื๊อที่สอนให้ผู้ปกครองตั้งอยู่ในศีลในธรรมมากกว่าจะขวนขวายแสวงหาอำนาจ

หลังจากที่ผมอ่านหนังสือชื่อยาวเล่มที่ว่านี้จบลง ภาพของ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” กับ ภาพของ "ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่” ได้ผุดขึ้นในหัวของผมทันใด แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะอยู่ในช่วงเวลาที่ต่างยุคต่างสมัยกัน แถมดอนไมเคิล แห่ง The Godfather ยังเป็นเพียงตัวละครในจินตนาการของ Mario Puzo อีก แต่ทั้งสองนั้นกลับมีอะไรที่ละม้ายคล้ายกันโดยเฉพาะเรื่องของการรักษาไว้ซึ่งอำนาจ

รุ่นพี่คนหนึ่งเคยถามผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการมีอำนาจคืออะไร? ผมตอบไปว่าการรักษาอำนาจนั้นให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่พี่คนนั้นกลับมองว่า การลงจากอำนาจที่เป็นสิ่งที่ยากกว่า ผมเชื่อเหมือนที่หลายๆท่านเชื่อว่าอำนาจเหมือนยาเสพติด ยิ่งเสพแล้วยิ่งติด ยิ่งนานยิ่งยากที่จะปล่อยวาง มันเหมือนที่โฟรโด้ใน Lord of the ring พะว้าพะวังลังเลที่จะถอดแหวนนั้นโยนลงสู่เปลวเพลิงในภาคจบ

ท่านผู้อ่านที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ผมแนะนำให้ลองอ่านหนังสือของเหล่ากูรูทางประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยาของเรา ของท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม , ประวัติศาสตร์อยุธยาของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ของท่านอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และ ศรีรามเทพนคร ซึ่งรวมบทความประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

กลับมาที่เรื่องพระเจ้าปราสาททองต่อครับ , จะว่าไปแล้วการสถาปนาราชวงศ์ปราสาททองนั้นเกิดขึ้นจากการปราบดาภิเษกของ ออกญากลาโหม (พระเจ้าปราสาททอง)เมื่อปี พ.ศ.2172 ลองย้อนอดีตกันสักนิดดีมั๊ยครับว่าหลังแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรแล้วสมเด็จพระเอกาทศรศทรงขึ้นครองราชย์ต่อในราชวงศ์สุโขทัย อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรศเสด็จสวรรคต ตามกฏมณเฑียรบาลจะต้องอัญเชิญพระอนุชาธิราชขึ้นเสวยราชย์ แต่การณ์กลับเป็นว่าเกิดการรัฐประหารของพระเจ้าทรงธรรมทำให้สายสกุลของสมเด็จพระเอกาทศรศสูญเสียราชบัลลังก์ไป อย่างไรก็ตามเมื่อใกล้สิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ก็ปรากฏปัญหาในการสืบสันตติวงศ์อีกเมื่อพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระโอรสวัย 15 ชันษา นามว่าพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ทั้งที่สิทธิ์จะต้องตกอยู่ที่พระศรีศิลป์อันเป็นพระอนุชา

ประวัติศาสตร์การฆ่าฟันกันช่วงนี้นับว่าซับซ้อนและมีกลอุบายที่แยบยลมากครับโดยเฉพาะออกญากลาโหมซึ่งกลายเป็นกำลังสำคัญในการกำจัดพระศรีศิลป์และค้ำบัลลังก์ให้กับพระเชษฐาธิราช แต่หลังจากนั้นไม่นานออกญากลาโหมก็ทำรัฐประหารด้วยการสำเร็จโทษพระเชษฐาธิราชและตั้งพระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 10 ขวบขึ้นครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา และท้ายที่สุดออกญากลาโหมก็ได้กระทำการปราบดาภิเษกด้วยการสำเร็จโทษ (อีกครั้ง) กับกษัตริย์องค์น้อยนี้และ สถาปนาราชวงศ์ปราสาททองขึ้นในปี พ.ศ.2172

ความสนุกของประวัติศาสตร์อยู่ที่การมองเห็นอุบายมารยาอย่างที่ท่านอาจารย์สมบัติพยายามสื่อ หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าการแสวงหาอำนาจนั้นไม่ได้มาเพราะโชคอำนวยหากแต่เป็นเรื่องของการใช้กลวิธีและอุบายอันรวมถึงจริตมารยาต่างๆนานาของมนุษย์เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจ พระเจ้าปราสาททองนั้นมีคุณสมบัติคล้ายกับโจโฉอย่างหนึ่ง คือ ไม่ไว้ใจคนแม้กระทั่งคนใกล้ตัวที่ช่วยกันล้มฐานอำนาจเดิม การไม่ไว้ใจคนของพระองค์ทำให้พระองค์สามารถรักษาอำนาจได้ยาวนานถึง 27 ปี

ในหนังสือจดหมายเหตุของนายวันวลิต (Jeremias Van Vilet) นั้นได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเจ้าปราสาททองในการขึ้นสู่อำนาจและรักษาอำนาจไว้ว่า “เป็นหลายศตวรรษทีเดียวที่ไม่เคยมีกษัตริย์สยามพระองค์ใด ขึ้นครองบัลลังก์อย่างกล้าหาญชาญชัย มีความระแวดระวังเป็นเยี่ยมหรือมีอุบายหลักแหลมมาก เช่นกษัตริย์พระองค์นี้”

คราวนี้มาดู ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่ (Don Michale Corleone)ใน The Godfather กันบ้างครับ ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะคิดคล้ายๆกัน คือ ไมเคิล คาร์ลิโอเน่ นั้นมีความเหี้ยมและเลือดเย็นอยู่ในตัวเองเพียงแต่ยังไม่แสดงออกตราบใดที่ยังไม่ถูกกระตุ้น ผมว่าจุดที่ทำให้ ไมเคิล เปลี่ยนไปเป็นคนละคนน่าจะเป็นตอนที่เขาเห็นว่าศัตรูของดอนวีโต้ คาร์ลิโอเน่ ผู้เป็นพ่อ นั้นเตรียมพร้อมจะเล่นงานตระกูลเขาชนิดเหยียบกันให้ตาย ด้วยเหตุนี้เองถ้าไม่อำมหิตแน่นอนว่าเขาและคนอื่นๆในครอบครัวย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้

ดอน ไมเคิล คาร์ลิโอเน่ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้นำที่เก่ง ฉลาด รอบคอบแต่ไม่มีความสุขในชีวิต เพราะทุกก้าวย่างของเขานั้นล้วนต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา จะว่าไปแล้วบรรดาคนที่ขึ้นไปขี่หลังเสือทั้งหลายนั้นยากยิ่งนักที่จะรอดร่วงลงมาให้เสือมันไม่ตะปปกิน เว้นแต่ว่าคนเหล่านั้นจะเข้าใจว่าอำนาจมีความเสื่อมของมันและกล้าที่จะพูดอย่างบริสุทธิ์ใจว่า “พอแล้ว”

ประวัติศาสตร์บางครั้งมันก็ไม่โกหกเราหรอกครับ แม้ว่าคนเขียนประวัติศาสตร์จะแอบแต่งเสริมเติมแต่งข้อความบางคำลงไปในเรื่องราวบ้าง แต่สิ่งสำคัญของมนุษย์อย่างเราๆก็คือจะรู้จักเรียนรู้ข้อคิดประวัติศาสตร์นั้นได้มากน้อยเพียงใด ก็เพื่อวันหน้า “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม”ครับ

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

เห็นคำว่าอำนาจมากเข้าเลยคิดถึงประโยคหนึ่งที่ว่า
Absolute power corrupts absolutely

เลยไปค้นเจอมาว่าคนที่คิดคำนี้ขึ้นมาคือ Lord Acton นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ
เขาว่า การมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นจะแปรผกผันกับระดับศีลธรรมของคนคนนั้น

เคยอยากได้อำนาจเหมือนกันนะ ตอนอยากได้ไม่ค่อยรู้ตัว มารู้ถึงความอยากตอนที่ไม่อยากแล้วสิ ^_^