Sep 4, 2007

"13 เกมสยอง" ทุนนิยมกินคน





กระบวนภาพยนตร์ที่สื่อสารให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์นั้น คงต้องกล่าวถึง Se7en (1995)ของ David Fincher ที่นำเสนอสารได้อย่างน่าสนใจอีกทั้งยังแหวกผ่านรูปแบบการทำหนังในช่วงทศวรรษที่ 90 ด้วยการหยิบประเด็นบาปทั้ง 7 ของคริสเตียนมาถ่ายทอดให้เราเห็นกิเลสหนาๆของมนุษย์

สำหรับหนังไทยนั้น, งานของ “มะเดี่ยว” ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับเรื่อง “13 เกมสยอง” (2548) นับว่าทำได้ดีเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ นอกจากนี้แล้วการแสดงของ กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู นั้นจัดว่ามีพลังและทำให้หนังเรื่องนี้น่าติดตามได้ไม่น้อย

13 เกมสยองหรือ 13 Beloved สร้างขึ้นจากพล็อตเรื่องการ์ตูนไทยของ “เอกสิทธิ์ ไทยรัตนะ” หนังพูดถึง “ภูชิต พึ่งนาทอง” ชายหนุ่มลูกครึ่งไทยฝรั่ง ยึดอาชีพเป็นเซลล์ขายเครื่องดนตรีโดยบุคลิกแล้วภูชิตดูเหมือนเป็นคนติ๋มๆ อ่อนโยน ใจเย็น ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร มีชีวิตอยู่ในสังคมทุนนิยมเมืองซึ่งมีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากป่า หากแต่เป็น “ป่าคอนกรีต” ที่มนุษย์ผู้แข็งแรงกว่ามักเอาเปรียบมนุษย์ที่อ่อนแอกว่าอยู่เสมอ

หนังบอกเล่าถึงความ “ซวย”ของภูชิต ตั้งแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่เอาเปรียบขายของตัดหน้า จนเป็นสาเหตุให้เขาถูกไล่ออกจากงาน เท่านั้นไม่พอครับ พี่แกยังถูกFinanceยึดรถเสียอีก แถมถูกแฟนทิ้ง มีปัญหาหนี้สินบานตะไท ปัญหาต่างๆที่มารุมเร้าภูชิตไม่ผิดอะไรกับ “แมลงวัน” ที่มาวนเวียนสร้างความรำคาญให้กับเขาและนี่เองที่หนังกำลังจะเปิดให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์คนหนึ่งที่เหมือน “หมาจนตรอก” และยอมทำทุกทางเพื่อเงิน

ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่อง “เกม” ทั้ง 13 เกมที่ภูชิตจะต้องเล่นเพราะหากเล่าไปคงจะเสียอรรถรสในการดูหนังเรื่องนี้ และหลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมรู้สึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “สุดท้ายแล้ว ทุนนิยมมักจะกลืนกินตัวมันเอง” ผมไม่แน่ใจว่าไปอ่านพบมาจากหนังสือเล่มไหน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ผมกลับเห็นว่า “ทุนนิยมนั้นมันกินคนเป็นอาหารครับ”

ภาพของนายภูชิต ที่น้อยนำแสดงนั้น เป็นตัวแทนของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆท่านๆรวมทั้งผมคนหนึ่งด้วยครับ มีคำพูดหลายคำในหนังที่สะท้อนให้เห็นความฝันของมนุษย์เงินเดือน เช่น ปีนี้จะได้โบนัสเท่าไรนะ จะมีโอกาสขยับเป็นหัวหน้างานหรือเปล่า

มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยหลงใหลได้ปลื้มไปกับปรัชญาของ Marxist ครับ โดยเชื่อในพลังของชนชั้นกรรมาชีพ เชื่อในความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน แต่ความหลงใหลได้ปลื้มของผมได้หดหายไปเมื่อผมเริ่มพบว่าโลกของความเป็นจริงนั้นไม่ได้บริโภคอุดมการณ์เป็นภักษาหาร ด้วยเหตุนี้เองตำราของนาย Marx อย่าง Das Capital และ Communist Manisfesto จึงถูกยัดเก็บนอนนิ่งอยู่ด้านในสุดของชั้นหนังสือ

แม้ว่าทุนนิยมหรือ Capitalism นั้นจะทำให้มนุษย์อย่างเราๆสุขสบายแต่มันกลับพรากอะไรบางอย่างในตัวเราไป ไอ้อะไรบางอย่างที่ว่านี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็น “จิตวิญญาณ”หรือเปล่า เพราะบ่อยครั้งที่โลกทุนนิยมคำนึงถึง “เงิน” เป็นตัวตั้งเสมอ และสิ่งที่ตามมาคือ “การหาเงิน”ซึ่งบางครั้งก็ไม่สนใจว่ามันจะได้มาด้วยวิธีการใด

ข้อถกเถียงในเรื่องเงินนั้น นักเศรษฐศาสตร์สำนัก Classic บอกว่า Money is medium exchange. พูดง่ายๆก็คือ เงินเป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แม้ว่าพลพรรค Keynesian จะมองว่าเงินทำหน้าที่ทั้งเป็นสื่อกลาง แต่ก็ยังเก็งกำไรได้ด้วย อีกทั้งถือไว้ยามฉุกเฉินแต่สถานภาพของเงินในทัศนะของพวกเขาก็ดูจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก ผิดกับแนวคิดของ Monetarism ภายใต้การนำของ Milton Friedman ที่มองว่า “Money is matter” หรือ เงินนั้นมีความหมายเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าทัศนคติต่อเงินของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักมีไม่ตรงกันเลยนะครับ แต่จุดร่วมกันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือไม่เป็นนักเศรษฐศาสตร์นั้นต่างก็เชื่อว่า “เงินนั้นสำคัญ”หรือ Money is important. บางทีอาจจะต่อด้วยซ้ำว่า “เงินนั้นเป็นสิ่งจำเป็น” Money is essential.

13 เกมสยอง ของ คุณมะเดี่ยว ได้สะท้อนภาพบิดบูดของสังคมเมืองหลวงที่แม้พัฒนาวัตถุไปเสียไกลโข แต่จิตใจกลับไม่พัฒนาแถมยังถดถอยอีกต่างหาก สังเกตได้จากเกมที่เอามาให้เล่น ผมคิดว่า“ความเห็นแก่ตัว” กำลังจะกลายเป็นทูตของพระเจ้าองค์ใหม่ นั่นคือ “เงิน” เพราะความเห็นแก่ได้นี้เองที่เชื้อเชิญให้มนุษย์เข้ามากอบโกยอะไรก็ได้ที่แปลงเป็น “เงิน”ได้โดยไม่ต้องคิดถึงความผิดชอบชั่วดี (หิริโอตัปปะ)

ชั่วชีวิตของผมคงไม่ได้เห็นพัฒนาการของทุนนิยมได้มากไปกว่านี้แน่นอนครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลายประเทศจะถูกบีบให้เลือกเดินตามเส้นทางระบบทุนนิยม โลกอีกร้อยปีข้างหน้าเราอาจเห็นตลาดหุ้นร่างกุ้ง ในเมียนมาร์ กำลังทำสถิติทะลุ 1,000 จุด หรือไม่งั้นเราอาจได้ยินข่าวการเปิดการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลภูฎาน ซึ่งอะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้นนะครับกับทุนนิยมกินคนแบบนี้

Hesse004

2 comments:

Thi said...

เคยอ่านหนังสือ "อีกหนึ่งฟางฝัน" ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ได้บอกเล่าเหตุการณ์ช่วง 14 และ 6 ตุลา ที่เกิดกระแสนักศึกษาไทยต่อสู้ในหลายๆเรื่อง รวมถึงเรื่องทุนนิยม ทราบว่าช่วงนั้นมีการรวมตัวกันประท้วงหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องการเอารัดเอาเปรียบไม่ว่าจะเป็นชาวนา พ่อค้า แม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงต่อต้านอะไรอีกเยอะมาก คนที่ต่อต้านช่วงนั้นหนีเข้าป่าไปเพื่อไปศึกษาระบบ และมีความหวังว่าต้องการให้ป่าล้อมเมือง ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า การกระจายรายได้ที่ทัดเทียมกัน การอยู่แบบเสมอภาคจะเป็นระบบที่ดีที่สุด ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนและโซเวียต อย่างไรก็ตาม คุณจีรนันท์เล่าให้ฟังในหนังสือว่า ขนาดระบบที่อยู่ในป่า ที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมก็ยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก การอิงแอบผลประโยชน์ที่ตนเอง ซึ่งผลลัพธ์คือ นักศึกษาในยุคนั้นสิ้นหวัง ผิดหวัง ในระบบที่ตามหาและทยอยออกจากป่าช่วงปี 23 โดยหลังจากนั้นไม่นานอาณาจักรโซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ล่มสลาย

สิ่งที่เขียนบอกมานี่ อยากจะบอกว่า ยังไงเราก็หนีทุนนิยม หนีการแก่งแย่งผลประโยชน์ไม่พ้น ระบบความเท่าเทียมที่เคยเป็นความฝัน ตอนนี้ก็ยังคงเป็นฝันต่อไป ส่วนตัวแล้วเชื่อในหลักความพอเพียง ถึงแม้ทุนนิยมจะมามีบทบาทในเศรษฐกิจ และสังคม แต่หากบุคคล และระดับครัวเรือน รู้จักความพอเพียงและพอใจในสิ่งที่ตนเองมี เราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในช่วงทุนนิยม โดยเราจะไม่ได้ถูกมันกลืนกินอีกต่อไป

Tig said...

ผมคิดว่าระบบทุนนิยมนั้นสอดคล้องกับนิสัย-สันดานของมนุษย์(รวมถึงผมด้วย)ที่บริโภคกันไม่รู้จักพอ ดังนั้นระบบนี้จะอยู่คู่สังคมมนุษย์ไม่อีกนานเท่านาน..ความพอเพียงในความคิดผมคือ 'ขอมี(ทรัพย์สินเงินทอง)ให้มากกว่าที่มีอยู่ตอนนี้อีกสักหน่อยก็แล้วกัน'..