![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhIUUdkwskuF2Wbe6JkK5u00SFDTEFyi0aDWkjYvk9VvgK55OqYHIey4M76GK0kQBgBAQURC3UAWq0koIw5GX2wGOXweVP9sCEkQIinPu8dj-CexXHHnzXKHam92pNpEecb198bIoWhLsZQ/s400/rca_02.jpg)
โดยปกติแล้วผมไม่ใช่นักท่องแดนราตรีด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้ การเที่ยวกลางคืนของผมไม่สามารถทำได้บ่อยนัก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นโอกาสอันดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาแถวถนนกลางคืนที่ว่ากันว่าเหล่านักท่องราตรีหลายคนคุ้นเคยเป็นที่สุด…ใช่แล้วครับ เมื่อคืนนี้ผมไปเที่ยวอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ไปเที่ยวคนเดียวหรอกครับ มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งนำเที่ยวในฐานะมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ รวมทั้งเพื่อนสนิทของผมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งถ้ารวมอายุของพวกเราสามคนก็ร่วมร้อยเข้าไปแล้ว นั่นก็แสดงว่าพวกเราเริ่มชราเกินไปแล้วที่จะไปเยือนสถานที่แบบนี้
ทริปของพวกเราเริ่มต้นกันเวลาประมาณ 3 ทุ่มหลังจากกินข้าวกันเสร็จที่ “ดิอิมมอร์ทัล” (The immortal) เกษตรนวมินทร์ โดยพวกเรามีจุดหมายปลายทางกันที่อาร์ซีเอ ครับ
มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ของเราพาเราฝ่ารถราที่ติดขัดเพื่อไปดูแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีแห่งแรกแถวถนนเอกมัยครับ ผมตื่นตาตื่นใจไม่น้อยกับสไตล์การแต่งร้านย่านนั้นเพราะแต่ละร้านตกแต่งได้ดีมีสไตล์มาก
หลุดจากเส้นเอกมัย เราเข้าไปเยือนซอยทองหล่อที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง”หรู” ของคนมีกะตังค์ พวกเราไปนั่งจิบชาร้อนกินกาแฟเย็นกันที่สตาร์บัคส์ บริเวณ Marketplace ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานที่ตรงนั้นเปรียบเสมือนโชว์รูมรถราคาแพงดีๆนี่เอง
น่าสนใจนะครับว่า “ย่าน” หรือ “แถบ” ที่อยู่นั้นเป็นเครื่องชี้วัดฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนได้ดีไม่น้อย
เมื่อจิบชากินกาแฟกันจนหายเหนื่อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางต่อโดยแวะไปเยือนเจเอเวนิว (J-Avenue)แหล่งชอปปิ้งกลางซอยทองหล่อซึ่งก็หนีไม่พ้นสไตล์ไฮโซตามเคย
ทะลุออกจากซอยทองหล่อ เราแอบโฉบไปแถวที่ตั้ง “โรงแรมสยาม” ในอดีต ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อหลายปีก่อนเคยเป็น “ตลาดนัด” ที่ชายหนุ่มส่วนใหญ่ชอบขับรถมาชอปปิ้งกันยามค่ำคืน จริงๆแล้วคงไม่ต้องแจงรายละเอียดไปมากกว่านี้แล้วกันนะครับ
ทุกวันนี้บรรดาเหล่าแม่ค้าคนสวยทั้งหลายที่เคยหากินอยู่หน้าโรงแรมสยาม ได้ย้ายสถานที่ทำการไปอีกนิดนึงแถวริมถนนเลียบทางรถไฟ
มาถึงตรงนี้ภาพ Sex in the city ของกรุงเทพดูจะชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าเราอาจจะกระทำการกันอย่างหลบๆซ่อนๆบ้าง โจ่งแจ้งบ้าง ภายใต้การรักษากฎหมายของตำรวจไทยที่มักจะทำงานแบบปิดตาข้างเดียวอยู่เสมอ
ความสนใจของคณะทัวร์เราอยู่ที่ตรงที่ “ขนาด” ครับ อ้อ! อย่าคิดไกลนะครับ ขนาดที่ว่านี้ คือ “ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดิน” หรือ Underground Economy
คำถามของพวกเรา คือ ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดินเหล่านี้นั้นมีมากน้อยแค่ไหน เพราะจะว่าไปแล้วธุรกิจการค้าประเวณีตามริมถนนนั้นไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงจากกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของระบบเศรษฐกิจทั่วไป
นอกจากนี้ในมิติของ “ความแตกต่าง” ระหว่างชนชั้นของคนเมืองหรือถ้าพูดให้โก้หน่อยก็เรียกว่า “ทวิลักษณ์” (Dualism) ของความเป็นเมืองนั้น น่าสนใจอีกเหมือนกันนะครับว่าเพียงไม่กี่เส้นถนนจากซอยทองหล่อถึงเพชรบุรี เราเห็นความแตกต่างระหว่าง “คนมีอันจะกิน”กับ “คนที่ต้องออกมาขายตัวเองกิน”
ความทวิลักษณ์ของเมืองใหญ่คงไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพเพียงแห่งเดียวหรอกครับ หากแต่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมเมืองทั่วโลก
ระหว่างที่นั่งรถต่อไปอาร์ซีเอนั้น ผมตั้งคำถามเล่นๆกับตัวเองว่า“ค่าบุหรี่ที่สาวน้อยไฮโซสูบอยู่ในผับหรูๆแถวซอยทองหล่อจะมีราคาถูกหรือแพงกว่าค่าตัวของสาวน้อยโลโซที่มาเร่ขายตัวแถวถนนเพชรบุรี”
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) ถนนที่ว่ากันว่าเป็น “มหาวิทยาลัยของคนกลางคืน” อาร์ซีเอวันนี้ต่างจากอาร์ซีเอที่ผมเคยไปเที่ยวเมื่อหลายปีมาแล้ว เราผ่านร้านดังอย่าง Slim และRoute66 แต่เลือกที่จะไม่เข้าเพราะเห็นคนมหาศาลแล้วคงต้องเจียมต่อสังขาร
อาร์ซีเอยังเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าวัยรุ่น มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ดูเหมือนภาคบริการโดยเฉพาะการเที่ยวกลางคืนยังสามารถหล่อเลี้ยงตัวมันเองได้อยู่
มองในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การเที่ยวกลางคืน เปรียบเสมือนเป็น “การพักผ่อน”หรือ Leisure ที่แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) ยอดปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์แรงงาน เห็นว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เราได้รับความพอใจจากการบริโภค โดยมีต้นทุนเป็นเวลาที่หายไปจากการทำงานซึ่งมันถูกสะท้อนจากค่าจ้างแรงงานนั่นเอง
อย่างไรก็ดีเมื่อมองในภาพรวมแล้ว “อุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวกลางคืน” ย่อมสร้างงาน (Linkage) สร้างอาชีพให้คนในสังคมได้ไม่น้อย ตั้งแต่นายทุนเปิดผับ พ่อครัว เด็กเสริฟ์ เด็กเชียร์เบียร์ นักร้องนักดนตรี สาวโคโยตี้ นักเลงคุมผับ เด็กรับรถ เด็กนวดในห้องน้ำ คนขับแท็กซี่… อ้อ! ลืมไปอีกอาชีพ คือ ตำรวจ! ครับ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากนโยบายจัดระเบียบสังคมให้ปิดผับก่อนตีหนึ่งนั้นจะทำให้เหล่าผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องธุรกิจเที่ยวกลางคืนจะออกมาต่อต้าน เพราะทำให้พวกเขามีเวลาในการทำมาหากินน้อยลง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในเรื่องความหลากหลายของโลกนะครับ โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่สีขาวสว่างเพียงสีเดียว หากแต่มีสีดำ สีเทา สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง จิปาถะ เพียงแต่เราจะสามารถผสมสีเหล่านั้นให้มันดูออกมาเป็น “ภาพ” ที่ดีได้หรือเปล่า
ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกว่าการเที่ยวกลางคืนเป็นการบริโภคสินค้าพักผ่อนอย่างที่เบคเกอร์ว่าไว้ เพียงแต่ว่าการบริโภคสินค้าประเภทนี้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือนสำหรับผมแล้วค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งอายุขัย กำลังกาย และที่สำคัญคือ กำลังทรัพย์ครับ ฮา ฮา
คณะทัวร์ของเราไม่ได้เข้าไปนั่งดริงก์หรือแดนซ์ในผับที่ไหนหรอกครับ เพียงแค่สังเกตการณ์ก่อนจะมุ่งไปสู่จุดหมายที่แท้จริง คือ ไปขับรถโกลด์คาร์ต และร้องคาราโอเกะ
ทริปของพวกเราจบลงตอนตีสองครับ เดินออกมาจากร้านเกะแล้ว นักเที่ยวยามราตรีเริ่มทยอยออกมาจากร้านรวง บ้างเริ่มเมามาย บ้างเริ่มนั่งรวมตัวเมาท์หาที่ไปต่อ… ดูเหมือนกรุงเทพจะไม่เคยมีวันได้หลับเลยนะครับ
Hesse004
1 comment:
เอ่อ...คือว่า ขอสารภาพหน่อยนะว่า ป้าเองไม่เคยไป RCA ล่ะ ^ ^ เลิกงานก็กลับที่พัก หลังหกโมงเย็นไม่ออกไปไหน เหมือนชินกับเวลาเคอร์ฟิวเวลาปฏิรูปการปกครองที่มีบ่อยเหลือเกินในบ้านเราไปแล้วล่ะมั้ง
คราวหลังหลานต้วนเอาเรื่องแสง สี เสียง มาเล่าอีกนะ ป้าอยากรู้อยากเห็นน่ะ *_*
Post a Comment