Jan 25, 2010

“มาเลน่า” สังคมขี้นินทา กับ คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน




กระบวนผู้กำกับหนังจากฝั่งยุโรปที่นับว่าทำหนังได้ “เนียน” ที่สุด เห็นทีจะต้องยกให้ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนนะครับ เพราะดูเหมือนว่าหนังแต่ละเรื่องที่มาจากแดนมะกะโรนีนั้นส่วนใหญ่แล้วจะคว้า “กล่อง” มากกว่าทำเงิน

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ชื่อของ “จูเซ็ปเป้ ทอนาทอเร่” (Giuseppe Tornatore) น่าจะเป็นชื่อผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนที่คอหนังคุ้นชื่อมากที่สุดชื่อหนึ่งนะครับ เพราะหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากการทำหนังอบอุ่นอย่าง Cinema Paradiso (1988) จนได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์แล้ว ทอนาทอเร่ยังฝากผลงานชั้นดีไว้กับเรื่อง The Legend of 1900 (1998) ซึ่งเป็นเรื่องของนักดนตรีที่ใช้ชีวิตอยู่แต่บนเรือเดินสมุทรและไม่เคยคิดที่จะเหยียบแผ่นดินเลย

อย่างไรก็ดีภาพยนตร์ของเขาอีกเรื่องที่สมควรจะพูดถึง คือ Malèna (2000) ครับ ซึ่งหนังเรื่องนี้เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองรางวัล รวมทั้งได้รับเลือกให้ไปฉายในงานเทศกาลหนังต่างๆทั่วโลกอย่างเทศกาลหนังที่เบอร์ลินปี 2001 แต่อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้มีอะไรที่น่าเก็บเอามาเล่าสู่กันฟังมากกว่าจะนั่งดูผ่านๆนะครับ

มาเลน่า (Malèna) เป็นชื่อของตัวละครเอกในเรื่องซึ่งเธอเป็นผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองแห่งหนึ่งบนเกาะซิซิลี (Sicily) ครับ และแน่นอนที่สุดความสวยของมาเลน่าจึงตกเป็นที่หมายปองของบรรดากระทาชายทั้งหลายในเมืองนี้ไม่เว้นแม้แต่ “เรนาโต” เด็กผู้ชายอายุแค่สิบสามที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น และด้วยความ “หลงใหล” ของไอ้หนูเรนาโตนี้เองจึงทำให้ต้องเข้าไป “สอดรู้ สอดเห็น” เรื่องราวของมาเลน่าจนกลายเป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดครับ

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Ma L ’ Amore No ของ ลูเซียโน่ วินเซนโซนี่ (Luciano Vincenzoni) นอกจากนี้ความพิเศษของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ซาวด์แทรค ประกอบซึ่งได้ประพันธกรชั้นครูอย่าง “เอนนิโม่ มอริโคเน่” (Enimo Morrione) มาสร้างสรรค์เพลงประกอบให้

ฉากหลังของหนังเรื่องนี้ดำเนินไปในช่วงที่อิตาลีกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัวเมื่อปี ค.ศ. 1941 ในฐานะมหามิตรของเยอรมนี โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคที่เผด็จการเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ยังครองอำนาจอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์ ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่างานของทอนาทอเร่อีกเรื่องหนึ่งคือ Cinema Paradiso นั้นก็เล่าเรื่องผ่านฉากหลังของความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่สองด้วยเหมือนกัน

ทอนาทอเร่ พยายามสื่อสารประเด็นหลายอย่างผ่านหนังเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ความสวยของมาเลน่าได้กลายเป็นภัยให้หล่อนต้องประสบปัญหายุ่งยากกับชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งหนังชี้ให้เห็นว่าใช่ว่าคนสวยทุกคนจะมีความสุขนะครับ โดยเฉพาะการที่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้ชายทั้งเมือง และเป็นที่น่าหมั่นไส้ของสาวแก่แม่ม่ายจนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้คนที่คอยซุบซิบนินทา โดยเฉพาะข้อหา “มากชายหลายรัก”

ทอนาทอเร่ ยังจับประเด็นเกี่ยวกับอารมณ์ “หลง” ของเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่สามารถแยกความหมายของ “อารมณ์รัก” กับ “อารมณ์ใคร่” ออกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเห็นภาพการ “ช่วยตัวเอง” ของเด็กผู้ชายที่เต็มไปด้วยจินตนาการทางเพศมากมายในหนังเรื่องนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทอนาทอเร่ได้สรุปไว้น่าสนใจว่าจริงๆแล้วเรื่องของอารมณ์ใคร่ปนความต้องการทางเพศของเด็กวัยนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ปกครองควรจะเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ทอนาทอเร่ได้ “ตบหน้า” สั่งสอนรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินีในสมัยนั้นด้วยการสื่อให้เห็นว่าจริงๆแล้ว “สงคราม” ต่างหากที่เป็นเหตุให้ “มาเลน่า” ต้องพลัดพรากกับสามีที่หล่อนรักเนื่องจากสามีต้องไปออกรบในฐานะวีรบุรุษของชาติ ซึ่งไอ้สงครามตัวนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้ “ชะตากรรม” ของผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองเปลี่ยนจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังเท้า” ภายในไม่กี่ปี

แต่เหนืออื่นใด ทอนาทอเร่ ยังได้ตบหน้าสังคมอิตาเลี่ยนเสียฉาดใหญ่ ด้วยการฉายให้เห็นนิสัย “ขี้นินทา” ของคนในสังคมตลอดจนพฤติกรรมการเขียน “คำพิพากษา” ขึ้นมาเองโดยอาศัย “ความเชื่อ”และ “อคติ” ที่ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างที่เราคิด หรือสรุปเอาเองว่าคนไหนถูกคนไหนผิด คนไหนดีคนไหนเลว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันมักไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด

บางทีมันก็น่าสนใจอีกเช่นกันนะครับว่า ทำไมมนุษย์เราถึงสนใจเรื่องราวส่วนตัวของชาวบ้านกันเสียนักหนา สังเกตได้จากหนังสือซุบซิบดารา หรือหนังสือจำพวกแอบถ่ายของปาปารัซซี่ที่วางเกลื่อนกลาดอยู่บนแผงทุกวันนี้ ทั้งนี้หากมองภายใต้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมมีความกระหายในสินค้าที่เรียกว่า “เรื่องส่วนตัวของชาวบ้าน” จนยอมที่จะเสียเงินบริโภคสินค้าชนิดนี้โดยได้รับความพึงพอใจสูงสุดจาก “การสอดรู้สอดเห็น” (Maximize meddlesome utility)นั่นเองครับ

หลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมซีไรต์เล่มหนึ่งที่ชื่อ “คำพิพากษา” ของคุณชาติ กอบจิตติ ครับ ซึ่งผมคิดว่า “มาเลน่า” น่าจะเป็น “คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน” ได้เลยโดยเฉพาะประเด็นการถูกพิพากษาจากคนในสังคมที่พยายามตั้งตนเป็นศาลไปก่อนแล้วว่า “เธอต้องเป็นอย่างที่ชั้นคิดแน่เลย” และไอ้พฤติกรรมรวม “ตู่” เอาเองนี้แหละครับที่ทำลายคนอย่างไอ้ฟัก ทำลายคนอย่างมาเลน่า มานักต่อนักแล้ว

ฉากตอนท้ายๆของหนังเรื่องนี้ทำให้ผม “สลดหดหู่” อย่างยิ่งกับพฤติกรรมด้านมืดของคนในสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกวันนี้เราล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสังคม “ขี้นินทา” ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนที่เรายังไม่ได้เป็น “เหยื่อ” ของการถูกนินทาก็แล้วไป แต่หากวันไหนเราตกเป็น “เหยื่อ” ขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว เห็นทีคงต้องพึ่งคำพระที่ว่า “ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยถูกนินทา” เสียแล้วล่ะครับ

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

เหมือนเราจะ ment ที่ oknation ไม่ได้นะ ใช่เปล่า?

เมื่อก่อน จะแคร์หรือคิดไปก่อนล่วงหน้า จินตนาการไปเลยว่า ท่าทีที่คนโน้นคนนี้มีกับเรา หรือบางสิ่งที่เราทำลงไป ต้องมีเสียงไม่ดีตามมาแน่ จะลับหลัง จะกี่คนไม่รู้ ดูเถอะ ไม่ได้ยินกับหู ใจก็แต่งเติมไปได้ขนาดนั้น

แล้วก็แน่นอนว่า ชอบ สนุกนะ พูดถึงคนนั้น คนนี้ที่เราไม่ชอบหน้า จะด้วยน้ำเสียงที่ดูดี เหมือนเป็นมิตร แต่ใจพี่เองนี่ล่ะที่รู้ว่า เป้าประสงค์ของการพูดถึงคนคนนั้น เรามีนัยอะไรแฝงอยู่ให้ผู้รับสาส์นได้อะไรจากเราไป

สังคมเรา ทำร้ายกันด้วยคำพูดง่ายจังเลยนะ

ตั้งใจให้มีวจีกรรมในทางที่ดี ลดละเลิกการพูดเพ้อเจ้อ นินทา ส่อเสียด แม้พูดนิ่มๆแต่เชือดเฉือนใครก็ไม่เอา พี่ว่า ใจพี่ดีขึ้นแยะ

ส่วนที่จะโดนใครนินทาว่าร้ายอะไร กลับไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ไม่ได้ยึดว่าตัวเองดี แต่เพราะเห็นว่า นินทาเป็นเรื่องธรรมชาติของคน จะไปห้ามใจห้ามปากเขาได้ยังไง ก็เรายังเคยทำมาก่อนนี่นา ^_^