Feb 27, 2010

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในฐานะ “คุณพ่อรู้ดี”






ว่ากันว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนชั้น ม. 6 ปีนี้เป็นการสอบที่วุ่นวายที่สุดเท่าที่เคยมีมานะครับ เหตุที่วุ่นวายก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการและข้อสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

แรกเริ่มเดิมทีระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “การสอบเอนทรานซ์” (Entrance) ซึ่งในอดีตอยู่ภายใต้การดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ.)

ระบบการสอบเอนทรานซ์เป็นระบบที่ใช้มาต่อเนื่องยาวนานกว่าสี่สิบปีครับ แต่อย่างไรก็ดีระบบดังกล่าวเป็นระบบการคัดเลือกที่มุ่งเน้นไปในเชิงการสอบแข่งขันมากกว่าที่จะวัดองค์ความรู้ของผู้เรียนได้ครบด้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยพยายามปรับปรุงระบบการคัดเลือกอยู่บ่อยครั้งเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของระบบนี้ เช่น ปรับลดการเลือกอันดับจากเดิมที่เคยให้นักเรียนเลือกได้หกอันดับ เหลือห้า และเหลือสี่อันดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการเลือกคณะแบบ “เผื่อเลือก” แล้วสละสิทธิ์ซึ่งทำให้ไปกันที่นั่งของนักเรียนคนอื่นที่ต้องการเรียน นอกจากนี้ทบวงมหาวิทยาลัยยังพยายามสกัดกั้นเด็กสอบเทียบ ม.6 ไม่ให้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยก่อนวัยอันควร ทำให้แฟชั่น “การสอบเทียบ” ม.6 ค่อย ๆ หายไปในที่สุด

ในเวลาต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้พิจารณาระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐระบบใหม่โดยมีเจตนารมณ์ที่จะลดการเข่งขันแล้วหันมาใช้ระบบการพิจารณาผลการเรียนของนักเรียนในช่วง ม.ปลาย ประกอบกับการสอบวัดผลในหลักสูตร ดังนั้น ระบบการคัดเลือกจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบการคัดเลือกแบบ “แอดมิสชั่นส์” (Admission) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Central Admission) ครับ

ทั้งนี้ระบบการคัดเลือกดังกล่าวถูกนำมาแทนระบบการสอบเอนทรานซ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หรือปีการศึกษา 2548 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะต้องพยายามทำเกรดในโรงเรียนให้ดีเพื่อเอา GPA มาคิดในการเลือกคณะ รวมไปถึงวางแผน “การกวดวิชา” ที่กลายเป็น “สินค้าจำเป็น” ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายไปเสียแล้ว

ปัจจุบันผู้ดูแลเรื่องการสอบคัดเลือกภายใต้ระบบ Central Admission นี้ คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 โดย สทศ. ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการศึกษา วิจัย พัฒนาและให้บริการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษา ดังนั้น สทศ. จึงเต็มไปด้วยนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบบทดสอบ

สทศ. ยังทำหน้าที่เป็น “แม่งาน” ในการทดสอบสำคัญ ๆ อย่าง O-NET (Ordinary National Education Test), GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional Aptitude Test) ซึ่งการสอบทั้งสามอย่างนี้นักเรียนชั้น ม. 6 จะต้องทำการทดสอบเพื่อนำผลสอบไปยื่นสมัครคัดเลือกในระบบ Central Admission ต่อ ด้วยเหตุนี้เอง สทศ. ในฐานะผู้จัดสอบและผู้ออกข้อสอบจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะคัดเลือกนักเรียนให้เข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของสถาบันอุดมศึกษา

สำหรับการสอบคัดเลือกภายใต้ระบบ Central Admission ในปีนี้ นักเรียนชั้น ม. 6 จะต้องเจอข้อสอบแบบใหม่ที่เรียกว่า GAT และ PAT ครับ ซึ่งข้อสอบทั้งสองชุดนี้ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ข้อสอบเดิมที่เรียกว่า A-NET (Advanced National Education Test) โดย GAT เป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป ที่ทาง สทศ. ต้องการวัดกระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยว่ามีความคิดวิเคราะห์เป็นระบบเป็นเหตุเป็นผลดีหรือเปล่า ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่าผลสอบ GAT ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 2552 นักเรียน ม.6 กว่าร้อยละ 75 ได้คะแนนสอบ GAT ไม่ถึง 150 คะแนน หรือครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็มทั้งหมด 300 คะแนน และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ เด็กไทยถึงร้อยละ 24.39 มีคะแนนอยู่ระหว่าง 30.01-60.00 คะแนน และร้อยละ 21.79 มีคะแนนอยู่ระหว่าง 60.01-90.00 คะแนน !!

ผลสอบดังกล่าวอาจจะอนุมานได้สองประการนะครับ ว่า หนึ่งเด็กไทยเรายังขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ดีเพราะทำคะแนนสอบของ สทศ. ได้น้อย กับ สอง สทศ. ออกข้อสอบยากเกินไปและแบบทดสอบดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะที่จะมาวัดเด็กนักเรียนไทยที่ส่วนใหญ่ถูกระบบการศึกษาสอนให้ “ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง” มาโดยตลอด

น่าสนใจอีกเหมือนกันว่า สทศ. ออกข้อสอบ GAT ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเด็กไทยทุกคนต้องมีทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์เพราะเชื่อว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้นสามารถสอนให้เด็กของเราคิดเป็นมากกว่าท่องเป็น

คะแนนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่เราพูดเรื่องนี้กันซ้ำซากจนกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญไปแล้ว มิพักต้องเอ่ยถึงการที่ สทศ. พยายาม “ดัดหลัง” เหล่า “ติวเตอร์” ไม่ให้สามารถจับทางข้อสอบ GAT ได้โดยอ้างว่านักเรียนไม่จำเป็นต้องไปกวดวิชา แต่เรื่องที่น่าขันไปกว่านั้นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นพรีเซนเตอร์สนับสนุนให้เด็กไทยได้ดูช่อง Tutor Channel ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นการทำงานที่มันไปกันคนละทิศละทางอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับการออกข้อสอบ O-NET ที่ผ่านมา ที่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ออกมาตั้งคำถามถึงมาตรฐานการออกข้อสอบของ สทศ. ว่า “เหมาะสม” แล้วหรือที่จะให้เด็กเลือกคำตอบที่ถูกที่มากกว่าหนึ่งข้อ เหมาะสมแล้วหรือที่จะให้นักเรียนต้องมานั่ง “เดาใจ” คนออกข้อสอบว่าจะจัดงานเลี้ยงต้องใช้ผ้าปูโต๊ะสีอะไร? ใช้ดอกไม้สีอะไร? หรือ แม้แต่หากเจอเหตุการณ์ทำนองว่า “ท้องในวัยเรียน” แล้วจะต้องเลือกทางเลือกอะไร?

คำถามประเภทนี้ไม่น่าจะเป็นคำถามที่มาวัดความรู้พื้นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมปลายเพื่อเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย คำถามประเภทนี้มีลักษณะเป็นคำถาม “เปิด” มากกว่าคำถามปิด

ส่วนกรณีที่วิชาสังคมศึกษาให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้หลายชอยส์แต่หากเลือกผิดไปหนึ่งชอยส์ก็จะไม่ได้คะแนนนั้น สทศ. บอกว่า ในชีวิตจริงคนเรามีทางเลือกได้หลายทางไม่ได้มีทางเลือกทางเดียว ซึ่งก็ถือว่ามีเหตุผลแต่จะว่าไปแล้วเวลาที่คนเราตัดสินใจทำอะไรสักอย่างนั้นเราจำเป็นต้องหา “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ให้กับตัวเองไม่ใช่หรือครับ ดังนั้นปรัชญาในการทำข้อสอบปรนัยจึงต้องเลือกคำตอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่เลือกหลาย ๆ คำตอบที่ถูก

คำถามที่เด็ก ๆ ออกมาถามถึง “ความเหมาะสม” ที่ สทศ. ผลิตข้อสอบเหล่านี้ออกมาเป็นคำถามที่ไม่ควรมองข้ามและสมควรอย่างยิ่งที่จะต้อง “รับฟัง” เด็ก ๆ นะครับ เพราะพวกเขาก็คือเสียงหนึ่งในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของพวกท่าน คะแนนแต่ละคะแนนที่หายไปหรือคลุมเครือล้วนกำหนดชะตาชีวิตของนักเรียนแต่ละคนว่าสมควรจะได้เรียนคณะที่พวกเขาปรารถนาหรือไม่

น่าสนใจถึงวิธีคิดของ “คนออกข้อสอบ” ที่พยายามจะสกัดกั้นไม่ให้เด็กเรียนพิเศษทุกวิถีทางซึ่งหากมองด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว การเรียนพิเศษเป็นสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียนและผู้ปกครองที่ สทศ. ไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือจัดการกับปัญหานี้ หากแต่ สทศ. และกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะ “สำเหนียก” ข้อเท็จจริงได้แล้วว่า เพราะเหตุใดการศึกษาในระบบมันถึงล้มเหลวมากจนกระทั่งเด็กนักเรียนต้องหันไปพึ่งการศึกษานอกระบบ เพราะเหตุใดครูในโรงเรียนจึง “กั๊ก” บทเรียนบางเรื่องเพื่อเก็บไว้สอนนักเรียนที่มาเรียนพิเศษกับตัวเองนอกเวลาเรียน

การแสดงบทบาทของ สทศ. ที่เป็นมากกว่าผู้จัดสอบ ออกข้อสอบ และมีรายได้ผูกขาดจากการจัดสอบอย่างเป็นกอบเป็นกำนั้นทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สทศ. พยายามจะทำตัวเป็น “คุณพ่อคุณแม่รู้ดี” ไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหากต้องการจะวัดความรู้ของเด็กไทยว่ามีกระบวนการคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ มีองค์ความรู้ที่ครบตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาหรือเปล่านั้น สทศ. ควรจะออกข้อสอบแบบ “อัตนัย” ไปเลยนะครับ เพราะข้อสอบประเภทนี้สามารถวัดตรรกะความคิดของเด็กรวมทั้งการใช้เหตุผลได้มากกว่าต้องมานั่งกาชอยส์กัน

เผื่อบางที สทศ. อาจจะได้ความคำตอบของเด็กที่แตกต่างไปจากสี่ชอยส์ที่ว่า “ถ้านางสาวนิดท้องในวัยเรียนแล้วจะต้องทำอย่างไร? ระหว่างลาออกไปคลอดลูก แจ้งความหาผู้รับผิดชอบ หรือ ไปทำแท้งเอาเด็กออก

Hesse004