Jul 26, 2009

Public Enemies ศัตรูหมายเลขหนึ่งของแผ่นดิน





ขึ้นชื่อว่า “โจร” แล้วย่อมมีแต่คนเกลียดกลัวนะครับ แต่โจรน้อยคนนักที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนว่าเป็น “จอมโจร” ซึ่งหนึ่งในจอมโจรที่ว่านี้คือ “จอห์น เฮอร์เบิร์ต ดิลลิงเจอร์” (John Herbert Dillinger) ครับ

ไม่กี่วันมานี้หนังเรื่อง Public Enemies (2009) ผลงานการกำกับของไมเคิล มานน์ (Michael Mann) เพิ่งจะลงโรงฉาย หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องของจอมโจรชื่อดังแห่งทศวรรษที่สามสิบ “จอห์น ดิลลิงเจอร์” ครับ โดยบทภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือของไบรอัน เบอโร่ (Bryan Burrogh) เรื่อง Public Enemies : America’s Greatest Crime Wave and the Birth of the FBI, 1933-43 ครับ (ข้อมูลจาก วิกีพีเดีย)

หนังเรื่องนี้ยังได้จอหน์นี่ เดปป์ (Johnny Depp) มารับบทเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ ซึ่งถ้าจะให้คะแนนการแสดงแล้ว ผมให้เต็มสิบเลยครับ เพราะเดปป์เล่นเรื่องนี้ได้โดดเด่นมากๆ

จอห์น ดิลลิงเจอร์ เป็นจอมโจรชื่อดังในต้นทศวรรษที่สามสิบ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ The Great Depression

วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นนอกจากจะทำให้ชาวอเมริกันตกงานกันเรือนล้านแล้วยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของสถิติการก่ออาชญากรรมอีกด้วยไล่ตั้งแต่การลักเล็กขโมยน้อยไปจนกระทั่งการปล้นธนาคาร

และเจ้าปัญหาโจร (ไม่) กระจอกออกอาละวาดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันยุคนั้นต้องรีบกวาดล้างเหล่าทุรชนทั้งหลายอย่างเร่งด่วนโดยใช้บริการหน่วยงานอย่าง Federal Bureau of Investigation หรือที่รู้จักกันดีว่า “เอฟบีไอ” (FBI) นั่งเองครับ

จริงๆแล้วเอฟบีไอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 แล้วครับ แต่บทบาทของเอฟบีไอเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยมหาโจรและเหล่าแก๊งสเตอร์ (Gangster) ครองเมืองซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “Public Enemy Era” หรือ “ยุคแห่งศัตรูของรัฐ”

บทบาทของเอฟบีไอในช่วง Public Enemy Era นั้นดูจะมีอำนาจล้นฟ้าจนทำให้ใครหลายคนอยากเป็นเอฟบีไอกันเป็นแถว ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกความดีความชอบให้กับ “เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์” (J. Edgar Hoover) อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอคนแรก ชายผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลมากที่สุดในเรื่องการกุมข้อมูลความลับของบุคคลสำคัญทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นมาเฟีย นักการเมือง ดารา รวมไปถึงประธานาธิบดี!!

เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เป็นผู้นำที่เข้มแข็งของเอฟบีไอ เขาได้สร้างอาณาจักรเอฟบีไอให้กลายเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลองค์กรหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยฮูเวอร์นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอยาวนานถึงสามสิบเจ็ดปี (1935 - 1972) และรับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐถึงหกคนครับ

ฮูเวอร์ได้ทำให้เอฟบีไอแตกต่างจากตำรวจทั่วไป กล่าวคือ เขาได้นำวิธีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นวิทยาศาสตร์มาทำการสอบสวนผู้ต้องหา นำเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสืบหาข่าวคราวของเหล่าร้ายซึ่งงานของเอฟบีไอในยุคเริ่มต้นคือการทำสงครามกับเหล่าแก๊งสเตอร์รวมไปถึงจอมโจรทั้งหลาย

แน่นอนครับว่าช่วงเวลา Public Enemy เหล่าร้ายที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศัตรูของรัฐต้องรวม จอห์น ดิลลิงเจอร์ เข้าไปด้วยเนื่องจากดิลลิงเจอร์เป็นโจรปล้นธนาคารที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด (Most Wanted)

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เหล่าแก๊งสเตอร์หรือจอมโจรทั้งหลายได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้คนเป็นอย่างมาก จนทำให้เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของคนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ

เหล่า Public Enemies ที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดนอกจาก ดิลลิงเจอร์ แล้วยังมีจอมโจรหน้าอ่อน “เบบี้เฟซ เนลสัน” (BabyFace Nelson) รวมถึงคู่รักจอมโจรอย่าง “บอนนี่แอนด์ไคลด์” (Bonny and Clyde) ซึ่งเรื่องของขุนโจรเหล่านี้ล้วนถูกหยิบไปสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งสิ้นครับ

กลับมาที่ดิลลิงเจอร์กันต่อครับ, ชื่อเสียงของจอห์น ดิลลิงเจอร์ ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอเมริกันในฐานะเป็นโจรที่พอจะมีคุณธรรมอยู่บ้างจนหลายคนขนานนามเขาว่าเป็น “โรบินฮู้ด” ยุคใหม่เลยทีเดียว

ดิลลิงเจอร์เป็นจอมโจรที่มีเสน่ห์ แต่งตัวดี มีรสนิยมและที่สำคัญมีความฉลาดเฉลียวในการปล้น พูดง่ายๆว่าเขาเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการโจรแห่งยุคนั้นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ดิลลิงเจอร์จึงกลายเป็น Public Enemies หมายเลขหนึ่งที่ทางการอเมริกันต้องการตัว

อย่างไรก็ตามจุดจบของดิลลิงเจอร์จะเป็นอย่างไรนั้น ผมคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปดู Public Enemies ของ ไมเคิล มานน์ เองก็แล้วกันนะครับ

พูดถึงตรงนี้ ผมกลับมานึกถึง Public Enemy คนหนึ่งที่รัฐบาลไทยกำลังควานหาตัวกันอยู่จ้าล่ะหวั่นเพราะดูเหมือนว่า Public Enemy คนนี้จะมีที่หลบภัยอยู่หลายแห่งเลยนะครับ ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปยังหมู่เกาะแถวๆแคริบเบียน เอ! หรือว่ารัฐบาลไทยต้องใช้บริการเอฟบีไอเสียแล้วล่ะครับ

Hesse004

Jul 12, 2009

ระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง”





ไม่ได้เขียนบล็อกมาเดือนกว่าๆรู้สึกว่า “สนิม” ที่เกาะอยู่ในสมองของผมจะหนาขึ้นทุกที ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมัวแต่วุ่นวายกับการเขียน Dissertation ที่ดูเหมือนยังไม่ลงตัวเสียที ด้วยเหตุนี้งานอดิเรกอื่นๆเป็นอันต้องพักไว้ก่อนครับ

ช่วงเวลาสองปีกว่าๆที่เขียนบล็อก ผมรู้สึกเหมือนได้นั่งทบทวนความคิดของตัวเองพร้อมๆกับการได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมซึ่งกว่าจะเขียนแต่ละเอนทรี่ (Entry) ได้นั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว

ว่ากันว่า “บล็อก”ได้สะท้อนตัวตนของ “บล็อกเกอร์” (Blogger) หรือคนเขียนบล็อกนั้น ซึ่งตลอดสองปีที่ผ่านมาผมพยายามค้นหาตัวเองผ่านเรื่องที่เขียนไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ฟุตบอลรวมไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์

กลับมาเรื่องที่อยากจะเขียนดีกว่าครับ, จั่วหัวเอนทรี่นี้ไว้ด้วยเหตุที่ได้แรงบันดาลใจบางอย่างจากเพลง “ที่ว่าง” ของวงพอส (Pause)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า “Pause” ได้กลายเป็นตำนานในวงการเพลงไทยสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Pause” คือ ศิลปินอินดี้กลุ่มแรกๆที่เติบโตมาพร้อมๆกับ “หมาทันสมัย” (Modern Dog) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90

วงพอส มี “โจ้” อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นนักร้องนำ แม้ว่าโจ้จะจากพวกเราไปหลายปีแล้วแต่เพลงที่เขาร้องแทบทุกเพลงได้กลายเป็นอมตะไปแล้วไม่ว่าจะเป็น ความลับ, ข้อความ, สัมพันธ์, รักเธอทั้งหมดของหัวใจ, ใจบางบาง และที่จะลืมไม่ได้เลย คือ เพลง “ที่ว่าง” ครับ

เพลงที่ว่าง หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Empty Space นั้นอยู่ในอัลบั้มของ Pause ที่ชื่อ Push (Me) Again ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของ Pause ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2539 ในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค (Bakery Music) ครับ

จะว่าไปแล้วเพลงที่ว่างเป็นเพลงแรกที่ทำให้คนรู้จัก “Pause” และ “โจ้” ด้วยเสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ที่ “เนื้อหา” และน้ำเสียงของโจ้ที่ร้องเพลงนี้ได้กินใจยิ่งนัก

“ที่ว่าง” กล่าวถึง ความสัมพันธ์ที่ต้องการ “อิสระ”และ “ระยะห่าง” ของความรัก

ลองคิดเล่นๆแบบนักคณิตศาสตร์ดูบ้างนะครับว่า ถ้าความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ความรัก” เป็นฟังก์ชั่นชนิดหนึ่งที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ “รัก” นั้นคงอยู่ได้ยั่งยืน ปัจจัยที่ว่านี้ก็คงเริ่มตั้งแต่ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ การเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความสม่ำเสมอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอีกตัวที่เรามักหลงลืมกันไปนั่นคือ การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ให้เหมาะสมไงล่ะครับ ซึ่งระยะห่างที่ว่านี้มันก็แล้วแต่ข้อตกลงของคนสองคนว่าระยะห่างขนาดไหนมันถึงจะเหมาะสมดี

หากหยิบปัจจัยตัวนี้มาพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแปรต้น (Independence Variable) มักจะมีเครื่องหมายหน้าสัมประสิทธิ์ของตัวแปร (Coefficient) แตกต่างกับ ตัวแปรต้นอีกตัวที่เรียกว่า “การแสดงความเป็นเจ้าของ” ครับ

นั่นหมายถึงว่า “ความรัก” ในฐานะที่เป็นตัวแปรตาม (Dependence Variable) นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวแปรต้นหลายตัวที่บ่อยครั้งบางตัวมันก็ทำให้ความรักมันถดถอยลงได้เหมือนกัน

เนื้อหาของเพลงที่ว่างให้ความหมายไว้ดีมากนะครับ โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับความรักที่ไม่พยายามจะครอบครองหรือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใคร

เขียนถึงตรงนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเพลง “เต็มใจให้” ของ ศุ บุญเลี้ยง ที่เคยฮิตเมื่อสิบสี่สิบห้าปีก่อน เพลงนี้ก็พูดถึงการให้ความรักที่บริสุทธิ์ใจ ที่ไม่หวังจะได้อะไรตอบแทนกลับคืน เพลงนี้น่าจะเป็น “อุดมคติ” ของใครหลายคนที่บูชาความรัก

จริงๆแล้วความรักทุกอย่างต้องการ “อิสระ” อยู่เสมอนะครับ นั่นคือ อิสระที่จะเลือกรัก อิสระที่จะเลือกผูกพัน แม้แต่อิสระที่เลือกจากไป ทั้งหมดนี้มันครอบคลุมความรักในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นรักของหนุ่มสาว รักของเพื่อนฝูง แม้กระทั่งรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก

“ที่ว่าง” จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” มีคุณค่ามากขึ้น แม้ว่าบางคนอาจรู้สึกว่าการหาที่ว่างให้กับความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรักเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอาการ

ด้วยเหตุนี้การจัดวางความสัมพันธ์ให้เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรารักแบบไม่ทุกข์…เข้ากับเนื้อร้องที่ว่า “ประโยชน์ที่ใดหากรักทำร้ายตัวเอง”

ผมชอบเนื้อหาของเพลงนี้ที่บอกว่า

“ก่อนเคยคิดว่ารักต้องอยู่ด้วยกันตลอด เติบโตจึงได้รู้ความจริง”

ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า “เติบโตจึงได้รู้ความจริง” นั้น มันหมายถึงว่า ยิ่งเมื่อเราโตขึ้นมันมีอะไรที่ควรคิดมากกว่า “การแสวงหาความรัก” หรือเปล่า?

ความรักเป็นความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ซับซ้อน จนบางครั้งเราเองก็ไม่อาจจะเข้าใจมันได้ทั้งหมด แต่ไอ้ความซับซ้อนดังกล่าวมันกลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายนั่นคือความจริงใจและความซื่อสัตย์ต่อคนที่เรารัก

และท้ายที่สุดมันอาจจะต้องการเพียงระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง” เพื่อให้คนทั้งสองได้มีอิสระในการค้นหาความฝันของตัวเองบนหนทางที่เดินไปพร้อมๆกันไงล่ะครับ

Hesse004