Jul 24, 2010

"15 ค่ำ เดือน 11" เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ





“บั้งไฟพญานาค” เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาที่มีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่พุทธกาลว่า แต่เดิม “พญานาค” ที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลนั้นมีนิสัยดุร้าย และเมื่อพุทธองค์ทรงลงมาโปรดสัตว์ที่เมืองบาดาล พญานาคก็เกิดความเลื่อมใสในธรรมจึงปรารถนาที่จะออกบวช แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นสัตว์จึงไม่สามารถบวชได้ พญานาคจึงขอปวารณาตัวเป็น “พุทธมามกะ” แทน

ตามตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าหลังจากที่พุทธองค์ทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระองค์ทรงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยมีเหล่าเทพเทวาต่างทำบันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง ถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนมนุษย์เราก็ทำบุญตักบาตรกราบไหว้บูชา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ตักบาตรเทโว” นั่นเองครับ

ครั้นรู้ถึงหูของพญานาค ณ เมืองบาดาล ท่านจึงได้สั่งให้ชาวบาดาลจัดทำ “บั้งไฟพญานาค” เพื่อจุดเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาเช่นกันจนเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคในทุกวันนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็น “ตำนาน” เรื่องบั้งไฟพญานาคที่ชาวริมโขงโดยเฉพาะจังหวัดหนองคายนั้นยึดมั่นเป็นประเพณีงานบุญสืบทอดกันมาช้านานแล้วนะครับ

ว่ากันว่าบั้งไฟพญานาคนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “บั้งไฟผี” ด้วยเหตุที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ว่ามาจากอะไรกันแน่

โดยเจ้าปรากฏการณ์ประหลาดที่ลูกไฟสีชมพู ไม่มีทั้งกลิ่น ควัน หรือแม้แต่เสียง พุ่งขึ้นเหนือลำน้ำโขงนั้น ได้กลายเป็นที่โจษขานของชาวบ้านและก่อให้เกิด “ศรัทธา” ต่อสัตว์ในตำนานอย่าง “พญานาค” มาช้านาน บางพื้นที่พบรอยพญานาค บางคนบอกว่าเคยเจอพญานาคตัวเป็น ๆ ก็มี

เจ้าลูกไฟประหลาดที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงแต่ละลูกล้วนมีระดับความสูงตั้งแต่ 1-30 เมตร บางลูกพุ่งสูงถึง 150 เมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5-10 วินาทีครับ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ บั้งไฟพญานาคนั้นจะปรากฏให้เราได้เห็นเพียงแค่ปีละครั้งในช่วง “วันออกพรรษา” หรือ “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11”

และอย่างที่ทราบกันนะครับว่าจุดชมบั้งไฟพญานาคที่ชัดเจนที่สุดอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ไล่ตั้งแต่อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอบึงกาฬ (ที่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นจังหวัดแล้ว) หน้าวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ และที่อ่างปลาบึก อำเภอสังคม

“บั้งไฟพญานาค” นับเป็นที่สงสัยใคร่รู้ของเหล่านักวิทยาศาสตร์และไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มที่ทำการศึกษาลูกไฟสีชมพูที่พุ่งเหนือแม่น้ำโขงนี้เชื่อว่าน่าจะเกิดจากก๊าซมีเทน ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัสที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ในน้ำ

อย่างไรก็ดีใช่ว่าที่หนองคายจะมีบั้งไฟพญานาคแห่งเดียวนะครับ เพราะจากข้อมูลปรากฏการณ์ประหลาดทั่วโลก พบว่า ในสหรัฐอเมริกาที่มลรัฐมิสซูรี่และเท็กซัส ก็พบเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกันโดยฝรั่งเขาเรียกว่า Marfa Light นอกจากนี้ที่เมืองเจดดาห์ ริมฝั่งทะเลแดง ซาอุดิอาระเบีย ยังพบเห็นเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกัน

ความเชื่อตามตำนานที่ถูกพัฒนารูปแบบมาสู่งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยลาวสองฝั่งโขง กับ การพยายามหาคำตอบตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของคนที่ไม่อาจจะเชื่ออะไรง่าย ๆ ได้กลายเป็น “จุดปะทะ” กันระหว่างผู้คนที่มีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมดั้งเดิมกับผู้คนที่ยืนยันหนักแน่นว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาและพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

จุดปะทะกันที่ว่านี้ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” หรือชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า Mekhong Full Moon Party (2002) ของคุณเก้ง “จิระ มะลิกุล” กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” เรื่องหนึ่งของเมืองไทยเมื่อประมาณแปดปีก่อนครับ

ถ้าท่านใดได้ดูหนังเรื่องนี้คงจะเข้าใจคล้าย ๆ กันนะครับว่าจุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้มิใช่เป็นการลบหลู่ดูถูกตำนานดั้งเดิมแต่อย่างใด หากแต่พยายามชี้ให้เห็น “ความเชื่อ” และ “ความศรัทธา” ของผู้คนที่ตั้งอยู่บนฐานคิดคนละแบบ

ศรัทธาหนึ่งอยู่บนฐานคิดที่เรียกว่า “ศาสนา” และ “ประเพณี” รวมไปถึงความเชื่อของภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเฒ่าคนแก่ที่แม้จะดูตลกและไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่บางสิ่งบางอย่างล้วนแล้วมีเหตุผลตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำนั้น

ในขณะเดียวกันศรัทธาที่อยู่ขั้วตรงข้ามเป็นศรัทธาที่อยู่บนฐานของพลังความรู้ การพิสูจน์ภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยมีเครื่องมือทางสถิติรองรับด้วยความสมเหตุสมผล

ในแง่ของตัวหนังผมขออนุญาตไม่วิจารณ์หรอกนะครับ เนื่องจากหนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่ทางค่ายหนังอย่าง GTH เปิดตัวออกมาได้ยอดเยี่ยม

โดยส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้สร้างอยากสื่อสารออกมาให้เห็น คือ เรื่องความเชื่อและการลงมือทำตามความเชื่อนั้น หรือ ถ้าพูดตามประโยคคลาสสิคของ “หลวงพ่อโล่ห์” (นำแสดงโดย นพดล ดวงพร หรือ ลุงแนบ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทองอันโด่งดังในอีสาน) ก็คงต้องใช้ว่า

“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด แล้วก็เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” ครับ

ใช่แล้วครับ องค์ประกอบหนึ่งของการทำอะไรให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมายนั้น “ศรัทธา” คือสิ่งสำคัญ เพราะศรัทธาจะถูกแปลงเป็น “ความเชื่อ” ก่อนจะผลักให้เราต้อง “ลงมือทำ”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประหลาดนะครับ เพราะมนุษย์เรามีความฝัน มีจินตนาการ แต่ทั้งความฝันและจินตนาการของเราจะไม่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมได้หากเราไม่ลงมือทำเลย หรือทำไปแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ

เช่นเดียวกันกับในเรื่องที่พระกลุ่มหนึ่งที่มี “ศรัทธา” ในประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคยังเห็นว่า “กุศโลบาย” เรื่องบั้งไฟยังทำให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนหันหน้าเข้าวัดทำบุญประพฤติตัวอยู่ในร่องในรอย ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์กลุ่มนี้จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวท่านเชื่อเพื่อทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ยังอยู่ และเพื่อทำให้ศรัทธาของชาวพุทธยังอยู่

“ศรัทธา” คือ ทุกสิ่งที่อย่างที่ทำให้คนเรามีเรี่ยวแรงจะทำอะไรก็ได้นะครับ พิสูจน์ให้เห็นแล้วทั้งสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ทั้งหลายหรือสิ่งประดิษฐ์หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มนุษย์เราร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา

โดยส่วนตัวผมชอบเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ เพลง “ผู้ชนะ” ซึ่งร้องโดยคุณเสก โลโซ ทั้งเนื้อร้องและทำนองนับได้ว่าสร้างกำลังใจอย่างดีเวลาคิดจะลงมือทำงานอะไรให้สำเร็จ

ท้ายที่สุดผมคิดว่าหากเรายังมีศรัทธาในเป้าหมายของเราอยู่ บางทีศรัทธานั้นมันจะหล่อเลี้ยงให้เราเดินไปสู่สิ่งที่เราฝันไว้ได้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคมากมายเพียงใดแต่เราก็พร้อมจะเดินไปอย่างไม่ลดละไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: