Jun 18, 2010

“เข็มทิศชีวิต” การปฏิบัติธรรมของคนยุคใหม่






กระบวนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ที่เราเห็นวางขายตามร้านหนังสือดูเหมือนหนังสือแนวการปฏิบัติธรรมสมัยใหม่จะได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยนะครับ

และหากจะว่าไปแล้วในยุคสมัยของการบริโภคนิยม แม้ว่าเราจะมีสิ่งต่าง ๆ มาบำเรอตอบสนองความสุขของเราอยู่ตลอดเวลา แต่น่าแปลกที่ว่าทำไมเราถึงไม่รู้จักคำว่า “พอ” แถมยังพยายามโหยหาความสุขที่แท้จริงว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่?
ด้วยเหตุนี้แหละครับที่มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันคล้ายกับอะไรสักอย่างหนึ่งที่ “เบาหวิว” และพร้อมจะล่องลอยไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่กระแสลมจะพาไป

ไอ้ความเบาหวิวที่ว่านี้ทำให้ผมนึกถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏในหนังอยู่สองเรื่องครับ เรื่องแรกผมนึกถึง “ขนนก” ในหนังเรื่อง Forrest Gump (1994) ของ โรเบิร์ต เซเมคิส (Robert Zemekis) ส่วนอีกเรื่องผมนึกถึง “ถุงก๊อบแก๊บ” ที่ลอยเคว้งในหนังเรื่อง American Beauty (1999) ของ แซม เมนเดส (Sam Mendes) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาครองได้

สัญลักษณ์ทั้งสองอย่างไม่ว่าจะเป็น “ขนนก” หรือ “ถุงก๊อบแก๊บ” นั้น หากพิจารณากันให้ดี ๆ แล้วมันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้มันจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องมี “เข็มทิศ” นำทางให้กับชีวิต

หนังสือเรื่อง “เข็มทิศชีวิต” ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง นับเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งนะครับที่ว่าด้วยเรื่องการรู้จักใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับหลักธรรมของพุทธองค์

ทุกวันนี้การปฏิบัติธรรมของคนเมืองสมัยใหม่ดูจะให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันและ “ตามสติ” ของตนเองให้ทันเป็นหลัก และหากจะว่าไปแล้วในสังคมเมืองพุทธของเรา เรามี “ทุนทางธรรม” (Dhamma Capital) ที่แข็งแกร่งทั้งจากพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น “สายพระป่า” อย่างพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงพ่อชา สุภัทโธ หรือ “สายพระวิชาการ” อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเจ้าคุณปยุต (ป.อ. ปยุตโต) ท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ

นอกจากนี้เรายังมีพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่รับไม้ต่อในการเผยแพร่พระธรรมอย่างเข้มแข็ง อย่าง ท่าน ว.วชิรเมธี หลวงพ่อปราโมช ปาโมชโช หลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นต้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะเห็นได้ว่าบ้านเราเต็มไปด้วย “ทุนทางธรรม” จนเกือบจะเรียกได้ว่า “สมบูรณ์” อย่างมาก หากเราเพียงแค่หันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติอย่างตั้งใจ

ด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่คุณฐิตินาถ นำมาถ่ายทอดลงในหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” นั้น คือ การพยายามใช้ทุนทางธรรมเหล่านี้มาพัฒนาซอฟต์แวร์ของพวกเราที่เรียกว่า “จิตใจ” ให้มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะอยู่บนโลกนี้ได้ด้วยฐานของความสุขอย่างแท้จริงที่เรียกว่า “ความสงบ” ไงล่ะครับ

อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่าทุกวันนี้เรามักจะพูดกันว่า “ยิ่งวัตถุพัฒนาไปไกล แต่จิตใจกลับเสื่อมถอยลงรวดเร็ว” ทั้งนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันมาจากอานุภาพของ “ความสะดวกสบาย” หรืออานุภาพของ “ความเร็ว” หรือเปล่าที่ทำให้คนเราทุกวันนี้ไม่เรียนรู้ที่จะ “รอคอย” ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองได้รับเพราะทุกอย่างดูง่ายและสะดวกสบายไปเสียหมด

แม้ว่าจะมองอีกมุมหนึ่งว่า “ความเร็ว” ช่วยในการลดต้นทุนและประหยัดเวลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดของชีวิตมนุษย์นั้น แต่ก็น่าคิดนะครับว่าไอ้คำว่า “เวลา” ที่ว่ามานี้มันคือ สิ่งสมมติขึ้นมาหรือเปล่า นาฬิกาที่เราใส่ดูเวลาทุกวันนี้มันคือ “เรื่องสมมติ” ขึ้นมาอีกหรือเปล่า

แต่บางเรื่องก็ไม่น่าจะคิดไกล หรือ ตั้งคำถามกันไปเสียขนาดนั้นหรอกนะครับ เพราะทั้งหมดที่เราเผชิญอยู่บนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้กระทั่งวันที่เรา “ตาย”

“ความตาย” ในวันสุดท้าย ชั่วโมงสุดท้าย นาทีสุดท้ายและวินาทีสุดท้าย ก็คืออีกหนึ่งบทเรียนนะครับที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าชีวิตที่เกิดมานี้แท้จริงแล้วอาจจะไม่มีอะไรมากนัก “แค่อยู่ให้ดี มีความสุข ทำความเข้าใจกับตัวเองและสังคมรอบข้าง” เพราะเดี๋ยวเราก็ไม่อยู่แล้ว เหมือนปรัชญาหนังกำลังภายในที่บอกไว้ว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า”

เมื่อเริ่มคิดได้เช่นนี้ไอ้ภาวะที่เรียกว่า “ปลงก่อนตาย” มันก็คงเกิดขึ้นนะครับ การปลงและวางอย่างเข้าใจ ดูเหมือนว่าชีวิตก็น่าจะจากไปอย่าง “สงบ” ได้

ที่เขียนมานี้ใช่ว่าผมจะทำได้หรอกนะครับ เพียงแต่จะพยายามหัดทำ เพราะถ้าไม่ฝึกหัดกันเลย เดี๋ยวเวลาจากโลกนี้ไปแบบ “กะทันหัน” เดี๋ยวมันจะคิดไม่ทันล่ะสิครับ

นี่เองมั๊งครับที่พุทธองค์ท่านถึงให้เราหมั่น “เจริญสติ” กันอยู่ตลอดเวลา การเจริญสติ คือ รู้และเท่าทันในความคิด เท่าทันในลมหายใจว่า เออตอนนี้กูกำลังคิดอะไรอยู่นะ แน่นอนที่สุดแหละครับว่าไอ้จิตใจเรานี่แหละที่มันมักจะ “ฟุ้ง” ลอยไปไหนมาไหนอยู่เสมอ

การประคับประคองจิตหรือเลี้ยงอารมณ์ให้มันคงเส้นคงวานั้น คุณประโยชน์อย่างหนึ่งมันจะทำให้เราใช้ชีวิต “ผิดพลาด” น้อยลง

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่องเข็มทิศชีวิตของคุณฐิตินาถ ผมขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ว่าคุณฐิตินาถพยายามจะบอกพวกเราถึงการใช้ชีวิตอย่างมี “สติ” เพราะ สติ คือ เข็มทิศสำคัญที่นำพาให้ชีวิตเราอยู่ด้วยความปรกติสุข” ครับ

ไอ้ความ “ปรกติสุข” นี้แหละครับที่คือสิ่งที่ชีวิตคนทั่วไปต้องการ ถ้าเรียกแบบนักเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างผม ก็คงหนีไม่พ้น “ภาวะดุลยภาพ” ของการใช้ชีวิต

ท้ายที่สุดการปฏิบัติธรรมคงไม่ใช่เพียงแค่แฟชั่นของการนุ่งขาวห่มขาว เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพูดจาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ เพราะสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดมันคือองค์ประกอบของการปฏิบัติธรรม แต่สาระของการปฏิบัติธรรมนั้นมันน่าจะอยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจตัวเองและภาวะของโลกที่เราเผชิญได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นโลกียสุขหรือโลกุตรสุข

และจะดีไม่น้อยถ้าเรารู้สึก “ปล่อย “และ “วาง” ให้เป็น และจะดียิ่งเข้าไปอีกถ้าเราสามารถ “ปลด” และ “ปลง” ให้ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอกครับ แต่มันคงไม่ช้าเกินไปหากเราจะเริ่มต้นลองฝึกดู

Hesse004

No comments: