Feb 13, 2009

The Curious Case of Benjamin Button โลกหมุนย้อนของ “เบนจามิน”



“You can be as mad as a mad dog at the way things went. You could swear, curse the fates, but when it comes to the end, you have to let go.”
Captain Mike in “The Curious Case of Benjamin Button”


เอนทรี่นี้ขออนุญาตขึ้นต้นด้วยคำคมภาษาอังกฤษจากหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button (2008) ครับ

เหตุที่อยากเขียนถึงหนังเรื่องนี้ก็เนื่องด้วยความน่าสนใจของเนื้อหาที่ “เดวิด ฟินช์เชอร์” (David Fincher) ผู้กำกับหยิบเรื่องสั้นของ “เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์” (F. Scott Fitzgerald) มาถ่ายทอดเรื่องราว “พิสดาร” ลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างน่าดูชมครับ

ก่อนจะไปถึงตัวหนัง, ผมขออนุญาตแนะนำ “เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์” สักเล็กน้อยครับ เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์ เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ (1886-1940) ด้วยเหตุนี้เองงานของฟิตเจอร์รัลด์มักจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุ่งเรืองในยุค ทเวนตี้ (1920s) ซึ่งฟิตเจอร์รัลด์เรียกยุคสมัยนั้นว่า “Jazz Age” ครับ

ยุค Jazz Age นับเป็นยุคสมัยที่สหรัฐอเมริการุ่งเรืองถึงขีดสุดเนื่องจากผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) ทำให้ชาติยุโรปบอบช้ำจากสงครามครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้อเมริกาค่อยๆสร้างบารมีรอวันเป็นมหาอำนาจใหม่ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามยุค Jazz Age ของฟิตเจอร์รัลด์มาจบลงตรง The Great Depression หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.1929 ครับ

ดังนั้นงานเขียนของฟิตเจอร์รัลด์ส่วนใหญ่จึงสะท้อนความเป็น “อเมริกันชน” ยุครุ่งโรจน์ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบซึ่งนวนิยาย (Novel) เรื่องเด่นของเขาเห็นจะหนีไม่พ้น The Great Gatsby (1925) ครับ

กลับมาที่ The Curious Case of Benjamin Button (2008) กันต่อครับ, อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ “เดวิด ฟินช์เชอร์” (David Fincher) ผู้กำกับชาวอเมริกันที่โด่งดังมาจาก Se7en (1995) และ Fight Club (1999) ฟินช์เชอร์ได้หยิบเอาเรื่องสั้นชุด The Curious Case of Benjamin Button (1921) ของเอฟ สก๊อตต ฟิตเจอร์รัลด์ มาปรับเป็นบทภาพยนตร์ (Screenplay) ใหม่โดยได้ อิริค รอธ (Eric Roth) และ โรบิน สวีคอร์ด (Robin Swicord) มาเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์ให้

ขออนุญาตเสริมนิดนึงครับว่า “อิริค รอธ” มือเขียนบทเรื่องนี้เคยฝากผลงานไว้ในหนังดีอย่าง Forrest Gump (1994), Munich (2005) และ The Good Shepherd (2006) นับว่า “รอธ” เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ที่มากฝีมือคนหนึ่งครับ

ทั้งฟินช์เชอร์และรอธ ได้ทำให้ The Curious Case of Benjamin Button เป็นหนังที่มีเสน่ห์มากเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ยังได้ซูปเปอร์สตาร์ของฮอลลีวู้ดมาประกบคู่พระนางอย่าง แบรท พิทท์ (Brad Pitt) ที่รับบทนำเป็น “เบนจามิน บัตตั้น” และ เคท บานชเลตต์ (Cate Blanchett) ที่รับบทเป็น “เดซี่ ฟูลเลอร์” คนรักของเบนจามิน

โดยส่วนตัวผมแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วย “สีสัน” และ “ข้อคิด” นะครับ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมี “มนุษย์” คนไหนที่มีชีวิตแบบ “เบนจามิน บัตตั้น”

ท่านผู้อ่านเคยคิดมั๊ยครับว่าถ้าชีวิตของเราหมุนย้อนกับโลกปกติแล้วมันจะเป็นอย่างไร คงน่าประหลาดใจไม่น้อยที่คนๆหนึ่งเกิดมาแล้วเป็น “คนแก่” ก่อนจะค่อยๆ “เด็ก”ลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามดูเหมือนงานของเอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์ และหนังของเดวิด ฟินช์เชอร์ เหมือนจะตั้งคำถามว่าเราไม่สามารถฝืนกฎเกณฑ์ธรรมชาติของการมีชีวิตได้นั่นหมายถึงทุกอย่างมี “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”

บางทีหนังเรื่องนี้อาจจะต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึง “ความไม่จีรัง” หรือ “อจีรัง” ของการมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะมีอายุขัยและเมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องสิ้นสูญสิ่งเหล่านั้นไป

ชีวิตของเบนจามิน บัตตั้น อาจไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปแต่เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปเพียงแต่ช่วงเวลาของการดำรงอยู่มันอาจจะสวนทางกันแต่ยังไงก็แล้วแต่ “เบนจามิน” ก็หนีไม่พ้นสภาพการดับสูญหรือจากลา

ผมคิดว่ายิ่งเมื่อเราเติบโตขึ้นการเฝ้ามองชีวิตด้วยความเข้าอกเข้าใจดูจะสำคัญไม่น้อยนะครับเพราะยิ่งเราโตขึ้นเรื่อยๆอะไรๆในชีวิตมันก็มีให้ “ยึด” ติดมากขึ้นทั้งทรัพย์สินเงินทอง ยศฐา ครอบครัว คนรัก มิตรสหาย แม้กระทั่งอุดมการณ์ความคิด มันเหมือน “ห่วง” ที่ทำให้เรารู้สึกอาลัยอาวรณ์กับสิ่งต่างๆเหล่านั้นตลอดเวลา

คำพูดของกัปตันไมค์ ที่ผมยกขึ้นมาตอนต้นเหมือนต้องการจะสอนให้เรารู้จัก “ปล่อยวาง” และ “ปลดปลง” กับการใช้ชีวิตนะครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่เราใกล้จะตาย แน่นอนว่าความห่วงหาอาวรณ์ การยึดติดในสิ่งต่างๆย่อมมีมากเป็นธรรมดา (when it comes to the end, you have to let go)

ดังนั้นช่วงเวลาที่เรายังมีลมหายใจอยู่นั้นเราน่าจะลองหมั่น “เจริญสติ” และปล่อยวางกับบางเรื่องดูบ้างก็ได้นะครับ เพราะถึงที่สุดแล้วชีวิตมันก็ไม่ได้มีอะไรมากมายให้เราต้องยึดติดตัวไปในวันที่เราไม่มีลมหายใจอีกต่อไปแล้ว

Hesse004

No comments: