![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjfHWQWsaqrrNIjNACC1BtT75RQBUo-hovBO4eMp-v73KYfF3oRFJ39pnL6FGqO0UTCWgPEArMeHcP6afUfLyo3k1zFJdLD1o3y04gAdBsuLDfN2Jxb1jmzqs0ThX7yMLj4w4BhlkNCCNfM/s400/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%AA.jpg)
ผมว่าคนเมืองสมัยนี้พยายามหาวิถีทางที่จะจัดการกับ “อารมณ์” ตัวเองในวันที่ชีวิตไม่ปกติสุข
วิถีทางที่ว่านั้นมีทั้งฝั่ง “โลกุตตระ” และฝ่าย “โลกียะ”ครับ โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะหัน “พึ่งพระ” ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจหรือร้อนใจ ด้วยเหตุนี้ “พระ” ในบริบททางสังคมจึงคล้ายกับอาชีพนักจิตวิทยาไปในตัว
นอกจากพระแล้วยังมี “หมอดู” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในสังคมที่คนรู้สึกสับสนกับชีวิตหรือหาทางออกในชีวิตไม่ได้นั้น การหา “หมอดู” ก็เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “อยากรู้อนาคต” โดยได้รับความพึงพอใจจากการบริโภคเป็นความสบายใจ หรือหากหาแล้วไม่สบายใจมากกว่าเดิมก็ต้องบริโภคสินค้าอย่าง “การสะเดาะเคราะห์” เพื่อแลกกับความสบายใจอีกรอบหนึ่ง
ผมว่าจริงๆแล้วโลกนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ทั้งหมดหรอกครับ คนที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดจริงๆ คือ “ตัวเราเอง” ไงล่ะครับเหมือนคำพระท่านว่า “อัตตาหิ อตตโนนาโถ” หรือ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
“ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน”นั้นน่าจะมีนัยยะที่มากกว่าการช่วยเหลือตัวเองนะครับ นัยยะที่ว่านี้แฝงไปด้วยเรื่องการจัดการกับอารมณ์ของตนเองทั้งเวลาสุขหรือเวลาทุกข์
อารมณ์คนเรามันก็เหมือนกับ “น้ำ” แหละครับ นั่นคือไม่ค่อยจะนิ่งสักเท่าไร มีขึ้นมีลง มีเกรี้ยวกราด มีสงบ จนบางครั้งเราก็รู้สึกตาม “อารมณ์” ตัวเองไม่ทันเหมือนกัน
“อาม่า” ท่านเคยสอนผมว่าเราควรจะมี “เซฟทีคัท” (Safety Cut) ประจำจิต เพราะจะได้รู้ว่าตอนไหนที่เราควรจะรีบตัดอารมณ์ไม่ดีออกจากจิตของเราก่อนที่ปัญหาอื่นๆจะบานปลายตามมา
ผมว่าอาม่าท่านพูดถูกครับ เพราะทุกวันนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของมนุษย์เราคือการที่เราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่ดีของตัวเองได้
ไอ้เจ้า “อารมณ์เสีย” หรือที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “จิตตก” นั้นมันเป็นสภาวะที่ไม่มีใครอยากจะรู้สึกเท่าไรนักหรอกครับ เพียงแต่ว่าชั่วขณะนั้นเราจะสามารถ “คุมสติ” ตัวเองได้ดีหรือเปล่า
ในช่วงห้าหกปีมานี้ ผมเริ่มเห็นคนเมืองสนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น อาจเพราะสภาพสังคมที่บีบรัด แก่งแย่งแข่งขันในทุกเรื่องทำให้คนอยากหาที่พึ่งทางจิตหรือที่พักทางใจไว้เวลาสับสน ทุกวันนี้มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดย “ฆราวาส” มากขึ้นนะครับ ยกตัวอย่างเช่นหนังสือเรื่อง “เข็มทิศชีวิต” ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง, หนังสือของทันตแพทย์สม สุจีรา อย่าง “ทวาร 6: ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง”, หรือหนังสือของคุณดังตฤณอย่าง “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” เป็นต้น
ขณะเดียวกันหนังสือธรรมะที่เขียนโดย “พระสงฆ์” ที่น่าเคารพศรัทธาก็มีอยู่หลายเล่มนะครับไล่ตั้งแต่งานคลาสสิคของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือ คำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)เช่นเดียวกับพระสงฆ์สายปฏิบัติสมัยใหม่อย่างหลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช
คำสอนของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสนั้นเป็นคำสอนที่ทำให้เรารู้สึก “สบายใจ” ครับ จริงๆแล้วไอ้คำว่าสบายใจเนี่ย หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้วมันเป็นการได้รับอรรถประโยชน์ (Utility) อย่างหนึ่งของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “ธรรมะ” ครับ
คำสอนในพุทธศาสนามักจะเน้นไปที่เรื่องของ “การดูจิต” ตนเองเป็นหลักนะครับ การดูจิตตนเองก็เหมือนการทำความรู้จักกับ “ตัวเอง” หรือหากเรียกแบบชาวพุทธก็คือการมี “สติ” อยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ
เวลาที่เราเริ่มรู้สึก “จิตตก” นั้นดูเหมือนใจเราจะ “ร้อน” ผิดปกตินะครับ ไอ้ความร้อนที่ว่านี้หากไม่มี “เซฟทีคัท”ในใจไว้ตัดก่อนเนี่ยอาจนำมาซึ่งความ “ฉิบหาย” ของชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้นการมีสติจึงเหมือนการติดเซฟทีคัทให้กับใจของเรา
สองสามปีหลังมานี้การเจริญสติของผมได้รับคำแนะนำจาก “มิตรสหาย” หลายท่าน หนึ่งในคำแนะนำของกัลยาณมิตรเหล่านี้ก็คือ การสวดมนต์ไหว้พระให้เป็นกิจวัตร การเข้าวัดฟังธรรมหรือการหัดนั่งสมาธิเพื่อดูสติตัวเองซึ่งบ่อยครั้งผมมักจะ “หลับสมาธิ” ไปเลยก็มี
คำแนะนำต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตนะครับ นอกจากนี้การหัดบริหารสติด้วยการ “ดูจิต” ตัวเองตลอดเวลา ประมาณว่ารู้ว่าตอนนี้ “สุข” อยู่ “เจ็บ” อยู่ “เสียใจ” อยู่ “โกรธ” อยู่ “โมโห” อยู่ หรือ “ฟุ้งซ่าน” อยู่ ก็ทำให้รู้สึกว่าเรา “นิ่ง” ขึ้นบ้างแม้จะไม่ได้นิ่งอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่าเราควรจะเรียนรู้ที่จะบริหารอารมณ์หรือดูจิตตัวเองนะครับ เพราะความสุขที่แท้จริงของการใช้ชีวิตนั้นคือ “ความสงบร่มเย็น” สงบในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่แบบเงียบๆคนเดียวหรอกครับ แต่สงบน่าจะหมายถึงการที่เราพยายามไม่ “ยึดติด” อะไรมากจนเกินไปนักในชีวิต สงบในที่นี้อาจจะรวมความไปถึงการหัดรู้จัก “ปล่อยวาง”อะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันเป็น “ขื่อคา” ที่เราแบกไว้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่คิดที่จะวางลงเลย
ยิ่งอายุมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าการใช้ชีวิตให้มีความสุขนั้นเป็น “ศิลปะ” อย่างหนึ่งครับแต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้หากเราขาดซึ่งความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว บางทีความสุขที่ว่ามานี้มันก็อาจเป็นแค่ความสุขแบบ “เพลิน”ๆ เหมือนที่พระท่านว่าไว้ไงล่ะครับ
Hesse004
2 comments:
ถึงที่สุดแล้ว เราก็ไม่เอาอะไรสักอย่างเนอะ ถึงขั้นสำเร็จวิชาแล้ว กุศลก็ไม่เอา อกุศลก็ไม่เอา อย่างนั้นเลย (แล้วที่เรียน ที่ทำงานงกๆ อยู่นี่ มันค้านกันมั้ยเนี่ย =_=" )
สมัยก่อนเวลาอ่านหนังสือธรรมะ จะมีคำว่าไม่ยึดติด ปล่อยวาง...ก็คิดๆเอาว่าเออ..ไม่ควรยึด พอมีเรื่องทีก็ยึดทีหนึ่ง แล้วก็มาคิดถึงคำแบบนี้อีก วนเวียนไป ไม่รู้จักจบ
เราถึงบอกว่า ธรรมะ ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการอ่านหรือการคิด แต่เข้าใจได้ด้วยการ"รู้" จะรู้ได้ก็ต้องฝึกฝนจนตัวรู้นั้นเกิดขึ้นมา และเรื่องแบบนี้ เราฝึกได้ทุกวันตั้งแต่ตื่นยันหลับ ไม่ใช่ต้องไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมซะเมื่อไหร่
กว่าจะหาเส้นทางที่ถูก เพื่อฝึกฝนการรู้ ตื่น ไม่ง่ายเลยนะ ถ้าต้วนเจอแล้ว ก็อย่าเดินผ่านไปเฉยๆล่ะ *_*
ขอบคุณมากครับพี่้อ้น
Post a Comment