![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhiUpBp4kWigTIHj85_BoD3_vgSJn3kaJBhvod9Ba7a12gN8QZTZ7bNfGb9fzLmLTNdhXGXFBf7Bdb2T5FBzFekuP9-N_3nPA1Vo4SDbzeNeks28GR__ZoBY_mc7oN9NeBIkUMkdpg6PnV5/s400/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97.jpg)
กระบวนหนังไทยที่ว่าด้วยเรื่องราวของความรักในช่วงมหาวิทยาลัยดูเหมือนว่า “เพื่อนสนิท” (2548) ของคุณเอส คมกฤษ ตรีวิมล มีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ
หนังไทยเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง “ตู้ไปรษณีย์สีแดง”ก่อนจะได้รับการพัฒนาบทภาพยนตร์โดยคุณนิธิศ ณพิชญสุทิน ซึ่งได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงและเวทีสุพรรณหงส์
สำหรับความพิเศษของหนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” อยู่ที่ประเด็นในการนำเสนอครับ ประเด็นที่ว่านี้คนทำหนังเขาโปรยไว้บนใบปะหนังว่า “คุณเคยแอบรักเพื่อนสนิทไหม?”
เคยมีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่าผู้ชายกับผู้หญิงจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกันจริงๆได้หรือเปล่าโดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแอบคิด “เผลอใจ” ไปแอบรักเพื่อนตัวเองเข้า
ความรักที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เป็นความรักของคนหนุ่มสาวในช่วงวัยรุ่นตอนปลายที่ผ่านช่วงอารมณ์หวานแหววกุ๊กกิ๊กมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ความรักของคนช่วงนี้จึงเริ่มต้องการแสวงหาความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นกว่าเก่า
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักของคนสามคนครับโดยสองคนแรกมีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนสนิทมาก่อนทั้งๆที่เจ้าหนุ่มไข่ย้อยอาจจะแอบหลงรัก “ดากานดา” เพื่อนสาวมาตั้งแต่แรกเห็น
ขณะที่ความรักของ “นุ้ย” พยาบาลสาวแห่งเกาะพงันเป็นความรักที่เกิดจากความพยายามจะหาใครสักคนที่ใช่มาโดยตลอดแต่จนแล้วจนรอดรักของสาวใต้คนนี้ก็ไม่สมหวังเสียที
ผมเคยแอบตั้งข้อสังเกตในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ว่า “ความรัก” ของคนเรามันก็เหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่มีทั้งผู้เสนอซื้อและผู้เสนอขายนะครับ บางครั้งเราก็เป็นคนบริโภคความรักเช่นเดียวกับที่บ่อยครั้งเราก็ชอบเป็นผู้ผลิตความรักขึ้นมาเสียเอง
อย่างไรก็ตามไม่มีใครรู้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible hand) ของใครกันแน่ที่เป็นคนจับชนให้คนสองคนมารักกันและท้ายที่สุดคนทั้งคู่ก็กลายเป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคความรักไปพร้อมๆกัน แหม่! ผมเขียนเสียเคลิ้มเชียว…
บางทีชีวิตคนเรามันมักมีเรื่อง “ตลก” แบบไม่คาดฝันเข้ามาอยู่เสมอนะครับ และไอ้ความไม่คาดฝันนี้เองที่ทำให้เราอาจได้พบใครบางคนซึ่งท้ายที่สุดกลับกลายมาเป็น “คู่ชีวิต”ของเรา
แต่บ่อยครั้งนะครับที่มี “ตีนที่มองไม่เห็น” (Invisible foot) มาถีบให้กลไกที่ว่านี้มันล้มเหลวหรือไม่ทำงาน นั่นจึงเป็นสาเหตุของการ ผิดหวัง ไม่สมหวัง อกหัก แห้ว กับ อารมณ์รัก
ไอ้การผิดหวังกับความรักเนี่ยมันทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนแปลงไปนะครับ บางคนฟูมฟาย บางคนบ้าบอ บางคนประชด และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือทำไมเวลาเราอกหัก เรามักจะไปตัดผมกัน?? หรือจะเป็นเพราะว่าการตัดผมอาจเปรียบเสมือนการ “ตัดเยื่อ ขาดใย” ไม่ให้เราหวนไปนึกถีงเรื่องรักที่เจ็บช้ำ
“เพื่อนสนิท” ยังหยิบยกวรรณกรรมคลาสสิคอย่าง “เจ้าชายน้อย” ของอังตวน แซงเต็ก ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) นักเขียนชาวฝรั่งเศส มาใส่ไว้ในบทหนังด้วย เจ้าชายน้อยได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่เด็กอ่านก็ได้ ผู้ใหญ่อ่านยิ่งดี เพราะหนังสทอเล่มนี้ให้ข้อคิดหลายอย่างในการมองโลกและชีวิต
อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้หยิบเพียงบางส่วนของเจ้าชายน้อยที่เกี่ยวกับเรื่อง “ความสัมพันธ์” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่เราจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกับใครสักคนได้นั้นมันต้องเริ่มต้นมาจากการสร้างความสัมพันธ์เป็นอันดับแรกก่อนครับ
ในบทที่เจ้าชายน้อยพบหมาจิ้งจอก แล้วหมาจิ้งจอกพูดถึงความสัมพันธ์ไว้ว่า “เธอต้องทำให้ฉันเชื่องเสียก่อน แล้วฉันก็จะเป็นเพื่อนกับเธอ” นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์
จริงๆแล้วคำว่า “เชื่อง” มีความหมายไม่ต่างอะไรกับคำว่า “ไว้ใจ” หรือ “วางใจ” นะครับ ดังนั้นการที่เราจะเริ่มต้นคบหาใครเป็นเพื่อนสนิทสักคน เราคงต้องทำให้เขา “ไว้ใจและวางใจ”เราได้ก่อน
หลังจากนั้นความสัมพันธ์มันต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทนครับ พูดง่ายๆว่ากว่าจะ “ซี้” กันได้เนี่ยมันต้องใช้เวลาพอสมควร
แต่ที่สำคัญที่สุดในเรื่องของความสัมพันธ์ก็คือ “การรักษาความสัมพันธ์” ไงล่ะครับซึ่งหมาจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยว่า “เราต้องรู้จักที่จะรับผิดชอบความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้นมา”
บ่อยครั้งนะครับที่ความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทจบลงด้วยความเคียดแค้น ชิงชัง จบลงด้วยโศกนาฎกรรมทั้งนี้ทั้งนั้นก็มาจากการที่เราไม่รู้จักที่จะรับผิดชอบความสัมพันธ์นั่นเอง
หนังเรื่องนี้ใช้เพลง “ช่างไม่รู้อะไรเลย” ของคุณตั้ม สมประสงค์ มาเป็นเพลงประกอบภายนตร์โดยได้คุณบอย พีซเมคเกอร์ มาร้องใหม่ ซึ่งก็เพราะไปอีกแบบหนึ่งนะครับ
ท้ายที่สุดผมคิดว่าบางทีชีวิตคนเราอาจจะต้องเลือกหนทางของความรักระหว่าง “เลือกคนที่ใช่” หรือจะ “รอคนที่ชอบ” ต่อไป ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจะได้คำตอบแล้วว่าไข่ย้อยเลือกทางไหนนะครับ
Hesse004
1 comment:
แปลกนะ เราเคยคิดๆเหมือนกันว่า ทำไมถึงมีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นได้ในคนคู่หนึ่งๆ บังเอิญจริงหรือ ...หรือเป็น "มือที่มองไม่เห็น" กันแน่
ถ้ามองทางพุทธ มือนั้น ก็อาจเป็นวิบากกรรม ไม่รู้ในชาตินี้หรือชาติไหนที่ตามตัวตนของเรามา
เมื่อวานเพิ่งไปนั่งอ่านเรื่องใน blog ของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ถามว่า รักด้วยสมองหรือด้วยหัวใจดี พี่บอกไปว่า รักด้วยความเมตตา จะคนที่ใช่ คนที่ชอบ คนที่รักไปแล้วโดยไม่มีเหตุผล หรือคนที่สมองบอกว่าเหมาะสมกับเราก็ตาม ขอเพียงใส่ความเมตตาเข้าไป แบบไหนก็ดีกับใจเราทั้งนั้นแหละ ^ ^
Post a Comment