Mar 27, 2009

"The Pursuit of Happyness" แบบทดสอบความสุข




ไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าบรรดาสำนักโพลต่างๆเริ่มสนใจที่จะสอบถาม “ความสุข” ของคนไทยมากขึ้นนะครับ

นักเศรษฐศาสตร์พยายามวัดความสุขให้ออกมาในรูปของ “ความพึงพอใจ” หรือ Preference ซึ่งศัพท์แสงที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์เรียกกันก็คือ “Utility” หรือ “อรรถประโยชน์” นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามการวัด “ความสุข” เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะ “เกณฑ์ชี้วัด” ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งสำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้วมนุษย์เราจะเกิดความสุขได้ก็ต่อเมื่อบริโภค (Consume) ครับ ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกมนุษย์ในตัวแบบทางเศรษฐศาสตร์ว่า “ผู้บริโภค” หรือ Consumer

อย่างที่เรียนไปตอนต้นนะครับว่า “ความสุข” ของแต่ละคนมักจะมี “เกณฑ์วัด” ที่แตกต่างกันทั้งนี้เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า “เบนจามิน แบนทัม” (Benjamin Bantam) พยายามจะวัดความพึงพอใจหรือความสุขจากการบริโภคให้อยู่ในรูปของหน่วยวัดที่เรียกว่า “ยูทิล” (Utile) เช่น เฉลิมพอใจหรือมีความสุขจากการได้รับเช็คช่วยชาติ 10 ยูทิล ตุ๊ดตู่มีความสุขจากการได้ดื่มชาเขียวโอนามิ 1 ยูทิล เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแนวคิดของแบนทัมจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ยาก ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามวัดความพึงพอหรือความสุขจากการบริโภคโดยอาศัยการ “เปรียบเทียบ” กันครับ เช่น ราฟาชอบ “เทพ…ลูคัส” มากกว่า “เบนายูน” และชอบ “เบนายูน” มากกว่า “เจอร์ราด” นั่นหมายถึงว่าราฟาต้องชอบ “ลูคัส”มากกว่า “เจอร์ราด”

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่านักเศรษฐศาสตร์พยายามเหลือเกินที่จะวัดความสุขของมนุษย์ นั่นแสดงให้เห็นว่า “ความสุข” คือเป้าหมายสำคัญของการใช้ชีวิตนะครับ

หากวันนี้มีใครเดินมาถามท่านผู้อ่านว่า “วันนี้ท่านมีความสุขหรือเปล่า? ท่านจะตอบอย่างไรดีครับ

เมื่อคืนก่อน ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Pursuit of Happyness (2006) ผลงานการกำกับของ “แกเบรียล มัคเซียโน่” (Gabriele Muccino) โดยงานชิ้นนี้ได้ดาราชื่อดังอย่าง “วิลล์ สมิธ” (Will Smith) มารับบทนำ

The Pursuit of Happyness เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของมหาเศรษฐีผิวสีชาวอเมริกันนามว่า “คริส การ์ดเนอร์” (Chris Gardner) ครับ ท่านผู้อ่านสามารถรับรู้เรื่องราวอันน่าประทับใจของ “การ์ดเนอร์” ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้

มีเกร็ดเกี่ยวกับชื่อหนังเรื่องนี้นิดนึงนะครับ จริงๆแล้วคำว่า Happyness เนี่ย ผู้สร้างไม่ได้จงใจจะสะกดผิดแต่อย่างใด หากแต่วลีที่ว่า The Pursuit of Happyness นั้นเป็นวลีที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา (United States of Declaration of Independence) ซึ่งร่างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1776 โดยอดีตประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ครับ

อย่างไรก็ตามเจฟเฟอร์สันก็ยกเอาคำพูดนี้มาจากนายลีมูเอล เฮยส์ (Lemuel Haynes) ซึ่งเป็นชาวอาณานิคมใน New England ช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ “เฮยส์” แกเขียนเป็นภาษาอังกฤษไว้อย่างนี้ครับว่า

“We hold these truths to be self-Evident, that all men are created Equal, that they are Endowed By their Creator with Ceartain [sic] unalienable rights, that among these are Life, Liberty, and the pursuit of Happyness.”
(ที่มาจากวิกิพีเดียครับ)

The Pursuit of Happyness เล่าเรื่องการต่อสู้ “ชีวิต” ของผู้ชายผิวสีคนหนึ่งที่มีชะตาชีวิตพลิกผันอยู่ตลอดเวลาซึ่งจนแล้วจนรอดเขาก็สามารถ “สร้างชีวิต” ของเขาขึ้นมาได้จากสภาพที่เคย “ติดลบ” กับชีวิต

“คริส การ์ดเนอร์” (นำแสดงโดยวิลล์ สมิธ) เคยตกอยู่ในสภาวะของการเป็นคนไร้บ้าน (Homeless)ต้องเร่ร่อนหอบหิ้วลูกน้อยวัยห้าขวบตะลอนไปเรื่อย ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเรื่องราวของ “การ์ดเนอร์” ได้ถูกถ่ายทอดออกไปสู่สาธารณชนทั่วไป ก็ยิ่งเสริมภาพของ “ความเป็นดินแดนแห่งโอกาส” ให้กับสหรัฐอเมริกาที่ต้องการบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าแม้แต่ “คนจรจัด”ก็สามารถร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีได้หากคุณพยายามและอดทน

ระหว่างที่ผมดูหนังเรื่องนี้ ผมถามตัวเองว่าถ้ากูต้องตกอยู่ในสภาพอย่าง “คริส” เนี่ยกูจะทำยังไงวะ “ถังแตก /เมียทิ้ง/ เร่ร่อน” แถมมีลูกพ่วงมาอีกหนึ่งชีวิต

อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่มองเห็นจากการต่อสู้ของ “คริส” คือ “ความอดทน” ครับ ผมเชื่อว่า “ความอดทน” คือ ภูมิคุ้มกันชั้นดีของการใช้ชีวิต เพราะหากเราสามารถทนในสิ่งที่เราคิดว่า “แม่งหนักที่สุด” แล้ว ทุกๆอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจากนี้ไปก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก

หนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมในยุคแปดศูนย์ (Eighty) ซึ่งบรรยากาศหรือองค์ประกอบตามท้องเรื่องทำได้ดีเลยทีเดียว

หากท่านผู้อ่านที่โตทันในยุคแปดศูนย์ เราคงจะได้เห็นของเล่นชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Rubik Cube หรือ “ลูกเต๋าหกสี” ซึ่งมีกติกาง่ายๆ คือ ทำยังไงก็ได้ให้แต่ละหน้าของ Rubik มีสีเดียวกันทุกหน้า และหากจะว่าไปแล้วไอ้เจ้ากติกาง่ายๆนี่แหละครับที่มัน “ยาก” สำหรับคนธรรมดาๆอย่างเรา

เจ้าลูกเต๋าหกสีหรือบางทีเขาก็เรียกว่า “ลูกบาศก์” บ้าง“ลูกบิด” บ้าง เป็นประดิษฐกรรมเครื่องเล่นที่เกิดมาจากมันสมองของศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมชาวฮังกาเรียนนามว่า "เออโน่ รูบิค" (Erno Rubik) ครับ ของเล่นที่ท่านโปรเฟสเซอร์รูบิคคิดค้นขึ้นมานี้ได้กลายเป็นของเล่นยอดนิยมในเวลาต่อมาและเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของยุคแปดศูนย์ก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี Rubik Cube ในหนังเรื่อง The Pursuit of Happyness เปรียบเสมือน “สัญลักษณ์”ของความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาซึ่งบางครั้งการแก้ปัญหาชีวิตก็เหมือนกับการบิดเจ้าลูก Rubik Cube นี่แหละครับ ที่ต้องอาศัยเวลาในการบิดปรับแต่งแต่ละหน้าแต่ละสีให้กลายเป็นหน้าเดียวกันสีเดียวกัน

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจหนังเรื่องนี้มากครับ ทั้งนี้ในช่วงยามที่เราไม่สบายใจ ทุกข์ใจ หรือยังมองไม่เจอหนทางในการแก้ปัญหา ผมเองก็เริ่มเชื่อแล้วว่า “ทุกปัญหามันมีทางออก” ขอเพียงเราค่อยๆทำความเข้าใจกับมันและค่อยๆแก้ปัญหานั้นไปอย่างมีสติและที่สำคัญที่สุด คือ ขอให้เรา “อดทน” ครับ เพราะบางทีอุปสรรคมันก็เหมือนเป็น “แบบทดสอบความสุข”ของชีวิตคนเราใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Mar 12, 2009

“หนังซามูไร” กับ “ความล้มเหลวของอำนาจรัฐ”





ปัจจุบันเราแทบจะหาชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ “ซามูไร” ได้น้อยมากนะครับ เท่าที่พอจำได้งานของ “เอ็ดเวิร์ด ซีวิคส์” (Edward Zwick) อย่าง The Last Samurai (2003) ได้ทำให้เราเห็นภาพของ “คนขาว” ที่หลุดหลงเข้าไปในดงซามูไรและเรียนรู้วิถีของซามูไรในสมัยเมจิ (Meiji era)

นอกเหนือจากงานของซีวิคส์แล้ว หนังที่ว่าด้วยซามูไรอย่าง “ซาโตอิชิ” Zatôichi (2003) ก็นับได้ว่าน่าสนใจไม่น้อยนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้ได้ซูปเปอร์สตาร์ดาราตลกของญี่ปุ่น “ทาเคชิ คิตาโน่” (Takeshi Kitano) มารับบทเป็นซามูไรบอดที่ย้อมผมทอง “คิตาโน่” พยายามทำให้ซาโตอิจิเป็นส่วนผสมของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมอเมริกันซึ่งจะว่าไปแล้ว “ซาโตอิชิ” คือ ซามูไรอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative Samurai) ที่แหวกรูปลักษณ์ซามูไรที่เราเคยเห็นมา

ดูเหมือนว่าการสร้างหนังเกี่ยวกับซามูไรนั้น ผู้กำกับจะต้องเข้าใจ “วิถีแห่งซามูไร” อย่างลึกซึ้งนะครับ ซึ่งในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นแล้ว ผู้กำกับที่สร้างหนังซามูไรได้น่าประทับใจที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “อาคิระ คูโรซาว่า” (Akira Kurozawa) ครับ

“คูโรซาว่า” คือ ตำนานที่เป็นอมตะของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบงานของคูโรซาว่าไม่แพ้งานของ “ชาลี แชปลิน” เลย

“คูโรซาว่า” ได้ทำให้หนังญี่ปุ่นหลายเรื่องกลายเป็นหนังคลาสสิคตลอดกาล ตั้งแต่ Rashomon (1950), Ikiru (1952), Seven Samurai (1954), Kagemusha (1980) และ Ran (1985) เป็นต้น

ตลอดระยะเวลากว่าห้าสิบปีของการสร้างหนัง “คูโรซาว่า” นับเป็นผู้กำกับคนแรกๆที่สามารถปักธงชัยภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้ในวงการภาพนตร์โลก หนังของ “คูโรซาว่า” ทุกเรื่องมีส่วนประสมที่ลงตัวระหว่างข้อคิดและความบันเทิง ทั้งนี้ยิ่งประสบการณ์การกำกับหนังของเขาเพิ่มสูงมากขึ้นเท่าไร “ความลึกซึ้ง” ที่ปรากฏอยู่ในหนังของคูโรซาว่ายิ่งมีมากขึ้นตาม

“คูโรซาว่า” เริ่มกำกับหนังในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามโลกครั้งที่สองโดยหนังเรื่องแรกของคูโรซาว่า คือ Sanshiro Suguta (1943) ครับ เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นซึ่งคูโรซาว่าได้เริ่มแฝงปรัชญาซามูไรเข้าไปในหนังเรื่องแรกของเขาด้วย

นับจากวันนั้นคูโรซาว่าได้สร้างหนังเกี่ยวกับซามูไรออกมาอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น Sanshiro Suguta Part II (1945) The Men Who Tread on the Tiger’s Tail (1945) , Seven Samurai (1954), Throne of Blood (1957), Yojimbo (1961) , Sanjuro (1962), Kagemusha (1980) และ Ran (1985)

ว่ากันว่าการสร้างหนังซามูไรของคูโรซาว่าในช่วงทศวรรษที่ 50 นั้น เป็นไปตามกระแสการสร้างหนังคาวบอย (Cowboy Film) ของฮอลลีวู้ดนะครับ การสร้างหนังแนวนี้เน้นไปในเรื่องของการเชิดชู “ลัทธิบูชาวีรบุรุษ” (Heroism) ครับ

อย่างไรก็ดีวิถีซามูไรกับวิถีคาวบอยนั้นมีความแตกต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าความเหมือนกันของสองวิถีนี้ คือ การเคารพในคุณธรรมน้ำมิตรและเกลียดชังความชั่วร้ายทุกรูปแบบโดยเฉพาะความชั่วร้ายที่มาจากอำนาจเถื่อนหรือแม้แต่อำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการปรากฏกายของ “ซามูไร” หรือ “คาวบอย” ในห้วงยามที่ชาวบ้านร้านตลาดกำลังเดือดร้อนเพราะถูกโจรนอกอำนาจรังแกโดยที่พวกเขาไม่สามารถหวังพึ่งพาอำนาจรัฐที่จะให้การคุ้มครองได้อีกต่อไป

การที่ชาวบ้านหันไปพึ่งพามิตรพเนจรอย่าง “ซามูไร หรือ คาวบอย” มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความล้มเหลวของอำนาจรัฐ”ในการรักษาความปลอดภัยให้กับชาวบ้านมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องอย่างนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยนะครับ เพราะนักเศรษฐศาสตร์มักจะอธิบายว่าบทบาทสำคัญของรัฐ คือ “การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ด้วยเหตุนี้เอง “บริการการป้องกันประเทศ” (Public Defense) จึงเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่สำคัญ ที่ไม่สามารถกีดกันการบริโภคได้และหากใครคนหนึ่งบริโภคบริการนี้แล้วก็ไม่ได้ทำให้ใครอีกคนหนึ่งบริโภคบริการนี้ลดลง

อย่างไรก็ตามความล้มเหลวของอำนาจรัฐในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามที่ปรากฏอยู่ในหนังซามูไรหรือคาวบอยนั้นยิ่งตอกย้ำให้เราเริ่มไม่ค่อยมั่นใจกับ “คนของรัฐ” ที่จะมาคุ้มครองเราได้ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านอย่างเราๆจึงต้องหันไปพึ่งพา “ฮีโร่พเนจร” แทน

ผลพวงจากการสร้างหนังภายใต้ “ลัทธิบูชาวีรบุรษ” ได้ต่อยอดมาสู่การสร้างหนังจำพวก “ยอดมนุษย์” ทั้งหลายครับไม่ว่าจะเป็น ซูปเปอร์แมน, แบทแมน, สไปเดอร์แมน, อุลตร้าแมน หรือแม้แต่ไอรอนแมน

แน่นอนครับว่าการปรากฏกายของเหล่ายอดมนุษย์ในภาพยนตร์ย่อมสร้างความอุ่นใจให้กับชาวประชามากกว่าการมาของตำรวจหรือกองทัพ

ทั้งหมดนี้เป็น “จินตนาการ” ของคนสร้างหนังที่พยายามชี้ให้เห็นว่าการหวังพึ่งพาอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะช้าเกินไปไม่ทันการณ์ เพียงแต่ว่าในโลกของความเป็นจริงแล้วคงจะหวังพึ่งพาฮีโร่หรืออัศวินพเนจรไม่ค่อยจะได้น่ะสิครับ
Hesse004