Apr 23, 2009

"ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ประชาธิปไตยแบบไทยๆ





หลังเหตุการณ์ “สงกรานต์วิปโยค” ผมกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” อีกครั้งครับ คอหนังสือคงทราบดีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ (The S.E.A. Write Award) โดยเป็นผลงานของ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2537 และ 2542

“ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” เป็นผลงานลำดับที่สามของคุณวินทร์ ครับ หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษด้วย โดยชื่อเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ คือ Democracy, Shaken & Stirred

การอ่านหนังสือเล่มนี้รอบที่สามทำให้ผมเริ่มเข้าใจความเป็น “ประชาธิปไตย” ของบ้านเรามากขึ้น จริงๆแล้วตลอดระยะเวลากว่า 77 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยดูจะค่อยเป็นค่อยไปนะครับ

คำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” เนี่ย มันอาจจะสะท้อนวิธีคิดตลอดจนลักษณะบางอย่างของความเป็นคนไทย ซึ่งข้อดีของความเป็นไทย คือ รู้จักประนีประนอม (Compromise) ไงล่ะครับ

ตลอดทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้เป็นการต่อสู้กันทางความคิดและอุดมการณ์ของชายสองคน ชายคนแรก คือ “ตุ้ย พันเข็ม” นายตำรวจผู้ทำงานรับใช้รัฐบาลมาโดยตลอดตั้งแต่มีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ชายอีกคนหนึ่งคือ “หลวงกฤษดาวินิจ” หรือ “เสือย้อย” ผู้ที่มีชีวิตพลิกผันจากคุณหลวงสู่ขุนโจรคุณธรรม

การต่อสู้ของทั้งสองคนมีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แม้ว่าคณะราษฎรจะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของสยามได้จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียง “รูปแบบการใช้อำนาจ” เท่านั้น เพราะอำนาจได้ถูกเปลี่ยนมือจากวังไปสู่คนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเหล่าขุนทหารที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

พัฒนาการของประชาธิปไตยในเมืองไทยมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่น่าจดจำนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475

เหตุการณ์อย่าง “กบฏบวรเดช”ในปี พ.ศ.2476 นับเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกที่เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจใหม่ซึ่งนำโดยคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจไปและไม่พอใจคณะราษฎร

หลังจากการปราบกบฏบวรเดช อำนาจของนายทหารหนุ่มที่ชื่อ “หลวงพิบูลสงคราม” ก็เริ่มโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยจนกระทั่งนายทหารลูกชาวบ้านผู้นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้นำชาตินิยม” ที่เปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชีวิตของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูน่าอัศจรรย์ไม่น้อยนะครับ เคยผ่านจุดสูงสุดของชีวิตในฐานะผู้นำชาตินิยมที่เข้มแข็ง มาจนกระทั่งดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในฐานะอาชญากรสงคราม และก็กลับมาเป็นนายกได้ใหม่ เคยถูกลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็ไม่ตาย ท้ายที่สุดถูกลูกน้องคนสนิทอย่าง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์” ปฏิวัติจนต้องหนีออกนอกประเทศ

ช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2500 ดูเหมือนว่า การเมืองไทยยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา มีการลอบสังหารบุคคลสำคัญอยู่บ่อยครั้ง มีการจับตัวนักโทษการเมืองไปปล่อยเกาะ ความวุ่นวายต่างๆเหล่านี้มักจบลงด้วยการเข้ามาของกองทัพที่ใช้กำลังทหารในการทำรัฐประหาร แม้ว่าการปฏิวัติบางครั้งจะไม่สำเร็จจนทำให้ใครหลายคนกลายเป็น “กบฏ” ไป

ช่วงเวลาหลังปี พ.ศ.2500 ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้ “เผด็จการทหาร” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ระบอบสฤษดิ์” เผด็จการทางทหารถูกโค่นล้มไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งแรกที่ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่าพวกเขาต่างหากที่เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ดีการเมืองไทยก็ยังตกอยู่ในวังวนเดิมๆ นั่นคือ มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแย่งอำนาจกันระหว่างขุนนางกับกลุ่มทุนธุรกิจที่แฝงเข้ามาในคราบนักการเมือง หรือ การแย่งอำนาจระหว่างทหารกับนักการเมือง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นเพราะทุกคนต้องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ในแบบที่ตัวเองเข้าใจหรือเปล่าครับ หรือเพียงแค่ประชาธิปไตยได้กลายเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่การใช้อำนาจของคนเหล่านั้น

บางทีประชาธิปไตยอาจเป็นเพียง “คำพูดหรูหรา”ที่คล้ายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการแสวงหาความชอบธรรมของมนุษย์ในการเข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจในสังคมก็ได้นะครับ

ผมขออนุญาตปิดท้ายเอนทรี่นี้ด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งผมได้คัดลอกมาจากหนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนานอีกทีครับ เผื่อบางทีเราอาจจะเห็นภาพประชาธิปไตยแบบไทยๆได้ชัดเจนมากขึ้นไงล่ะครับ

“ประชาธิปไตยโกง นั่นมันร้ายกาจอย่างไร คือ ประชาชนทั้งหลายไม่มีศีลธรรม แต่ถือระบบประชาธิปไตย มันก็มีโอกาสที่จะใช้กิเลสของตนอย่างเสรี แต่ละคนๆมีเสรีภาพที่จะใช้กิเลสของตนอย่างเต็มที่ เมื่อประชาชนทุกคนมันไม่มีศีลธรรม มันโกงมันก็เลือกผู้แทนโกง เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนโกง ก็ได้ผู้แทนโกง ผู้แทนโกงทั้งหลายไปประกอบกันเป็นรัฐสภาพก็เป็นรัฐสภาโกง รัฐสภาโกงไปตั้งคณะรัฐบาล ก็เป็นคณะรัฐบาลโกง เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เป็นคนโกง โกงทั้งบ้านทั้งเมือง”

พุทธทาสภิกขุ


Hesse004

No comments: