Aug 15, 2007

Cinema Paradiso ดึงความทรงจำจากลิ้นชักใบเดิม


ผมเชื่อว่าความประทับใจของคนเรานั้นมักเกิดขึ้นในรูปแบบที่เรียกว่า “At First Sight” หรือเข้าทำนองว่า “รักแรกพบ” ความประทับใจมักก่อให้เกิดความทรงจำที่ดีกับเราจนอาจกล่าวได้ว่าทุกครั้งที่หวนรำลึกความประทับใจเหล่านี้ เรามักจะอิ่มเอมอยู่เสมอ

สำหรับหัวเรื่องที่ผมจั่วไว้นั้น, ผมเชื่อว่าคอหนังอาร์ตย่อมคุ้นเคยกับชื่อCinema Paradiso เป็นอย่างดี และผมยังเชื่ออีกว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะดูหนังเรื่องนี้มากกว่า 2 รอบ แล้วด้วยซ้ำ Cinema Paradiso เป็นผลงานสร้างชื่อให้กับผู้กำกับอิตาเลียนนามว่า Giuseppe Tornatore ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ยังตอกย้ำให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางดนตรีของ Ennio Morricone ที่ทำให้ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างอรรถรสที่รื่นรมย์ทุกครั้งที่ได้ยิน ผมขอสารภาพกับท่านผู้อ่านครับว่า ผมฟังเพลง Cinema Paradiso เกือบจะทุกวันเลยครับ

ว่ากันว่าCinema Paradiso กลายเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคน ในหนังสือเรื่องอ่านชีวิตบนแผ่นฟิลม์ (2547)ของอาจารย์เสรี พงศ์พิศ นั้น ท่านอาจารย์เสรีได้เขียนเล่าเรื่องนี้และให้แง่คิดไว้น่าอ่านมากครับ จนอาจกล่าวได้ว่า Cinema Paradiso น่าจะเป็นตัวแทนของ Nostalgia Film ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

Cinema Paradiso นั้นย้อนให้เห็นภาพของประเทศอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง มุสโสลินีและลัทธิฟาสซิสต์ของเขาทำให้อิตาลีกลายเป็นผู้แพ้สงครามไป ผลพวงของความพ่ายแพ้ยังกระทบไปยังเกาะเล็กๆอย่าง ซิซิลี ดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของมาเฟีย อย่างไรก็ตามหนังไม่ได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองมากสักเท่าใดนัก แต่กลับสะท้อนภาพของชีวิตชาวบ้านธรรมดาๆในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง

ภาพของเด็กชาย โตโต้ (Salvatore ) และคุณลุง อัลเฟรโด้ (Alfredo) ทำให้เราอาจย้อนนึกถึงใครบางคนที่เราคุ้นเคยเมื่อวัยเยาว์ อาจจะเป็นภาพลุงใจดีข้างบ้านที่ชอบเล่าเรื่องสนุกๆให้เราฟัง อาจจะเป็นภาพคุณอาคนหนึ่งที่สอนให้เราได้ดูบอลและเตะบอลเป็น

Tornatore ดูจะจงใจให้ โตโต้ได้รื้อความทรงจำจากลิ้นชักใบเก่าของเขาออกมาอีกครั้งในวัยที่เขามีอายุกว่า 50 (ผมลองคะเนเอาเองครับ) จะว่าไปแล้วเราทุกคนล้วนมีประวัติศาสตร์ประจำตัว ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า ประวัติบุคคลหรือชีวประวัติแล้วกันนะครับ ที่ว่ามีประวัติศาสตร์ประจำตัวนั้น ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่อยากเก็บ อยากจำ อยากลืม แม้กระทั่งอยากเล่า

เมื่อกว่า 16 ปีมาแล้ว ผมเคยนั่งคุยกับอาเหล่าม่า (ย่าทวด) ตอนนั้นอาเหล่าม่ามีอายุ 90 ปีพอดี อาเหล่าม่าของผมยังมีความทรงจำที่ไม่พร่าเลือนนัก ท่านเล่าถึงพิธีแต่งงานของท่านสมัยกระโน้น เล่าถึงความยากลำบากในห้วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าถึงชีวิต ผู้คนรอบกายตั้งแต่คนใหญ่คนโตไปจนกระทั่งคนเล็กๆอย่างเราๆ เนี่ยแหละครับที่ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของการมีชีวิต แม้ว่าวันนี้อาเหล่าม่าของผมจะจากไปแล้ว แต่ผมก็ยังจดจำประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงเรื่องราวในครอบครัวผมได้เสมอ

ลิ้นชักความทรงจำของโตโต้ถูกดึงออกมาเหมือนที่ “เจี๊ยบ” ในภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” กำลังตกอยู่ในอารมณ์ที่เรียกว่า Nostalgia ความรื่นรมย์ในวันเก่าทั้งของโตโต้และเจี๊ยบนั้นทำให้ผมนึกถึงความสุขในวัยเด็ก ด้วยเหตุนี้อย่าแปลกใจเลยครับที่ คนอายุขึ้นเลข 3 อย่างพวกผมจะเริ่มคุ้ยค้นความทรงจำของตัวเองแล้ว

นอกเหนือจากสาระของหนังจะทำให้เห็นการหวนรำลึกถึงความสุขเมื่อครั้งวันวานแล้ว หนังยังสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง นั่นคือ กฎอนิจจัง หรือ ความไม่เที่ยง ในวันที่ อัลเฟรโด้ บอกให้ โตโต้ ไปแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในโรมนั้น เขาพูดกับโต้โต้ อย่างกินใจไว้ว่า

“Living here day by day, you think it's the center of the world. You believe nothing will ever change. Then you leave: a year, two years. When you come back, everything's changed. The thread's broken. What you came to find isn't there. What was yours is gone. You have to go away for a long time... many years... before you can come back and find your people. The land where you were born. But now, no. It's not possible. Right now you're blinder than I am.”

แม้ว่าโตโต้จะคะยั้นคะยอถามลุงว่ามันเป็นคำพูดของใครจากหนังเรื่องไหน ลุงแกตอบไว้น่าคิดว่า “No, Toto. Nobody said it. This time it's all me. Life isn't like in the movies. Life... is much harder”. ใช่แล้วครับ! ชีวิตไม่เหมือนกับหนัง และดูเหมือนมันจะยากกว่าด้วยซ้ำ

Cinema Paradiso นับเป็นหนังที่สร้างความบันเทิงและอิ่มเอมให้กับคนดูอย่างแท้จริง ผมชอบฉากสุดท้ายที่ โตโต้ เอาม้วนหนังที่ลุงอัลเฟรโด้ ฝากไว้ก่อนตายมาเปิดดู ภาพที่เคยถูกเซนเซอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพ “จูบ”นั้น ทำให้โตโต้แทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันเหมือนความทรงจำที่กำลังจะพร่าเลือนไปนั้นถูกดึงออกมาจากลิ้นชักใบเก่า ที่ถึงแม้มันจะผ่านไปแล้วแต่มันก็ยังคงอยู่ในใจของโตโต้เสมอ

สำหรับค่ำคืนนี้ผมตั้งใจจะเปิดเพลง Cinema Paradiso ฟังก่อนนอนครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ


Hesse004

1 comment:

Yai said...

โอ..หนังอิตาเลียนเรื่องนี้..เรารัก “จวบจนวันตาย” เลย..

เป็นหนังสำหรับคนรักหนังที่ให้อารมณ์หลายหลายความรู้สึก ได้ความสนุกสดใสในวัยเยาว์ ได้เรียนรู้อารมณ์แห่งห้วงรักในวัยหนุ่ม และความรู้สึกโหยหาอดีตอันแสนงามในวัยชรา เป็นหนังที่มีครบทุกรสชาติ

เราดูครั้งแรก สำหรับ “ฉากจุมพิต” 2-3 นาทีในตอนจบเรื่อง ทำเอาน้ำตาซึม ฉากนั้นเรียกความทรงจำในอดีตของโตโต้กลับมา ความทรงจำที่เขาใช้จ่ายในเมืองชนบท Giancaldo บนซิซิลี..

เรื่องนี้ตอนฉายครั้งแรกที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ พอจบเรื่องผู้ชมยืนปรบมือยาวนานมาก บางคนบอกนานที่สุดในหนังที่เคยมาฉายที่คานส์ทีเดียว..

ส่วนฉากที่ยกมา ที่เป็นฉากสนทนาระหว่างอัลเฟรโด้กับโตโต้นั้นกินใจมาก เมื่ออัลเฟรโด้พูดจบ โตโต้ยังคิดว่าเขายกคำพูดมาจากตัวละครในหนัง โตโต้ถามกลับว่าเป็นคำพูดของ “แกรี่ คูเปอร์, เจมส์ สจ๊วร์ต หรือเฮนรี่ ฟอนดา?” ฉากนี้ดูทีไรเราก็อดอมยิ้มไม่ได้..

อ้อ..ยังจำฉากพระเอกวิ่งแย่งเก็บผ้าเช็ดหน้ากับเพื่อน เพื่อหยิบไปให้นางเอก สมัยนั้นโฆษณาโคโลญจน์ในเมืองไทยเอาฉากนี้มาใช้ด้วย

เราซื้อเวอร์ชั่น Director’s Cut มาสะสมด้วย แต่เราชอบเวอร์ชั่นแรก ที่ Miramax ตัดต่อ เพื่อออกฉายมากกว่า .. ส่วนซาวด์แทร็กเรื่องนี้สุดยอดจริงๆ มอร์ริโคเน่เรียบเรียงดนตรีซึ่งให้อารมณ์ละมุนละไมอย่างยิ่ง

เคยคิดว่าถ้าจัดอันดับหนัง Top 5 ส่วนตัว เราเลือกเรื่อง Cinema Paradiso ติดแน่ๆ

Yai