![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEggYpiO5kA57i6CRo5DsSZYNMyzHEuhaqpZEbyyECzFDL0wF-PNSGiZ8ntwXzLKwG4F6WzOMseioPxZXD936SCpbhn5d7tGYBy_Jn3W5H4MObGg9mUEWYQz_U2MFq3dZy0CB9lkmN6AY3lx/s400/Ungarns_finalehold_Puskas-Grocsis-Lorant-Hidegkuti-Bozsik-Zakarias-Lantos-Buzanszky-Toth-Koscis_og_Czibor.jpg)
ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึง Danubian school และ Metodo style ซึ่งทำให้ทีมในแถบยุโรปตอนกลางอย่าง ฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นประสบความสำเร็จ ส่วนฟุตบอลแบบ Metodo ก็ทำให้ อิตาลีครองแชมป์โลกติดต่อกันสองสมัย และยังเป็นต้นกำเนิดของเกม Counterattack อีกด้วย
ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศในยุโรปต่างได้รับความบอบช้ำจากสงครามไปตามๆกัน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกเลยต้องย้ายวิกไปเตะในอเมริกาใต้ และในทศวรรษที่ 50 นี้เองครับที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าเทพเจ้าลูกหนังได้ลงมาจุติแล้ว เทพเจ้าองค์นั้นก็คือ “บราซิล” ซึ่งมาพร้อมกับร่างทรงนามว่า “เปเล่” นั่นเองครับ
ผมตั้งข้อสังเกตว่าความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลนั้นน่าจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อ 50 กว่าปีมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากสนามไปยังครัวเรือนได้ นอกจากนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์เริ่มเบื่อสงครามกันแล้ว ดังนั้นการหันมาพัฒนาเกมลูกหนังก็เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของคนในชาตินั้นๆได้อีกทางหนึ่ง
ฟุตบอลโลกครั้งที่ 4 (1950) ที่จัดขึ้นบนแผ่นดิน “บราซิล” นั้น นับเป็นครั้งแรกที่ต้นตำรับลูกหนังอย่าง “อังกฤษ”ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันหลังจากเล่นตัวอยู่นาน ว่ากันว่าฟุตบอลโลกในครั้งนั้นทำให้โลกได้เห็น “ลีลาแซมบ้า” ขนานแท้ด้วยรูปแบบการเล่นฟุตบอลบนพื้นที่สวยงามประกอบกับทักษะเฉพาะตัวที่สุดยอดของนักเตะบราซิล
บราซิลชุดปี 1950 สามารถทะลุเข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมจอมเก๋าอย่าง “อุรุกกวัย” มหาอำนาจลูกหนังแห่งทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตามบราซิลทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์โลกครับ สกอร์ 2 – 1 ทำให้อุรุกกวัยผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่สองเทียบเคียงอิตาลี
ผลพวงจากความพ่ายแพ้ทีมจอมโหดต่อหน้าแฟนบอลตัวเองในสนามชามยักษ์ Maracana Stadium ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของมหาอำนาจลูกหนังทีมใหม่อย่าง “บราซิล” ทีมที่เล่นฟุตบอลได้ตื่นตาตื่นใจและสร้างสีสันในฟุตบอลโลกมากที่สุด
ขณะที่บราซิลกำลังก่อร่างสร้างทีมในดินแดนลาตินนั้น ทางฟากฝั่งยุโรปเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครสุดยอดเกินทีมชาติ “ฮังการี” แล้วครับ โดยเฉพาะฮังการีชุดปี 1954 นั้นได้สร้างตำนานลูกหนังบทใหม่ขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า MW ซึ่งสลับกับ WM ของ Herbert Chapman
ฟุตบอลโลกครั้งที่ 5 เมื่อปี 1954 บนแผ่นดินสวิตเซอร์แลนด์ “ฮังการี” คือ ทีมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดแม้ว่าจะได้รองแชมป์เพราะพ่ายเยอรมันตะวันตกไป แต่สำหรับในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วฮังการีภายใต้การกุมบังเหียนของ Gustav Sebes ได้ทำให้ขุนพลแมกยาร์แห่งลุ่มน้ำดานูบทีมนี้เกรียงไกรในยุโรปด้วยการเล่นเกมรุกที่ดุดัน โดยเฉพาะการมีผู้เล่นอย่าง ปุสกัส (Puskas) , ค๊อคซิส (Kocsis) , บ๊อซซิค (Bozzik) และ ไฮเด็กกุค (Hidegkuit)
ก่อนหน้าที่บอลโลกจะเริ่มขึ้น “ฮังการี ไดนาไมต์” ชุดนี้ได้สั่งสอนทีมสิงโตคำรามอังกฤษคาเวมบลีย์ด้วยสกอร์ 6-3 ก่อนจะมายำสิงโตกรอบอีก 7-1 ที่บูดาเปสต์ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีเลยทีเดียว
ว่ากันว่าช่วงทศวรรษที่ 50 นี้ คือ ช่วงเวลาของ “ฮังการี” และสโมสร “รีล มาดริด” อย่างแท้จริงเพราะทั้งสองครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรป นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลูกหนังยังได้จารึกชื่อของ “เฟเรนซ์ ปุสกัส” ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 50 เคียงข้าง “อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่” คู่หูพระกาฬแห่งทีมราชันชุดขาว รีล มาดริด
“ปุสกัส” เจ้าของฉายา “นายพันแห่งลุ่มน้ำดานูบนั้นมีปมด้อยตรงขาโก่ง ตัวป้อมๆตันๆดูแล้วไม่น่าจะมีพิษสงอะไร แต่พงศาวดารลูกหนังโลกบันทึกไว้ว่าชั้นบอลของท่านนายพันนั้นเข้าขั้นโคตรบอลเลยทีเดียวครับ ขอแถมนิดหนึ่งครับปุสกัสเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นักฟุตบอลที่อายุยืนคนหนึ่งเลยทีเดียว
กลับมาที่เทพเจ้าลูกหนังอย่าง “บราซิล” กันต่อครับ, บราซิลมาประสบความสำเร็จกับสูตรการเล่น 4-2-4 ซึ่งทำให้บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรกเมื่อปี 1958 ที่สวีเดน สูตร 4-2-4 นี้ได้พลังขับเคลื่อนอย่าง วาว่า และ เปเล่ บราซิลไล่ถล่มเจ้าภาพในชิงชนะเลิศไป 5-2 พร้อมกับการแจ้งเกิดของไอ้หนูวัย 17 นามว่า “เปเล่” สำหรับ “สวีเดน” ในยุคนั้นก็จัดเป็น “เต้ย” ลูกหนังยุโรปทีมหนึ่งไม่แพ้ทีมฮังการี สวีเดนชุดนั้นมีจอมทัพอย่าง “นีลส์ ลีดโฮล์ม” อีกหนึ่งซูปเปอร์สตาร์ยุค 50 จากทีมเอซีมิลาน
สูตร 4-2-4 ถูกคิดค้นโดยสโมสรฟลามิงโก้ ตักกศิลาลูกหนังแห่งดินแดนแซมบ้า รูปแบบการเล่นดังกล่าวนับเป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลสมัยใหม่เลยทีเดียว การหันมาใช้กองหลัง 4 ตัวทำให้เกมรับมั่นคงมากขึ้น ขณะที่กองกลาง 2 ตัว จะคอยยืนบัญชาเกมและแจกบอลให้ปีกซ้ายขวารวมถึงแทงบอลทะลุให้กองหน้าเข้าไปพังประตู (Killing pass through) ระบบ 4-2-4 นี้เวลาเล่นเกมรุกแบ๊คสองข้างจะมาช่วยเติมเกมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพของเกมรุกนั้นลื่นไหลยิ่งขึ้นเพราะจะมีผู้เล่นขึงอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามถึง 8 คน
ขณะที่ บราซิลและฮังการี ทำให้เกมฟุตบอลนั้นมีความสนุกโดยเน้นไปที่การเล่นเกมรุกนั้น อิตาลี ต้นตำรับ Metodo football กลับไม่คิดเช่นนั้นครับ เพราะฟุตบอลจากแดนมักกะโรนีมักนิยมเน้นเกมตั้งรับโดยเฉพาะทีมในลีกกัลโช่แล้ว “อินเตอร์ มิลาน” ได้สร้างสไตล์ฟุตบอลที่ชื่อว่า “คาตาเนคโช่” (Catenaccio) ขึ้นมา
“คาตาเนคโช่” เป็นรูปแบบการเล่นที่มาจากมันสมองของ Helenio Herrera เทรนเนอร์ของอินเตอร์มิลาน ยุคต้นทศวรรษที่ 60 “คาตาเนคโช่” หมายถึง โซ่ขนาดใหญ่ (ไม่ใช่โซ่ข้อกลางนะครับ) ที่คอยขึงเกมรับไม่ให้หลุดรั่ว รูปแบบการเล่น “คาตาเนคโช่”นั้นได้พัฒนาตำแหน่งผู้เล่นขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “ลิเบอโร่” (Libero) ซึ่งหมายถึงตัวฟรีในสนาม
ปกติแล้ว “ลิเบอโร่”จะคอยปักหลักอยู่หน้าประตูตัวเอง ยืนเป็นกองหลังตัวสุดท้าย รอเพื่อนที่เป็นเซนเตอร์หรือ Stopper คอยชนให้แล้วเก็บกวาดบอลให้พ้นอันตราย ผู้เล่นที่เป็นลิเบอโร่ได้ดีนั้นต้องมีเซนส์บอลชั้นเทพเลยทีเดียวครับ อีกอย่างผมว่าคุณสมบัติของผู้เล่นลิเบอโร่นั้นต้องมีบารมีด้วยครับ เพราะตำแหน่งดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว ยังเป็นตัวที่คอยบงการเกม เปิดเกมได้ และที่สำคัญต้องสั่งเพื่อนได้ด้วยครับ
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมานั้นมีเพียงทีมจากแผ่นดินยุโรปและภาคพื้นลาตินเท่านั้นที่ช่วงชิงความเป็นเจ้าลูกหนังขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ฟุตบอลดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สำหรับตอนหน้าเราจะมาว่ากันถึงมหัศจรรย์บราซิลภายใต้บารมีของเปเล่และการกลับมาผงาดของทีมชาติอังกฤษกับระบบการเล่นที่เรียกว่า 4-4-2 ครับ
Hesse004
No comments:
Post a Comment