Apr 9, 2010

Downfall วาระสุดท้ายของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์”





นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ชื่อของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Adolf Hitler) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านในช่วง 6 ปีของสงคราม (ค.ศ. 1939-1945) และนับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวเยอรมันไม่มีใครตั้งชื่อลูกชายว่า “อดอล์ฟ” อีกเลย

ขณะที่ “ฮิตเลอร์” ได้กลายเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีชาวเยอรมันคนไหนอยากจะจดจำเช่นกัน

หลายท่านที่เคยอ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 คงพอจะทราบว่าทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้

เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei) หรือ “พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติของเยอรมนี” มีอุดมการณ์สำคัญ คือ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาวเยอรมันและเชื่อว่าชาวเยอรมันนั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประเสริฐที่สุดหรือเป็น “อารยันบริสุทธิ์” ขณะเดียวกันนาซีก็แสดงออกด้วยการเกลียดชังยิวและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

พรรคนาซีของฮิตเลอร์เข้าปกครองเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933-1945 และสิ่งที่พลพรรคนาซีได้สร้างไว้ก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปกว่าหกล้านชีวิต!!

เรื่องราวของฮิตเลอร์ถูกถ่ายทอดในหลายแง่มุมนะครับ ทั้งแง่มุมทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนังสือ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” หรือ Mein Kampf ซึ่งฮิตเลอร์เขียนไว้ช่วงติดคุกเมื่อปี ค.ศ. 1923 นอกจากนี้เรื่องราวของฮิตเลอร์ยังถูกถ่ายทอดในรูปแบบที่พิสดาร เช่น ชีวิตส่วนตัวที่ไม่ค่อยจะปกติรวมไปถึงชีวิตบนเตียงของฮิตเลอร์ด้วย

อย่างไรก็ตามชะตากรรมสุดท้ายของจอมเผด็จการคนนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์อย่างน้อยสามเรื่องนะครับ คือ Hitler: The Last Ten Days (1973) นำแสดงโดยเซอร์อเลค กินเนส (Sir Alec Guinness) ดาราเจ้าบทบาทชาวอังกฤษ , The Bunker (1981) นำแสดงโดยเซอร์แอนโทนี ฮอบกินส์ (Sir Anthony Hopkins) ดาราชาวอังกฤษชั้นครู และ Der Untergang หรือ Downfall (2004) นำแสดงโดย บรูโน กานซ์ (Bruno Ganz) ดาราใหญ่ชาวสวิส

Der Untergang หรือ Downfall (2004) เป็นหนังเยอรมันที่ได้ โอลิเวอร์ เฮอร์ชบีเกิล (Oliver Hirschbiegel) ผู้กำกับชาวเยอรมันมาถ่ายทอดเรื่องราว “วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์” ครับ

Downfall (2004) ทำให้เราเห็นชะตากรรมของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีคนสนิทที่หลบอยู่ใน “เบอร์ลิน บังเกอร์” (Berlin Bunker) ซึ่งฮิตเลอร์พร้อมที่จะตายอยู่ที่เบอร์ลินโดยไม่หนีไปไหน

นอกจากเราจะได้เห็นช่วงชีวิตสุดท้ายของจอมเผด็จการคนนี้แล้ว เรายังได้เห็นชีวิตผู้คนรอบข้างฮิตเลอร์ตั้งแต่คนสนิทไปยังประชาชนตาดำ ๆ ในเมืองเบอร์ลินที่กำลังเผชิญชะตากรรมจากการที่ถูก”กองทัพแดง” ของโซเวียตประชิดเข้ามา

โอลิเวอร์ เฮอร์ชบีเกิล พยายามเก็บรายละเอียดช่วงสุดท้ายของฮิตเลอร์และคนใกล้ชิดโดยได้ข้อมูลสำคัญจากอดีตเลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์ คือ Traudl Junge ซึ่งเธอได้บอกเล่าทุกฉากตอนก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตายพร้อมภรรยานางอีวา บราวน์ (Eva Anna Paula Braun)

สภาพบรรยากาศภายในบังเกอร์ของจอมเผด็จการผู้กำลังจะแพ้สงครามชวนให้เรา “หดหู่” ไม่น้อยนะครับ และดูเหมือนว่าฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีกำลังชดใช้กรรมอย่าง “สาสม” ที่เขาได้ก่อไว้กับผู้คนนับล้าน

ภายในเบอร์ลินบังเกอร์ แต่ละวันฮิตเลอร์ต้องเจอแต่ข่าวร้าย ๆ ตั้งแต่โดนกองทัพแดงทิ้งระเบิดเกือบทุกวัน กำลังทหารที่มีอยู่ไม่สามารถมาช่วยเขาได้ ลูกน้องคนสนิทใกล้ชิดอย่าง แฮร์มาน เกอริ่ง และ ไฮริช ฮิมเลอร์ ทรยศหักหลัง รวมไปถึงการต้องยอมรับสภาพความพ่ายแพ้สงครามครั้งนี้ และท้ายที่สุดฮิตเลอร์ตัดสินใจที่จะ “ฆ่าตัวตาย” พร้อมภรรยาที่เพิ่งจะทำพิธีแต่งงานกันไม่กี่ชั่วโมงก่อนตาย

น่าสนใจนะครับว่า วัฒนธรรมการ “ปลิดชีพ” ตัวเองนั้นถูกปลูกฝังกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงคราม หากในทางการทหารพ่ายแพ้แล้ว การกระทำ “อัตวิบากกรรม” หรือ “ฮาราคีรี” ฆ่าตัวตาย คือ เกียรติอันสูงสุดที่นักรบเหล่านี้เชื่อว่าศักดิ์ศรีของพวกเขายังคงอยู่

บางคนอาจจะคิดว่า “ราคาของชีวิต” นั้น ต่ำกว่า “ราคาของศักดิ์ศรี” ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงยินยอมที่จะสละชีวิตด้วยน้ำมือของตัวเองเพื่อแลกกับ “อิสรภาพทางวิญญาณ” ที่จะไม่ยอมให้ใครพรากไปในฐานะ “เชลย”

มองแง่ร้ายหน่อยวิธีคิดแบบนี้เหมือนคนไม่ยอมรับความจริงและปฏิเสธที่จะพ่ายแพ้

วิธีคิดแบบนี้เราจะพบเห็นในหมู่คนจำพวก “ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้” ครับ ซึ่งดูเหมือน ฮิตเลอร์ ก็เป็นหนึ่งในคนจำพวกนี้ด้วย แม้ว่าช่วงที่เขาจะฆ่าตัวตายเขายังลังเลอีกว่าการตายนั้นจะทรมานด้วยหรือเปล่าหากยิงปืนกรอกปากพร้อมกินยาพิษเข้าไปด้วย

ขณะเดียวกันพิธีกรรมการ “ฮาราคีรี” ของเหล่านักรบซามูไร ดูจะเข้าใจถึงปรัชญาของความตายได้มากกว่าการปลิดชีพตัวเองธรรมดานะครับ เพราะการกระทำฮาราครีนั้นต้องกระทำโดยสงบด้วยการ “คว้านท้อง” ตัวเองโดยที่ไม่แสดงความเจ็บปวดออกมาทางสีหน้าและแววตา ซึ่งเหล่าซามูไรเชื่อว่าหากกระทำฮาราคีรีสำเร็จนั่นหมายถึงเกียรติอันสูงสุดของชีวิตนักรบแล้ว

ในทางกลับกันครับ คนที่มีวิธีคิดแบบว่า “ราคาของชีวิต” นั้นยังสูงกว่า “ราคาของศักดิ์ศรี” แล้ว คนประเภทนี้จะพยายามตะเกียกตะกาย รักษาชีวิตของตัวเองเอาไว้อย่างน้อยที่สุดยังมีลมหายใจที่ได้เห็นอนาคตของตัวเองในวันหน้า แม้บางทีอาจจะต้องเจ็บปวดกับการสูญเสียอิสรภาพทางจิตวิญญาณก็ตาม

แน่นอนที่สุดว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้นหรอกครับ ดังนั้นชีวิตที่เกิดมาจึงควรเป็นชีวิตที่มีคุณค่า หากจะตายอย่างไรหรือจะแลกความตายนั้นกับสิ่งใดแล้ว ก็ขออย่าให้มันต้องตายอย่าง “ไร้ค่า” เลยนะครับ

ประวัติศาสตร์มักจะ “จารึก” บุคคลไว้สองประเภทนะครับ คนหนึ่ง คือ “วีรบุรุษ” อีกคนหนึ่ง คือ “ทรราชย์” แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนจารึกประวัติศาสตร์นั้น ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นผู้ชนะที่เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004