Feb 5, 2009

“สามก๊ก” ฉบับประนีประนอม ของ “จอห์น วู”





จะว่าไปแล้วช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคมดูจะเป็นเดือนที่ “คอหนัง” น่าจะมีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งนะครับ เนื่องจากหนังแต่ละเรื่องที่ลงโรงฉายนั้นดูมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยด้วยเหตุที่ช่วงเวลาดังกล่าวใกล้ประกาศผลรางวัลออสการ์ (Academy award)

โดยส่วนตัวแล้ว ภาพยนตร์ที่ผมอยากดูมากที่สุดในช่วงเดือนนี้เห็นจะหนีไม่พ้น Red Cliff II หรือ “สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือภาค 2” ซึ่งสามก๊กตอนนี้นับเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้เกิดการแยก “แผ่นดิน”จีนออกเป็น “สามก๊ก” ตามแผนของยอดกุนซือของเล่าปี่นามว่า “จูกัดเหลียง ขงเบ้ง”

อย่างไรก็ตามแต่ “สามก๊ก” ฉบับภาพยนตร์อภิมหาทุ่มทุนสร้างภายใต้ผลงานการกำกับของ “จอห์น วู” (John Woo) นั้นกลับสร้างความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนในการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้ยึดตามแบบฉบับสามก๊กของ “หลอกว้านตง”

ผมไม่แน่ใจว่าการพัฒนาบทหนังหรือการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ครั้งนี้จะทำให้ “สามก๊ก” ของ “วู” นั้นผิดแผกไปจากประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารว่าด้วยเรื่อง “สามก๊ก” หรือเปล่า อย่างไรก็แล้วแต่หากเราชมภาพยนตร์ด้วยความบันเทิงเราก็จะเข้าใจ “งาน” ชิ้นนี้มากขึ้น

ตามมารยาทเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดของภาพยนตร์ Red Cliff II อย่างไรก็ดี “สามก๊ก” ของ “จอห์น วู” ที่โหมโรงกันมาตั้งแต่ช่วง “ปักกิ่งเกมส์”เมื่อปีที่แล้วนั้น ในความเห็นของผม คือ เป็น “สามก๊ก” ที่แสดงความประนีประนอมระหว่างตัวละครอย่าง “จิวยี่”แห่งกังตั๋งและ “ขงเบ้ง” แห่งเขาโงวลังกั๋ง

ความประนีประนอมดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาในภาพของการ “ช่วยกันทำงาน” มากกว่าจะมุ่ง “หักเหลี่ยมเฉือนคม”กันทั้งๆที่หนังสือสามก๊กของหลอกว้านตงจะพยายามยัดเยียดนิสัย “ริษยาจริต”ให้กับ “จิวยี่”

สามก๊กของ “วู” ดูจะละเลยฉากการ “ชิงไหวชิงพริบ” ในเชิงกลศึกซึ่งในตอน “ยุทธการเซ็กเพ็ก” นี้นับว่าเต็มไปด้วย “เล่ห์เพทุบาย” มากมาย ซึ่งจอห์น วู กลับไม่สามารถดึงจุดเด่นของตอนนี้ออกมาได้

อย่างไรก็แล้วแต่หากเราสำรวจเบื้องหลังผลงานเก่าๆของ “วู” จะพบว่า เขาอาจไม่ถนัดกับการนำเสนอมุมมองที่ลึกซึ้งเท่าใดนัก แม้ว่างานที่สร้างชื่อของเขาอย่าง “โหด เลว ดี” หรือ A Better Tomorrow (1986) จะเป็นงานที่ดีและมีความลึกซึ้งอยู่ในตัวเองโดยเฉพาประเด็นความขัดแย้งระหว่างพี่ชาย (ตี้หลุง) ที่เป็นโจรกลับใจกับน้องชาย (เลสลี่ จาง) ที่เป็นตำรวจ เข้าทำนอง “น้องต้องจับพี่”

งานถัดๆมาของ “จอห์น วู” ที่ไปปรากฏอยู่ที่สตูดิโอฮอลลีวู้ดนั้นอาจจะเน้นไปที่ความบันเทิงในเรื่องเตะต่อยเป็นสำคัญจนงานของเขาการันตีความมันส์ที่ “คิวบู๊” มากกว่าการจุดประเด็นให้คน “ขบคิด” ต่อ

เช่นเดียวกันกับ “สามก๊ก” ตอนยุทธการผาแดง ที่ “วู” อุตส่าห์ทุ่มทุนสร้างกองทัพเรือโจโฉอันเกียงไกรก่อนจะเผาพินาศให้เป็น “จุล” ในช่วงท้ายเรื่อง แม้ว่าเราอาจจะเห็นความสะใจของฉากที่อลังการและดูสมจริงสมจังแต่สิ่งที่ขาดหายไปจากงานของ “วู” คือ มิติของ “ตัวละคร”

จริงๆแล้ววรรณกรรม “สามก๊ก” เป็นวรรณกรรมคลาสสิคของโลกตะวันออก เหตุเพราะวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนความเป็น “มนุษย์” ออกมาทุกรูปแบบ เหมือนที่ The Brothers Karamazov ของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky) ฉายภาพ “หลายมนุษย์” ออกมา

มิติของตัวละครนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเราจะเข้าใจ “เหตุผล” และ “การกระทำ”ของตัวละครเหล่านั้นมากกว่าที่เราจะถูกยัดเยียดว่า “โจโฉ” แม่งเป็นคนเลวต่ำช้าอย่างที่สุด หรือ คนดีที่น่ายกย่อง คือ “เล่าปี่” ผู้ประนมมือสิบทิศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแต่ “สามก๊ก” ได้สอนให้เราในฐานะผู้อ่าน ผู้เสพเข้าใจใน “ความเป็นมนุษย์” มากกว่า “เล่ห์เหลี่ยม”ที่แพรวพราว แม้ว่า “เล่ห์” เหล่านี้จะจำเป็นในบางครั้งหากเราคิดจะอยู่รอดให้ได้ในสังคมที่แก่งแย่งและซับซ้อนขึ้นทุกวัน

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วครับว่า “สามก๊ก” ฉบับนี้ของ “จอห์น วู” สื่อให้เห็นภาพของ “ความประนีประนอม” ช่วยกันทำงานของ “ขงเบ้ง”กับ “จิวยี่” แม้ว่าภายหลัง “จิวยี่”จะกระอักเลือดตายด้วยแรงริษยาที่มีต่อ “สติปัญญา” ความฉลาดของขงเบ้ง แต่หากย้อนคิดไปที่ “วิธีการตีความ” ของจอห์น วู บางทีเราอาจจะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ “วู”ต้องการสื่ออาจจะเป็นแค่ “อุดมคติ” ของการทำงานใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความ “สามัคคี” เป็นสำคัญ

หากหันกลับมามองมุมนี้แล้ว อาจจะเข้าใจต่อไปได้ว่าสิ่งที่ “วู” พยายามจะพูดผ่านหนังของเขาคือ “วิธีคิดของคนเอเชีย” ต้องเปลี่ยนใหม่เสียหมด กล่าวคือประเภทข้ามาคนเดียวคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วหากเราจะต้องรับมือกับ “ศัตรู”ที่มีกำลังมากกว่าหลายสิบเท่า ซึ่งสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดอาจจะเป็นการตีความแบบเข้าใจ (เข้าข้าง) จอห์น วู ในการทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

ผมขออนุญาตปิดท้ายเอนทรี่นี้ด้วยคำพูดของ “จิวยี่” ที่พูดก่อนตายไว้อย่างน่าอนาถใจว่า “เทียนกี้แซยี่ ฮ่อปิ๊ดแซเหลียง” แปลเป็นไทยสั้นๆว่า “เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย” แต่สำหรับสามก๊กฉบับ “จอห์น วู” แล้วเห็นทีคำพูดนี้คงใช้ไม่ได้ผลมั๊งครับ

Hesse004

No comments: