Mar 12, 2009

“หนังซามูไร” กับ “ความล้มเหลวของอำนาจรัฐ”





ปัจจุบันเราแทบจะหาชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ “ซามูไร” ได้น้อยมากนะครับ เท่าที่พอจำได้งานของ “เอ็ดเวิร์ด ซีวิคส์” (Edward Zwick) อย่าง The Last Samurai (2003) ได้ทำให้เราเห็นภาพของ “คนขาว” ที่หลุดหลงเข้าไปในดงซามูไรและเรียนรู้วิถีของซามูไรในสมัยเมจิ (Meiji era)

นอกเหนือจากงานของซีวิคส์แล้ว หนังที่ว่าด้วยซามูไรอย่าง “ซาโตอิชิ” Zatôichi (2003) ก็นับได้ว่าน่าสนใจไม่น้อยนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้ได้ซูปเปอร์สตาร์ดาราตลกของญี่ปุ่น “ทาเคชิ คิตาโน่” (Takeshi Kitano) มารับบทเป็นซามูไรบอดที่ย้อมผมทอง “คิตาโน่” พยายามทำให้ซาโตอิจิเป็นส่วนผสมของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมอเมริกันซึ่งจะว่าไปแล้ว “ซาโตอิชิ” คือ ซามูไรอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative Samurai) ที่แหวกรูปลักษณ์ซามูไรที่เราเคยเห็นมา

ดูเหมือนว่าการสร้างหนังเกี่ยวกับซามูไรนั้น ผู้กำกับจะต้องเข้าใจ “วิถีแห่งซามูไร” อย่างลึกซึ้งนะครับ ซึ่งในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นแล้ว ผู้กำกับที่สร้างหนังซามูไรได้น่าประทับใจที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “อาคิระ คูโรซาว่า” (Akira Kurozawa) ครับ

“คูโรซาว่า” คือ ตำนานที่เป็นอมตะของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบงานของคูโรซาว่าไม่แพ้งานของ “ชาลี แชปลิน” เลย

“คูโรซาว่า” ได้ทำให้หนังญี่ปุ่นหลายเรื่องกลายเป็นหนังคลาสสิคตลอดกาล ตั้งแต่ Rashomon (1950), Ikiru (1952), Seven Samurai (1954), Kagemusha (1980) และ Ran (1985) เป็นต้น

ตลอดระยะเวลากว่าห้าสิบปีของการสร้างหนัง “คูโรซาว่า” นับเป็นผู้กำกับคนแรกๆที่สามารถปักธงชัยภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้ในวงการภาพนตร์โลก หนังของ “คูโรซาว่า” ทุกเรื่องมีส่วนประสมที่ลงตัวระหว่างข้อคิดและความบันเทิง ทั้งนี้ยิ่งประสบการณ์การกำกับหนังของเขาเพิ่มสูงมากขึ้นเท่าไร “ความลึกซึ้ง” ที่ปรากฏอยู่ในหนังของคูโรซาว่ายิ่งมีมากขึ้นตาม

“คูโรซาว่า” เริ่มกำกับหนังในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามโลกครั้งที่สองโดยหนังเรื่องแรกของคูโรซาว่า คือ Sanshiro Suguta (1943) ครับ เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นซึ่งคูโรซาว่าได้เริ่มแฝงปรัชญาซามูไรเข้าไปในหนังเรื่องแรกของเขาด้วย

นับจากวันนั้นคูโรซาว่าได้สร้างหนังเกี่ยวกับซามูไรออกมาอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น Sanshiro Suguta Part II (1945) The Men Who Tread on the Tiger’s Tail (1945) , Seven Samurai (1954), Throne of Blood (1957), Yojimbo (1961) , Sanjuro (1962), Kagemusha (1980) และ Ran (1985)

ว่ากันว่าการสร้างหนังซามูไรของคูโรซาว่าในช่วงทศวรรษที่ 50 นั้น เป็นไปตามกระแสการสร้างหนังคาวบอย (Cowboy Film) ของฮอลลีวู้ดนะครับ การสร้างหนังแนวนี้เน้นไปในเรื่องของการเชิดชู “ลัทธิบูชาวีรบุรุษ” (Heroism) ครับ

อย่างไรก็ดีวิถีซามูไรกับวิถีคาวบอยนั้นมีความแตกต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าความเหมือนกันของสองวิถีนี้ คือ การเคารพในคุณธรรมน้ำมิตรและเกลียดชังความชั่วร้ายทุกรูปแบบโดยเฉพาะความชั่วร้ายที่มาจากอำนาจเถื่อนหรือแม้แต่อำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการปรากฏกายของ “ซามูไร” หรือ “คาวบอย” ในห้วงยามที่ชาวบ้านร้านตลาดกำลังเดือดร้อนเพราะถูกโจรนอกอำนาจรังแกโดยที่พวกเขาไม่สามารถหวังพึ่งพาอำนาจรัฐที่จะให้การคุ้มครองได้อีกต่อไป

การที่ชาวบ้านหันไปพึ่งพามิตรพเนจรอย่าง “ซามูไร หรือ คาวบอย” มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความล้มเหลวของอำนาจรัฐ”ในการรักษาความปลอดภัยให้กับชาวบ้านมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องอย่างนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยนะครับ เพราะนักเศรษฐศาสตร์มักจะอธิบายว่าบทบาทสำคัญของรัฐ คือ “การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ด้วยเหตุนี้เอง “บริการการป้องกันประเทศ” (Public Defense) จึงเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่สำคัญ ที่ไม่สามารถกีดกันการบริโภคได้และหากใครคนหนึ่งบริโภคบริการนี้แล้วก็ไม่ได้ทำให้ใครอีกคนหนึ่งบริโภคบริการนี้ลดลง

อย่างไรก็ตามความล้มเหลวของอำนาจรัฐในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามที่ปรากฏอยู่ในหนังซามูไรหรือคาวบอยนั้นยิ่งตอกย้ำให้เราเริ่มไม่ค่อยมั่นใจกับ “คนของรัฐ” ที่จะมาคุ้มครองเราได้ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านอย่างเราๆจึงต้องหันไปพึ่งพา “ฮีโร่พเนจร” แทน

ผลพวงจากการสร้างหนังภายใต้ “ลัทธิบูชาวีรบุรษ” ได้ต่อยอดมาสู่การสร้างหนังจำพวก “ยอดมนุษย์” ทั้งหลายครับไม่ว่าจะเป็น ซูปเปอร์แมน, แบทแมน, สไปเดอร์แมน, อุลตร้าแมน หรือแม้แต่ไอรอนแมน

แน่นอนครับว่าการปรากฏกายของเหล่ายอดมนุษย์ในภาพยนตร์ย่อมสร้างความอุ่นใจให้กับชาวประชามากกว่าการมาของตำรวจหรือกองทัพ

ทั้งหมดนี้เป็น “จินตนาการ” ของคนสร้างหนังที่พยายามชี้ให้เห็นว่าการหวังพึ่งพาอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะช้าเกินไปไม่ทันการณ์ เพียงแต่ว่าในโลกของความเป็นจริงแล้วคงจะหวังพึ่งพาฮีโร่หรืออัศวินพเนจรไม่ค่อยจะได้น่ะสิครับ
Hesse004

No comments: