May 27, 2009

"เจมส์ บอนด์" พยัคฆ์ร้าย 007 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ






กระบวนภาพยนตร์ซีรีส์ฝรั่งที่คลาสสิคที่สุดเรื่องหนึ่งเห็นจะหนีไม่พ้นซีรีส์ชุด “เจมส์ บอนด์ พยัคฆ์ร้าย 007” นะครับ

เจมส์ บอนด์ 007 เป็นพระเอกในนิยายสายลับ (Spy Fiction) ของ “เอียน เฟลมมิ่ง” (Ian Flemming) อดีตราชนาวีอังกฤษก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายสายลับ

เฟลมมิ่งสร้างเจมส์ บอนด์ ออกมาให้เป็นพระเอกที่มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นหน้าตาอันหล่อเหลา ร่างกายกำยำแข็งแรง มีทักษะการต่อสู้เป็นเลิศ มีสติปัญญาไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยม สามารถเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์คับขัน แถมยังสามารถบริหารเสน่ห์จนสาวๆหลงรักอีก

ว่ากันว่าเฟลมมิ่งได้แรงบันดาลใจในการสร้างเจมส์ บอนด์ มาจากสายลับของสก็อตแลนด์ยาร์ดนามว่า ซิดนีย์ ไรลีย์ (Sidney Reilly) ครับ

เฟลมมิ่งเขียนเรื่องเจมส์ บอนด์ 007 ออกมาทั้งหมด 14 ตอนครับ โดยตอนแรก คือ Casino Royale (1953) และตอนสุดท้าย คือ Octopussy and the living Daylights (1966)

ความสำเร็จของนิยาย James Bond 007 ทำให้ฮอลลีวู้ดสนใจหยิบไปทำหนังโดย James Bond 007 ตอนแรกที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ คือ Dr.No (1962) ครับ

Dr. No เป็นผลงานการกำกับของ เทอเรนซ์ ยัง (Terence Young) ซึ่งต่อมา “ยัง” ได้กำกับหนังเรื่องนี้อีกสองตอน คือ From Russia with Love (1963) และ Thunderball (1965)

อย่างไรก็ตามความพิเศษของหนัง James Bond 007 อยู่ที่คนมารับบทเป็น “บอนด์” ครับ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่า บอนด์คนแรก คือ ฌอน คอนเนอรี่ (Sean Connery) ดาราหนุ่มโนเนม (ในสมัยนั้น) จาก สก๊อตแลนด์

ณอน คอนเนอรี่ เป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่มารับบทเป็น เจมส์ บอนด์ 007 ว่ากันว่าเหตุที่เขาได้สวมบทเป็นบอนด์ก็เพราะความที่เป็นคนในสหราชอาณาจักรแม้ว่าจะไม่ใช่อิงลิชชนก็ตาม

ก่อนมารับบทนำเป็นเจมส์ บอนด์ ฌอน คอนเนอรี่ เคยคิดจะเอาดีในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพถึงขนาดที่ยอดปรมาจารย์เซอร์แมตท์ บัสบี้ (Matt Bustby) ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยเสนอสัญญานักเตะอาชีพให้ฌอน คอนเนอรี่ เป็นพลพรรคปีศาจแดงในยุค 60 เลยทีเดียวครับ

ฌอน คอนเนอรี่ รับบทเป็นสายลับรหัส 007 อยู่ทั้งหมด 6 ตอนครับโดยตอนสุดท้ายที่เขาเล่น คือ Diamond are Forever (1971) ผลงานการกำกับของ กาย แฮมิลตัน (Guy Hamilton)

หลังจากที่ป๋าฌอน เกษียณตัวเองจากสายลับเจ้าเสน่ห์ไปแล้ว บอนด์คนต่อมา คือ โรเจอร์ มัวร์ (Roger Moore) นักแสดงชาวอังกฤษ ครับ มัวร์ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง James Bond 007 ตอน Live and Let Die (1973)

โรเจอร์ มัวร์ รับสัมปทานเป็นเจมส์ บอนด์ ทั้งหมด 7 ตอนครับ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับ ทิโมธี ดัลตัน (Timothy Dalton) ดาราหนุ่มจากเวลล์ มาสวมบทเป็นบอนด์ต่อในตอน The Living Daylights (1987) อย่างไรก็ดีดัลตันเล่นเป็นบอนด์ได้แค่สองเรื่องเท่านั้นก่อนจะถูก เพียรซ์ บรอสแนน (Pierce Bronan) นักแสดงหนุ่มเลือดไอริชมารับบทเป็นบอนด์ต่อในตอน GoldenEye (1995)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า “เพียรซ์ บรอสแนน” มีลักษณะคล้ายคลึงกับ เจมส์ บอนด์ ของ เอียน เฟลมมิ่ง มากที่สุดนะครับ ไม่ว่าจะด้วยรูปร่างหน้าตา บุคลิก การพูดจา หรือการแสดงไหวพริบปฎิภาณ ซึ่งทำให้เห็นว่าสายลับที่โคตรเก่งมันน่าจะมีลักษณะแบบนี้

เพียรซ์ บรอสแนน ครองตำแหน่งเจมส์ บอนด์ อยู่ 4 ตอนครับ โดยตอนสุดท้าย คือ Die Another Day (2002) และแล้วเมื่อเพียรซ์สละตำแหน่งสายลับ 007 บอนด์คนถัดมาจึงตกมาอยู่ที่ แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) นักแสดงมาดนิ่งชาวอังกฤษ

แดเนียล เคร็ก มารับบทเป็นสายลับ 007 ท่ามกลางความกดดันโดยเฉพาะเรื่องของหน้าตาที่หลายคนบ่นว่า “ไม่หล่อ” เอาเสียเลยแถมดูหน้าพี่แกยังทื่อๆงงๆอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามถ้าท่านใดได้ดู James Bond 007 ที่ แดเนียล เคร็ก แสดงสองตอน คือ Casino Royale (2006) กำกับโดย มาร์ติน แคมเบลล์ (Martin Campbell) และ Quantum of Solace (2008) กำกับโดย มาร์ค ฟอสเตอร์ (Marc Forster) จะเห็นได้ว่า แดเนียล เคร็ก เล่นเป็นเจมส์ บอนด์ ที่มีความเป็นสายลับได้สมจริงสมจังมากที่สุดคนหนึ่ง

ผมแอบตั้งข้อสังเกตถึงบทหนังเจมส์ บอนด์ ในสองตอนล่าสุดว่าทีมเขียนบทที่ประกอบด้วย พอล แฮคกิส (Paul Haggis) นีล เพอร์วิส (Neil Purvis) และ โรเบิร์ต เวท (Robert Wade) นั้น พยายามจะทำให้ เจมส์ บอนด์ คนนี้เป็นสายลับที่มีความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้วิเศษเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นฉากที่บอนด์แทบเอาตัวเองไม่รอดจากการถูกวางยาพิษ หรือ ฉากที่ได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ ถูกทรมาน แม้กระทั่งฉากที่ตัดสินใจจะเลิกอาชีพสายลับเพื่อไปอยู่กินกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าบอนด์เองก็เป็น “คน” ที่เจ็บได้ โง่เป็น มีความรู้สึกรู้สา ผิดหวัง เจ็บปวดจากอารมณ์สูญเสียกับเขาเหมือนกัน

แม้ว่าแดเนียล เคร็ก จะเป็นบอนด์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนฌอน คอนเนอรี่ โรเจอร์ มัวร์ หรือ เพียรซ์ บรอสแนน แต่สิ่งที่เคร็กแสดงให้เราได้เห็นในบอนด์ทั้งสองภาคนี้ คือ สายลับเป็นมนุษย์ที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเพื่อมารับงานที่มีความเสี่ยงแทบทุกเวลาแต่สิ่งหนึ่งที่สายลับยังคงต้องมีอยู่คือความเป็นมนุษย์ที่ยังรู้ร้อน รู้หนาว รู้สุข รู้ทุกข์ มีโง่บ้าง ฉลาดบ้างแล้วแต่สถานการณ์จะพาไปและที่สำคัญที่สุดก็คือ สายลับ 007 ไม่ได้เลิศเลออะไรเหมือนที่นิยายหรือหนังว่าไว้ไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: