Apr 23, 2007

Hermann Hesse กับสิทธารถะ





ก่อนอื่นผมขออนุญาตแนะนำตัวเองก่อนนะครับ ผมใช้นามใน Blog ว่า Hesse004 นามที่ว่านี้มีที่มาจากชื่อของ "เฮอร์มาน เฮสเส" (Hermann Hesse)นักเขียนและกวีชาวเยอรมันซึ่งภายหลังโอนไปถือสัญชาติสวิสครับ

เฮสเสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ. 1946 โดยจุดเด่นของงานเขียน "เฮสเส" อยู่ที่เรื่อง "การท่องไปในโลกของจิตใจของมนุษย์" ครับ

ผมรู้จักงานเขียนของเฮสเส ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือชื่อ "สิทธารถะ"สะดุดตาผมโดยบังเอิญระหว่างที่ผมกำลังหาหนังสืออ่านเล่นในห้องสมุด ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ เฮอร์มาน เฮสเส แต่อย่างใดครับ สังเกตแต่เพียงว่าหน้าปก "สิทธารถะ"มีชื่อ"สดใส"เป็นผู้แปล

หลังจากที่ยืมหนังสือเล่มนี้ไปอ่านผมประทับใจในงานชิ้นนี้ของเฮสเสมากครับประกอบกับสำนวนแปลของอาจารย์สดใสยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์มากเข้าไปอีก

สิทธารถะเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการแสวงหามรรคของมนุษย์ผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นในวิถีของตัวเอง บรรยากาศตามท้องเรื่องจึงย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลครับ กล่าวกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิด "นักปราชญ์"ขึ้นมากมายในโลก อาทิ พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พลาโต อริสโตเติล เป็นต้น

เฮสเสมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจครับ ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นคนตะวันตกเข้าใจปรัชญาตะวันออกได้อย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น "ตอนพระสมณโคม"ที่เฮสเสเขียนถึงบทสนทนาของ"พราหมณ์หนุ่มสิทธารถะ" นักแสวงหา กับ "พระพุทธองค์" ศาสดาเอกผู้ค้นพบหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดท้ายแล้ว สิทธารถะเลือกที่จะไม่บวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ดังคำพูดตอนหนึ่งที่สิทธารถะทูลกับพระพุทธองค์ว่า

"พระองค์ทรงบรรลุก็โดยการแสวงหาตามวิธีการของพระองค์เอง โดยการคิดการบำเพ็ญเพียร โดยความรู้และการตรัสรู้ พระองค์ไม่ได้เรียนจากการสอน ด้วยเหตุนี้แหละพระสมณโคดม ข้าจึงคิดว่าไม่มีผู้ใดพบทางหลุดพ้นโดยการเรียนจากคำสอน"

คำพูดดังของสิทธารถะตรงกับคำถามในใจของผมคิดที่ว่า "สภาวะนิพพาน"หรือ "การบรรลุธรรม"ของแต่ละคนนั้นมันจะเหมือนกันหรือเปล่า?

ประโยคที่ยกมาข้างต้นถ้าดูเพียงเผินๆเราอาจจะสรุปว่าสิทธารถะเป็นคนดื้อและเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่อย่างไรก็ตามเฮสเสได้แสดงให้เห็นว่าสิทธารถะพยายามหามรรคาหลายหนทางเพื่อไปสู่วิถีแห่งการหลุดพ้นด้วยตัวเอง

หลังจากแสวงหาทางหลุดพ้นโดยอาศัยโลกของ"โลกกุตระ"แล้ว สิทธารถะกลับเลือกที่จะหันหลังให้กับโลกดังกล่าวและเลือกที่จะเรียนรู้โลกแห่ง"โลกียะ"ที่เขาไม่คุ้นเคยมาก่อน

เขาได้เรียนรู้เพศรสจากหญิงงามเมืองอย่าง "กมลา" เรียนรู้กลการค้าจาก"กามสวมี"พ่อค้าใหญ่ เรียนรู้การเสพสุขของวิถีของปุถุชนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยห่อปากอย่างเย้ยหยันวิถีเช่นนี้ ทุกอย่างเป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนนับตั้งแต่เติบโตมาจากตระกูลพราหมณ์และเข้าสู่การแสวงหาด้วยการเป็นสมณะ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าเฮสเสพยายามเขียนเรื่องนี้โดยให้ชีวิตของสิทธารถะ"ล้อ"ตามแบบพุทธประวัติขององค์สมณโคดม เช่น ชื่อของ"สิทธารถะ"ก็มีความคล้ายคลึงกับชื่อของเจ้าชาย"สิทธัตถะ" อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับมีชีวิตที่สวนทางกันกับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชในพระชันษา 29 พรรษาโดยเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกียะไว้เบื้องหลัง แต่สำหรับสิทธารถะแล้ว เขากลับเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกุตระไว้และมุ่งแสวงหาโลกของ"ปุถุชน"แทน

อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับพบว่าโลกที่เขาลิ้มลองอยู่นั้นมันกลับไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ "เสียงในใจ"บอกให้เขาแสวงหามรรควิถีของการหลุดพ้นต่อไป

ณ ริมฝั่งน้ำเขาเกือบเลือกที่จะฆ่าตัวตาย เคราะห์ดีที่"สติ"ดึงเขากลับมาได้ทัน ถึงตอนนี้สิทธารถะไม่ต่างอะไรกับคนพ่ายแพ้ชีวิต รู้สึกถึงความไร้ค่าของการมีชีวิตอยู่ พ่ายแพ้ต่อโลกและกิเลส แต่การได้พบชายแจวเรือข้ามฟากอย่าง"วาสุเทพ"กลับทำให้วิธีคิดของสิทธารถะเปลี่ยนไป อาจเพราะด้วยวัยที่โตขึ้น ความลำพองในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาจึงค่อยๆลดลง อัตตาที่เคยพอกพูนจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆกลับค่อยๆหดหายไป เขาได้เรียนรู้จากวาสุเทพ ชายแจวเรือธรรมดาที่ค้นพบปรัชญาและสัจธรรมบางอย่างจากแม่น้ำ

"แม่น้ำกลับเป็นปลายทางของทุกคน ต่างโหยหา ปรารถนาและระทมทุกข์ แล้วเสียงของแม่น้ำก็มีแต่ความหวนไห้ เจ็บปวดและปรารถนาไม่รู้อิ่ม แม่น้ำไหลสู่จุดหมาย สิทธารถะเห็นแม่น้ำอันประกอบด้วยตัวเขา ญาติมิตร และผู้คนที่เคยพบ เร่งไหลพลิ้วไปข้างหน้า ทั้งสายน้ำและเกลียวคลืนต่างรีบรุดทุกข์ทรมานไปสู่เป้าหมายอันหลายหลาก ไปสู่น้ำตก สู่ทะเล สู่กระแสน้ำ สู่ห้วงมหาสมุทร และแม่น้ำบรรลุถึงเป้าหมายไปตามลำดับ น้ำเปลี่ยนเป็นไอแล้วระเหยกลายเป็นฝนตกสู่พื้น กลายเป็นน้ำพุ ห้วยธรและแม่น้ำ เปลี่ยนใหม่แล้วกลับไหลอีก แต่เสียงเรียกขานนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว มันยังส่งกังวาลเศร้าอย่างเสาะค้น แต่ก็มีเสียงอื่นๆควบคู่มาด้วย เสียงแห่งความสนุกเบิกบาน และเสียงแห่งความเศร้า เสียงความดี เสียงความเลว เสียงหัวเราะและเสียงคร่ำครวญเป็นสรรพเสียงนับร้อยพัน"

"สิทธารถะ" นับเป็นหนังสือที่ผมหยิบขึ้นมาอ่านบ่อยที่สุดครับ ผมตั้งใจว่าในทุกๆปี ผมจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย 1 รอบ ซึ่งในแต่ละปีผมพบว่าผมมองสิทธารถะเปลี่ยนไปตามโลกที่ผมรู้จักและวัยที่โตขึ้น

ผมว่าการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องของ"ศิลปะในการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง" นะครับ ทุกวันนี้เราลืมถาม"เสียงในใจ"ของเราว่าเราต้องการทำอะไรหรืออยากทำอะไร เสียงในใจของเราถูกกลบไปด้วยกระแสของโลกาวัตถุ บางหนเราไม่สามารถนำพาตัวเองให้หลุดจากโลกียะขณะที่บางทีเรากลับไปยึดติดกับสิ่งที่แสวงหามากจนเกินไปจนเราไม่อาจพบเจอ เข้าทำนอง "ยิ่งแสวงหา ยิ่งไกลห่าง"

ผมว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นเหมือน"พุทธองค์ไ เป็นเหมือน"สิทธารถะ" ที่พยายามดิ้นให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎฎของการมีชีวิต ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะได้พบกับมันในชาตินี้หรือชาติไหน

Hesse004

4 comments:

Joanne said...

เป็นกำลังใจและรออ่านเสมอค่ะ พ่อนักเขียน ของรุ่น ว่าที่นักเขียนระดับประเทศ
พี่เก่ง

ปรีดีโดม said...

เรียนพี่ต้วน
ผมเองชอบเรื่องนี้ตรงที่ การแสวงหาของสิดดารถะ ซึ่งผมเองให้ความสำคัญกับมันมาก ในฐานะมนุษย์ที่ดำรงชีวิต (อันนี้ความเห็นส่วนตัว ถ้าใครมองเป็นอื่นนั้นก็คือ เรามีความเห็นที่แตกต่างกัน) และสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่น ไม่ว่าการมีคู่ครอง ลูก เงินทอง ผมเห็นว่าในช่วงชีวิตมนุษย์มันต้องมีการ solitude ที่ห่างไกลจากสังคมแห่ง(การสร้าง)ความเหงา(ร่วมหมู่) ตามความเห็นของผม การเรียนรู้ในแบบเยอรมันที่เรียกว่า “Bildung” ที่มีรากฐานมาจาก Goethe และ Kant มีอยู่ในงานของ Hesse เต็มๆ การเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อทำความเข้าใจตนเองและโลกที่ตนดำรงชีวิตอยู่ คือสิ่งที่ Hesse มีอยู่ร่วมในกระแสนี้ ดังนั้น หากเรากล่าวว่า งานของ Hesse เองนั้นเป็นกระแส “Bildungsroman” หรือนวนิยายที่ไม่ได้มีไว้อ่านเพื่อความจรรโลงใจเพียงถ่ายเดียวก็ว่าได้ แต่นวนิยายพวกนี้คือการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของผู้อ่าน การอ่านนวนิยายพวกนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกับการเดินทางแห่งการแสวงหาของสิดดารถะมากนัก และในความคิดคำนึงของผม พี่เองก็เป็นคนประเภทนี้

ผมเองไม่มีความรู้เรื่องวรรณกรรมมาก แต่ผมเห็นด้วยกับความคิดพี่ที่ว่า “คำพูดดังของสิทธารถะตรงกับคำถามในใจของผมคิดที่ว่า "สภาวะนิพพาน"หรือ "การบรรลุธรรม"ของแต่ละคนนั้นมันจะเหมือนกันหรือเปล่า?” เหมือนดังที่ สิดดารถะตระหนักต่อการมอบหนทางการดำรงชีวิตในการเรียนรู้ให้ลูกชาย ที่ท้ายที่สุดก็ถูกปฏิเสธ ด้วยหรือไม่ เออ ผมค่อนข้างชอบความความคิดนี้เลย เราปฏิเสธ fate ของเราไม่ได้ เหมือนกับวางกฏให้คนอื่นไม่ได้เช่นกัน การแสวงหาดังกล่าว มันจึงดูเป็นการแสวงหาแบบปลายเปิด สำหรับผู้แสวงหารายอื่น หรือคนรุ่นหลังที่ตามมา มันเป็นตอนที่ดีมากที่สิดดารถะนั้นปลีกตัวออกจากโคตมบุดดา ผมอ่านแล้วตอนนั้นรู้สึกว่า ใช่ เลย มันต้องมีวิธีของตนเองสิ และที่สำคัญที่สุด ถ้าใครคนนึงเจอความจริงอันสูงสุดแล้ว ทุกคนต้องตามหรือไม่ และกับคำถามที่เด็ดมาก อย่างที่พี่ว่าไว้ มัน สำหรับทุกคนหรือไม่? สุดยอดครับ
ผมเองคิดว่าสิดดารถะกลับมาอาจมองแตกต่างจาก ความคิดคู่ขั่ว โลกุตระ/โลกิยะ ในฐานที่อันนึงเหนือกว่า (ถ้าผมตีความพี่ไม่ผิดนะครับ) คือถ้าเรามองว่า Hesse เองพูดถึงการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ โดยมุ่งประเด็นปัญหาของการมีอยู่หรือดำรงอยู่ (existence) หากพยายามหมายรวมถึงการเรียนรู้ โลกของปรากฏการณ์ (the reality of the phenomenal world) ซึ่งการดำรงชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วม ดังนั้นการมองโลกของปรากฏการณ์ว่าเป็นเพียงภาพลวงตา หรือความไม่จริง มันดูราวกับเป็นการปฏิเสธคุณค่าของการดำรงชีวิตและการดำรงชีวิตในตัวมันเอง รู้สึกว่าโลกแห่งการคิด (intellect) กับการรับรู้ทาง sense ดูจะหลอมรวมอยู่ในกระบวนการค้นหาในการดำรงชีวิต หรือภาวะแห่งการมีอยู่ (existence) ของเราในงานชิ้นนี้ครับ

Tuan said...

ขอบคุณน้องโดมมากครับ สำหรับความเห็นนวนิยายเรื่องนี้มีอิทธิพลกับชีวิตพี่มากในเรื่องของการตั้งคำถามและวิธีคิดครับ อย่างไรก็ตามเราไม่มีวันรู้ว่าชีวิตมันคืออะไรหากเราไม่ได้ "ใช้"มันครับ

ปรีดีโดม said...

ที่จริงผมต้องขอบคุณพี่มากกว่าที่เขียนอะไรเพลินๆมาให้อ่านครับ

ผมยังมีข้อสงสัยว่า การ “ใช้” ชีวิตตามความคิดของพี่ต้วน นี้หมายถึงอะไรครับ? เพราะการตั้งคำถามดังกล่าวนั้นชวนให้เราลืมไปหรือไม่ว่ามนุษย์ทุกผู้ต่างก็ดำรงชีวิต? หรือทว่า มันไม่ใช่การ “ใช้” ชีวิต ตามความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พวกเราเรียนมา การเลือกตัวหนึ่ง ย่อมนำผลมาสู่การไม่สามารถเลือกข้ออื่นๆได้ ดังนั้นการเลือกข้อหนึ่งนำมาซึ่งต้นทุนอันหมายถึงการเสียตัวเลือกอื่นๆไป
หากความคิดทางเศรษฐศาตร์ดังกล่าวเชื่อถือได้ เราสามารถที่จะนำมาสู่ความเห็นได้ว่า การเลือกดำรงชีวิตแบบหนึ่ง หรือไสตล์ของชีวิตแบบหนึ่งเอง ก็วางอยู่บนต้นทุนของทางเลือกของชีวิตอื่นๆเช่นกัน ความแตกต่างในประเด็นดังกล่าวของคนอย่างน้อยสองคน ที่เลือกดำเนินชีวิตที่ต่างกันนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว สิ่งที่เราเห็นได้เบื้องต้นคือความแตกต่าง ซึ่งบ่งบอกเป็นลักษณะคุณภาพที่เรียนรู้และโต้ตอบจากสิ่งที่เขาประสบในการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตแบบหนึ่งที่อาจเรียกว่า “ใช้”ชีวิต ในแง่นี้ นั้นจะไม่นำมาซึ่งการขาดซึ่งประสบการณ์ โลก และทัศนคติที่หล่อหลอมตัวเขาในแบบอื่นหรือครับ? หากคำตอบอยู่ที่การมองว่าการเลือก “ใช้” ชีวิต คือการสร้างเสริมการเรียนรู้ที่กว้างและลึกกว่าทางเลือกอื่นแล้ว เราสามารถที่จะตั้งคำถามต่อคำตอบนี้ได้ว่า อะไรคือเกณฑ์หรือเครื่องมือพิสูจน์ฐานสมมุติดังกล่าว จนทำให้เรากล่าวข้อความหรือตัดสินได้เช่นนั้น? การอ้างอิงกับประสบการณ์ ในตัวมันเอง ไม่สามารถให้คำตอบ ในการอธิบายความคิดว่าด้วยความสากลในเกณฑ์การตัดสินนี้ได้ เพราะประการแรก เนื่องจากผู้พูดได้รับเพียงประสบการณ์หนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดประสบการณ์อื่นที่เขาไม่เลือก การตัดสินจึงมาจากการอ้างอิงความชอบธรรมของผู้พูดเองหรือไม่ครับ? หรือทว่าการตัดสินนี้ขาดเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลพอในการชี้วัดกับประสบการณ์ดำรงชีวิตอื่นๆ ประการที่สอง ประสบการณ์นั้นตอบยากมากว่าจะทำอย่างไรให้มันเป็นสิ่งสากล เพราะประสบการณ์ โดยตัวมันเองเป็นสิ่งเฉพาะ เกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ซึ่งปัจจัยต่างอันนำมาสู่การรับรู้ที่แตกต่างกัน ย่อมมีได้เสมอและไม่จำกัด เราถึงเห็นได้ว่าการมีประสบการณ์ร่วมระหว่างบุคคล2คนขึ้นไป ไม่จำเป็นที่ทั้งสองจะรับรู้และเข้าใจต่อมันเหมือนกัน(ทั้งในระดับของคุณภาพและปริมาณ (in degree)) เมือ่เป็นเช่นนี้ตามความคิดของผม ผมว่าเกณฑ์ตัดสินดังกล่าวยังดูคลุมเครือหรือไม่ครับ? พี่มีความเห็นอย่างไรครับ?

สำหรับผม คำถามเกี่ยวกับชีวิตนี่ มันฟังราวกับว่ามันเป็นคำถามสำหรับทุกคน เพราะทุกคนนั้นล้วนดำรงชีวิตอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ดูราวกับว่ามันเป็นคำถามที่ไม่ใช่สำหรับทุกคนเช่นกัน เพราะเหตุผลหนึ่ง มันคือโลกของเราที่จะจัดการกับมัน ด้วยตัวของเรา สถานะของเราในฐานะผู้ดำรงชีวิต กับผู้อื่นที่มองชีวิตเรา มันคงมีความแตกต่างกัน ในฐานของการดำรงอยู่ของชีวิตเรา นอกจากนี้ เราตั้งคำถามว่ามันเป็นคำถามสำหรับเรา คนเดียวเท่านั้นหรือ หากเรามองชีวิตเป็นกระบวนการ ของการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การ deal กับชีวิต ในแง่นี้ มันจึงตอบยากจริงว่าเรากำลังอยู่กับอะไรอยู่ แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่านั่นคือตัวของเราเอง ความเป็นสังคม(เช่น ภาษา กริยาท่าทางในการดำรงชีวิตในสังคมที่ฝังในร่างกายของเรา และๆลๆ) ล้วนทำให้เราเสมือนคนที่จ้องมองความเปลี่ยนแปลงของสิ่งอื่นในร่างที่เขา(และกฏหมาย)บังคับและตอกย้ำว่ามันคือตัวเราเอง เมื่อพิจารณาในแง่นี้ การถามเกี่ยวกับชีวิตของเราจึงไม่ใช่แค่เรื่องของเรา แต่มันเป็นของใครก็ไม่รู้ด้วยครับ (สังคม? โครงสร้างทางสังคม? Ideology? วาทกรรม?) อย่างน้อยเมื่อเราคิดถึงกรีกโบราณ อย่างในกรณีของโสกราเตส ที่บอกให้ เราร็จักตนเอง มันกลายเป็นว่าคำว่าตนเอง thyself นี้แท้ที่จริง มันคือการรู้จักชุมชนเมืองและความถูกต้องไปเสียครับ

โทษทีครับที่ร่ายยาวไปเล็กน้อย ที่จริงในการดำรงชีวิตทั่วไป ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสเขียน/พูดในเรื่องประเด็นนี้เท่าไหร่ครับ ขอบคุณครับในการสนทนา พี่ต้วน