Aug 29, 2009

“ลูคัส เลว่า” แพะตัวน้อยแห่งทุ่งแอนฟิลด์!!





ในฐานะคอบอลอังกฤษ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2009 เปิดฉากขึ้นมาด้วยความเร้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมระดับกลางตารางอย่าง “ท๊อตแนม ฮอตสเปอร์” ของแฮรี่ เร้ดแนปป์ (Harry Redknapp) ที่สามารถพาไก่เดือยทองตัวนี้กระพือปีกบินได้สูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ออกสตาร์ตฤดูกาล

ชัยชนะทั้งสี่นัดของสเปอร์หาได้มาด้วยโชคช่วยหรือความบังเอิญไม่ หากแต่มาจากมันสมองและการจัดสรรผู้เล่นที่ลงตัวของคุณจ่าแฮรี่ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษคนเดียวที่น่าจะมี “กึ๋น” ในการทำทีม ปั้นเด็ก แก้เกมส์ ไม่แพ้กุนซือระดับบิ๊กเนมอย่างท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) หรือ เจ้าป้าอาร์แซน เวงเกอร์ (Arsene Wanger) หรือแม้แต่พี่แจ้แห่งสแตมฟอร์ดบริดจ์ คาร์โล อันเชลอตติ (Carlo Ancelloti)

แต่เอ ! ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนทีมหงส์แดง ลิเวอร์พูล อาจจะยกมือท้วงติงผมว่าลืม “เอล ราฟา” ราฟาเอล เบนิเตซ (Rafael Benitez) กุนซือสแปนยาร์ดของพวกเราสาวกเดอะค็อปไปได้อย่างไรกัน

ขอเรียนอย่างนี้นะครับว่า ในฐานะแฟนบอลทีมลิเวอร์พูลเหมือนกัน ผมเริ่มรู้สึกว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ไม่น่าจะมีโอกาสสัมผัสถ้วยลีกสูงสุดสมัยที่ 19 เป็นแน่แท้ !!

ผมคงจะมองโลกในแง่ร้ายและด่วนสรุปเกินไปเพราะฟุตบอลเพิ่งเตะไปได้เพียง 4 เกมเท่านั้นซึ่งลิเวอร์พูลชนะสองเกมส์และแพ้ไปแล้วสองเกมส์ครับ

สี่เกมส์เราเก็บได้หกแต้มยิงได้เก้าเสียไปเจ็ด เทียบกับทีมบิ๊กโฟร์ด้วยกันแล้วเราห่างเชลซีแค่หกแต้ม ห่างแมนยูแค่สามแต้มเอง และยังมีคะแนนเท่ากับอาร์เซน่อลที่เพิ่งจะสะดุดขาแพ้ให้กับแมนยูเป็นนัดแรก โดยทีมปืนโตได้เปรียบคือแข่งน้อยกว่าหงส์แดงหนึ่งนัดครับ

สรุปง่ายๆก็คือสถานการณ์พรีเมียร์ลีก 4 นัดแรกของลิเวอร์พูล นั้นยังไม่สามารถเกาะหนึ่งในสี่ของยอดตารางได้

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ไอ้การด่วนสรุปของผมนั้นคงต้องขออธิบายเหตุผลเข้าข้างตัวเองสักหน่อยนะครับว่าทำไมผมยังเชื่อว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ยังไม่ดีพอที่จะคว้าแชมป์ลีกสูงสุดที่รอคอยมาแสนนาน

เหตุผลประการแรก คือ ฟอร์มการเล่นของลิเวอร์พูลที่ดีที่สุดได้ผ่านพ้นไปเมื่อฤดูกาลก่อนแล้วครับ ทั้งนี้ เอล ราฟา ใช้รูปแบบการเล่น 4-4-1-1 โดยวางตอร์เรสไว้เป็นหน้าเป้าและมีเจอร์ราดเป็นตัวสนับสนุนขณะที่แดนกลางได้อลองโซ่มาคุมจังหวะเกมส์ ตัดเกมส์ วางบอลยาวโดยมีลูกหาบอย่างมาสเคราโน่มาช่วยแบ่งเบาภาระ ขณะที่ปีกสองข้างก็ได้เคาท์และริเอร่าคอยสนับสนุนและมีเบนนายูนเป็นตัวสำรองชั้นดีที่เข้ามาแก้สถานการณ์คับขันของทีมได้หลายครั้ง

ฤดูกาลที่แล้วจึงน่าจะเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดที่ เอล ราฟา ค้นพบสูตรการเล่นที่สามารถปราบทีมใหญ่อย่างแมนยูและเรอัล มาดริด ได้อย่างราบคาบ เพียงแต่ว่าขุมกำลังสำรองของหงส์แดงไม่สามารถช่วยให้ลิเวอร์พูลทะยานขึ้นเป็นแชมป์ลีกสมัยที่สิบเก้าได้

ผมตั้งข้อสังเกตกับระบบโรเตชั่นของเบนิเตซมาหลายครั้งแล้วว่า หากให้ฮาเวียร์ มาสเคราโน่กับ ลูคัส เลว่า จับคู่กันเมื่อไร โอกาสที่ลิเวอร์พูลจะเอาชนะคู่แข่งค่อนข้างยากซึ่งผลส่วนใหญ่ออกมาในรูปของการเสมอกับทีมระดับกลางและท้ายตาราง เช่น เสมอกับวีแกนที่เจเจบีสเตเดี้ยม หรือเสมอกับสโต๊ต ซิตี้ในบริตาเนียสเตเดี้ยม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามระบบโรเตชั่นของราฟาเองก็ส่งผลดีต่อการทำทีมอยู่ไม่น้อยนะครับเพราะนักเตะไม่กรอบจนเกินไปในสมรภูมิฟุตบอลที่เตะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้ว่าโรเตชั่นจะทำให้ความเข้าใจในทีมสะดุดลงเป็นบางช่วง สังเกตได้จากผลเสมอที่มากเกินไปจนทำให้ลิเวอร์พูลอดฉลองแชมป์ทั้งๆที่พวกเขาแพ้เพียงสองนัดเท่านั้น

ดังนั้นจึงนำมาสู่การอธิบายถึงเหตุผลประการที่สอง คือ การจากไปของ “ชาบี อลองโซ่” (Xabi Alonso) ที่ทำให้เราได้เห็นแล้วว่าสภาพกลางสนามที่ขาดการเชื่อมเกมส์ ทำลายจังหวะคู่ต่อสู้ หรือแม้แต่การตัดเกมส์อย่างชาญฉลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะหาไม่ได้เลยจากมิดฟิลด์ตัวแทนหมายเลข 21 ที่ชื่อ “ลูคัส เลว่า” (Lucas Leiva) ครับ

กองเชียร์เดอะค็อปแทบทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันว่า “เทพลูคัส”ไม่สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนการขาดหายไปของมิดฟิลด์หน้าหยกทีมชาติสเปนรายนี้ได้ เพียงแต่คนที่อาจจะยังไม่เห็นด้วยกับแฟนบอล คือ ราฟาเอล เบนิเตซ

ถ้าท่านผู้อ่านที่ติดตามชมฟอร์มการเล่นของลิเวอร์พูลมาโดยตลอดจะพบการเปลี่ยนแปลงในแดนกลางของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้อย่างชัดเจน

และผมเองก็ยังไม่มั่นใจว่า “อัลแบร์โต้ อควินลานี่” (Alberto Aquilani) จะสามารถมาทดแทนตำแหน่งของชาบีได้หรือเปล่า

จริงๆแล้วผมเองก็ไม่อยากจะคิดว่าอลองโซ่ มีอิทธิพลกับทีมลิเวอร์พูลของ เอล ราฟา มากมายขนาดนั้นเพียงแต่ผลงานที่เกิดขึ้นตอนนี้มันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผมก็เชื่อว่า “เอล ราฟา” แกก็คงมองเห็นเหมือนกันแต่ด้วยความที่แกมีทิฐิมานะและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจึงอยากจะทดลองให้โอกาสกับเจ้าหนูลูคัส เลว่าไปสักพักหนึ่งก่อน

ผมคิดว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ขาดตัวพักบอลที่ดีครับ ซึ่งช่วงฤดูกาลต้นๆที่เอล ราฟา เข้ามาคุมทีมเขาดึงอลองโซ่มาจากเรอัล โซซิดัด (Real Sociedad) และราฟาได้ทำให้อลองโซ่กับเจอร์ราดกลายเป็นคู่กลางที่น่าเกรงขามที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบาทของเจอร์ราดขยับไปเล่นสูงขึ้นทำให้อลองโซ่ต้องกลายเป็นคนคุมจังหวะเกมส์ ประคองเกมส์แทนเจอร์ราดไป เข้าทำนองปิดทองหลังพระ

เบนิเตซเองพยายามหามิดฟิลด์ลูกหาบมาช่วยอลองโซ่ไล่ตั้งแต่ “โมโม่ ซิสโซโก้” มาจนกระทั่ง “ฮาเวียร์ มาสเคราโน่”
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับระบบการเล่นแบบใช้หน้าเป้าตัวเดียวกับกลางห้าตัวของ เบนิเตซ คือ ต้องมีตัวประคองเกมส์และกำหนดจังหวะเกมส์ดีๆสักตัวหนึ่งซึ่งที่ผ่านมา ชาบี อลองโซ่ รับบทบาทนี้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีแม้ทีมชุดนี้จะเล่นตามรูปแบบการเล่นเดิมแต่กลับกลายเป็นว่าลิเวอร์พูลไม่มีกองกลางพักบอล ขาดตัวเชื่อมเกมส์ ประคองเกมส์และตัดเกมส์ได้ ซึ่งพูดถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงกองกลางตัวเก๋าในอดีตอย่าง “ดีทมาร์ ฮามันน์” (Dietmar Harmann)ที่เคยเข้ามาช่วยเติมแดนกลางของหงส์แดงให้แข็งแกร่งตอนช่วงที่เจอร์ราดกำลังอยู่ในวัยรุ่น

ผมคิดว่า “ดีดี้” ฮามันน์น่าจะมีส่วนทำให้เจอร์ราดเล่นได้ด้วยความมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากฮามันน์ได้ช่วยประคองเกมส์แดนกลางให้ลิเวอร์พูลมาหลายปีก่อนที่อลองโซ่จะมาร่วมทีม

โดยส่วนตัวนะครับ ผมเชื่อว่า เอล ราฟา ต้องการปั้นลูคัส เลว่า อดีตกัปตันทีมชาติบราซิลชุดเล็กแถมยังมีดีกรีเป็นดาวรุ่งแห่งวงการฟุตบอลบราซิล จนใครหลายคนขนานนามว่าเป็น “เจอร์ราดแห่งบราซิล” ซึ่งถ้าใครได้ดูคลิปในยูทูป (http://www.youtube.com/watch?v=EYqKzNlxclw) จะพบว่าฟอร์มการเล่นของ ลูคัส เลว่าในสโมสรเกรมิโอ (Gremio) นั้นเข้าขั้น “เทพ”จริงๆ ด้วย

ในอดีตที่ผ่านมาลิเวอร์พูลมักจะได้นักเตะประเภทนักเตะ “นิว”ทั้งหลายมาเชยชมและดูเหมือนว่าลิเวอร์พูลจะชอบรับ “เซ้ง” นักเตะนิวเนมมาตั้งแต่ยุคเชราลด์ อุลลิเยร์ (Gerard Houllier) แล้ว มีตั้งแต่นิวโบบัน (อิกอร์ บิสคาน) , นิวซีดาน (บรูโน่ เชย์รู) แม้กระทั่ง นิวตูราม (ฌิมี่ ตราโอเร่) ก็ยังมี

จะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจ “ลูคัส เลว่า” เหมือนกันนะครับ เนื่องจากลูคัสเพิ่งจะแตกเนื้อหนุ่มได้ไม่นานอายุเพิ่งจะยี่สิบสองแต่ต้องมาแบกรับภาระในฐานะมิดฟิลด์ตัวตัดเกมส์ เชื่อมเกมส์ ประคองเกมส์ ซึ่งจะว่าไปแล้วเขาควรอยู่ทีมสำรองรอวันเวลาที่แข็งแกร่งมากกว่านี้

หลายต่อหลายเกมส์เราจะเห็น ลูคัสกลายเป็น “ลูกไล่” ของนักเตะที่เจนสังเวียนแข้งอย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด (Frank Lampard) หรือ ไมเคิล คาร์ริค (Michael Carrick) ไม่จำเพาะกองกลางระดับบิ๊กโฟร์ด้วยกันเองหรอกครับ บางทีลูคัสยังไม่สามารถเอาชนะกองกลางชั้นดีของทีมระดับกลางตารางอย่างวิลสัน พลาสิออส (Wilson Palacios) ของสเปอร์ ได้เลย

สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่า เอล ราฟา เดิมพันกับอนาคตของไอ้หนูลูคัสไว้สูงมากเพราะทุกวันนี้ลูคัสได้กลายเป็น “แพะรับบาป” (Scapegoat) ไปเสียแล้วครับ

ลิเวอร์พูลมักมีนักเตะประเภทแพะอยู่เสมอๆนะครับ อาทิ เดวิด เจมส์ (David James) อดีตนายทวารลิเวอร์พูลชุดสไปซ์บอย , เจมี่ คาราเกอร์ (Jamie Carragher) ก็เคยเป็นแพะเนื่องจากเล่นบอลโฉ่งฉ่างแต่วันเวลาก็พิสูจน์แล้วว่า “คาร่า” เหมาะกับการยืนในตำแหน่งปราการหลังตัวกลางมากที่สุด และแพะที่แฟนหงส์จำได้ไม่ลืม คือ ฌิมี่ ตราโอเร่ (Djimi Traore) อดีตนิวตูรามไงล่ะครับ “ตราโอเร่” เป็นแพะตัวใหญ่ที่เหล่าเดอะค็อปต้องส่ายหัวทุกครั้งเวลาเห็นน้องตราโอเร่ ลงสนาม จนท้ายที่สุดตราโอเร่ก็ต้องถูกอัปเปหิออกจากทีมไป

ตอนนี้ลูคัส เลว่า กำลังกลายเป็นแพะตัวใหม่แห่งทุ่งแอนฟิลด์ไปแล้วครับ หลังจากที่ไม่สามารถเล่นได้ตามความคาดหวังของแฟนบอลที่ยังไม่ลืมฟอร์มอันสุดแสนจะคลาสสิคของชาบี อลองโซ่ (แม้ว่าจะมีบางช่วงที่อลองโซ่เองก็ฟอร์มตกเหมือนกัน)

จริงๆแล้วพรีเมียร์ลีกเพิ่งจะเริ่มต้น เอล ราฟา ยังมีเวลาปรับแต่งทีมให้ได้สมดุลเหมือนที่เขาลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่แน่ใจว่าแฟนหงส์แดงจะทนรอได้อีกหรือเปล่าเพราะดูเหมือนว่า เอล ราฟา ยังไม่สามารถค้นหาทีมที่ดีที่สุดของเขาได้เสียที

ซึ่งหากฤดูกาลนี้ลิเวอร์พูลกลับบ้านมือเปล่าอีกล่ะก็เห็นทีแพะตัวใหม่คงจะหนีไม่พ้น “เอล ราฟา” แล้วสิครับ

Hesse004

Aug 20, 2009

Inglourious Basterds หนังสงครามสุด “เจ๋ง”





ท่านผู้อ่านที่นิยมดูหนังประวัติศาสตร์โดยเฉพาะหนังที่ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สองคงรู้สึกคล้ายๆกันนะครับว่าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ (Modern History) ถูกถ่ายทอดโดยสตูดิโอฮอลลีวู้ด

จึงไม่น่าแปลกที่เราจะได้รับอิทธิพลให้รู้สึก “โปร” อเมริกันและกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าที่จะรู้สึกชื่นชอบฝ่ายเยอรมนีหรือญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็แล้วแต่หากมองในแง่ของมนุษยธรรมแล้วการที่ “นาซี” ตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติยิวก็นับว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้นะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าเหตุผลนั้นมันจะ “เข้าท่า” หรือ “ไร้สาระ” ด้วยเหตุนี้เองถ้าเราลองศึกษาประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน (ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก) เราก็จะพบเหตุผลต่างๆนานาของผู้ที่ตัดสินใจจะ “ก่อสงคราม” หรือผู้ที่ตัดสินใจจะ “ยุติสงคราม”

นอกจากสงครามจะกลายเป็นเวทีขจัดความขัดแย้งของมนุษย์แล้ว สงครามยังเป็นเวทีพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย

แหม่! ผมออกจะติดปรัชญาเกินไปหน่อยแล้วล่ะครับ กลับมาที่เรื่องที่อยากจะเขียนถึงดีกว่า

เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Inglourious Basterds (2009) ผลงานการกำกับของ เควนติน แทแรนทิโน่ (Quentin Tarantino) ซึ่งอยากจะบอกว่า แทนแรนทิโน่ทำให้หนังเรื่อนี้กลายเป็นหนังสงครามที่ “เจ๋ง” (Cool) ที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมาเลยก็ว่าได้ครับ

เควนติน แทแรนทิโน่ โด่งดังมาจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction (1994) ซึ่งได้กลายเป็นตำนานหนัง “เจ๋ง” ที่มีพล็อตเรื่องพลิกผัน หักเหลี่ยมเฉือนคมกันอยู่ตลอดเวลา นอกจาก Pulp Fiction แล้ว ผลงานสร้างชื่ออีกเรื่องของแทแรนทิโน่ คือ Kill Bill (Vol.1 2003, Vol 2 2004)

โดยส่วนใหญ่แล้วหนัง “เจ๋ง” มักจะถูกจัดอยู่ในสกุลหนังประเภท “Black Comedy” ครับ ซึ่งเป็นหนังตลกที่ผสมเรื่องราวความรุนแรงและอารมณ์เสียดสีลงไปด้วย

สำหรับ Inglourious Basterds นั้น แทแรนทิโน่ได้ใช้พล็อตเรื่องในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่กองทัพนาซีเข้ารุกรานฝรั่งเศสโดยแทแรนทิโน่พยายามผูกโครงเรื่องให้ผู้ชมเกิดความสงสัยว่าเหตุการณ์ต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้น

จริงๆแล้วความพิเศษของหนัง “เจ๋ง” มันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ การที่คนเขียนบทและผู้กำกับได้วางเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ให้แยกขาดจากกันก่อนจะมาขมวดปมผูกให้เหตุการณ์เหล่านั้นกลายมาเป็นจุดไคลแมกซ์สำคัญของภาพยนตร์

กระบวนหนังที่ผมดูเสร็จแล้วต้อง สบถคำว่า “เจ๋ง” ออกมาเท่าที่จำได้ก็มี The Big Lebowski (1998) ของสองศรีพี่น้องตระกูลโคเอน (The Coen Brothers), Snatch (2000) หนังอังกฤษของกาย ริชชี่ (Guy Ricchie) และหนังตระกูล Ocean ตั้งแต่ Ocean ’s eleven จนถึง Ocean ’s thirteen ของสตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก (Steven Soderbergh)

จริงๆแล้ว Inglourious Basterds เป็นชื่อที่แทแรนทิโน่จงใจตั้งขึ้นเพื่อให้ล้อกับชื่อหนังสงครามอีกเรื่องที่ชื่อ The Inglorious Bastards (1978) ของเอนโซ่ คาสเตลราลี่ (Enzo Castellari) ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนครับ

แทแรนทิโน่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่ได้ยึดข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มากเท่าไรนักแต่สิ่งที่แทแรนทิโน่ได้ทำให้เราเห็นคือ การทำให้สงครามกลายเป็น “อาชญากรรมของการหักเหลี่ยม”โดยแทแรนทิโน่ได้เติมอารมณ์ขันแบบ Black Comedy เข้าไปด้วย

จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือ การได้ดารามากฝีมือที่มาจากฝั่งยุโรปมาร่วมงานและทำให้การพูดภาษาเยอรมันและภาษาฝรั่งเศส นั้นดูมีความเป็นธรรมชาติอย่างมาก

แทแรนทิโน่ได้ “แบรท พิตต์” มารับบทนำเป็นผู้หมวดอัลโด้ เรน ฉายา Aldo the Alpache ซึ่งพิตต์ก็เล่นได้สุดยอดตามมาตรฐานซูเปอร์สตาร์

ส่วนดารายุโรปอีกคนที่ผมอยากพูดถึง คือ คริสตอฟ วอลซ์ (Christoph Waltz) ดาราชาวออสเตรียนที่มารับทเป็นพันเอกฮันส์ แลนดา (Hans Landa) แห่งกองทัพนาซี เจ้าของฉายา The Jew Hunter ซึ่งถ้าจะให้คะแนนการแสดงแล้วผมให้วอลซ์เต็มร้อยเลยครับ เพราะวอลซ์แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวปนความไซโคของนายทหารฝ่ายเอสเอสได้เหนือคำบรรยายจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่วอลซ์จะได้รับรางวัลดาราชายยอดเยี่ยม (Best Actor Award) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้

แม้ว่า Inglourious Basterds จะทำให้มุมมองที่เรามีต่อหนังสงครามโลกครั้งที่สองแตกต่างออกไป แต่จะว่าไปแล้วการสร้างหนังสงครามอาจไม่จำเป็นต้องเน้นความหดหู่ของการทำลายล้างเพียงอย่างเดียวก็ได้นะครับ บางครั้งหนังสงครามอาจพาให้เราได้มองเห็นแง่มุม “เจ๋ง”ๆ บางอย่างประเภทที่ว่าเฮ้ยมึงคิดได้ไงวะเนี่ยซึ่งหนังประเภทนี้ดูเหมือนแทแรทิโน่จะทำได้ดีเสียด้วยนะครับ

อ้อ! สำหรับหนังเรื่องนี้,เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการจัดเรตติ้งสำหรับผู้ชมตาม พรบ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่ซึ่งเขากำหนดให้ผู้ชมที่จะดูหนังเรื่องนี้ควรจะมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนะครับ

Hesse004

Aug 15, 2009

“ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว” บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ





ถ้าจะว่าไปแล้วการสร้าง “หนังรัก” (Love Story) ให้ดูแล้วอิ่ม ประทับใจนั้นค่อนข้างเป็นโจทย์ที่ยากเอาการอยู่นะครับ เพราะหากผู้สร้างเน้นไปที่ “อารมณ์รัก” มากจนเกินไปหนังรักเรื่องนั้นอาจจะหวานปนเลี่ยนจนทำให้ผู้ชม “อิน” กับบทโศกซึ้งเกินสมควร

ด้วยเหตุนี้เองการสร้างหนังรักจึงมักเติม “อารมณ์ขัน” เพื่อสร้างความกลมกล่อมให้กับตัวหนังซึ่งหนังรักที่เจือไปด้วยอารมณ์ขันนี้ภาษาภาพยนตร์เขาเรียกว่า “โรแมนติค คอมเมดี้” (Romantic Comedy) ครับ

เมื่อปีกลายสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (The American Film) ได้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกกว่า 1,500 คนเกี่ยวกับสิบอันดับหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ของอเมริกาที่น่าประทับใจ ผลการโหวตปรากฏว่า City Light (1931) ของ ชาร์ลี แชปลิน (Charles Chaplin) เป็นหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ที่สมาชิกของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันประทับใจมากที่สุดครับ ส่วนอันดับสองได้แก่เรื่อง Annie Hall (1977) ของผู้กำกับปัญญาชน “วูดดี้ อัลเลน” (Woody Allen)

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจหนังโรแมนติค คอมเมดี้จากฝั่งอังกฤษอย่าง Four Wedding and a Funeral (1994), Notting Hill (1999) และ Love Actually (2003) ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นผลงานของริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) มือเขียนบทภาพยนตร์และกำกับหนังโรแมนติคคอมเมดี้แห่งเกาะอังกฤษ

กลับมาหัวเรื่องที่จั่วไว้ข้างต้นดีกว่าครับ, หนังเรื่อง ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว (2552) เป็นผลงานการกำกับของคุณยงยุทธ ทองกองทุน ครับ โดยหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Best of Times

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสร้างสรรค์โดยคุณวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ , คุณอมราพร แผ่นดินทอง และคุณนนตรา คุ้มวงศ์ ครับ เหตุที่ต้องกล่าวถึงทีมบทภาพยนตร์ด้วยก็เพราะว่าหนังรัก โรแมนติคคอมเมดี้ที่มีเสน่ห์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมือเขียนบทดีๆมาช่วยส่งให้ตัวหนังนั้นน่าติดตาม

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นเรื่องราวความรักของคนสองคู่ สองวัยที่เวียนมาพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ หากมันกลับประทับอยู่ในความทรงจำซึ่งกันและกันยาวนาน (ย่อหน้านี้ผมลอกเอามาจากโปรยหัวเรื่องย่อของหนังครับ)

หนังเรื่องนี้เข้าใจหยิบเรื่อง “ความทรงจำ” ที่เกี่ยวกับความรักของคนสองวัยมานำเสนอ เพียงแต่กล่าวถึงความรู้สึกของคนสองคู่สองวัยในมุมที่แตกต่างกัน

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาเพียงแต่หยิบข้อคิดที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักได้น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะการจัดการกับความทรงจำที่มีต่อความรักครั้งแรกและรักครั้งสุดท้าย

อันที่จริงแล้วความทรงจำที่มีต่อความรักนั้นบางครั้งมันก็ดู “อิ่มเอม” เวลาหวนกลับไปนึกถึงวันวานที่หวานอยู่ แต่บางคราวหากความทรงจำนั้นมัน “ขม” ไอ้เจ้าความทรงจำเหล่านั้นมันมักจะมาหลอกหลอนเจ้าของอยู่ร่ำไปเวลาที่มันมีอะไรมาสะกิดใจเรา

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นหนังที่พูดถึงความทรงจำที่มีต่อความรักของคนสองวัยครับ รักของวัยหนุ่มสาวเป็นรักครั้งแรกที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่เจ็บปวดทั้งตัวพระเอกอย่าง “หมอเก่ง” และนางเอกอย่าง “ฝ้าย” ไอ้ความทรงจำเหล่านี้มันกลับมาสะกิดให้คนทั้งคู่ต้อง “ขมขื่น” ทุกครั้งเวลาที่มีสิ่งเร้ามาหวนให้รำลึกถึง

ในทางกลับกันรักของคนมีอายุ (แก่) อย่างคุณลุงจำรัสและป้าสมพิศ กลับกลายเป็นรักครั้งสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจที่แม้ว่าบางครั้งอาจจะรู้สึก “สับสน” กลับเงื่อนไขทางจริยธรรมที่ถูกสังคมกำหนดเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วรักของคนแก่กลับเป็นรักที่ “อิ่มเอม” เพราะมันเป็นรักที่เลือกจะเก็บความทรงจำที่ดีๆเอาไว้ก่อนที่มันจะเลือนหายไป

คนบางคนสามารถจดจำเรื่องราวของคนที่เรารักได้มากกว่าเรื่องราวของตัวเราเองเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองเวลาที่มันคิดจะลืมมันเลยเป็นอะไรที่ “ยากจะลืมเลือน” อย่างไรก็ตามมนุษย์เราย่อมร่วงโรยไปตามธรรมชาติด้วยเหตุนี้เองความทรงจำดีๆบางอย่างมันกลับค่อย “ลบเลือน” หายไปด้วย

พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเนื้อเพลง “อยากลืมกลับจำ” ที่เขาร้องว่า “บางสิ่งเราอยากจำ มันกลับลืม” แต่ “บางสิ่งเราอยากลืม มันกลับจำ” เพลงนี้คนแต่งเขาเข้าใจแต่งนะครับเพราะมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา

เช่นเดียวกับการเก็บความทรงจำก็เป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์เหมือนกันนะครับ เขียนมาถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงคำสอนของพุทธองค์เรื่อง “ขันธ์ 5” ว่าความทรงจำก็เป็น “สัญญา”อย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งเจ้าสัญญาตัวนี้ก็ค่อยๆเสื่อมหายไป

ท้ายที่สุดผมคิดว่าก่อนเราจะจากโลกใบนี้ไปบางทีเราน่าจะเก็บความทรงจำดีๆไว้บ้างนะครับ บางเรื่องอะไรที่ควรจะจดจำก็พยายามจำมันไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ แต่บางเรื่องที่ไม่น่าจะจำก็ลองทำลืมๆมันไปบ้างก็ได้นะครับ

Hesse004

Aug 7, 2009

“โกงแต่ขอให้มีผลงาน” มิจฉาทิฐิของการพัฒนาประเทศ



เมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าผลสำรวจโพลเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับ “รัฐบาลที่โกงแต่ขอให้มีผลงาน” นั้นน่าจะสะท้อนค่านิยมบางอย่างของคนไทยเรานะครับ

จะว่าไปแล้ว “โพล” ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เพียงแต่โพลเป็นตัวบ่งบอกวิธีคิดอะไรบางอย่างของคนที่ถูกสำรวจความคิดเห็น

ปัญหาคลาสสิคอย่างหนึ่งของการศึกษาเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) คือ จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นมันส่งผลดีหรือผลเสียกับสังคมในแง่ใดบ้าง และหากเราจำเป็นต้องให้มีการคอร์รัปชั่นดำรงอยู่แล้วระดับความเหมาะสมของความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นมันควรจะอยู่ในระดับไหนดี

ทุกคนย่อมรู้ดีนะครับว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็น “มะเร็งร้าย” ของสังคม คอร์รัปชั่นไม่ส่งผลดีต่อสังคมแน่นอน

ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นหลายคนพยายามมองว่าคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือนเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” (Grease in the Wheel) ของระบบเศรษฐกิจนะครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะถูกประการหนึ่ง เพราะหากไม่มีการคอร์รัปชั่นแล้วบางที “โครงการดีๆ” อาจจะไม่มีวันเกิดก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้เอง “นักการเมือง” ตั้งแต่ระดับชาติไปจนระดับท้องถิ่นจึงถือโอกาสใช้โครงการต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงพร้อมทั้งหากินไปกับโครงการใหม่ๆเหล่านี้

ดูเหมือนว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาอาชีพ “นักการเมือง” จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนรวมไปถึงมีบทบาทในการตัดสินใจโครงการสำคัญๆของประเทศ

นักการเมือง มักจะทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นายหน้า” ที่คอยผลักดันโครงการในท้องถิ่นหรือพื้นที่ของตัวเองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเงินงบประมาณ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปของค่าคอมมิสชั่นจากการวิ่งเต้นให้โครงการนั้นผ่าน ก่อนจะผันโครงการเหล่านั้นเป็นเงินผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐโดยร่วมมือกับนักธุรกิจ พ่อค้าผู้หวังประโยชน์จากการขายสินค้าและบริการให้รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็น “คุโณปการ” ของนักการเมืองครับ พูดง่ายๆคือหากไม่มีเขา การพัฒนาประเทศย่อมทำไม่ได้ กล่าวโดยสรุปแล้วนักการเมืองมักจะทำหน้าที่อยู่สองอย่างครับ โดยหน้าที่หลักเป็นนายหน้าที่ค้าขายโครงการของรัฐโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นข้ออ้าง เอ๊ย! เป็นที่ตั้งครับ ส่วนหน้าที่รองคือเป็นตัวแทนของประชาชนเฉพาะเวลาใกล้หาเสียงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า คอร์รัปชั่นเปรียบเสมือน “ทรายติดล้อจักรยาน” (Sand in the Wheel) ครับ ลองนึกภาพดูนะครับว่าเวลาทรายมันติดล้อเยอะๆเนี่ยล้อมันจะหมุนไปได้ยังไง

นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติครับ มีงานศึกษาหลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นส่งผลทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวครับ

งานชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงเสมอในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น คือ งานของเปาโล เมาโร (Paolo Mauro) เรื่อง Corruption and Growth (1995) ซึ่งเมาโร ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติหาความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชั่นและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งผลการศึกษาพบว่าการคอร์รัปชั่นทำให้การลงทุนลดลงและส่งผลไปยังอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงด้วย

การศึกษาชิ้นต่อมาของเมาโร เรื่อง Corruption and the composition of government expenditure (1998)ยังพบอีกว่าการคอร์รัปชั่นนั้นมีผลต่อการลดรายจ่ายของรัฐด้านการศึกษาและสาธารณสุขเนื่องจากงบประมาณจำนวนมากถูกแปรไปเป็นรายจ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภคอย่าง ถนน ซึ่งง่ายต่อการคอร์รัปชั่น

นอกจากงานของ เมาโร แล้วยังมีนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักไอเอ็มเอฟ อย่าง วีโต้ แทนซี่ (Vito Tanzi) และ ฮามิด ดาวูดี้ (Hamid Davoodi) ยังชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นมีส่วนในการลดรายได้ทางภาษีของรัฐทำให้รัฐไม่สามารถเก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชั่นมันส่งผลกระทบด้านลบไปเสียหมดเลยนะครับ ในแง่หนึ่งเมื่อมีการคอร์รัปชั่นในการจัดเก็บรายได้แล้ว รัฐก็หาเงินได้น้อย แถมเมื่อรัฐเอาเงินภาษีออกมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศแล้วมีการคอร์รัปชั่นกันอีก สินค้าและบริการที่รัฐซื้อย่อมมีราคาแพงอีกทั้งได้ของที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ใช้ไปไม่เท่าไรก็ต้องซ่อมแซมเสียเงินงบประมาณอีก และเมื่อรัฐหาเงินไม่เข้าเป้าท้ายที่สุดก็ต้อง “กู้” ไงล่ะครับ

คอร์รัปชั่นยังทำให้ประเทศเราขาดโอกาสในการพัฒนาคน เพราะคอร์รัปชั่นได้ไปลดรายจ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งรายจ่ายในการวิจัยและพัฒนา รายจ่ายเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสที่สูญเสียไปเพียงเพราะเราต้องเอาเงินงบประมาณไปทุ่มให้กับโครงการเฮงซวยทั้งหลายที่มาจากนักการเมืองที่หวังหากินกับโครงการต่างๆของรัฐ

ผมไม่แน่ใจว่าเรายังจะรับได้อีกหรือครับที่ว่า “โกงแต่ขอให้มีผลงาน” หรือทั้งหมดนี้มันเป็น “มิจฉาทิฐิ” ที่เราเห็นเพียงว่าจะดีจะชั่วก็ขอให้ทำงาน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามต่อไปว่าเมื่อมันชั่วแล้วทำงานให้เราผลร้ายที่จะตามมามันจะเป็นอย่างไรหรือเราจะปล่อยให้มันกลายเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลานล่ะครับ

Hesse004