![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjp1pPRecylM2M7DurLAWc1ytDY_EsnQR2qvAqOpFtl4cd2i2njRicha17bTwxs2xWVwFqwK8cnkc_ebl1ZdI1TkxlOssN0xacvHT9HUnjVy8o5m5moDNy-sUWp3j0AxPWLU4wBHxn8iLvi/s400/180px-ZhaoYun.jpg)
จะว่าไปแล้วฮ่องกงพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปได้ไกลไม่น้อยนะครับ ประกอบกับความรุ่งเรืองของจีนแผ่นดินใหญ่ในศตวรรษที่ 21 นั้น ก็มีส่วนทำให้หนังฮ่องกงสามารถหยิบวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ชนชาติจีนมาเล่นได้มากมาย
เฉพาะปีนี้วรรณกรรม “สามก๊ก” ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มอย่างน้อยสองเรื่อง คือ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon และ Red Cliff (2008) หรือ The battle of red cliff ของ “จอห์น วู” (John Woo) ที่หยิบเอายุทธการผาแดงในตอนที่โจโฉนำทัพเรือจำนวนมหาศาลมาตีกังตั๋งก่อนจะปราชัยไปอย่างหมดรูป
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon” (2008) นั้น เป็นผลงานการกำกับของ “แดเนียล ลี” (Daniel Lee) ผู้กำกับชาวฮ่องกงโดย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงวีรบุรุษในยุคสมัยสามก๊กท่านหนึ่งนามว่า “เตียวจูล่ง” ครับ
ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่ลงโรงฉาย ยอมรับว่าตั้งความหวังไว้สูงครับ โดยเฉพาะการที่จะได้เห็นบทบาทของ “หลิวเต๋อหัว” (Andy Lau) ในบทของ “จูล่ง”ขุนพลพยัคฆ์เดชของ “เล่าปี่”แห่งจ๊กก๊ก
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ “สามก๊ก” ที่ผมเคยคุ้นเคยนั้นผิดแผกไปจากอรรถรสที่เคยได้อ่านหรือได้ดูมา โดยเฉพาะการเพิ่มตัวละครใหม่ๆเข้ามาอย่าง “หลอผิงอัน”ในฐานะที่เป็นพี่ร่วมสาบานของจูล่งที่มาจากเมืองเสียงสันด้วยกัน หรือเพิ่มชื่อของแม่นาง “โจอิม”จอมทัพหญิงแห่งแคว้นวุยแถมยังเป็นหลานสาวของโจโฉอีกด้วย
ผมเองตั้งตารอคอยหนังทั้งสองเรื่องนับตั้งแต่ได้ข่าวการสร้างเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่า Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon ของแดเนียล ลี จะไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจสักเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้ คือ “มนุษย์เราจะรบกันไปเพื่ออะไร” ครับ
“จูล่ง” นับเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่งครับโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมความซื่อสัตย์และจงรักภักดี
ตามประวัติแล้วขุนพลเตียวท่านนี้เป็นชาวเมืองเสียงสัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 700 ถึง พ.ศ.772 นับได้ว่าเป็นแม่ทัพที่มีอายุยืนท่านหนึ่งเลยทีเดียวแถมตอนตายยังได้ตายอย่างสงบบนเตียง ผิดกับขุนศึกหลายคนที่ตายกลางสนามรบบ้าง หรือ ถูกประหารชีวิตบ้าง
จูล่งเข้าสู่สมรภูมิรบด้วยการเป็นทหารชั้นผู้น้อย(ภาษาหนังสือสามก๊กเรียก “ทหารเลว”) ของกองทัพ “อ้วนเสี้ยว” ก่อนจะเลือกมาอยู่กับนายพล “กองซุนจ้าน” หลังจากที่กองซุนจ้านฆ่าตัวตายแล้ว จูล่งระหกระเหินไปเป็นหัวหน้าโจรป่าอยู่ที่ “เขาโงจิวสัน”พักหนึ่งก่อนจะมาเข้าร่วมเป็นกับกองทัพของเล่าปี่
วีรกรรมที่ทำให้จูล่งแจ้งเกิดในประวัติศาสตร์สมัยสามก๊ก คือ การฝ่ากองทัพนับหมื่นของโจโฉเพื่อไปช่วยทารกน้อย “อาเต๊า” รัชทายาทคนเดียวของพระเจ้าเล่าปี่
กล่าวกันว่าวีรกรรมที่ “ทุ่งเตียงปันโบ๋”ครั้งนั้นได้ทำให้ชื่อเสียงของจูล่งนั้นขจรไกลไปทั่วแผ่นดินจีน หลังจากนั้นจูล่งก็ได้รับตำแหน่งเป็นองครักษ์พิทักษ์เล่าปี่และครอบครัวตลอดมาโดยทำหน้าที่อารักขานายใหญ่ไปทุกหนแห่งตั้งแต่เล่าปี่เดินทางไปเข้าถ้ำเสือกังตั๋งในฐานะเขยแคว้นง่อของก๊กซุนกวน หรือ แม้แต่บุกช่วยอาเต๊าอีกครั้งตอนที่ซุนฮูหยินถูกลวงให้กลับไปยังกังตั๋ง
เกียรติประวัติสูงสุดของจูล่ง คือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าขุนพลพยัคฆ์ของพระเจ้าเล่าปี่ ร่วมกับขุนศึกแห่งยุคอย่าง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และฮองตง
สำหรับ “จูล่ง”ในสามก๊กฉบับของแดเนียล ลี นั้น มีบุคลิกของตัวละครไม่ต่างจากที่หนังสือบรรยายไว้ แม้ว่าบางฉากจะไม่เคยปรากฏในวรรณกรรมสามก๊กของหลอกว้านจง (Luo Guanzhong) เลยก็ตาม แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในตัว “จูล่ง” เวอร์ชั่นนี้คือเรื่องความคิดในเรื่องการ “ต่อต้านสงคราม” ครับ
ผมตั้งข้อสังเกตว่า “ศิลปะทุกแขนง” สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความน่าหดหู่ของสงครามได้ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออย่าง All Quiet on the Western Front (1929) ของ “อิริค มาเรีย เลอมาร์ค” (Erich Maria Remarque) ที่ว่าด้วยความรันทดของทหารแนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1
เช่นเดียวกับ “ภาพยนตร์สงคราม” แม้ว่าหนังส่วนใหญ่จะพยายามเสนอมิติทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการรบราฆ่าฟันของมนุษย์ หรือยกย่องเกีรติภูมิของชนชาติตน แต่ก็มีบางแง่ที่หนังได้สะท้อนให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงครามตั้งแต่ ความตาย ความพิกลพิการ การข่มขืนผู้หญิงและเด็กหรือแม้กระทั่งความอดอยาก
ผมชอบคำพูดช่วงท้ายที่ “จูล่ง”พูดกับ “หลอผิงอัน”ว่า “ข้าอยู่กองทัพนี้มาสามสิบสองปีแล้ว ก่อนเข้ากองทัพข้าคิดว่าอีกไม่กี่ปีแผ่นดินนี้ก็คงสงบสุข แล้วข้าก็จะได้กลับไปยังบ้านเล็กๆที่เสียงสันได้อยู่กับคนที่ข้ารัก แต่ทุกวันนี้ความทรงจำเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว ทุกวันนี้เรารบกันไปเพื่ออะไรล่ะท่าน”
น่าสนใจที่หลอผิงอันบอกกับจูล่งว่า “เราทุกคนล้วนรบกันเพื่อตัวเองทั้งนั้น”
แม้ว่าตลอดทั้งเรื่องผมจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับหนังเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่บทสนทนาตอนท้ายเรื่องกลับทำให้ผมเปลี่ยนความคิดนี้ไป
บางทีมันอาจจะเป็นความพยายามของ “แดเนียล ลี” ที่ต้องการตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยว่า “พวกคุณจะแสวงหาอำนาจไปเพื่ออะไร? พวกคุณทำสงครามกันไปทำไม? ใช่เพราะความต้องการจะเห็นราษฎรร่มเย็นแผ่นดินสงบสุขหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ความกระสันในอำนาจของพวกคุณเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง”
Hesse004